แชร์ไปได้บาป ‘มะนาวโซดา’ ไม่รักษามะเร็ง ถึงเวลา ‘เปลี่ยน’ สู่สังคมความรู้

ภายในโถงนิทรรศการ (ขอบคุณภาพจากอุทยานธรรมชาติสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ยังคง…แชร์วนไป และเวียนกลับมาให้อ่านกันอยู่ทุกปี

ประเด็นที่อยู่ในตำนานของการแชร์มั่ว คือ “มะนาวโซดา” ที่ยิ่งส่งต่อเท่าไหร่ก็ยิ่งมีอิทธิฤทธิ์มากขึ้นเท่านั้น

กล่าวอ้างกันว่าสามารถ “ฆ่าเซลล์มะเร็ง” ได้ผลดีกว่าการทำคีโมถึง 10,000 เท่า ไม่มีผลข้างเคียงอีกต่างหาก

และยังมโนต่อไปถึงขนาดบอกว่า ความวิเศษนี้ถูกปิดลับจากหน่วยงานระดับชาติเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน อาจทำให้บริษัทยาสูญเสียรายได้มหาศาล

Advertisement

 

Advertisement

นอกจากยังมีการอวดอ้างว่า กรดซิตริกและโพลีฟีนในน้ำมะนาวช่วยป้องกันการอุดตันของเส้นเลือดดำ ปรับสมดุลของการหมุนเวียนของเลือด

แม้กระทั่ง มะนาวเมื่อมาผนึกกำลังกับเกลือ ใช้ถูหน้าผาก ยังบันดาลให้โรคไมเกรนบรรเทาเบาบางลงได้อีก

เป็นความเชื่อผิดๆ ที่มีการแชร์ไปโดยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

ล่าสุดไม่เพียงการขยายแนวร่วมเข้าไปกระจายกันอยู่ในไลน์กลุ่มผู้สูงอายุ ความมหัศจรรย์ของมะนาวในการรักษาสารพัดโรคยังระบาดข้ามฝั่งโขงไปยังประเทศลาว

ทำไม “มะนาว” จึงกลายเป็นพืชวิเศษ สามารถดลบันดาลให้โรคร้ายของคนพอศอนี้หายได้ราวกับเนรมิต

ผศ.ดร.เอกราช เกตุวัลห์

ผศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับมะนาวโซดารักษาโรคมะเร็งได้ มาจากการจับแพะชนแกะ โดยก่อนหน้านี้มีงานวิจัยจากต่างประเทศพูดถึง “เบคกิ้งโซดา” หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง ใช้รักษาคนไข้มะเร็งร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน คือการทำคีโม

“โซเดียมไบคาร์บอเนต ไม่ได้ช่วยให้หายจากมะเร็งแต่อย่างใด”

ผศ.ดร.เอกราช บอกและอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมีงานวิจัยกล่าวถึงสภาวะความเป็นด่างทำให้ขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่การหยิบเอามะนาว ซึ่งมีฤทธิ์ในการปรับสมดุลร่างกายให้เป็นด่างนั้น เมื่อนำมาผสมกับโซดา ที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไม่ได้ทำให้เกิดสภาวะด่าง และไม่ได้ช่วยรักษามะเร็ง

“มะนาว ถ้าใช้ปกติ เช่น ผสมน้ำอุ่น-ดื่ม เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะมีวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ ฯลฯ แต่ถ้าดื่มเพียวๆ ไม่แนะนำ เพราะมีความเป็นกรดสูง ยิ่งถ้าทำเป็นประจำจะทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือเป็นกรดไหลย้อน เป็นอันตรายได้”

ส่วนในกรณีที่นำมะนาวและเกลือถูหน้าผากบรรเทาอาการปวดไมเกรนนั้น รอง ผอ.สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล อมยิ้มแล้วอธิบายว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ไมเกรนเป็นเรื่องของความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ถ้าถูๆ แล้วได้กลิ่นหอมจากมะนาวแล้วคลายเครียดก็พอเป็นได้

“เวลารับข่าวสารควรเช็กความถูกต้องก่อนแชร์ เพราะจากความปรารถนาดีอาจให้ผลร้ายตามมา เช่น กรณีที่มีการแชร์กันว่า ดื่มน้ำมะนาวมากๆ ทำให้กระเพาะอาหารเลือดออก อาเจียนเป็นเลือด ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะในกระเพาะอาหารมีเยื่อเมือกที่ป้องกันความเป็นกรดได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าดื่มอย่างเข้มข้นทุกวันอาจเกิดการระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้กระเพาะทะลุ”

และว่า ประเด็นชวนเชื่อเช่นนี้มีเข้ามาเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 2 เรื่อง เป็นเรื่องที่แชร์กันโดยไม่มีการตรวจสอบ บ้างมีการแปลงสาร จึงอยากให้รับข้อมูลข่าวสารด้วยความพินิจพิจารณา

 

ให้ความรู้ต้นทาง ลดเหยื่อโซเชียล

จากนักวิชาการ มาฟังความเห็นของผู้ที่เป็นหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนให้มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรอย่างลุ่มลึก สร้างเป็นหลักสูตรสอนในสถาบันการศึกษา รวมทั้งผลักดันให้เกิดเภสัชกรทางด้านสมุนไพร เพื่อให้ความรู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในทางการรักษาและดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง

รศ. (พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ที่ปรึกษาสภาเภสัชกรรม ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาสมรรถนะของเภสัชกรในด้านสมุนไพร ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันด้วยโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารสำคัญ มีการโฆษณาชวนเชื่อมากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพร การสร้างองค์ความรู้ด้านสมุนไพรที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น

“จริงๆ เกี่ยวกับสมุนไพรเรามีภูมิปัญญาอยู่แล้วว่าใช้รักษาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หลายตัวยังไม่มีการพิสูจน์ว่าใช้ได้จริงแค่ไหน และถ้าจะให้ได้ผลต้องใช้ในปริมาณเท่าไร ซึ่งถ้าเราทำได้ก็จะสามารถนำความรู้นี้ไปเผยแพร่ได้ เราจึงอยากให้มีเภสัชกรเพื่อพัฒนาตำรับเหล่านี้ในการใช้อย่างมีคุณภาพ”

รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

ด้วยเหตุนี้เมื่อ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เปิดให้ทุนสนับสนุนโครงการด้านเภสัชกรรม เพื่อสืบสานปณิธานต่อจากอาจารย์เกษม ผู้ได้สร้างคุณูปการต่อวิชาชีพเภสัชศาสตร์ ทางสภาเภสัชกรรมจึงเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการงานประชุมวิชาการด้านสมุนไพร 1 ทุน จำนวน 200,000 บาท (จากทั้งหมดที่มีการมอบทุนในปีนี้รวม 6 ทุน)

“ทุนที่ได้เรานำไปอบรมเภสัชกรที่ทำงานอยู่ ซึ่งหลายคนทำงานอยู่ในโรงพยาบาลก็ทำเรื่องสมุนไพรเพื่อจะนำมาพัฒนาในเชิงองค์ความรู้ให้ชัดเจน เพราะตอนนี้สิ่งสำคัญคือ แพทย์ทั่วไปก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจด้านสมุนไพร การใช้สมุนไพรจึงไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร ซึ่งถ้าเภสัชกรมีความรู้จะได้ไปกระตุ้นแพทย์ แล้วทำงานร่วมกันสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มาทดแทนยาแผนปัจจุบันได้บ้าง” รศ. (พิเศษ) กิตติ บอกและว่า

แม้ว่าปัจจุบันจะมีสมุนไพรที่ได้รับการจดทะเบียนอยู่ในบัญชียาหลักมากกว่า 20 ชนิด แต่พูดถึงการศึกษาวิจัยสมุนไพรโดยตรง ยังไม่มี ทางด้านเภสัชศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่บ้าง แต่ประเมินแล้วยังไม่เพียงพอ เพราะมีทั้งที่เป็นแผนโบราณ และส่วนที่เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบัน เราจึงคิดว่าจะต้องสร้าง “เภสัชกร” ขึ้นมาช่วยดูแล เพื่อพัฒนาส่วนที่เป็นแผนปัจจุบันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันมีเภสัชกรที่ดูแลตรงนี้ แต่เรายังไม่มีที่ศึกษาด้านสมุนไพรเพื่อมารองรับโดยตรง เป็นการศึกษาเพิ่มเติมเหมือนโรงพยาบาลอภัยภูเบศรที่ศึกษาไปเรื่อยๆ เราต้องการสร้างเภสัชกรด้านสมุนไพรเพื่อเป็นมาตรฐานของคนที่สนใจด้านสมุนไพร โดยสร้างเป็นหลักสูตร เราต้องการในเรื่องของการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของยาใหม่ๆ”

สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือเอาสมุนไพรมาทดแทนแผนปัจจุบัน เอาไปรักษาเอาไปดูแลผู้ป่วย

ในสถาบันการศึกษาก็เป็นเรื่องของการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างองค์ความรู้สำหรับใช้อบรมที่โรงพยาบาล อบรมเภสัชกรที่เกี่ยวข้องที่ทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งเราอบรมมา 2 หลักสูตรแล้ว รวมทั้งเภสัชสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ต้องดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย เพราะตอนนั้นสมุนไพรก็มีเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อเยอะมาก

จากทางเลือก สู่ทางรอด

รศ. (พิเศษ) กิตติ บอกอีกว่า ถ้าให้ประเมินการใช้สมุนไพรเพื่อการดูแลผู้ป่วยตามโรงพยาบาล ยอมรับว่ามีไม่มาก

แม้เรามีตัวยาหลายตัวที่ชัดเจน แต่ยังไม่มีการสรุปอะไรชัดเจน อย่าง ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ การใช้ยังไม่ชัดเจน เพราะบางทีแพทย์ยังไม่เข้าใจก็ยังไม่กล้าสั่งใช้ แพทย์แผนไทยก็มีน้อยมาก

การที่มีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพราะเป็นพืชจากธรรมชาติ อันตรายน้อยกว่าสารเคมี และไม่มีผลข้างเคียง อย่าง ขมิ้นชัน แทนยาลดกรดได้ ฟ้าทะลายโจร ใช้เวลาเป็นหวัดเมื่อเราต้องใช้ยาแอนตี้ไบโอติก ไม่ทำให้เชื้อดื้อยา ฯลฯ

และที่น่าสนใจคือ สมุนไพรหลายชนิดช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่เสียหาย แต่ยาแผนปัจจุบันแค่รักษา อย่างยาฆ่ามะเร็งก็แค่ทำลายเซลล์ แต่สมุนไพรทำให้เซลล์ดีขึ้นได้

“ถ้าเราทำเอง เราลดการนำเข้าซึ่งปัจจุบันนำเข้ายาแผนปัจจุบันประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี เป็นการนำเข้าล้วนๆ แม้เราบอกว่าเรามีโรงงานผลิต แต่เอาก็นำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด แต่ถ้าสมุนไพร เราผลิตในบ้านเราเอง ถ้าเราทำได้เอง ก็ช่วยลดการนำเข้าได้แน่นอน แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำได้มากแค่ไหน”

หลายโรงพยาบาลก็มีการปลูกสมุนไพรอยู่แล้ว เพราะอย่างกรมการแพทย์สมุนไพร ก็มีนโยบายให้ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลผลิตสมุนไพรเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลอื่น มี 40-50 แห่ง ซึ่งเภสัชกรก็เข้าไปช่วยดู ช่วยกระตุ้นชาวบ้านให้ปลูก รวมทั้งควบคุมคุณภาพให้ชัดเจน

“ตอนนี้เรากำลังทำมาตรฐาน เพราะสมุนไพรมีปัญหาประการหนึ่งคือ สมุนไพรชนิดเดียวกัน ถ้าปลูกคนละที่ จะได้สารสมุนไพรที่ต่างกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังจะวางมาตรฐานว่าการปลูกจะต้องมีสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ” ที่ปรึกษาสภาเภสัชกรรม บอกและว่า

สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดข้อมูลด้านสมุนไพร สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของกรมแพทย์แผนไทย หรือศูนย์ข้อมูลสมุนไพร ม.มหิดล ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีการเชื่อมข้อมูลข่าวสารเป็นเครือข่ายเดียวกัน

 

มอบทุนด้านเภสัชศาสตร์

สานปณิธาน’อาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์’

อาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ อดีตนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันคนแรก

เป็นเภสัชกรไทยคนแรกที่สำเร็จปริญญาโทเภสัชศาสตร์จากต่างประเทศ

ในปี 2479 รับเชิญจากขุนเภสัชการโกวิท ให้ช่วยสอนนิสิตเภสัชฯ แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นเป็นห้องเล็กๆ 2 ห้องอยู่ติดกับห้องผสมยาและจ่ายยาของโรงพยาบาลศิริราช มีนิสิตเพียง 4 คน

เพื่อให้นิสิตมีสถานที่ฝึกงาน และเภสัชกรก็เป็นมืออาชีพในการผลิตยาที่เป็นอุตสาหกรรมแผนปัจจุบัน จึงตกลงใจร่วมทุนกับบริษัท เมิร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทยาแห่งแรกที่ได้รับบีโอไอ และเป็นโรงงานแรกที่เมิร์คฯ ร่วมก่อตั้งในเอเชีย เมื่อปี 2502

10 ปีต่อมา แม้ว่าจะมีบริษัทยาเกิดขึ้นหลายต่อหลายแห่ง แต่ทำอย่างไรจะให้อุตสาหกรรมยาเข้มแข็ง จึงร่วมกับ พิชัย รัตตกุล ก่อตั้งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน

(ที่ 4 จากซ้าย) ธีรพงศ์ ปังศรีวงศ์ ประธานมูลนิธิและคณะกรรมการมูลนิธิถ่ายภาพร่วมกับผู้รับทุน

ขณะเดียวกันมองว่าเภสัชกรยังไม่เป็นที่รู้จักมากในวงการสาธารณสุข จึงมีความคิดว่าควรขยายบทบาทของเภสัชกร โดยเป็นกรรมการในมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ นพ.ประสพ รัตนากร

เป็นอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งขณะนั้นมีอุบัติการของวัณโรคดื้อยา รวมทั้งเป็นคนริเริ่มเรื่องการอบรมให้ความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการเภสัชศาสตร์ อาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เสียชีวิตเมื่อ 2519

40 ปีให้หลัง ชัยพงษ์ ปังศรีวงศ์ บุตรชาย จึงมีดำริก่อตั้งมูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เพื่่อสืบสานปณิธาน สนับสนุนโครงการด้านเภสัชศาสตร์ศึกษา งานประชุมวิชาการระดับประเทศ ทุนการศึกษา ทุนอบรมระยะสั้นในต่างประเทศ ทุนเชิญอาจารย์เภสัชศาสตร์จากต่างประเทศมาอบรมให้ความรู้ และทุนวิจัยพัฒนา ภายใต้เงินกองทุนทั้งสิ้น 100,000,000 บาท ในระยะเวา 20 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image