หนุมาน : เทพแห่งสรรพวิทยา (94)

ภาพประกอบจาก http://www.siamganesh.com/rama.html

ผู้เขียนได้กล่าวถึงรามเกียรติ์พม่า หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “เมียนมา รามายณะ” (Myanmar Ramayana) เป็นเรื่องที่หาอ่านได้ยาก นักปราชญ์ของไทยคือท่าน “เสฐียรโกเศศ” เคยเล่าว่าพม่าไม่นิยมเรื่องรามายณะ เพราะถือว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์นอกพุทธศาสนา จึงหารามายณะพม่าอ่านได้ยาก แต่ท่านก็พยายามตรวจสอบ เขียนไว้ในเรื่อง “อุปกรณ์รามเกียรติ์” จึงขอเก็บความมาเล่าเพื่อท่านที่ไม่เคยอ่านได้ทราบ ตามรามายณะพม่า (The Ramayana of Burmah) เล่มหนึ่งกล่าวไว้ย่อๆ ว่า

พระรามมีชายาชื่อ ซีดา มีน้องชื่อ ลักขณ์ ถูกเนรเทศไปอยู่ป่าหิมวันต์ ดัดตะคีรี (ทศครีวะ) รากษสบดีสิบเศียรแห่งสิงหลคิดอุบายจะลักสีดา จึงให้คัมบี้แปลงเป็นกวางทองมาล่อพระรามให้อยู่ห่างจากสีดา นางสีดาเห็นกวางทองก็ชอบใจขอให้พระรามตามไปจับ พระรามไม่อยากขัดใจก็ยอมไป สั่งพระลักขณ์ให้ดูแลนางสีดาแล้วออกตามกวาง ซึ่งย่างเหยาะล่อพระรามให้ตามไปเรื่อยๆ จนห่างไกล

พระรามดูท่าทางกวางผิดธรรมชาติก็นึกรู้ว่าเป็นอุบายจึงแผลงศรไปถูกกวางล้มลง กวางก็กลายเป็นรากษสี (ราษสผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชายอย่างในรามเกียรติ์ไทย) แล้วหายไป แต่มีเสียงร้องเหมือนเสียงพระรามเรียกให้ช่วย พระลักขณ์ได้ยินเสียงร้องก็จะตามไปดู แต่ก่อนจะไปก็ยังเป็นห่วงนางสีดา จึงเอาไม้ขีดดินเป็นวงสามเส้นล้อมนางสีดาไว้ และสั่งไม่ให้ออกจากวงที่ขีดไว้เป็นอันขาด

ครั้นพระลักขณ์ออกตามพระรามไปแล้ว ก็มีฤษีเฒ่าเข้ามา มีท่าทางระโหยโรยแรงร้องขอผลไม้จากนางสีดา นางก็พาซื่อบอกให้เข้าไปรับ แต่ฤษีเข้าไปในวงที่ขีดไว้ไม่ได้ จึงบอกว่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้ทานจะต้องออกมาให้ด้วยตนเอง นางสีดามุ่งที่จะทำบุญจึงลืมคำที่พระลักขณ์สั่งว่าไม่ให้ออกมานอกเส้นที่ขีดวงไว้ ฉะนั้นเมื่อนางสีดาออกไปนอกเส้นกันภัย เท่ากับไม่มีใครคุ้มครอง ฤษีเฒ่าเจ้าเล่ห์ก็กลับเป็นดัดตะคีรี (ทศครีวะ) คว้านางสีดาขึ้นบุษบกไปสิงหล เรื่องย่อของรามายณะพม่ามีเพียงเท่านี้

Advertisement

ในงานมหกรรมเรื่องรามายณะนานาชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2559 สหภาพเมียนมาได้นำรามายณะมาแสดงด้วย มีผู้ส่งบทความสั้นๆ ที่ถ่ายเอกสารมาจากหนังสือ “อสท” ผู้เขียนเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์จึงขออนุญาตคัดมารวมไว้ด้วย

“เรื่องรามายณะของสหภาพเมียนมา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 มีศิลาจารึกภาษามอญกล่าวว่า พระเจ้ากยาสิทธิ์ได้เขียนไว้ว่า พระองค์มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับพระรามผู้ครองกรุงอโยธยา และต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 17 มีปรากฏเขียนไว้ในลักษณะของวรรณคดีตามรามายณะของฤษีวาลมีกิ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เนื่องจากมีการติดต่อกับลาวเชียงใหม่ อยุธยา และมลายา การแสดงรามายณะที่ปรากฏบนเวทีกลางแจ้ง เริ่มในสมัยพระเจ้าบอโตวพะยะ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 ณ เมืองฮันตาวดี”

การเปลี่ยนแปลงของเรื่องมีอย่างไรบ้าง จะได้เล่าเท่าที่ทราบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image