
ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | วจนา วรรลยางกูร |
เผยแพร่ |
แน่นอนว่าการหายตัวไปของใครสักคนด้วยเหตุผิดปกติ หรือการอุ้มไปฆ่า ไม่ใช่เรื่องธรรมดาในสังคมอารยะ
จำนวนมากในคดีอุ้มหาย เกิดขึ้นเพราะมีการขัดผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ
2 กรณีซึ่งเป็นที่สนใจของสหประชาชาติที่ทวงถามในการประชุม ICCPR เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือ กรณีของ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้สิทธิชาวกะเหรี่ยง
ทั้งสองกรณีหายตัวไปโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถหาผู้กระทำได้
จนถึงปัจจุบัน กรณีการบังคับสูญหายของประเทศไทยที่มีข้อมูลอยู่ที่สหประชาชาติ มีกรณีที่ยังคลี่คลายไม่ได้มากถึง 82 กรณี นับตั้งแต่ ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่ถูกอุ้มหายปี 2534 กรณีพฤษภาทมิฬ 2535 กรณีสงครามยาเสพติดทางใต้
นั่นหมายถึงจำนวนผู้กระทำผิดที่ลอยนวล ไม่ถูกนำตัวเข้ากระบวนการยุติธรรม

“วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สะท้อนความอ่อนแอในระบบความยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีคือประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งสร้างแนวทางให้เชื่อได้ว่าโอกาสเอาผิดกับผู้กระทำนั้นเป็นไปได้ยากมาก
สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือการทำให้กรณีอุ้มหายกลายเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่สามารถหาคนทำได้
บ่อยเสียจนคนได้ยินข่าวทำได้เพียงอุทานว่า “อีกแล้ว” และปล่อยผ่านให้เรื่องเงียบไป

ไม่มีกฎหมายรองรับ ดำเนินคดีไม่ได้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การดำเนินคดีกรณีอุ้มหายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะ ไม่มีกฎหมายรองรับ เห็นได้ชัดในกรณี สมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไปแล้วถึง 13 ปี ภรรยาและลูกเผชิญปัญหาว่าไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากไม่พบหลักฐานยืนยันว่านายสมชายเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ก่อนที่ดีเอสไอจะสรุปว่าไม่พบตัวผู้กระทำผิด
เมื่อมีการตีความว่าญาติไม่ใช่ผู้เสียหาย หากไม่พบศพหรือชิ้นส่วนสำคัญของผู้สูญหาย ทนายสมชายจึงต้องฟ้องเองในฐานะผู้เสียหาย
เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้การอุ้มฆ่าไม่ถูกดำเนินคดี หากหาศพไม่เจอ

ขณะที่ บิลลี่-พอละจี หายตัวไปแล้ว 3 ปี แต่ดีเอสไอไม่รับเป็นคดีเพราะบอกว่าภรรยาที่มายื่นเรื่องไม่ใช่ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายแม้จะอยู่กินมีลูกด้วยกัน 5 คน ต่อมามีการสอบแม่บิลลี่เพิ่มเพื่อให้เป็นผู้ยื่นเรื่อง แต่ก็ยังไม่คืบหน้า
ทั้ง 2 กรณีนี้ รัฐบาลไทยรับปากจะนำเรื่องกลับมาพิจารณา แต่ก็ยังไม่กระเตื้อง
และนักสิทธิที่หายตัวไปล่าสุดคือ เด่น คำแหล้ แกนนำต่อสู้เรื่องที่ทำกินบ้านโคกยาว จ.ชัยภูมิ หายตัวไปแล้วหนึ่งปีกว่าเรื่องยังไม่เป็นคดีความ แม้สาเหตุการหายตัวไปยังไม่แน่ชัดแต่ภรรยาเชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ ที่ผ่านมาญาติและชาวบ้านต้องออกค้นหาหลักฐานกันเองหลายครั้งเพราะรอการทำงานที่ล่าช้าของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ต่อมามีการพบหลักฐานสำคัญและกะโหลกมนุษย์ แต่ก็ต้องรอการพิสูจน์ว่ากะโหลกนั้นเป็นของนายเด่น เพื่อจะมีหลักฐานเชื่อได้ว่านายเด่นเสียชีวิต จึงจะเริ่มการสอบสวนตามคดีอาญาได้
เป็นปัญหาซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นในคดีบังคับสูญหาย

กฎหมายป้องกันทรมาน-อุ้มหาย
ทางออกที่ต้องรอต่อไป
ปัญหาที่ว่าไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินคดีกรณีอุ้มหายนั้น มีการผลักดันให้พัฒนากฎหมายมาอุดช่องโหว่นี้เป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว
ปี 2550 ไทยลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
ปี 2554 ไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ต่อสหประชาชาติ
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงผลักดัน โดยมีการรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ สนช.ตีตกร่างกฎหมาย โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 77 ระบุว่า ต้องมีการรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อนผลักดันกฎหมาย
หลายคนคาดเดาไปถึงเหตุผลที่แท้จริง เมื่อกฎหมายนี้ไม่ผ่านจากสภาที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาให้กฎหมายหลายร้อยฉบับผ่านในเวลารวดเร็ว ชนิดที่ว่า “ไม่ต้องลุ้น”
ขณะที่กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
กฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุทรมาน-บังคับบุคคลให้สูญหาย จำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท ผู้บังคับบัญชาที่ละเลยต่อการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา รับโทษกึ่งหนึ่ง
กฎหมายฉบับนี้จะทำให้การทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นความผิดทางอาญา โดยให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมในคณะด้วย
“ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกติกาสากลระหว่างประเทศ การติดตามค้นหานำคนกระทำผิดมาลงโทษเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ส่วนสำคัญคือญาติของคนหายมีสิทธิรู้ชะตากรรม หากมีการติดตามคนกระทำความผิดมาได้ญาติก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเยียวยา”
ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว และอธิบายว่า หากมีกฎหมายมารองรับจะมีระเบียบปฏิบัติว่าคนหายแล้วต้องทำอะไรบ้าง จะมีงบให้ค้นหาและมีแนวทางการปฏิบัติ
“ที่ผ่านมาเมื่อมีคดีคนหายแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ค้นหา ชาวบ้านก็ต้องค้นหากันเอง ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ แจ้งความได้แค่ว่าคนหาย ความยากลำบากคือเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านจะไปสืบเสาะหาข้อมูลก็ยากลำบาก ถ้ามีกฎหมายจะช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความชัดเจน” ณัฐาศิริกล่าว
หลังถูกตีตกแล้วต้องกลับไปนับหนึ่ง จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งเมื่อไหร่

วันที่พ่อไม่กลับบ้าน
ความหวังของครอบครัวคนสูญหาย
หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทำจากการบังคับสูญหาย มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ บอกว่า คดีบิลลี่ตอนนี้มีเพียงที่ ป.ป.ท. เป็นคดีเจ้าหน้าที่ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157
ส่วนคดีอาญากรณีบังคับสูญหายไม่มีความคืบหน้า หลังดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษเพราะบอกว่าตนเป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
มึนอเล่าว่า ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมกระบวนการร่างกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย แต่ทราบว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลต่อคดีบิลลี่ เพราะเรื่องบิลลี่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายที่จะประกาศใช้ในอนาคต
“ถ้ากฎหมายสามารถย้อนไปถึงคดีบิลลี่ได้ก็อยากให้ผ่านไวๆ เพราะจะช่วยในการดำเนินการกับคนที่อยู่กับผู้เสียหายคนสุดท้าย อยากถามว่าที่บอกว่าปล่อยตัวบิลลี่ไป ปล่อยยังไง ทำไมบิลลี่ไม่กลับบ้านไปหาครอบครัว”
เธอเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นความหวังในคดีบังคับสูญหาย โดยเฉพาะกับครอบครัวผู้สูญหายที่มาติดตามคดี
“ปัจจุบันใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจใคร ใช้ชีวิตลำบากกว่าตอนที่มีบิลลี่อยู่ด้วย ตอนนั้นรู้สึกตัวเองมีพร้อม สุขสบาย ไม่ลำบาก ทุกวันนี้ลูกคนที่ 4 ยังถามถึงพ่ออยู่เลย ตื่นมาทุกเช้าก็จะถามว่า ‘แม่ กลางคืนแม่ฝันถึงพ่อไหม แม่คิดถึงพ่อไหมไม่เจอพ่อนานแล้ว’ เขาถามไปเรื่อยทุกๆ วัน ก็จะบอกลูกว่า ‘ถ้าหนูคิดถึงพ่อต้องเป็นคนดี ต้องตั้งใจเรียน’ ลูกคนนี้ติดพ่อมาก เวลาไม่สบาย เขาจะเอามือวางที่หน้าผากแล้วบอกว่า ‘โอ๊ย คิดถึงพ่อจังเลย ทำไมพ่อไม่กลับมาหาหนูสักที’ เขาพูดถึงพ่อทุกวัน
“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ พี่บิลลี่ชอบช่วยเหลือคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก เขาคิดว่าต้องหาความรู้แล้วกลับไปช่วยหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุขทุกคน เขาเป็นตัวแทนชาวบ้านช่วยเหลือเรื่องต่างๆ จนเกิดเรื่องไล่ที่ปู่คออี้ เขาก็เข้าไปช่วย จนวันสุดท้ายเขาก็ถูกกระทำให้หายไป”
ส่วนเรื่องคดีเธอเผยว่ายังมีความหวังกับดีเอสไอ เชื่อว่าถ้าดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ จะทำงานติดตามค้นหาได้มากกว่าตำรวจในท้องที่
“หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องคนถูกอุ้มหายหลายๆ คนแล้ว รู้สึกว่ามีชะตากรรมคล้ายๆ กัน เกิดจากการที่เขาเรียกร้องสิทธิที่เขาควรจะได้รับ อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อยากให้คนที่ทำดีได้มีที่ยืนบ้างได้ไหม อย่าปล่อยให้เขาหายตัวไปได้ไหม ถ้าเขาอยู่จะได้ช่วยเหลือคนอื่นในสังคมต่อไปได้” มึนอกล่าว

กฎหมายต้องพัฒนาให้ทันสมัย
เจ้าหน้าที่ต้องกระตือรือร้นทำงานตัวเอง
“การบังคับให้สูญหายนั้นคนทั่วไปทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่บุคลากรหรือองค์กรที่มีศักยภาพ ผมคิดว่าทำไม่ได้ หรือหากทำจริงก็ตรวจสอบไม่ยาก”
สมนึก ตุ้มสุภาพ ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว และว่า จากเรื่องของบิลลี่กับพ่อเด่นนั้น สังคมไทยควรตระหนักว่า เป็นภาระหน้าที่ของญาติที่จะต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบเอง เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมายให้ดำเนินการ วันนี้สังคมพยายามบอกว่าควรมีการทำกฎหมายซ้อมทรมานและอุ้มหาย
“เมื่อกฎหมายอาญาไปไม่ถึงกระบวนการทำให้สูญหาย จึงเป็นเหตุผลที่หลายองค์กรในสังคมพยายามผลักดันกฎหมายขึ้นมา วันนี้ถ้าไม่มีการพัฒนากฎหมายให้ทันยุคสมัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าการซ้อมทรมานบังคับให้สูญหายจะยังคงมีอยู่
“หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบกรณีเช่นนี้มีหลายหน่วยงาน แต่ผมยังไม่เห็นความกระหายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มากพอ”
สมนึกเห็นว่าหน่วยงานส่วนกลาง อย่าง ดีเอสไอ กองปราบปราม หรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควรออกแอ๊กชั่นมากกว่านี้ แต่เมื่อส่วนกลางทำงานไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทำให้ทุกวันนี้คดีบิลลี่ยังไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของดีเอสไอ
“คดีบิลลี่ เจ้าหน้าที่จับตัวไปแล้วอ้างว่าปล่อย เมื่อญาติไม่เชื่อว่าปล่อยจึงใช้กระบวนการตามกฎหมายไปร้องศาล แต่เมื่อญาติพี่น้องไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบก็ไม่สามารถสร้างหลักฐานมาพิสูจน์ได้ กระบวนการยุติธรรมก็ถูกตัดตอน นี่คือความเหมือนของคดีสูญหายทั้งหมด และหลายคดีไม่สามารถดำเนินการต่อได้ด้วยเหตุผลที่เป็นประเด็นปลีกย่อย ซึ่งไม่น่าเอามาเป็นเส้นแบ่งขวางการทำงาน
“โดยทั่วไปไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อาจเกินเหตุก็จะมีการคุ้มครอง แต่กฎหมายที่จะออกมานี้จะบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายหรือทำให้บุคคลสูญหาย โดยอ้างการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และจะให้อำนาจสืบค้น ค้นหาบุคคลสูญหาย และหากพบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ค่อยไปดูว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่” สมนึกกล่าว
แม้กฎหมายป้องกันทรมาน-อุ้มหายที่กำลังผลักดันกันนี้จะไม่ครอบคลุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า แต่จะเป็นความหวังให้ประชาชนและคนทำงานด้านสิทธิว่ามีกฎหมายให้เอาผิด เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล หรือถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบ จนถึงการบังคับสูญหาย
มองในมุมของเจ้าหน้าที่เอง กฎหมายนี้จะช่วยให้การทำงานมีมาตรฐาน ป้องกันการปฏิบัติหน้าที่อันเลยเถิด ให้มีการปฏิบัติกับประชาชนแบบอารยประเทศ
ที่สำคัญเป็นกฎหมายที่นานาประเทศจับตามอง เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันไว้กับสหประชาชาติ ขณะที่ไทยถูกจับตาปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มมากขึ้นในรัฐบาลปัจจุบัน