เชื่อมวิถีพุทธ โยงแผ่นดินสุวรรณภูมิ ‘ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง’

ภาพจากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

“ท่านพูดกับผมทำนองว่า ตัวท่านเองเป็นพระมาจนอายุกว่า 100 ปี ท่านเห็นจากสิ่งที่พวกเราทำ เห็นอุบาสก อุบาสิกา เพิ่งจะมีความคิดเชิงรุกในการนำพระพุทธศาสนามาเชื่อมโยงแผ่นดินสุวรรณภูมิเข้าด้วยกัน”

“ท่านเอ่ยถึงโครงการธรรมยาตรา ท่านบอกว่าหลายประเทศ หลายหน่วยงาน ต้องการทำ แต่ไม่มีใครทำแล้วประสบความสำเร็จ”

เหล่านี้คือปณิธานมั่นของ พระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก ประธานศูนย์กลางการพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส.) ที่เอ่ยไว้กับ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 พร้อมคณะทูตและผู้ร่วมงาน “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง” ก่อน ดร.สุภชัยและคณะรับปากจะดำเนินการสานต่อ

ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

ภายหลังจากหลวงปู่ผ่องเดินทางกลับนครเวียงจันทน์ได้ไม่ถึง 1 เดือน ท่านได้ละสังขารลงที่นั่น

Advertisement

ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของพี่น้อง 2 ฝั่งโขงไทยลาว ดร.สุภชัยและคณะได้ดำเนินการตามปณิธานของหลวงปู่ผ่อง จนก่อเกิดโครงการ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง” ขึ้นในครั้งนี้

เครื่องมือลบความขัดแย้ง เสริมสร้างพลังสามัคคี

“ในครั้งก่อนพระพุทธศาสนาจะเข้ามายังประเทศไทย พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำการสังคายนา โดยใช้ขบวนธรรมยาตราเสด็จไปตามแว่นแคว้นที่มีความเห็นต่างกัน ไปในที่ที่มีความเป็นอยู่ต่างกัน”

เหล่านี้คือถ้อยแถลงของพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ที่เมตตาตอบข้อสงสัยถึงการจัดโครงการธรรมยาตราครั้งนี้ และว่า

Advertisement

แต่ก่อนนั้นเป็นความคิดเหมือนการนับถือพระพุทธศาสนา แต่กาลเวลาทำให้ทุกอย่างยืดออกไป พระเจ้าอโศกมหาราชจึงใช้การธรรมยาตราเสด็จไปตามแคว้นต่างๆ ซึ่งบางเมืองเป็นคู่อริกัน

“ท่านอาศัยธรรมยาตราลืมความขัดแย้งนั้นไป กลายเป็นความสมัครสมานสามัคคีเกิดขึ้น

“ฉะนั้น โลกเราในทุกวันนี้ ถ้าจะดับทุกข์ให้ได้ทั้งหมด สิ่งใดจะเกินกว่าความสามัคคีคงไม่มีแล้ว”

พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล (ภาพจากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980)

แล้วโครงการธรรมยาตราครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความสามัคคีได้อย่างไร?

พระธรรมโพธิวงศ์เล่าต่อว่า ก่อนคณะธรรมยาตราจะเดินทางไป เราจัดขบวนล่วงหน้าเพื่อขอติดต่อผู้นำต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว เราต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไป ต้องไปสร้างภูมิปัญญาให้แต่ละท่านเห็น โดยประโยชน์ที่จะเกิดร่วมกันคือความเป็นมิตร ความเป็นญาติ ความเป็นคนใกล้ชิดสนิทกัน สิ่งสำคัญคือความเป็นคนไว้เนื้อเชื่อใจกัน เมื่อเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันแล้ว การจะทำสิ่งใดก็ล้วนประสบความสำเร็จ เพราะความร่วมมือมีความเชื่อถือเป็นตัวหล่อเลี้ยง

“หากมองโลกในขณะนี้จะพบแต่ความตึงเครียด หาความสงบร่มเย็นที่จะประสานกันยาก เรามองเห็นมุมหนึ่งที่เขาสามารถจับเข่าคุยกันได้ นั่นคือเรื่องศาสนา”

ด้วยเหตุเหล่านี้เอง การดำเนินโครงการธรรมยาตราจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการสร้างทางเดินที่ทุกคนเชื้อเชิญด้วยจิตสำนึกร่วมกันให้เกิดความสามัคคี เกิดความร่วมมือของภาคพื้นเอเชียขึ้น โดยใช้คำว่าสุวรรณภูมิก็ได้ ใช้หลักพระพุทธศาสนาก็ได้ ใช้ความเป็นพี่น้องก็ได้

หรือใช้ความสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศก็ได้

ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง

โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง จะออกเดินทางไปยัง 5 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม โดยมีจุดเริ่มต้นที่บ้านกุศกร อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี สู่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม กลับเข้าประเทศไทยที่ จ.ตราด ก่อนเดินทางผ่าน จ.ตาก เข้าสู่เมียนมา และยาตราสู่ราชอาณาจักรไทยในวันที่ 4 มิถุนายน เพื่อทำพิธีปิดที่วัดสุวรรณภูมิ พุทธชยันตี 989 จ.สมุทรปราการ

โดยคณะธรรมยาตราครั้งนี้ประกอบด้วย พระเถรานุเถระ อุบาสก อุบาสิกา และสื่อมวลชนจาก 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง จำนวนประมาณ 120 รูป/คน

“งานนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐบาลและสถานทูตไทยของทุกๆ ประเทศใน CLMV รวมทั้งสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทย สถานทูตลาว สถานทูตพม่า สถานทูตเวียดนาม รวมถึงสถานทูต CLMV ในกัมพูชาด้วย” ดร.สุภชัยบอกเล่า

คณะธรรมยาตราได้รับเกียรติจากท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เดินทางเข้าร่วมงานกับคณะที่กรุงพนมเปญ ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ และขณะนี้กำลังรอการยืนยันจากท่านไซสมพอน ประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ

ท่านไซสมพอนได้เมตตากล่าวกับเลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ เมื่อ 3 เดือนก่อนว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติจะเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงต่อไป

จากมุมมองและประสบการณ์การทำงานในดินแดนสุวรรณภูมิกว่า 26 ปีของเลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯนั้น มองว่าเราได้เข้าไปผูกสัมพันธมิตรทางการค้าและความร่วมมือต่างๆ ซึ่งโดยพื้นฐานของการทำงานทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น จำเป็นยิ่งที่เราต้องแสดงออกด้วยความจริงใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ในฐานะที่เราเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

ฉะนั้นแล้ว การงานต่างๆ ที่จะเกิดเป็นมรรคผลได้ในแง่นโยบายของรัฐทั้ง 3 เสาหลัก AEC ดังที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปแล้ว ไม่สามารถเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เลย ถ้าแต่ละประเทศยังเกิดความระแวงสงสัยต่อกัน พ่อค้ายังมองกันเป็นคู่แข่ง รัฐบาลยังแข่งขันกันด้านการส่งออก และยังเกิดความอยากเอาชนะกันด้านดุลการค้า

“ผมคิดว่าวิถีนี้น่าจะเป็นวิถีที่ดีและปลอดภัยที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้กับลูกหลานของเราต่อไปในอีกทศวรรษหรือศตวรรษก็แล้วแต่”

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ด้านหลังคือรัตนบัลลังก์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ปลูกต้นโพธิ์ คณะอริยสงฆ์ ยาตรตามรอยเส้นทางสำคัญ

เนื่องจากโครงการนี้จัดทำโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ตั้งอยู่ที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ถือเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า บริเวณใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ คณะธรรมยาตราจึงถือโอกาสนี้ ในทุกค่ำคืนที่พระธรรมทูตจากทั้ง 5 แผ่นดินจำวัดที่วัดไหน ทางคณะขอนำต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกด้วย

“ขณะนี้เราได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ในการมอบต้นพระศรีมหาโพธิ์แก่เราจำนวน 14 หน่อ ในการปลูก 14 ทั้งวัน พร้อมทั้งเราได้จัดเตรียมตราธรรมจักรไปมอบให้กับประธานสงฆ์หรือสมเด็จพระสังฆราชของทุกประเทศที่ได้ยาตราไป”

สำหรับพระอริยสงฆ์ที่จะร่วมยาตราไปกับคณะนั้น ดร.สุภชัยชี้แจงว่า ขึ้นอยู่กับประธานสงฆ์ของแต่ละประเทศจะเมตตาแนะนำให้ อาทิ หลวงปู่มหางอน ประธานสงฆ์ของประเทศลาว เสนอพระยอดแก้ว เป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการยอมรับ หลวงปู่ปาน และพระครูขี้หอม ทั้ง 3 องค์นี้เป็นตัวแทนพระอริยสงฆ์ของประเทศลาว

ส่วนประเทศกัมพูชาโดยสมเด็จเทพวงศ์ ท่านเมตตาว่าน่าจะเป็นสมเด็จจวนนาค นับเป็นพระผู้ใหญ่ที่ชาวกัมพูชาให้การนับถือ โดยพระอริยสงฆ์ที่ได้เอ่ยนามไปแล้วล้วนเป็นพระที่ได้รับการยอมรับและประชาชนให้ความเคารพนับถือ อีกทั้งยังเป็นการเสนอจากสมเด็จพระสังฆราชของแต่ละประเทศเองด้วย

บรรยากาศภายในงานแถลงข่าวโครงการ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง”

ด้านสถานที่สำคัญที่คณะธรรมยาตราจะยาตราไปถึงนั้น ดร.สุภชัยยกตัวอย่างให้ฟังมา 2 สถานที่คือ วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา โดยเป็น โรงเรียนพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโรงเรียนแห่งนี้ให้ประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.2548

“ทางโครงการธรรมยาตราจะไปปักกลดและจะปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย นอกจากโรงเรียนจะตั้งอยู่ในเมืองแห่งประวัติศาสตร์แล้ว ในอดีตยังเคยเป็นเมืองหลวง สมัยอาณาจักรขอม ซึ่งมีปราสาทสร้างด้วยอิฐมอญอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 60 ปราสาท”

ถือเป็นสถานที่หนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวยังไม่เคยเข้าไป เป็นสถานที่ที่คณะธรรมยาตราเราจะได้เห็น รวมทั้งให้สื่อมวลชนนำมาเผยแพร่ให้ชาวพุทธในดินแดนสุวรรณภูมิได้เห็นประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศมหาราช หรือราว 2,300 ปีที่แล้ว

อีกหนึ่งสถานที่คือ เมืองสะเทิม ประเทศพม่า อดีตอยู่ในรัฐมอญ ท่านเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิฯได้บอกกับ ดร.สุภชัยว่า ตรงนี้ชาวมอญและชาวพม่าเชื่อกันว่าเมื่อ 2,300 ปีที่แล้ว ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา 9 สาย โดยสายที่ 8 คือพระโสณะและพระอุตตระได้มาเผยแผ่ที่เมืองสะเทิมแห่งนี้

นอกจากนั้นท่านยังกล่าวถึงยอดภูเขาที่ได้เก็บอัฐิธาตุของพระโสณะและพระอุตตระไว้ ซึ่งโครงการธรรมยาตราก็จะยาตราขึ้นไปกราบพระอัฐิธาตุนั้น

ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image