คอลัมน์ หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน : ‘ทุเรียน’ มหาอำนาจผลไม้โลก

เกือบจะนึกอยู่แล้วเชียวว่าอาจเป็นเพราะธรรมชาติของผู้นำที่ต้องไขว่คว้าหาความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาประดับประวัติชีวิต แม้ในบางครั้งบางคราวจะเป็นฝันลมๆ แล้งๆ พาให้คนที่ได้ยินได้ฟังหัวร่องอหาย

แต่พอได้เห็นข้อมูลจาก “สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม” ว่าด้วยมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยเราปีนี้แล้ว ได้แต่อึ้ง จนต้องทบทวนคำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่าไทยจะเป็น “มหาอำนาจผลไม้โลก” ดูจะมีที่มาที่ไปให้ฝันได้โดยไม่เกินเลยอะไรนัก

ปี 2559 ผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงถึง 119,630 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19

ท่ามกลางตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ดูจะทำให้หายใจไม่ทั่วท้องไปเสียหมด “ส่งออกผลไม้” โผล่ขึ้นมาเป็นพระเอกที่ให้ความหวังได้เป็นอย่างดี

Advertisement

“มหาอำนาจผลไม้โลก” แม้เป็นคำประกาศที่ฟังแล้วอดอมยิ้มในความช่างคิดช่างฝันของท่านผู้นำไม่ได้ แต่เมื่อเห็นตัวเลขนี้คงต้องคิดใหม่ว่า ไม่ว่าใครก็มีสิทธิที่จะฝันเพ้อเหมือนกันทั้งนั้น ในยามที่มองไม่มีความหวังอื่น

ยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ สังเกตหรือรู้สึกไหมว่า นอกจาก “ลำไย” ที่มาโด่งดังได้รับความสนใจไปทั้งประเทศ และดีไม่ดีอาจจะขจรขจายข้ามชาติ ด้วยนายกรัฐมนตรีต้องลงมาสั่งการเองถึงพฤติกรรมของเจ้าของ ชื่อเรียกขานว่า “ไหทองคำ” แล้ว

“ทุเรียน” เป็นผลไม้ที่กระหึ่มสื่อโซเชียลที่สุด ภาพของผู้คนที่โชว์กินทุเรียนทางเฟซบุ๊ก และสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ มีให้เห็นมากมาย เลยไปถึงภาพของการถ่ายแบบโชว์กิน โชว์ขายทุเรียนที่แพร่หลายด้วยความคึกคักยิ่ง จน “กินทุเรียน” กลายเป็นกระแส

Advertisement

ประกอบกับวิธีทางการตลาดของชาวสวนที่ยิ่งนับวันยิ่งมีชั้นเชิงเรียกความสนใจมากขึ้น ทำให้กระแสกินทุเรียนกระหึ่ม

ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ลือลั่นมากว่า “คนจีน” นิยมกินทุเรียนมาก มีการนำทุเรียนไปทำเมนูอาหารแปลกใหม่มากมายหลายเมนู

การส่งออกทุเรียนไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ปีนี้คึกคักอย่างมาก

ชาวสวน พ่อค้าแม่ค้า ร่ำรวยกันเป็นแถว

และดูท่าว่ากระแสทุเรียนคงไม่จบลงง่ายๆ ปีหน้า และปีต่อๆ ไปน่าจะยิ่งกว่านี้

แต่จะทำให้ไทยเป็น “มหาอำนาจผลไม้โลก” ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด

การจะให้อะไรเป็นอะไรสักอย่าง คงไม่ใช่แค่เรื่องพูดแล้วเป็นได้ทันที

จะต้องมีการวางกลยุทธ์มารองรับ ทำงานอย่างมีแผนและติดตามผลอย่างใกล้ชิด ทุ่มเทเพื่อเป้าหมายกันอย่างจริงจัง

ยังไม่ทันที่จะเป็นอะไรขึ้นมา มีเสียงเตือนจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเสียแล้วว่า อย่าแห่ปลูกจนทุเรียนล้นตลาดเหมือนกับผลไม้อื่น

ความคิดที่เอาแต่ตั้งรับ และถอยร่นเพื่อความปลอดภัยเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาขยายผลได้

เพราะแม้จะคุมกำเนิดทุเรียนเพื่อรักษาปริมาณไว้ในจุดที่เชื่อว่าพอทำราคาได้ แต่เป็นที่รับรู้กันแล้วว่าไม่ใช่มีแต่ไทยเราเท่านั้นที่ปลูกทุเรียนได้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดปลูกได้เช่นกัน

เราไม่ปลูกเพิ่ม เพื่อนก็ปลูก เพื่อส่งออกไปแย่งตลาดจากเราอยู่ดี

ดังนั้น แทนที่จะเอาแต่ตั้งรับและถอยร่น หาทางรุกด้วยการหาตลาดประเทศอื่นๆ ในโลก

จะไม่เป็นการดีกว่าหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image