เปิดใจโค้ชเบอร์ 1 ของโลก มาร์แชล โกลด์สมิธ ‘ผมไม่ใช่ซุปเปอร์แมน’

ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีซีอีโอคนไหนกล้าเปิดเผยว่ามี “โค้ช” เพราะอาย แต่ปัจจุบันการมีโค้ชกลายเป็นความภาคภูมิใจที่ใครๆ ก็อวดกัน”

ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ โค้ชเบอร์ 1 ของโลก เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่ตอบรับอาชีพโค้ช (Coaching) ในงานประชุมโค้ชระดับโลกครั้งแรกในไทย “APAC 2017 Coaching Conference” ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาอย่างที่ ดร.โกลด์สมิธบอก ปัจจุบันอาชีพโค้ชถือเป็นความนิยมในระดับโลกไปแล้ว ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย รวมทั้งเอเชียภาคพื้นแปซิฟิก

ในประเทศไทยระยะเวลาเพียง 3 ปี การโค้ชชิ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

Advertisement
พจนารถ ซีบังเกิด

พจนารถ ซีบังเกิด หรือ โค้ชจิมมี่ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานบอกว่า APAC (Asia Pacific Alliance of Coaches) หรือ กลุ่มพันธมิตรโค้ชแห่งเอเชียแปซิฟิก เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มโค้ชทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการร่วมกันพัฒนาและเผยแพร่ทักษะการโค้ชเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม การจัดการประชุมครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับโค้ชมืออาชีพและผู้นำองค์กรในการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความคิด เพิ่มความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญด้านการโค้ช

ภายใต้แนวคิด “Harmony and Mindfulness for Humanity” ไม่เพียงผู้นำองค์กรจะได้รู้จักทักษะการโค้ชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ยั่งยืนให้ทีมงาน องค์กร และสังคม ควบคู่ไปกับความสามัคคีปรองดอง เทคนิคการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของทีมงานและองค์กรให้คล่องตัว รวมถึงการปลูกฝังวัฒนธรรมการโค้ชแบบเจาะลึกและเหมาะสมกับแต่ละองค์กร ยังเพิ่มศักยภาพการเป็นผู้บริหารงานด้วยทักษะการโค้ชควบคู่ไปกับการเจริญสติ (Mindfulness)

นอกจากจะมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงด้านการโค้ช 35 คน จาก 18 ประเทศเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในหลากหลายมุมมอง

ที่สำคัญคือ การมาของ ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ กูรูด้านการโค้ชและการพัฒนาภาวะผู้นำที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เจ้าของผลงานเบสต์เซลเลอร์ “What Got You Here Won?t Get You There” และ “Triggers” รวมทั้งการขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

จึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาร่วมฟังการสัมมนาอย่างคับคั่ง

Harmony & Mindfulness for Humanity

ไม่เพียงครั้งนี้ที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมโค้ชระดับโลก แต่ยังเป็นความเห็นชอบร่วมกันในการหยิบเอาประเด็นของการเจริญสติ (Mindfulness) เข้ามาเป็นหัวใจของการสัมมนา

เพราะยิ่งโลกวุ่นวายซับซ้อนเท่าไร Harmony หรือความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว และ Mindfulness การมีสติ ยิ่งมีความจำเป็น ทั้งต่อชีวิตการทำงานและครองเรือน

“เมื่อโลกซับซ้อนขึ้น เป็นการยากที่จะหาจุดตรงกลาง โดยเฉพาะปัจจุบันมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อครั้งผ่านพ้นวิกฤต

ปี 1997 เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องคุยกับคนที่มีความแตกต่างกัน และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ดร.วิรไท สันติประภพ

“การอยู่ในองค์กรที่ซับซ้อน เป็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มสเตคโฮลเดอร์ของเรา” ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยบอก และว่า “การมีสติคือสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์เรา เรามักจะออกกำลังกาย เพราะเราคิดว่าสำคัญ แต่การออกกำลังทางจิตสำคัญกว่า เพราะจิตเป็นตัวขับเคลื่อนกาย

“สิ่งที่ผมฝึกทุกวันคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ และเริ่มทำวิปัสสนามากขึ้น ผมทำทุกเช้า ทำให้ผมสามารถเข้าถึงความมีสติมากขึ้น เพราะจิตนั้นไปเร็วกว่ากับกายมาก การฝึกจิตจึงทำให้เราสามารถจับความเร็วนั้นได้ทัน นั่นหมายถึงการมีสติ

“การฝึกจิตให้มีสติช่วยสร้างความสุขภายใน และทำให้เราตัดสินใจอะไรได้อย่างเป็นกลาง” ผู้ว่าการแบงก์ชาติบอก

ผมไม่ใช่ซุปเปอร์แมน

นอกจากการประชุมสัมมนา การบรรยายโดยโค้ชและกูรูระดับเทพจากทั่วโลก เวิร์กช็อปในเวทีเล็กๆ ยังมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง อาทิ หัวข้อ โยคะเพื่อการโค้ชชิ่ง การเต้นแทงโก้เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นต้น

โค้ชจิมมี่บอกว่า ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีเกินความคาดหมาย มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน ได้รับการชื่นชมทั้งในเรื่องของคอนเซ็ปต์งานที่แปลกใหม่ หยิบประเด็นเรื่องการสร้างความสามัคคีและการเจริญสติมาใช้กับพัฒนาวงการโค้ชและธุรกิจได้อย่างเหมาะสม มีความหลากหลายของวิทยากรและรูปแบบของงานเวิร์กช็อป โดยมีแม่เหล็กคนสำคัญคือ ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ

“สิ่งที่ได้จากการที่มาร์แชล ซึ่งเป็นโค้ชเบอร์ 1 มาเมืองไทย ทำให้คนตื่นเต้นและเข้ามาฟัง เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ประชาสัมพันธ์การโค้ชสำหรับผู้บริหารเมืองไทยที่ควรจะได้รับการโค้ชและเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้ว่าการโค้ชคืออะไร”

แน่นอนว่าการประชุมครานี้ นอกจากผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้ฟัง ดร.โกลด์สมิธ ตัวเป็นๆ บินมาบรรยาย มาพูดคุยตอบคำถามกันแบบสดๆ ตัวต่อตัว ยังเป็นโอกาสที่สื่อมวลชนได้ไขข้อข้องใจ อะไรที่ทำให้มาร์แชล โกลด์สมิธ เป็นเบอร์ 1 ของโลก?

“ผมเลือกโค้ชชี่ (ผู้รับการโค้ช) ที่ดี และลูกค้าก็ช่วยกันแนะนำ ซึ่งโค้ชชี่เองก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงเป็นการบอกกันปากต่อปาก

“งานของผมคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของซีอีโอ คนจะเปลี่ยนได้ต้องมี 3 ปัจจัย ต้องกล้าที่จะมองกระจก (เห็นตัวเอง) 2.นอบน้อมถ่อมตน รู้ว่าตัวเองควรที่จะเปลี่ยนแปลง 3.ต้องมีวินัยกับตัวเองในการเปลี่ยนแปลง

“ผมไม่สามารถช่วยเหลือคนที่เพอร์เฟ็กต์ให้ดีขึ้นได้ ผมแค่ทำงานกับมนุษย์ ไม่ใช่ซุปเปอร์แมน (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถสามารถจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้”

จับหัวใจของการเป็นโค้ช

หัวใจของการเป็นโค้ช นอกจากการรู้จักตั้งคำถามแล้ว อีกสิ่งสำคัญคือ “การฟัง”

ถามว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากมาย ทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคดิจิทัล หลักการโค้ชต้องมีการปรับเปลี่ยนสักแค่ไหน อย่างไร

โค้ชเบอร์ 1 ของโลก บอกว่า กระบวนการโค้ชยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือ “ตัวผม”

“เมื่อ 30 ปีก่อนผมคิดว่าคนอื่นเปลี่ยนเพราะผม แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมเป็นแค่คนที่กระตุ้นให้คนอื่นเปลี่ยน และแต่ละคนจะเรียนรู้จากกันและกัน ฉะนั้นความสำเร็จที่ผมได้รับมาทุกวันนี้มาจากคนที่ผมทำงานด้วย ไม่ใช่จากตัวผมเอง การทำงานกับคนเก่งๆ ผมชนะเสมอ”

ดร.โกลด์สมิธบอกอีกว่า การที่คนหันมาสนใจการมีโค้ช เพราะมันเวิร์ก ผู้นำในอดีตต้องแข็งแกร่ง การบริหารจัดการเป็นเรื่องของภายในองค์กร แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของโลก (โกลบอล) เทคโนโลยีในอดีตก็เหมือนกัน ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ในอดีตผู้คนทำงานในวัฒนธรรมเดียว แต่ปัจจุบันผู้นำทำงานกับหลากหลายวัฒนธรรม

ในอดีตการทำงานของผู้นำเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง ปัจจุบันและในอนาคตเป็นการทำงานกันเป็นทีม เมื่อก่อนผู้นำต้องเป็นทุกอย่าง เก่งทุกอย่าง แต่ตอนนี้ลูกน้องรู้มากกว่าเพราะอยู่ที่หน้างาน แต่เราต้องรู้ว่าลูกน้องทำอะไร ด้วย “การถาม” เพื่อจะสามารถบอกลูกน้องได้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร

Share ลูกโซ่ ให้เพื่อสร้างผู้ให้

อีกสิ่งที่ทำให้การประชุมครั้งนี้คึกคักอย่างยิ่งคือ การเปิดตัวโครงการล่าสุดของ ดร.โกลด์สมิธ รับสมัครผู้สนใจการเป็นโค้ช เรียนรู้ทักษะการโค้ชจากโค้ชเบอร์หนึ่งของโลก ฟรี จำนวน 100 คน

“ผมจะสอนทุกอย่างให้ฟรี เรียนแล้วต้องทำทุกอย่างที่ผมทำ” ดร.โกลด์สมิธบอกเงื่อนไข

“ผมต้องการความหลากหลาย ทั้งชายหญิงจากหลายๆ ประเทศ ตอนนี้มีคนส่งใบสมัครมาแล้ว 12,000 คน คัดไปแล้ว 50 คน เหลืออีก 50 คน ผมอยากให้ ?รางวัล? กับคนที่จะให้มันต่อกับคนอื่นด้วย เหมือนกับคนที่เคยช่วยผมให้ผม”

ซึ่งเมื่อเลือกได้ครบ 100 คนแล้วจะให้ 100 คนนี้ไปเลือกอีก 100 คน และทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เพราะผมเคยไปเข้าสัมมนาครั้งหนึ่ง ผู้บรรยายถามว่า ฮีโร่ของผมคือใคร ผมนึกถึงครูที่ดีที่สุดที่ใจดี แล้วผู้บรรยายคนนั้นก็ถามว่าทำไมไม่เป็นอย่างเขาล่ะ จึงเป็นแรงบันดาลใจของผม และเป็นที่มาของโครงการนี้

“เมื่อผมแก่ตัวลง แรงบันดาลใจของผมจะลดลงเรื่อยๆ แต่กับสิ่งที่ผมทำนี้จะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น วันนี้ถ้ามีใครสักคนเข้ามาฟังบรรยายแล้วบอกว่าชีวิตฉันดีขึ้นเพราะได้เจอคุณ นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผม” ดร.โกลด์สมิธบอก

ที่ผ่านมาลูกค้าของเขา มักเป็นระดับเศรษฐี ส่วนมากเป็นซีอีโอ บริษัทชั้นนำของโลก เช่น ไฟเซอร์ ฟอร์ด เวิลด์แบงก์ ฯลฯ แม้กระทั่งเชฟคนดังระดับโลกอย่างเดวิด ชาง

ถามว่า มีใครที่โค้ชเบอร์ 1 อย่างเขา อยากจะโค้ชอีก

ดร.โกลด์สมิธนิ่งคิดสักพักก่อนจะบอกว่าซีอีโอทีมฟุตบอล

“ผมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกีฬา แต่จะโค้ชในเชิงธุรกิจ และมีความสุขกับการได้ทำงานกับคนที่หลากหลายอาชีพ”

แล้วถ้าให้ไปโค้ชผู้นำระดับประธานาธิบดี ดร.โกลด์สมิธบอกอย่างถ่อมตนว่า…

ผมไม่เก่งในสิ่งที่ยาก แต่ถนัดกับการทำงานในส่วนเล็กๆ ซึ่งถ้ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชและพัฒนาภาวะผู้นำมากขึ้นอีกน่าจะเป็นการช่วยได้อีกทางหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image