คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : สุริยุปราคาวงแหวนและผสม

Jay M. Pasachoff นักดาราศาสตร์ผู้มีผลงานการเขียนตำรามากมายเคยกล่าวไว้ว่า
“บางคนเห็นสุริยุปราคาบางส่วนแล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมหลายคนพูดถึงและชื่นชมการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงกันนัก ความจริงคือ การเห็นสุริยุปราคาบางส่วนแล้วบอกว่าตนเห็นสุริยุปราคาอย่างครบถ้วนแล้ว ก็เหมือนคนที่ยืนอยู่นอกโรงละครแล้วพูดว่าตนได้ชมอุปรากรแล้วนั่นแหละ”

พื้นผิวของดวงอาทิตย์คือ บรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งดวงจันทร์บังชั้นโฟโตเฟียร์จนหมดแล้วเราจะสังเกตเห็นบรรยากาศเหนือชั้นโฟโตสเฟียร์นั่นคือ ชั้นโครโมสเฟียร์ (Chromosphere) ปรากฏเป็นสีชมพูเรืองรองอยู่รอบๆ ขอบดวงจันทร์ เหนือชั้นโครโฟสเฟียร์ขึ้นไปจะเป็นบรรยากาศชั้นโคโรนาซึ่งแผ่ออกไปโดยรอบเป็นสีขาวจางๆ
ก่อนหรือหลังดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์เล็กน้อย ผิวดวงอาทิตย์อาจปรากฏผ่านหลุมดวงจันทร์มาจนปรากฏสว่างจ้ากว่ารอบๆเหมือนหัวแหวน ปรากฏการณ์นีเรียกว่า diamond-ring effect แต่มันไม่ได้ปรากฏให้เห็นทุกครั้งที่เกิดสุริยุปราคา เพราะมันขึ้นกับตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของดวงจันทร์ว่าพอดีหรือไม่

สุริยุปราคาวงแหวนเกิดขึ้นได้อย่างไร?

Advertisement

เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้น ขณะที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกที่สุด (perigee) ผู้สังเกตบนโลกจะพบว่าดวงจันทร์ปรากฏขนาดใหญ่กว่าขณะที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุด (apogee) จนสังเกตได้ นอกจากนี้ โลกเราก็โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

หากดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากในขณะเกิดสุริยุปราคาจะทำให้ขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กกว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์จนดวงจันทร์ไม่สามารถบังดวงอาทิตย์ได้มิดพอดีทำให้พื้นผิวของดวงอาทิตย์ปรากฏออกมาให้เห็นได้โดยรอบ เรียกว่าปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Eclipse) ขณะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนั้น พื้นผิวดวงอาทิตย์ที่โผล่ผ่านดวงจันทร์ออกมานั้นสว่างมากพอจนทำให้เราไม่สามารถสังเกตเห็นบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์และโคโรนาได้

Advertisement

สุริยุปราคาแบบผสมเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สุริยุปราคาแบบผสมนั้นเกิดขึ้นยากมากเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ มันเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อมองจากตำแหน่งหนึ่งบนโลก แต่เมื่อมองในอีกตำแหน่งหนึ่งบนโลกจะปรากฏเป็นสุริยุปราคาวงแหวน!
ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากความโค้งของโลก กล่าวคือ ผู้สังเกตบริเวณลองติจูดหนึ่งจะอยู่ห่างจากดวงจันทร์มากกว่าผู้สังเกตบริเวณอีกลองติจูดเล็กน้อย เมื่อดวงจันทร์เริ่มเงาทอดยาวมายังโลก ผู้สังเกตที่อยู่ห่างจากดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน ต่อมาเมื่อดวงจันทร์โคจรรอบโลกและค่อยๆ ทอดเงามืดมายังผู้สังเกตอีกบริเวณหนึ่งที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าทำให้สังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image