ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ ม.นอร์ทแคโรไลนา เขย่าประเด็น ‘ทวงคืน’ สมบัติชาติ ‘เสียดายคนไทยไม่ได้เห็น’

ยังเป็นประเด็นที่มีความคืบหน้าให้เกาะติดอย่างต่อเนื่องสำหรับการ “ทวงคืน” โบราณวัตถุที่เชื่อว่าเคยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ก่อนจะถูกลักลอบนำออกไปยังต่างแดนอย่างผิดกฎหมาย ตั้งตระหง่านโชว์ความงดงามของอารยธรรมอันรุ่งโรจน์แห่งอดีตกาลในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียชงมุนลี ซานฟรานซิสโก ที่มีทั้งทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ที่ อบต.โนนดินแดง เจ้าของพื้นที่ออกมาแอ๊กชั่นสนั่นที่ราบสูง ขอให้รัฐบาลเร่งนำกลับมาโดยไว

ไหนจะม้าหินทราย และภาพสลักสีดาแสนอ่อนช้อยจากปราสาทพนมรุ้ง กระทั่งชิ้นล่าสุดที่ปลุกกระแสขึ้นมาอีกระลอกอย่าง ทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เพราะมีภาพถ่ายเก่าเมื่อ 50 ปีก่อนชี้ชัดว่าเคยอยู่ในประเทศไทย ก่อนอันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย

ยังไม่นับประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสทวงคืนตั้งแต่ต้นปี 2559 หนึ่งในนั้นคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก ซึ่งปรากฏในป้ายจัดแสดงว่ามาจาก “ปราสาทปลายบัด” ปัจจุบันอยู่ในอ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

เจ้าของภาพถ่ายโพธิสัตว์ที่ถูกใช้ในภาพข่าวและแชร์ต่อมหาศาล เป็นฝีมือของ ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัย สถาบันเอเชีย ม.นอร์ธแคโรไลน่า แชปเปิ้ลฮิลล์ ที่ส่งมาถึง ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ขับเคลื่อนการทวงคืนร่วมกับกลุ่มสำนึก 300 องค์โดยเร่งเครื่องจี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่ย่อท้อ

Advertisement

ไม่ว่าจะในฐานะคนไทยที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา ฐานะนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ที่เชี่ยวชาญวัฒนธรรม หรือฐานะผู้เห็นพ้องกับปฏิบัติการทวงคืนสมบัติชาติ

ล้วนน่าต่อสายตรงไปยัพูดคุยถึงมุมมอง และช่องทางที่มีเค้าลางจะเป็นไปได้มากขึ้นในทุกขณะ

ขอบเขตงานที่สถาบันเอเชีย ม.นอร์ธแคโรไลน่า แชปเปิ้ลฮิลล์ 

Advertisement

ที่นี่มีนักศึกษาไทยไม่เยอะ ส่วนใหญ่มาเรียนด้านคณิตศาสตร์ สาธารณสุข และพยาบาล ส่วนทางศูนย์เอเชียเป็นงานบริการให้กับบุคลากรในมหาวิทยาลัยและชุมชน มีการทำวิจัย และจัดอบรมด้านเอเชีย คือเป็นศูนย์รวมของทุกประเทศในเอเชียของมหาวิทยาลัย รวมถึงสอนภาษาให้นักศึกษาและชาวเมืองที่สนในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ภาษาเวียดนาม ภาษาบาฮาซาของอินโดกับมาเลย์  ส่วนตัวเองก็ช่วยสอนภาษาไทย งานที่นี่ค่อนข้างกว้างและเป็นอิสระ เป็นลักษณะงานบริการทางวิชาการ เป็นที่ปรึกษา เช่น สมมติว่ามีคำถามเกี่ยวกับไทย ลาว เขาก็จะมาถามเรา บางครั้งก็ไปเป็นวิทยากรรับเชิญตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

พบอวโลกิเกตศวรที่เมโทรโพลิแทนได้อย่างไร ทราบมาก่อนหรือไม่ หรือเป็นความบังเอิญ
ไม่รู้มาก่อนเลย คือตอนนั้นพาญาติไป ตัวเองเป็นคนชอบถ่ายรูปป้ายจัดแสดง เพราะขี้เกียจจด เลยมักจะถ่ายรูปตัววัตถุ และป้ายคู่กัน มาสะดุดตรงคำว่า ‘ปลายบัด’ เลยกลับไปค้น และได้คุยกับ อ.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กลุ่มสำนึก 300 องค์ก็เอาไปเผยแพร่ต่อ ก็เกิดเป็นข่าวขึ้นมา

มีบางส่วนมองว่าให้จัดแสดงอยู่ต่างประเทศดีแล้ว เพราะดูแลดีกว่า และคนได้เห็นเยอะกว่า 

ใช่ค่ะ อย่างญาติที่มาจากบุรีรัมย์เห็นแล้วดีใจมากที่ของจากปลายบัดมาแสดงที่นิวยอร์ก เขามองว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่บุรีรัมย์ หรือแม้แต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครที่กรุงเทพ ใครจะมาดูสักกี่คน แต่มาอยู่ที่นี่ คนจากทั่วโลกมาดู

พิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญกับโบราณวัตถุของไทยมากน้อยแค่ไหน 

เขาทำห้องให้ดีมาก ถูกเก็บรักษาอย่างดี เสียดายเขาจัดแสงไม่ค่อยดี เลยถ่ายรูปยาก ในห้องนั้นไม่ได้มีของไทยอย่างเดียวนะ เป็นห้องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะอยู่รวมกันหมด ที่ของเยอะสุดคือเขมร คนดูก็คิดว่าของจากปลายบัดมาจากเขมรด้วย เพราะดูคล้ายกัน ถ้าไม่อ่านป้ายก็ไม่รู้ว่ามาจากไทย โบราณวัตถุของไทยบางส่วนได้รับบริจาคมาจากมูลนิธิจิม ทอมป์สัน เป็นประติมากรรมยุคสุโขทัยชิ้นเล็กๆ จัดในตู้กระจก มีคำอธิบายอย่างละเอียด ทั้งข้อมูลวัตถุ สถานที่พบ ไม่มีคลุมเครือ และมีการเพิ่มเติมแก้ไข ปรับเปลี่ยนป้ายเรื่อยๆ แสดงว่านักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ต้องทำงานตลอด ต้องค้นคว้าอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ

อย่างนี้ไม่ต้องทวงคืนได้ไหม 

การที่เขาดูแลรักษาดี ก็เป็นมุมหนึ่ง เพราะเป็นของที่เขามีน้อย แต่เรามองประเด็นที่ว่ามันถูกหรือผิดกฎหมายในการนำโบราณวัตถุเหล่านี้ออกไป การบอกว่าดูแลได้ดีกว่าก็เป็นข้ออ้างหนึ่งของการไม่ยอมคืนของให้ประเทศต่างๆ อย่างแผ่นหินโรเซตต้าของอียิปต์ ซึ่งเป็นของสำคัญมาก ช่วยให้นักโบราณคดีอ่านอักษรภาพออก ก็ยังอยู่ที่บริติช มิวเซียม ภาพสลักหินอ่อนจากวิหารพาเธนอน กรีกก็ทวงจากอังกฤษตั้ง 200 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้คืน

ความรับรู้ของคนไทยในสหรัฐเรื่องกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุ 

เท่าที่คุยเขาเห็นด้วยทุกคน อย่างเรื่องภาพสลัก ม้าหินทรายและทับหลังที่ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียชองมูนลี ในซานฟรานซิโก เคยเอาข่าวขึ้นเฟซบุ๊กกลุ่มคนไทยในอเมริกา เขาก็มาช่วยกันดันข่าว แสดงว่ามีปฏิกิริยา คือถ้าอยากให้คนไทยทางนี้ช่วยอะไร เขาก็ยินดี เราก็รักและคิดถึงประเทศตัวเองกัน

อเมริกาไม่มีหน่วยงานแบบกรมศิลปากร แล้วการดูแลมรดกทางวัฒธรรมของตัวเองและของทั่วโลกที่มารวมอยู่ที่นั่น เขาทำอย่างไร 

การปกครองเขาต่างจากบ้านเรา มันเทียบกันลำบาก เขามีรัฐบาลกลางก็จริง แต่ก็ให้อำนาจในแต่ละรัฐดูแลตัวเอง มีกฏหมายของตัวเอง ในขณะที่บ้านเราเป็นอำนาจรวมศูนย์กลางจึงต้องกระจายอำนาจ  ขนาดใบอนุญาตต่างๆก็ต้องทำในแต่ละรัฐเช่นทำผม ถ้าจะข้ามรัฐไปเปิดร้านที่รัฐอื่น ก็ต้องไปขอใบอนุญาตอีก

พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งก็เป็นตัวของตัวเอง จะขึ้นอยู่กับมูลนิธิ ซึ่งในแต่ละรัฐก็มีหน่วยงานของรัฐกำกับอีกทีนึง เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดอะเมโทรโปลิแทน เป็นมูลนิธิ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเมืองนิวยอร์ค นอกจากบางพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของรัฐ รัฐก็ดูแลไป และจะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งประชาชนร่วมกับหอการค้าเมืองจัดการ มีพิพิธภัณฑ์เอกชนที่เอกชนเป็นเจ้าของ มีพิพิธภัณฑ์ที่กระทรวงดูแลเช่น Air&Space ดูแลโดยกระทรวงพลังงาน ส่วนกรมป่าไม้ที่ดูแลแหล่งโบราณสถานบางแหล่ง ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

แล้วกรณีรับของผิดกฎหมายมาเป็นของพิพิธภัณฑ์ ใครรับผิดชอบ 

การนำเข้าออกของในพิพิธภัณฑ์ แต่ละแห่งต้องรับผิดชอบของถูกหรือผิดกฏหมายเอง แต่จะมีหน่วยงานที่ชื่อย่อว่า ICE คอยเข้าตรวจสอบในกรณีมีผู้ร้องเรียน และส่งฟ้องศาล พิพิธภัณฑ์ก็ต้องไปขึ้นศาลอยู่ๆ ICE จะวิ่งไปจับเองไม่น่าจะได้ มันต้องมีคนแจ้งเบาะแสเขาให้เขาไปตรวจสอบ

อย่างนี้ไทยร้องเรียน ICE ให้ตรวจสอบเพื่อขอคืนโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย 

ตรงนี้มั้งที่ต้องรอให้รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นเรื่อง แต่จริงๆน่าจะลองให้ ชาวบ้าน ชุมชน หรือ อบต.ที่เป็นที่ตั้งของปราสาทต่างๆที่ของหายส่งจดหมายไปถึง ICE เลย

ถ้าทวงคืนไม่สำเร็จล่ะ 

ยังไงก็ควรลอง ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ได้ก็ไม่ได้ ดีกว่าไม่ทำ ส่วนที่กรมศิลป์บอกว่าไม่มีภาพถ่ายยืนยันว่าเป็นของไทยจริงๆนั้น ป้ายจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เดอะเมโทรโปลิแทนเขียนเองเลยว่ามาจากปราสาทปลายบัด ก็แสดงว่าเขายอมรับเองถึงที่มา ส่วนกรณีของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ชองมูนลี มีภาพถ่ายเป็นหลักฐานชัดเจน อย่างทับหลังปราสาทเขาโล้น ปราสาทหนองหงส์ นอกนั้นก็บ่งชี้ได้จากรูปแบบศิลปะซึ่งคุณทนงศักดิ์ทำข้อมูลเปรียบเทียบในรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าเป็นของไทยแน่ๆ

แต่ถ้าพิพิธภัณฑ์ที่เราทวงไป เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเขาได้มาอย่างถูกต้อง ก็ถือเป็นบทเรียนไป ว่าเราศึกษาข้อมูลไม่ดีพอก่อนจะไปทวงคืน ที่จริงก็น่าจะทำเพราะทุกวันนี้ถ้าจะดูพระโพธิสัตว์จากปลายบัดสอง ก็ต้องบินมาอเมริกา หรือยุโรป เพราะในประเทศไทยไม่มีจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ใดเลย ถ้าข้อมูลที่บอกว่าเคยมีอยู่ที่ปลายบัดก่อนมีการลักลอบขุดถึง 300 องค์ ก็น่าเสียดายที่คนไทยเองไม่มีโอกาสได้เห็นเลย

รัฐบาลไทยควรแต่งตั้ง ทนงศักดิ์ หาญวงษ์เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการในการทวงคืนไหม 

ควรค่ะ เพราะเขาทำเรื่องนี้มาตลอด เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ลึกซึ้ง ศึกษามานานหลายสิบปี สามารถให้ข้อมูลได้อย่างละเอียด ปัจจุบันก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิในปฏิบัติการช่วยชาติ

กระแสการทวงคืนโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นทั่วโลก 

ใช่ค่ะ ไม่ได้มีแค่เรา ทั่วโลกเขาก็ทวงคืน ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำ เมื่อ 6-7 ปีก่อนมีคนจากกรีซนำเสนอในงานระดับนานาชาติงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยบารเซโลน่า ปรากฏว่าพูดเรื่องลักลอบค้าโบราณวัตถุจนเกินเวลาไปนานมาก จนที่ประชุมต้องขอให้หยุด

คิดว่าพลเมืองอเมริกันและฝั่งยุโรปเขาแคร์ไหม ถ้าโบราณวัตถุถูกเคลื่อนย้ายกลับประเทศต้นกำเนิด ? 

ในระดับของประชาชน เขาน่าจะมองเรื่องความถูกต้องมากกว่า

การที่รัฐบาลสหรัฐสืบเรื่องการค้าโบราณวัตถุในตลาดมืดอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2003 จะมีส่วนช่วยสนับสนุนความเป็นไปได้ในการทวงคืนของไทยหรือไม่

มีแน่นอน

กลุ่มประติมากรรมแบบ ‘ประโคนชัย’ ที่เชื่อว่ามีราว 300 องค์ถูกลักลอบออกนอกประเทศ โดยมีการพาดพิงถึงนางเอมมา ซี บังเกอร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการแต่กลับมีส่วนสำคัญในการตีมูลค่าโบราณวัตถุ กรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยไหม 

ส่วนตัวแล้วไม่รู้ว่าเอมมาจงใจไหม แต่มีคนเล่าว่าตอนอยู่ ม.เดนเวอร์ เขาศึกษาเรื่องเขมรกับไทยจนเชี่ยวชาญ เป็นคนแรกๆที่เดินทางมาลงพื้นที่แถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดดูว่า 60 ปีก่อนมีใครสักกี่คนที่ทำ อันนี้ไม่นับพวกอองรี มูโอต์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นะ  เขมรก็วางใจให้มีใบผ่านไปทำวิจัย กรณีปราสาทปลายบัด ต้องมีคนชี้เป้าให้เขา จะเป็นคนรู้จัก คนท้องถิ่นหรือใครก็ตาม และอาจจะไปเชื่อมโยงกับพวกค้าโบราณวัตถุ คือถูกถามว่าถ้าประเมินมูลค่าจะได้เท่าไหร่ เลยกลายเป็นคนช่วยตีราคาด้วย อาจเป็นการจับพลัดจับผลูก็ได้

เท่าที่รู้ นักวิชาการไทยบางคนก็เคยโดนแบบนี้ คือเขาตีพิมพ์หนังสือที่มีภาพโบราณวัตถุประเภทหนึ่ง ขอไม่บอกว่าอะไร เดี๋ยวรู้ว่าเป็นใคร (หัวเราะ) ทีนี้ มีคนถือหนังสือเล่มนั้นไปที่วัดหลายๆแห่งตามพิกัดที่บอกไว้ในหนังสือ ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาของไว้โดยไปขอซื้อจากเจ้าอาวาส เอาตู้เย็น เอาเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแลก พระท่านก็ยอม น่าเสียดายมาก ข้อนี้นักวิจัยก็ควรระวัง

ในยุคสมัยใหม่ นอกจากแนวคิดเรื่องการคืนมรดกทางวัฒนธรรมให้ผู้เป็นเจ้าของแล้ว ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งคือการมองว่าเป็นสมบัติของโลก ของมวลมนุษยชาติโดยไม่มีใครหรือชนชาติใดเป็นเจ้าของด้วย 

ใช่ค่ะ อย่างผอ.พิพิธภัณฑ์ชิคาโก มองว่าของพวกนี้เป็นของโลก เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเกินกว่าจะเป็นของคนใดคนหนึ่ง ประเด็นนี้ก็เห็นด้วยนะ แต่คิดว่าควรจะกลับไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ที่เป็นเจ้าของอยู่ดี

มีผู้เสนอทางออกเรื่องการ “ยืม” จัดแสดง 

การยืมเป็นระบบที่ดี สลับกันยืมไปมาทั่วโลก แต่จะยอมรับกติกากันได้ไหม แต่ก่อนอื่น ต้องคืนให้ประเทศที่เป็นเจ้าของก่อน แล้วคุณค่อยมายืมไปจัดแสดง จะเป็นนิทรรศการ 1-2 ปี อะไรก็ว่าไป

การเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ในอเมริกา 

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญและสงครามต่างๆเขาแบ่งเป็นประวัติศาสตร์อเมริกัน และโลก เน้นเรื่องแอฟริกา เพราะประชากรที่นี่มีคนแอฟริกัน อเมริกัน ไม่ได้มาลิ้งค์กับเอเชียเท่าไหร่ แต่ก็มีวิชาประวัติศาสตร์โลกให้เลือก วิชาพวกนี้ต้องเขียนเรียงความ ต้องอ่านเยอะ มีการวิจารณ์ในห้อง ตอนลูกเรียน ครูให้โจทย์ว่า จะเขียนจดหมายเล่าอะไรให้อับราฮัม ลินคอน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฟัง เขาก็เปรียบสถานการณ์สมัยของลินคอนกับตอนนี้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆบ้างจำได้ว่ามีตอนนึงเขาเขียนว่า “ตอนนี้คนผิวดำกลายเป็นประธานาธิบดีแล้วนะ ท่านประธานาธิบดี ดีใจไหมครับ”

ระบบการศึกษาหรือประวัติศาสตร์ชาติของสหรัฐ มีส่วนในจิตสำนึกที่เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมของเขาอย่างไร

การจะจบม.ปลายได้ ต้องมีชั่วโมงบริการสาธารณะ เด็กก็ไปเป็นอาสาสมัครกัน สมมติว่าบังคับ 25 ชม. บางคนทำไป 500 ชม. เลย เพราะอยากเข้ามหาวิทยาลัยได้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาของกรรมการ อย่างแหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ คนเฝ้าเคาน์เตอร์ทำงานฟรี บางทีไม่ใช่แค่เด็ก แต่เป็นคนวัยเกษียณ เคยไปเจอสามีภรรยายืนใส่ชุดย้อนยุคเป็นคนโบราณในพิพิธภัณฑ์ เขาบอกนี่เอาชุดมาเองจากบ้าน บางแห่งต้องจ่ายเงินรายเดือน รายปีเพื่อขอเข้าไปทำงานฟรีด้วยซ้ำ คนก็แย่งกันเพราะอยากทำ เวลาว่างคนก็อาสาสมัครไปทำงานบริการสาธารณะ ทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมในมรดกทางวัฒนธรรม

ตัวเองก็เคยเป็นอาสาสมัครโรงหนังอนุรักษ์ เป็นคนตรวจตั๋ว โรงหนังก็ให้ดูหนังฟรี มีป๊อปคอร์นกับน้ำให้ด้วย เรื่องโรงหนังเนี่ย เคยมีประเด็นว่าเมืองจะทุบทิ้ง แต่คนไม่ยอม พากันมาบริจาคเงินบูรณะ นอกจากนี้ก็มีมหาวิทยาลัยทางศิลปะอย่าง SCAD ที่เมืองสะวันน่า รัฐจอร์เจีย ไปซื้อตึกสำคัญต่างๆในเมืองแล้วเปลี่ยนเป็นอาคารเรียน เป็นหอพักนักเรียนโดยมีการจัดแสดงข้อมูลว่าสมัยก่อนที่นี่คืออะไร

คนอเมริกันเขาอาจจะมีเวลาสะสมมรดกทางวัฒนธรรมน้อยกว่าชาติอื่นๆมั้ง เขาจึงร่วมกันปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ได้คิดว่าต้องรอเงินจากภาครัฐ เช่น การตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คนก็มาบริจาคเงินกัน อีกอย่างทีมาบริจาคเยอะก็เพราะนำไปลดหย่อนภาษีได้ เช่นเราเป็นสมาชิกพิพิธภัณฑ์ปีละ 80 เหรียญ เราก็เอาไปลดหย่อนได้ 80 เหรียญ

ถ้าทวงคืนกันแบบนี้ พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกไม่ต้องคืนของกันวุ่นไปหมดหรือ 

ก็คืนกันไปค่ะ ถ้ามีคนมาทวงของจากพิพิธภัณฑ์ในไทย แล้วเราได้มาอย่างผิดกฎหมายก็คืนเขาไป แต่ถ้ามาอย่างถูกต้องก็อยู่ต่อ แค่นี้เองหลักการ


”ปาจิต-อรพิม” มหากาพย์โฮเมอร์แห่งแดนอุษาคเนย์

ท้าวปาจิต นางอรพิม เรื่องเล่าที่แพร่หลายในกลุ่มหมู่เฮาชาวอีสาน มีที่มาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง ‘ปาจิตตกุมาร’ ในปัญญาสชาดก มีเนื้อหาแบ่งเป็นการเล่าแบบสอนศาสนาและนิทานชาวบ้าน ผนวกการอธิบาย ‘ชื่อบ้านนามเมือง’

แม้เป็นที่รู้กัน ว่านี่คือวรรณกรรมสำคัญในอีสานใต้ ทว่า ยังไม่เคยมีใครศึกษาอย่างจริงจัง กระทั่ง รังสิมา กุลพัฒน์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว จากรั้วศิลปากร ตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นดังกล่าว ก่อนจะคว้ารางวัลดีเด่นสาขาปรัชญาจากสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2558

เนื้อหาเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมความพลัดพรากระหว่างเจ้าชายจากเมืองพรหมพันธ์นคร นามว่าปาจิต และนางอรพิม ระหว่างแห่ขันหมากไปสู่ขอ แต่เกิดอุปสรรคต่างๆมากมาย กระทั่งสุดท้ายได้ครองรักยังเมืองพิมายสมปรารถนา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ อธิบายความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมืองในอีสานอย่างมีนัยยะสำคัญ

คนภาคกลางยกเรื่องปาจิตอรพิมไว้ในปัญญาดกเรื่องปาจิตกุมารชาดก คนลาวในอีสานจารึกคำประพันธ์ไว้ในใบลานด้วยอักษรธรรมลาวเป็นนิทานคำกลอน อธิบายเรื่องราวในเขตพิมาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ หลักฐานเอกสารและเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาจิตอรพิมมีหลายสำนวน บอกเล่าชื่อบ้านนามเมืองซึ่งสอดคล้องกับภาษาที่ใช้ตั้งชื่อในบริเวณนั้น เช่น การทิ้งขันหมากของปาจิตในที่ต่างๆทางบุรีรัมย์ มีชื่อบ้าน เช่น ถ้ำเป็ดทอง อำเภอปะวน บ้านตาจรู๊ค เป็นที่ทิ้งขันหมากที่เป็นหมู เนื่องจาก จรู๊คเป็นภาษาเขมร แปลว่าหมู”

รังสิมามองว่า ภาพซ้อนทางประวัติศาสตร์ คือสถานที่และเมืองในตำนานมีอยู่จริง ทั้งยังเป็นเมืองเก่าที่มีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้จะถูกทิ้งร้างเป็นบางช่วง แต่สุดท้ายก็มีคนกลับมาอยู่อย่างหนาแน่นเช่นเดิม อย่างเมืองพิมาย

ถามว่าทำไมสนใจเส้นทางวัฒนธรรมจนทุ่มเททำวิจัยอย่างลุ่มลึก

“แผนที่ทางวัฒนธรรมเปรียบเสมือนอาวุธที่ใช้จัดการกับการละเลยและอคติได้ และยังมีคุณค่าต่อการแบ่งปันรวมถึงย้อนรอยประวัติศาสตร์ ช่วยให้ค้นพบรากเหง้าและความหมายที่มีต่อตนเองและคนในท้องถิ่นได้ดี ชาวบ้านเป็นนักภูมิศาสตร์ในบ้านเมืองของตัวเองที่สามารถอธิบายสภาพแวดล้อม อีกทั้งความเป็นมาของชื่อสถานที่ต่างๆได้ดีที่สุด”

น. ณ ปากน้ำ นักปราชญ์แห่งสยามประเทศ เคยกล่าวไว้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เตือนใจให้นึกถึง นิยายกรุงทรอย ใน มหากาพย์ของโฮเมอร์ ซึ่งเดิมใครๆก็คิดว่าเป็นเพียงนิยายสนุกๆ แต่ภายหลังนักโบราณคดีพบหหลักฐานว่ามีสาระความเป็นจริงบางอย่างแอบแฝงอยู่ จึงทำการขุดค้นจนพบว่ากรุงทรอยในนิทานนั้นมีอยู่จริง

รังสิมาบอกว่า ตำนานเรื่องปาจิต-อรพิม ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ มีบ้านเมืองและเรื่องราวมากมายที่รอให้เดินทางไปค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image