หรือกฎหมายไทยใช้ไม่ได้จริง? เสียงสะท้อนจาก’ภาคแรงงาน’ สู่ความต้องการให้เกิด’ความเปลี่ยนแปลง’

ไทยแลนด์ 4.0 คือความมุ่งหมายของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเน้นความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งนี้กำลังส่งผลสะเทือนไปสู่ภาคแรงงานไทย ทั้งต่อผู้ประกอบการ นายจ้าง รวมถึงตัวลูกจ้างด้วย

ในขณะที่ประเทศกำลังเดินหน้า แต่ทำไมภาคแรงงานไทยจึงมีอัตราเสี่ยงในการตกงานมากขึ้น? การให้น้ำหนักด้านการพัฒนาที่ไม่เท่ากันจึงทำให้ยืนยันไม่ได้ว่าในอนาคตภาคแรงงานไทยจะเป็นอย่างไร ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่มั่นคงอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้และกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังขาดนโยบายและความคุ้มครองต่อภาคแรงงานอย่างทั่วถึง

ด้วยเหตุนี้เอง เนื่องในวันแรงงานสากล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแรงกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดงานเสวนา แรงงาน 4.0 รัฐธรรมนูญ 0.4? ขึ้นที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องสิทธิของผู้ใช้แรงงานหลากหลายประเภท สภาพการทำงานในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาและการร่วมเสนอทางออกให้กับสถานการณ์ภาคแรงงานไทยในปัจจุบัน

 

Advertisement

ผลสะเทือนจาก ‘กฎหมายชุมนุมสาธารณะ’
และความแข็งแกร่งของสหภาพ ผ่าน’ธุรกิจ’ที่ดำเนินการ

สุรินทร์ คำสุข ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ตัวแทนภาคกรรมกรโรงงาน กล่าวว่า สภาพการทำงานตอนนี้ไม่กระทบมากนัก โดยใช้กฎหมายแรงงานเดิมที่ใช้อยู่ แต่นักลงทุนข้ามชาติอ่อนไหวกับเรื่องเซฟตี้มาก เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ฝ่ายนายจ้างชาวต่างชาติจะส่งทีมเซฟตี้เข้าไปสอบสวนและทำการแก้ไขทันที

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดประกาศใช้นั้น สุรินทร์กล่าวว่า ได้รับผลกระทบเรื่องกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยแต่ละสหภาพแรงงานได้มีการเจรจาหรือกดดันนายจ้างเรื่องสวัสดิการ สหภาพต้องคิดให้รอบคอบและละเอียดมากขึ้น ต้องไม่ตกเป็นฝ่ายตั้งรับมากนัก เพราะหากมีการขึ้นศาล เรื่องเจรจาจะยากลำบากมากกว่าแต่ก่อน

สุรินทร์ยกตัวอย่าง ปีที่แล้วเกิดเรื่องขึ้นที่ไมย์เออร์ อลูมิเนียม ปัญหาของเขาคือการงดใช้เครื่องเสียง จึงทำการปราศรัยไม่ได้ มีทหารคอยจอดรถสังเกตการณ์อยู่ใกล้ๆ โดยแต่ละสหภาพจะมีประสบการณ์แบบนี้ต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการกำกับดูแลต่างกัน

Advertisement
สุรินทร์ คำสุข

ด้านสวัสดิการอื่นๆ สุรินทร์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับกรรมการสหภาพแต่ละแห่งว่าจะเรียกร้องนอกเหนือจากข้อบังคับหรือไม่ โดยมองความแข็งแกร่งของแต่ละสหภาพผ่านธุรกิจที่ทำอยู่ เช่น ธุรกิจที่จำเป็น ธุรกิจที่ต้องกินต้องใช้ มีการกดดันนายจ้างได้เป็นผล ถ้ามีสัญญาณรวมตัวเรียกร้องเจ้านาย ก็จะนัดกรรมการสหภาพคุยทันที ส่วนพนักงานที่จะประท้วงก็ให้ประท้วงหน้าบริษัทไว้ก่อน เรามีฝ่ายควบคุมเพื่อป้องกันการออกนอกลู่ทางหรือทำผิดกฎหมาย

ก่อนตัวแทนจากภาคกรรมกรโรงงานจะทิ้งท้ายว่า “สหภาพแรงงานในปัจจุบันนี้ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วเด็กยุคใหม่สนใจเรื่องการรวมตัว แต่สนใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกน้อยมาก ต้องอาศัยความรู้จักและความสนิทสนมส่วนตัวเพื่อชักชวนเข้าสหภาพ เราต้องเสริมสร้างสหภาพแรงงานให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น”

ฟรีแลนซ์ งานหนัก งานฟรี?

รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ นักเขียนบทละคร ตัวแทนภาคลูกจ้างอิสระ (freelance) กล่าวว่า การเป็นฟรีแลนซ์ในฐานะนักเขียนบทละครสามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ 1.การทำงานกับบริษัท 2.รับงานอิสระ โดยการทำงานกับบริษัทจะได้ค่าจ้างเป็นเดือน และสร้างเงื่อนไขว่าห้ามทำอย่างอื่น เพราะหากบริษัทรู้จะโดนไล่ออกทันที ส่วนการรับงานอิสระจะรับเป็นจ๊อบโดยเฉพาะ

“ถ้าคุณทำงานกับบริษัท สมมุติเลิกงาน 5 โมงเย็น หลังจากนั้นคุณไม่มีสิทธิเขียนบทละครเพื่อไปเล่นกับเพื่อนคุณได้ เพราะถ้าบริษัทรู้จะโดนไล่ออกทันที เขาถือว่าจ้างงานคุณทั้งชีวิตแล้ว ในมุมของคนทำงานรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ส่วนการรับงานเป็นจ๊อบ สมมุติ 1 จ๊อบจ้างให้เขียน 5 ตอน ตอนละ 20,000 บาท จะได้เงิน 100,000 บาท ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ทั้งหมดนั้นเราทำงานกันเกือบปี”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการมีนายจ้าง โปรดักชั่นเฮาส์ และตัวฟรีแลนซ์ โดยโปรดักชั่นเฮาส์จะประหยัดค่าใช้จ่ายโดยการไม่จ้างพนักงานประจำ จึงจ้างงานกับฟรีแลนซ์แทน

รัฐพงศ์เสริมว่า เคยเจอเหตุการณ์ที่โปรดักชั่นเฮาส์ไม่เก่ง สื่อสารกับนายจ้างและตนไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดการแก้งานเยอะ สุดท้ายนายจ้างไม่พอใจ ไม่เอา เพราะคนพรีเซนต์งานคือโปรดักชั่นเฮาส์ที่ไม่ค่อยเข้าใจเนื้องาน เกิดการหักคอขึ้น โดยการหักคอคือจ่ายให้ครึ่งเดียว

“จะเอาก็เอา ไม่เอาก็ไม่ต้องเอา เราต่อสู้อะไรไม่ได้ ปกป้องตัวเองไม่ได้ มีตัวเลือก 2 ทางคือรับเงินมา หรือไม่รับเงินแล้วไปต่อสู้ดิ้นรนเอาเอง”

รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ

อีกปัญหาหนึ่งคือการขโมยไอเดีย เช่น โปรดักชั่นเฮาส์อยากทำงานเสนอช่อง แต่คิดงานไม่ออก จึงบอกกับเด็กว่าเขาต้องการเรื่องแบบนี้ มีพื้นที่เท่านี้ เด็กก็ไปคิดให้ แต่เขาไม่ได้เงิน พอเวลาผ่านไปเด็กจะเห็นพล็อตตัวเองเผยแพร่ในที่สาธารณะแต่เป็นชื่อคนอื่น

“ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นเรื่อยมา เราปกป้องตัวเองไม่ได้ เราไม่มีเสียง ไม่มีสหภาพ เราก้มหน้าก้มตาทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้เงินรึเปล่า เคยเสนอรูปแบบการทำสัญญากับนายจ้างไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาไม่เซ็น เขาแค่เสนอว่าเราจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น แล้วเราก็ไม่มีตัวเลือก

“ถ้าเราเจ็บป่วยก็ต้องจ่ายเงินของตัวเอง ใช้บัตรประชาชนในการใช้สิทธิ ผมคิดว่าฟรีแลนซ์ในเมืองไทยต้องสังเคราะห์แสงได้รึเปล่า ถึงปกป้องตัวเองได้” ตัวแทนภาคลูกจ้างอิสระกล่าวด้วยความน้อยใจ

หรือเป็นเพียง ‘มนุษย์ล่องหน’ และ ‘นักแสดงตัวประกอบ’

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนภาคอาจารย์มหาวิทยาลัย* กล่าวว่า ตนมีโอกาสได้เป็นวิทยากรในงานหนึ่ง ตอนนั้นถามออกไปว่ามีผู้ฟังท่านใดในงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสหภาพที่เข้าสู่ตลาดแรงงานหลังปี พ.ศ.2540 หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีเลย

“นั่นหมายความว่าสหภาพแรงงาน ณ ปัจจุบันนี้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุหมดแล้ว อีกนัยหนึ่งจึงมองได้ว่าคนรุ่นใหม่อยู่ที่ไหน ครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานของประเทศนี้ไม่มีสหภาพแรงงานคุ้มครอง ไม่มีเงื่อนไขการคุ้มครองในการจ้างงานแบบเต็มเวลา” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว และว่า เมื่อมองเจาะลึกเข้าไป คนในระดับแรงงานส่วนมากของประเทศนี้คือคนอ่อนแอ คนอ่อนแอคือคนที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

“ด้านการเมืองที่เห็นชัดเจนคือการเลือกตั้ง ซึ่งภายในประเทศตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีอำนาจในการต่อรองกับผู้แทน และอำนาจการต่อรองกับนายจ้างซึ่งคนส่วนมากยังไม่มีสหภาพแรงงานคุ้มครอง อำนาจทางการเมืองจึงหายไป บวกกับผลประกอบการทางเศรษฐกิจ อำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจจึงน้อยลงไปอีก”

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเป็นสังคมของมนุษย์ล่องหน เราไม่มีตัวตน เหมือนเราต้องต่อสู้กับปัญหานี้อยู่คนเดียว ประเด็นคือผู้คนคิดว่าถ้าเราขยันหรือเก่งพอ จนสามารถเอาตัวรอกได้ นี่เป็นมายาคติ และความจริงไม่มีใครอยู่รอด เราต้องยอมรับความเสี่ยงและเอาตัวรอดเองให้ได้

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ด้านปัญหาของอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า ปัญหาคือการรวมตัว โดยอัตราการรวมตัวอาจต่ำกว่าฟรีแลนซ์ เนื่องจากฟรีแลนซ์มีสำนึกร่วมกันว่าตนเองโดนกดขี่ ส่วนอาจารย์จะคิดว่าวันหนึ่งตนอาจได้เป็นนักแสดงหลัก อาจได้เป็นอาจารย์คนดัง แค่ทำงานวิจัยดีๆ ก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้ นั่นเป็นความเข้าใจผิดๆ

“การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าการผลิตผลงานวิชาการที่ดี ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีตามมา ก็ไม่ต่างจากพนักงานโรงงานทอผ้าที่คิดว่าตัวเองผลิตผ้าที่ดีที่สุดแล้วตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตดี พนักงานโรงงานทอผ้าอยากมีชีวิตที่ดีต้องต่อสู้ ต้องมีสหภาพ อาจารย์อยากมีชีวิตที่ดี ต้องมีสหภาพ ต้องมีการรวมตัวกัน ไม่ใช่แข่งกันผลิตผลงานทางวิชาการ

“เรื่องสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัย ปัจจุบันไม่มีการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ภายหลังปี พ.ศ.2540 ทุกคนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหมด ด้านค่ารักษาพยาบาลได้สิทธิประกันสังคม ไม่มีเงินบำนาญ มีเพียงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านการโกงสูง” ตัวแทนภาคอาจารย์มหาวิทยาลัยกล่าวสรุป

‘เราไม่ใช่ใบไม้ ไม่ใช่กระดาษ ที่จะกวาดและเผาเราทิ้ง’

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ตัวแทนภาคพนักงานบริการทางเพศ ให้ความหมายของ พนักงานบริการ ว่า การให้การบริการทางเพศ ในทุกเพศสภาพ และจำนวนพนักงานบริการในไทยไม่สามารถระบุได้อย่างแท้จริง

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับพัทยาว่าเป็นเมืองบาปและเป็นเมืองหลวงของการค้าประเวณีโลก โดยให้ตัวเลขผู้ค้าประเวณีไว้ที่ 20,000 คน ผู้นำของเราลุกขึ้นมาเต้น ซึ่งตัวเลขแค่ 20,000 คนนั้นเล็กน้อยมาก ส่วนตัวเลขที่แท้จริงไม่มีใครสามารถบอกได้ เพราะสังคมไทยยอมรับไม่ได้

“มันเป็นอาชีพที่ไม่สง่าผ่าเผย ไม่มีใครกล้าออกมาบอกว่าตนกำลังทำอยู่ ถ้าดูตามหลักฐานเชิงประจักษ์ จากสถานบันเทิงที่ตั้งอยู่ มีตัวเลขไม่น้อย รัฐเราปล่อยทิ้งคนเหล่านี้มาเป็นเวลานานได้อย่างไร เราไม่เพียงทิ้งเขาอย่างเดียว เราทำร้ายเขาด้วย โดยรายได้หลักด้านการท่องเที่ยวปี พ.ศ.2558 มีจำนวนกว่า 2.23 ล้านล้านบาท ภาครัฐต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากเราด้วย” ผอ.SWING กล่าว

สุรางค์ จันทร์แย้ม

ผอ.SWING เสริมว่า เคยชวนน้องๆ ให้ลองหยุดทำงาน เพื่อดูว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง 1.แม่ค้าส้มตำที่ขายให้พวกเรา ไม่มีงานทำแน่นอน 2.โรงแรมในเมืองพัทยา ขาดรายได้จากการที่เราพาลูกค้าเข้าไปใช้บริการ หรือแม้แต่ 3.รถสองแถวในพัทยา

“วงจรในพัทยาเกิดขึ้นได้เพราะมีพวกเราเป็นคนหล่อเลี้ยงอยู่ คุณมองพวกเรา เห็นพวกเราไหม ไม่ต้องเห็นคุณค่าก็ได้ แต่เห็นตัวตนของเราบ้างไหม เราได้รับการดูแลบ้างไหม ไม่เคยเลย สิ่งที่ทำก็คือเมื่อเกิดเหตุขึ้น คุณใช้กฎหมายมาจับและปรับเรา 

“เราไม่ใช่ใบไม้ เราไม่ใช่กระดาษ ที่จะกวาดและเผาเราทิ้ง คุณทำแบบนั้นกับเราไม่ได้”

และแม้จะมีกฎหมายเกี่ยวกับพนักงานบริการ ซึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2546 สำหรับควบคุมการเปิดสถานบริการ กับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แต่สุรางค์ยืนยันว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้คุ้มครองพนักงานบริการอย่างแท้จริง

“พ.ร.บ.สถานบริการมีไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในกฎหมายฉบับนี้เราพยายามร้องขอให้ช่วยระบุสถานะและตัวตนของผู้ที่ทำงานอยู่ในนั้นให้มีสถานะเป็น ลูกจ้าง เพราะปัจจุบันลูกจ้างในสถานบริการมีเพียง โต๊ะ และ เก้าอี้ เท่านั้น

“ส่วนกฎหมายเรื่องการปราบปรามการค้าประเวณีทำให้คนเรากลายเป็นอาชญากรโดยยังไม่ได้ทำความผิด หากกระทำการตาม 4 ข้อกำหนดตามที่ พ.ร.บ.ว่าไว้ โดยสิ่งแย่มากในหน้าสุดท้ายของกฎหมายฉบับนี้ด้านวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายคือ ‘ผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นผู้ที่ด้อยซึ่งสติปัญญาและการศึกษา’

โดยตัวแทนภาคพนักงานบริการทางเพศได้ยื่นข้อเสนอทางออกของปัญหาเหล่านี้ว่า 1.ยกเลิกกฎหมายปราบปรามประเวณี 2.ระบุสถานะผู้ทำงานในสถานบริการเป็น “ลูกจ้าง” เพื่อให้มีสิทธิรับสวัสดิการต่างๆ 3.รับรองให้พนักงานบริการทางเพศเป็น “แรงงาน” 4.ควรมีกองทุนพัฒนาชีวิต เช่น การเป็นเซลส์ขายเหล้าหรือบุหรี่ให้สถานบริการ

ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะเป็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในภาคแรงงานไทย โดยหลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่าภาครัฐ หรือผู้ประกอบการ นายจ้าง จะได้รับแรงสะเทือนจากงานเสวนาครั้งนี้หรือไม่

หรือเราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 0.4 ต่อไป…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image