เปิดอกอัดอั้น บุญธรรม วงษ์วรรณ พวนบ้านม่วงขาว ‘ช้ำใจ ไม่ได้จุดบั้งไฟบูชาพญาแถน’

บุญธรรม วงษ์วรรณ

เริ่มต้นจากข่าวเล็กๆ ที่สร้างความกระสับกระส่ายให้คนท้องถิ่น อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี เมื่อหน่วยราชการในพื้นที่ห้ามจุดบั้งไฟในงานประจำปีของต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ หมู่ 6 ต.โคกปีบ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมากขึ้นทุกที โดยมีการงัดภาพถ่ายเก่าหลายสิบปีมายืนยันว่าไม่ใช่อีเวนต์ใหม่ที่จัดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว แต่เป็นประเพณีเก่าแก่หลายชั่วอายุคน เพื่อบูชาพญาแถนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

พระครูภาวนามหาโพธิ เจ้าอาวาส ได้ทำหนังสือขออนุญาตการจุดบั้งไฟและพลุตะไลเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ก่อนจะได้รับข่าวร้ายว่าไม่สามารถอนุญาตได้ เนื่องจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ เว้นแต่จะไฟเขียวจากนายอำเภอ โดยหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามประกาศของจังหวัด ทว่า ทางจังหวัดยังไม่ได้มีการทำประกาศที่ว่านี้

ประเพณีบั้งไฟของศรีมโหสถใน พุทธศักราช 2560 จึงต้องถูกพับไป พร้อมกับความช้ำใจของชาวบ้าน ซึ่งล้วนบอกตรงกันว่าตั้งแต่เกิดมา นี่คือปีแรกที่ไม่ได้จุดบั้งไฟ นำมาซึ่งความอึดอัด คับข้องใจ ว่าเหตุใดวัฒนธรรมของท้องถิ่นจึงถูกเบรกโดยภาครัฐ

บุญธรรม วงษ์วรรณ ชาวพวนบ้านม่วงขาว วัย 76 ปี ผู้เป็นลูกมือทำบั้งไฟตั้งแต่ 8 ขวบ กระทั่งกลายเป็นมือฉมัง คืออีกหนึ่งคนที่ยอมรับว่า “เจ็บท้องข้องใจ” จนอยากจะเอาบั้งไฟที่เตรียมไว้แต่ไม่ได้จุด มาต้มน้ำกินให้หายชอกช้ำ แม้จะถูกห้ามจุด ก็ยังวนเวียนอยู่แถวใต้ถุนวัดม่วงขาว ศูนย์รวมจิตใจของชาว (ลาว) พวนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่อาศัยในผืนดินไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แหล่งรวมตัวทำบั้งไฟ

Advertisement

ซึ่งวันนี้เงียบเหงาซึมเซาเหมือนใจคนในหมู่บ้าน

 

ความรู้สึกในวินาทีแรกที่รู้ว่าปีนี้ถูกห้ามจุดบั้งไฟ?

ช้ำใจมาก เขาจุดกันมาอย่างน้อย 3 ชั่วอายุคน ปีนี้อายุ 76 นี่เป็นปีแรกที่ไม่มีบั้งไฟ ข้าราชการบางท่านพูดว่า ไม่จุดสักปีจะเป็นอะไรไป งั้นขอถามว่า แล้วถ้าจุดจะเป็นอะไรไป ทำไมราชการปล่อยให้ประเพณีหดหายไปได้ เน่าเลย หงอยทั้งหมู่บ้าน ผิดหวังกันไปทั่ว บางคนนอนไม่หลับ ชาวบ้านไม่ใช่คนโง่หรอก แต่พูดไม่ได้ เสนอความคิดไม่ได้ เพราะเรามันเป็นบ๊วย เป็นหางแถว เคยไปประชุม จะเลื่อนจาก 15 ค่ำ เป็น 2 ค่ำ พอจะถึงวันจุด มีประชุมตอนเย็น สุดท้ายบอกจุดไม่ได้อีก เกาหัวเลย มันเป็นอะไรของมัน สุดท้ายมาบอกให้ไปถาม คสช.เอง

Advertisement

คิดในมุมราชการ บั้งไฟทำให้เกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า อย่างการพนัน ตีกัน หรือรบกวนการบิน?

เครื่องบินบินสูง 10 กิโลจากพื้นดิน บั้งไฟขึ้นไป 3 กิโลเอง ห่างกันตั้ง 7 กิโล และตรงนี้ไม่ใช่เส้นทางเครื่องบิน เขาบินตามเข็มทิศ ไม่ได้บินตามเส้นข้าวปุ้น อันนี้พูดตลกๆ นะ (หัวเราะ) จริงๆ คือถ้าแจ้งหอบังคับการบินล่วงหน้า ก็จัดการได้ แล้วทุกปีที่จัดมาไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย ส่วนเรื่องการพนันอย่าเอามาอ้างเลย มันไม่ใช่ เรื่องตีกันก็ไม่มี ตรงกันข้าม งานนี้ทำให้ชาวบ้านสามัคคีด้วยซ้ำ ใกล้ถึงงาน ก็มาช่วยกันทำทั้งหมู่บ้าน หมู่บ้านอื่นๆ ในอำเภอก็ทำ สูตรใครสูตรมัน สนุกมาก เสร็จงานกลับบ้านก็ต่างคนหุงข้าวกิน ไม่ได้ไปตีไปฆ่าเหมือนที่ไปคิดกันหรอก ตื่นมาวันรุ่งขึ้นก็ไปทำงาน ทางการมาคิดในแง่มุมร้าย ไม่มีหรอก ผมไม่ชอบเลยแบบนี้!

คนส่วนหนึ่งในสังคมมองว่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิม เพราะใช้ท่อพีวีซีทำบั้งไฟ ซึ่งอันตรายมากขึ้น จริงไหม?

ตรงกันข้าม! (ทำเสียงสูง) บั้งไฟจากท่อพีวีซี ระเบิดแล้วไม่อันตราย เวลาตกจากฟ้า สมมุติโดนหลังคาบ้านคนที่เป็นสังกะสี ก็เสียงดัง “คั่ง” แค่เนี้ย หลังคาไม่มีรูด้วยซ้ำ เพราะมันลงมาแบบแนวนอน ขนานกับพื้นดิน ไม่ได้เหมือนบั้งไฟสมัยก่อนซึ่งทำจากกระบอกเหล็ก หัวจะทิ่มพื้น ปักลงมา ตกลงมาบนดินที ดึงไม่ไหวเลย น้ำหนักมาก ต่างจากท่อพีวีซี เบา ระเบิดก็ไม่อันตราย ที่ตายๆ กันคือตะไลนู่น ไม่ใช่บั้งไฟ

บั้งไฟแต่ละยุคมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง?

ตั้งแต่จำความได้ ผ่านมา 4 แบบแล้ว เริ่มจากบั้งไฟที่ทำจากกระบอกไม้ ซึ่งไม่ค่อยขึ้นหรอก ยุคต่อมาเลยทำด้วยกระบอกแป๊บเล็กๆ เหมือนที่ใช้กับตัวจักรยาน แล้วพัฒนาเป็นกระบอกเหล็กใหญ่ๆ อันนี้ขึ้นดี แต่อันตราย เลยปรับมาใช้ท่อพีวีซีซึ่งทั้งขึ้นสูงกว่า เพราะน้ำหนักเบา และถ้าระเบิดขึ้นมาก็ไม่อันตราย แตกไปก็อยู่กับที่

สมัยก่อน ดินประสิวลังละ 55 บาท มี 15 กิโล เดี๋ยวนี้ 1,200 บาทแล้ว คิดดูว่านานแค่ไหน ยุคแรกๆ ใช้สากไม้กระทุ้งในกระบอก แม้แต่ชนวนก็ยังใช้น้ำมันก๊าดจุดกับผ้าขี้ริ้วอยู่เลย (หัวเราะร่วน) ทำอยู่ 3 วันได้กระบอกเดียว ใช้คน 4 คน วันนึงจุดได้ประมาณ 3 กระบอก สมัยนี้ใช้แม่แรงอัดเป็นปอนด์ไม่ต้องตำ ใช้เครื่องอัด เลยทำได้ไวขึ้น วันนึงได้ 5-6 กระบอก จุดได้เป็น 100 ใช้รีโมตกดเอา แจ๊ดตุ้ม แจ๊ดตุ้ม กันทั้งวัน ปีนึงได้เยอะแยะ หูดับตับแตก

เอาวิชาทำบั้งไฟมาจากไหน?

คนเก่าคนแก่เขามีพื้นฐานทำเป็นอยู่ และก็มีคนไปเรียนรู้มาจากทางอีสาน เอามาประกอบกัน เด็กรุ่นหลังทำเก่งกว่าลุงอีก เขาพลิกแพลงนิดหนึ่ง ไปไกลเลย ความรู้ไม่สิ้นสุด สมัยก่อนบ้านโคกปีบใกล้ๆ กันมี มหาสำเภา วงษ์เทศ ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนพวนเหมือนกัน เก่งมาก ต้องเรียนรู้จากเขา สอนธรรมะ เป็นพิธีกรที่ต้นโพธิ์ รู้เยอะเรื่องจุดบั้งไฟ

เราอยากได้ประเพณีไว้ให้ลูกหลานดูเหลือเกิน บ้านผมกลัวมันจะหาย คนทำข้าวเกรียบเก่งๆ ก็หายไปแล้ว ทำขนมจีนเก่งก็หายไปแล้ว เหลือบั้งไฟอย่างเดียว ยังจะมาเลิกอีก โอ๊ย เสียดาย! อุตส่าห์พัฒนามาถึงขนาดนี้

อยากให้ช่วยเล่าบรรยากาศงานบั้งไฟในอดีต?

โอ้วววว สนุกมาก เป็นประเพณีกลางเดือน 6 พอจะถึงฤดูกาล ชาวบ้านจะเริ่มทำบั้งไฟ เพื่อจุดบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หลังจากนั้นก็เริ่มทำนา ไม่ได้มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น ทำเป็นประจำทุกปี เตรียมงานกันอย่างน้อย 1 เดือน พอเข้าเมษา เตรียมแล้ว เพราะกว่าจะไปตัดไม้มาทำบั้งไฟ กว่าจะตาก กว่าจะแห้ง กว่าจะซื้อไม้มาทำถ่าน ก็ใช้เวลา ช่วยกันที่วัดจนดึกดื่น คนมาชวยกันเต็มใต้ถุนวัดทุกวัน บ้านอื่นผ่านมาก็ต้องมาบ้านม่วงขาวเป็นตัวยืน บั้งไฟจากจังหวัดอื่นก็ต้องคิดมาแข่งกับบ้านนี้ แต่ละหมู่บ้านสูตรต่างกัน แต่ก็อยู่ด้วยกัน สานถึงกันหมด ไม่มีชั้นวรรณะ ถ้ามาจากจังหวัดอื่น ไม่บอกนะ (หัวเราะ) แต่ก็แข่งกันสนุกๆ เฉยๆ พวกผู้หญิงหัดเซิ้ง หัดฟ้อน ลุงเอง 8-9 ขวบก็ช่วยเขาทำแล้ว ช่วยเจ้าตำรับอยู่ที่วัดนี้ และออกไปเซิ้งบั้งไฟด้วย

ลุงก็ร้องได้หมดนะ ฟังไหม?

(ขับเซิ้ง)

มาฮอดแล้ว ปีใหม่ของเฮา จักนำเอา บุญบั้งไฟบ่ขาด มีนักปราชญ์กะเฒ่าแก่โบราณ มีมานานแต่พ่อและแม่ มีตั้งแต่ปู่ย่าตายาย บ่ให้กายก่ะเดือนหกเดือนห้า เพิ่นถือว่าฟ้าฝนจึงดี ประเพณีที่งามที่เลิศ …. บ่ให้เป็นโพยภัยจักอย่าง ร่างกายห่างจากโรคโรคา จึงบูซาพญาแถนเจ้า ให้ฝนอังเอาตกหล่นลงมา …… ในระหว่างหมู่บ้านม่วงขาว … ได้มาพ้อกะมาม่วนน่ำกัน วันสำคัญเจ้าอย่าสิเบื่อ ปีละเทื่อการเล่นของเฮา อย่าให้เขาติเตียนเฮาได้ ฮักษาไว้บุญประเพณี

นี่ร้องได้อีกครึ่งวันไม่หยุดเลย (หัวเราะ)

ตอนเด็กๆ บั้งไฟมีการประกวดหรือแข่งขันแบบตอนนี้ไหม?

ยังๆ เป็นแค่การจุดตามประเพณี ต่อมามีการประกวดลงทุนกันมาก เฉพาะเสื้อผ้าใส่ฟ้อนในขบวน 5-6 หมื่นสำหรับยุคนั้น คิดดูแล้วกัน ชุดละ 300-400 บาท 15 ตัวเป็นอย่างน้อย ขายวัวสู้กัน 2 ตัว 3 ตัวก็เอา ทุ่มเต็มที่ในการประกวดบั้งไฟ อย่าให้พูดเลย (หัวเราะ) แล้วหลังจากนั้นถึงจะแข่งขันเหมือนในปัจจุบัน

แสดงว่าในความรู้สึกของชาวบ้าน การจุดบั้งไฟมีความสำคัญมาก?

สำคัญสุดๆ จะบูชาพญาแถนเจ้า นี่มาห้าม! คนแถวนี้ทำนา มันเกี่ยวข้องกับฟ้าฝน พ่อแม่ลุงทำนา ลุงเอง จบ ป.4จาก ร.ร.วัดต้นโพธิ์ ก็ทำนาจนส่งลูก 3 คน จบปริญญา 5 ใบ คนแรกเป็นพยาบาลอยู่ที่ รพ.อภัยภูเบศร คนที่ 2 จบปริญญาโท เป็นครูอยู่ศรีมหาโพธิ คนที่ 3 เป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ จบโทเหมือนกัน

ปีนี้เตรียมบั้งไฟไว้พร้อมแล้วด้วย?

ใช่ บั้งไฟเป็นกองแล้ว แต่ไม่ได้จุด มันเจ็บท้อง ปวดท้องจะเอาไปต้มน้ำกินอยู่เนี่ย แก้เคล็ด เฉพาะบ้านม่วงขาวตั้ง 40-50 กระบอกนะ ยังไม่รวมหมู่บ้านอื่นตั้งเรียงไม่ได้จุด แอบอยู่ต้นเสาก็มี อุปกรณ์เตรียมพร้อมไว้หมด เลยจะเอาไปจุดที่ฉะเชิงเทราแทน สระแก้วเขาก็จุดกันสนุก เพิ่งไปมาเมื่อวันที่ 14

แสดงว่าปีนี้นอกจากอีสาน จังหวัดใกล้เคียงก็จุดได้เหมือนกัน?

มีทั้งนั้น แม้แต่วัดดอนคา อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ผู้ว่าฯจุดบั้งไฟเปิดงานเลย ดูข่าวโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์แล้วน้อยใจ ดูอีสานเขาบ้างสิครับ โอ๊ยย จุดจั๋งหนับเลย 25 ตัว เราจุดไม่ได้สักตัว!

ปีหน้าคิดว่าจะได้จุดไหม?

ยังไม่คิดหรอกครับ ลุงก็เป็นคนชนบทคนหนึ่ง คล้อยตามเขาไป จะไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงออกคดีกลอนอะไรไม่ได้หรอก ยศฐานันดรไม่เท่าเขา เราเป็นแค่คนแก่ธรรมดาที่อยากให้ประเพณีนี้ยังมีลูกเต้าอยู่ต่างบ้านจะได้กลับมาบ้านปีสักครั้งนึง มาเยี่ยมปู่ย่าตายาย ไป 40-50 ปีก็ต้องมากัน วันนี้เลย 15 ค่ำ เดือน 6 จะเป็นวันอื่นไม่ได้ ต้องเป็นวันจุดบั้งไฟวัดต้นโพธิ์ คนที่ไปอยู่ไกลจะได้มาถูก

วัยรุ่นในหมู่บ้านมีสืบทอดหรือเปล่า

เต็มเลย เวลาทำบั้งไฟ มากันเต็มใต้ถุนวัด มีแต่คนเก่งๆ ไม่มีควายหรอก เราเองก็ไม่หวง

คิดว่าทำบั้งไฟจนกว่าชีวิตจะหาไม่?

ครับ มีศิษย์มีอาจารย์กันอย่างนี้แล้ว คิดสืบสานต่อไป เพื่อบูชาพญาแถนอย่างเดียวนะ คิดประเพณีให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก็ดีใจแล้ว

เพราะทำนา นากับฝน ต้องการกันและกันอย่างแน่นอน

 

 

พวน มอญ ไทย

สามัคคีเพราะมี ‘บั้งไฟ’

ดูเผินๆ คล้ายเกิดการจลาจลเล็กๆ ที่ ศาลามโหสถ จ.ปราจีนบุรี แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เมื่อชาวบ้าน (เกิน 5 คน) จับกลุ่มชุมนุมพูดคุยอย่างเผ็ดร้อน แกนนำ เอ้ย! ประธานการเม้าธ์มอย เห็นจะเป็น คุณยายยวง สายไตย วัย 81 ที่หอบหิ้วเชี่ยนหมากพร้อมอุปกรณ์ครบครันมานั่งตะบันแล้วระบายความอัดอั้นเรื่อง “บั้งไฟ”

“เกิดมาก็เห็นเลย เขาจุดกันลานกลางทุ่งหลังวัดต้นโพธิ์ สมัยหลวงพ่อเยื้อน อดีตเจ้าอาวาส เงินมีเท่าไหร่ แกทุ่มให้บั้งไฟหมด ทุกวัด ทุกหมู่บ้านแถวนี้ก็มาร่วมกันจุดบั้งไฟ คนมาเที่ยวงานก็ไม่ใช่เฉพาะในปราจีนฯ แต่คนชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดอื่นๆ ก็มา มีลิเก โอ๊ยยย งานใหญ่ มองเห็นคนเป็นจุดขาวๆ เต็มลานไปหมด ฉันเป็นคนไทย ไม่ใช่พวน ยังเสียใจมากที่ปีนี้ไม่มีจุดบั้งไฟ” เคี้ยวหมากเต็มปากจึงพูดไม่ชัด แต่อารมณ์ “จัดเต็ม”

ใครสักคนกล่าวเสริมว่า ช่วงพีคสุดของงานบั้งไฟอยู่ในช่วงปลาย พ.ศ.2530 จนถึงต้นทศวรรษที่ 2540 คนมาเที่ยวงานเยอะจนแน่น มีลิเก จั้มบ๊ะ ชาวบ้านซ้อมเป็นนางรำในขบวนแห่บั้งไฟ เด็กนักเรียนในหมู่บ้านก็เช่นกัน

“คนไทยเซิ้งไม่เป็น ก็ต้องไปฝึกทั้งการเซิ้งและกาพย์เซิ้งจากคนพวน”

ว่าแล้ว ก็สามัคคีกันขับกาพย์เซิ้งขึ้นมาอย่างกึกก้อง

ป้าสวาท กรทองคำ วัย 66 ปี บอกว่า ประเพณีนี้ชาวบ้านในอำเภอศรีมโหสถ ซึ่งมีทั้งคนพวน คนไทย และคนมอญ ได้ทำความรู้จัก สนิทสนม สามัคคี แต่ละหมู่บ้านจะพยายามทำบั้งไฟมาแข่งกัน ปีนี้สู้ไม่ได้ ปีหน้าไปหาสูตรใหม่มาแก้ ปีนี้ไม่ดี ปีหน้าเอาใหม่ ไม่ได้ผูกพยาบาท คาดพยาเวร

“ไทย พวน มอญ เหมือนพี่เหมือนน้อง เพราะงานนี้ ไม่งั้นต่อไป ไม่ต้องรู้จักกัน กลับบ้านปิดประตูนอน แหม! พูดแล้วของขึ้น”

ป้าสังวรณ์ กระจ่าง วัย 68 เล่าประวัติศาสตร์การจุดบั้งไฟว่า เดิมนั้น วัดต้นโพธิ์เป็นผู้จัด ต่อมาทางเทศบาลช่วยเหลือ กระทั่งเป็นงานใหญ่เชิดหน้าชูตา ทางจังหวัดก็มีงบประมาณให้ด้วยซ้ำ

ส่วนแนวทางปีหน้า ชาวบ้านหารือเบื้องต้นว่า จะพยายามผลักดันการส่งหนังสือขออนุญาตให้รวดเร็วกว่านี้ เผื่อติดขัดจะได้แก้ไขทันการณ์

สำหรับประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้วแค่นำประเพณีจุดบั้งไฟมาอ้าง เพราะห่วงผลประโยชน์การออกร้านขายของหรือไม่ ชาวบ้านบอกตรงกันว่า เดี๋ยวนี้ร้านรวงที่เห็นในงานอย่างมากมาย เป็นคาราวานต่างถิ่น เข้าใจว่าตกลงกันกับวัด ส่วนชาวบ้านถ้าจะขายต้องไปเช่าแผง จึงเรียกได้ว่าแทบไม่มีส่วนร่วม เว้นแต่เรื่องบั้งไฟ ซึ่งผูกใจผู้คนให้ยึดโยงกับท้องถิ่น

รุมอธิบายภาพเก่างานบั้งไฟในอดีต

ด้าน คุณบุญเลิศ โพกรัก วัย 55 มือทำบั้งไฟที่ฝึกมาตั้งแต่ พ.ศ.2521 กล่าวเสริมว่า การจุดบั้งไฟที่ศรีมโหสถ ส่วนใหญ่คือการแก้บน ไม่ใช่แข่งขันหรือการพนัน ซึ่งปีนี้ตนก็เตรียมบั้งไฟไว้ล่วงหน้าเหมือนทุกปี โดยจะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่งานลุล่วงและชาวบ้านสั่งบั้งไฟยิงแก้บน พอทางการไม่อนุญาต ทุนที่ลงไปก็แทบจะสูญเปล่านับหมื่นบาท

“ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน แม้แต่วัดอื่นๆ เช่น วัดหนองเกตุ วัดสระข่อย ก็ส่งบั้งไฟมาจุดถวายต้นโพธิ์ที่วัดเหมือนกัน สมัยก่อนบั้งละ 500-600 บาท ตอนนี้ตกขั้นต่ำ 1,000 บาท ราคาที่แตกต่างอยู่ที่การตกแต่งตรงหัวกับหาง ยิ่งอลังการ ยิ่งราคาสูง สำหรับการแข่งขัน เดิมบั้งไฟใครขึ้นสูงกว่า คนนั้นชนะ เดี๋ยวนี้ดูจากเวลาจากขึ้นจนตกถึงพื้นดิน เลยต้องทำบั้งไฟให้เบาตัวที่สุด”

บั้งไฟสมัยก่อนอยู่บนฟ้าไม่ถึง 100 วินาที เดี๋ยวนี้พุ่งไปเกือบ 400 วินาที

“ลูกป้าเคยป่วยหนัก เกือบตาย เลยไปบน เขาก็ค่อยๆ ดีขึ้น แก้บนไปด้วยบั้งไฟคู่หนึ่ง ใครขออะไรไว้ตอนไหนของปีก็แล้วแต่ จะรวบรวมมาแก้บนกันวันนี้วันเดียว ทำนาไม่ได้ผลผลิต ก็บน”  ป้าสมควร พนัสเดิม วัย 66 เล่า ก่อนที่เสียงปริศนาจะเสริมว่า อยากถูกหวยก็บน! เรียกเสียงฮาครึกครื้นไปทั้งวง

ยายบุญส่ง บุนยลักษณ์ วัย 78 ปี ตบท้ายว่า ใครจะมาบอกว่านี่คือ “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” ก็ตาม แต่จริงๆ แล้วเป็นที่พึ่งทางใจของพวกเรา พวกรากหญ้า ป้าเน้นเสียง มือหนึ่งก็พัดคลายอุณหภูมิความร้อนรอบตัว

แต่สิ่งที่ยังคุกรุ่นในใจ จะคลายลงเมื่อใด ไม่อาจรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image