“ไม่เคยมองชาวบ้านเป็นศัตรู” ยุทธพันธุ์ มีชัย ตอบทุกปมคาใจ “ป้อมมหากาฬ”

หากกรณีป้อมมหากาฬคือภาพยนตร์เรื่องยาว ก็ดูเหมือนเรื่องราวใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์ โดยมีตัวละครมากมายมหาศาลโลดแล่นด้วยบทบาทที่แตกต่างตลอด 25 ปี

หนึ่งในผู้ก้าวเข้ามารับบทเด่นในช่วงท้าย ก็คือ ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ให้เข้าไปเคลียร์ปมอันยืดเยื้อยุ่งเหยิง กระทั่งมีการนัดประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่ายมาแล้วหลายครั้ง ทั้งฝ่ายชุมชน-นักวิชาการ ฝ่ายทหาร และแน่นอน ฝ่าย กทม.

นั่งหัวโต๊ะดำเนินการพูดคุยอย่างผ่านฉลุย แม้กระทบกระทั่งทางความคิดในบางช่วงบางตอน

ล่าสุด ดำเนินมาถึงการจับมือลงพื้นที่ชุมชนพิสูจน์คุณค่า 5 ด้าน ทั้งสถาปัตย์ ผังเมือง โบราณคดี วิถีชีวิต และวิชาการ ก่อนจะนัดประชุมสรุปผลกันต่อไปท่ามกลางความ (ลุ้น) ระทึกใจของทุกฝ่าย โดยคาดหวังให้จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง

Advertisement

แม้ออกตัวว่าไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ ทว่าในวันนี้ ยุทธพันธุ์ พร้อมเปิดใจตอบทุกคำถาม

หนักใจไหมที่ต้องมารับหน้าที่ดูแลกรณีป้อมมหากาฬ?

ไม่หนักใจ เพราะเคยอยู่ฝั่งประท้วงเขามาก่อน สมัยเป็นนักศึกษาต่อสู้อำนาจรัฐมาโดยตลอด ม็อบครั้งแรกที่บ้านถ่าน จ.สุรินทร์ ผมก็ปะทะกับทหารแล้ว มีการถกเถียงกันว่าที่ดินทหารกับที่สาธารณะของชาวบ้าน อันไหนอยู่ก่อนกัน โบกรถสิบล้อไปอยู่เป็น 10 วัน ต้องเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน

Advertisement

คิดว่าจุดเด่นของตัวเองคืออะไร?

เป็นคนไม่มีเงื่อนไข พร้อมที่จะเข้าใจสิ่งใหม่ตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยนะ แต่ยินดีฟัง ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องป้อมมหากาฬ เขามาอธิบายในบางเรื่องซึ่งผมอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็เข้าใจเขา เช่น การเสนอให้เก็บบ้าน (ร่วมสมัย) 9 หลัง เข้าใจว่ามันมีกระบวนการของมันอยู่ งั้นควรรับฟังว่าคิดยังไง

ยืดหยุ่นไหม?

ไม่ คุณก็เห็นว่าผมไม่ใช่คนยืดหยุ่น หลักการหรืออะไรที่ได้ตกลงกันแล้ว คิดว่าต้องเคารพ

แต่ช่วงก่อนที่จะมาถึงกระบวนการเจรจา มีหลายครั้งที่ กทม.ถูกมองว่าไม่ทำตามคำพูดที่ตกลงไว้?

ผมว่ามันเป็นการตีความที่ผิด เป็นความคาดหวังของคนที่อยู่ในกระบวนการของป้อมมหากาฬที่แตกต่างกัน นักอนุรักษ์สุดขั้วอยากเห็นตัวป้อมกับกำแพง เชิงเทิน อีกคนหนึ่งอาจจะอยากอนุรักษ์ทั้งหมดให้มีชีวิตอยู่ จัดพื้นที่ให้คนเข้าไปได้ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นป้อม เป็นสวน ผู้บริหารเมืองจะต้องบริหารความต้องการของพี่น้องประชาชนให้เกิดการประโยชน์กับพื้นที่มากที่สุด ถูกต้องไหม? นี่คือสิ่งที่พวกเราทำอยู่

การที่ กทม.ขึ้นป้ายบอกว่าขอบคุณที่คืนพื้นที่ให้สาธารณะ เป็นความย้อนแย้ง หรือมัดมือชกหรือไม่ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยหาทางออก?

ไม่ใช่หรอกครับ มันก็แค่แสดงเจตนาว่าต่อไปนี้เราจะมีการพูดคุยกัน แล้วเราขอบคุณนะถ้าคุณจะคืนพื้นที่นี้ให้กับประชาชน หรือคุณจะให้ผมขึ้นป้ายว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตังค์ก็เอาไปแล้ว คุณจะให้ผมทำอย่างนั้นหรือเปล่า

สุดท้ายแล้วการเข้าสู่กระบวนการเจรจา เป็นเพราะข้อมูลจากนักวิชาการทำให้ กทม.มีพัฒนาการด้านแนวความคิด หรือคิดจะเจรจาแต่แรก?

ผมคิดว่าผู้ว่าฯชื่อมาแต่แรกว่าต้องฟังประชาชน ท่านบอกผมว่า ต้องเจรจาอย่างเดียว เราไม่มีทางที่จะทำร้ายประชาชนได้ เราไม่มีทางชนะประชาชน ถ้าไม่มีความชอบธรรม สิ่งที่ต้องทำคือเจรจา ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ก็ต้องอยู่ในหลักกการ คนที่ทำให้การเจรจานี้เกิดขึ้นมาได้ ต้องยอมรับว่าคือท่าน และไว้วางใจให้ผมเป็นผู้ดำเนินการ ท่านบอก ไปประชุม ให้ฟังเขาเยอะๆ ถ้าไม่ฟัง ก็จะไม่ได้ข้อเท็จจริง แต่ส่วนที่ต้องตัดสินใจก็อธิบายเขาไป

เมื่อไหร่ประชุมคณะทำงานเรื่องป้อมมหากาฬ เอาไปวันนึงเลย เพราะแค่แก้ไขรายงานการประชุมก็เกือบ 2 ชั่วโมงแล้ว

ในที่ประชุมคุณกล่าววลีซึ่งกลายเป็นที่จดจำเยอะ?

ช่วงแรกๆ ออกแนวน่าตีปากตัวเองเหมือนกัน ที่ผมบอกว่า ให้นักวิชาการโอ้โลมปฏิโลมมาก็จะเชื่อ หรือแม้แต่ประโยคที่ว่า ผมไม่ได้แก้ปัญหาแบบพจนานุกรม ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง แต่มาจากความรู้สึกจริงๆ สิ่งสำคัญ คือชุมชนป้อมมหากาฬจะให้ประโยชน์อะไรกับสังคมไทย กับการศึกษาประวัติศาสตร์ จะให้ประโยชน์อะไรกับคนหนุ่มสาวยุคต่อไปให้ภูมิใจในอัตลักษณ์ ในความคิดหรือสิ่งที่บรรพบุรุษตัวเองทำมา

ชาวบ้านกับนักวิชาการขอเยอะไปไหม?

ไม่หรอกครับ เขาขอในสิ่งที่อยากได้ ส่วนจะให้ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล ผมพูดตลอดเวลาว่าผมต้องไปอธิบายสังคมด้วยว่าทำไมถึงต้องเก็บบ้านหลังนี้ไว้ มันมีคุณค่าอย่างไร

สิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดเราอาจเห็นต่างกัน แต่พอมันได้ข้อยุติ อย่างบ้าน 2 หลังที่ชัดเจนแน่นอนว่าต้องอนุรักษ์ อันนี้พูดอะไรไปสังคมก็ยอมรับ

ประเด็นกฎหมายไม่ใช่ปัญหาแล้ว?

บางทีเวลาเริ่มต้นทำงาน มักมีการใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง เป็นกรอบ แต่พวกผมไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะเห็นปัญหามาแล้ว เราเอางานเป็นตัวตั้ง แล้วดูว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะทำให้งานลุล่วง เลยทำงานได้ไวขึ้น วิธีคิดคนอื่นอาจจะบอกว่า ระเบียบว่าไง ทำแล้วผิดกฎหมายไหม ก็กลายเป็นปัญหา กรณีป้อมมหากาฬ ผมพูดเล่นๆ ว่า ไล่ระเบียบออกจากห้องแล้วมาว่ากันว่าสาระที่แท้จริง ชีวิตคุณอยู่อย่างไร ผมขออนุญาตท่านผู้ว่าฯเรื่องนี้ว่า พี่ครับเขามีข้อเสนอมา 5 ประการ ผมคิดว่าเราควรทำความจริงให้ปรากฏ ท่านโอเค นี่คือลูกผู้ชาย

ช่วงพฤษภาทมิฬ เคยไปหลบในป้อมมหากาฬจริงไหม?

จริงครับ (ยิ้ม) เอาเป็นว่า ไปนอนดีกว่า ไม่ได้ไปหลบ แต่ไปนอนในป้อม ไม่ใช่ในบ้าน ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษา ม.รามคำแหง ซึ่งเป็นเหมือนการ์ดดูแลความปลอดภัย จะอยู่แถวหน้าตลอด

ตอนนั้นรู้จักคนในชุมชนหรือยัง?

ไม่รู้จัก แต่รู้จักคนที่ทำงานกับชุมชน ช่วงนั้นชุมชนยังไม่มีปัญหารุนแรงมาก เป็นแค่การจัดซื้อที่ดิน ปัญหาเรื่องชุมชนกับที่ดินใน กทม. มีอีกหลายแห่ง

คิดว่าจะนำกรณีศึกษาป้อมมหากาฬไปใช้ในกรณีอื่นอีกไหม?

ใช้ครับ ผมคิดว่านี่คือแนวทางของผู้ว่าฯอัศวินในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ซึ่งท่านใช้รัฐศาสตร์ คนจนไม่ใช่อาชญากร เราต้องแก้ไขปัญหาให้ความยากจน ไม่ใช่มองเป็นอาชญากรรม เวลามองพี่น้องที่บุกรุกที่สาธารณะก็ไม่ได้มองว่าเป็นอาชญากรรม แต่เขาไม่มีบ้านอยู่

นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯดูปลื้มคุณมาก พูดหลายครั้งว่า อยากให้เป็นประธานการเจรจาอื่น เช่น ทางเลียบเจ้าพระยาและสะพานเกียกกาย จะรับไหม?

(หัวเราะ) ต้องดูสถานการณ์ด้วย เรื่องป้อมมหากาฬ ผมอาจอยู่ถูกที่ถูกเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นคำตอบในทุกเรื่องของการแก้ปัญหา

การที่พ่อแม่ (อ.เจริญ-อ.อารมณ์ มีชัย) เป็นนักเคลื่อนไหว มีส่วนช่วยหล่อหลอมตัวตนของคุณหรือไม่?

ผมเป็นลูกชายคนกลาง พี่น้องเป็นผู้ชายหมด ครอบครัวไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่คิดไปเองว่าเป็นคนกลาง ต้องมีปัญหา ถ้าเป็นคนกลางแล้วไม่มีปัญหา ไม่ใช่คนกลางไง (หัวเราะ) เรียนเทอมเดียวโดนเชิญผู้ปกครอง 27 ครั้ง เรื่องหนีเรียนบ้าง เรื่องเที่ยวบ้าง ไม่ใส่ใจบ้าง พยายามฝืนกับสิ่งที่บ้านสอน ขบถนิดหนึ่ง พ่อเป็นฝ่ายซ้าย ลูกต้องมาขวา พ่อแม่ทำงานเพื่อสังคม ก็มีบ้างในวัยเด็กที่ไปกับเขา แต่พอโตขึ้นมาอายุ 14-15 ผมก็ไปอีกทางหนึ่ง คือ เกเร ตอนนี้ก็ยังไม่หยุดเกเรนะ แต่เกเรอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น

ส่วนที่ถามว่าหล่อหลอมไหมก็หล่อหลอม เช่น ไม่สามารถไปเที่ยวห้างได้เวลาโดดเรียน เพราะเขารู้ทั้งจังหวัดว่าเราคือลูกอาจารย์เจริญ อาจารย์อารมณ์ มีชัย เลยต้องไปอยู่ห้องสมุดประชาชนเพราะมันไม่มีใคร ก็เลือกที่อ่านหนังสือกำลังภายใน เพราะมันง่ายสุด เรื่องฤทธิ์มีดสั้นของโกวเล้ง พอเกิดนิสัยการอ่าน ก็เริ่มอ่านเรื่องอื่น ที่บ้านหนังสือเยอะ มีหนังสือที่เป็นเรื่องอุดมการณ์เข้ามา เรื่องแม่ ของแมกซิม กอร์กี้ เริ่มมีโจนาทาน ลิฟวิงสตัน มีหนังสือฝ่ายก้าวหน้า นอกจากห้องสมุดก็ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ตอนนั้นยังมีคำอธิบายว่าคนนครศรีธรรมราชคือคนไทยที่อพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ผมก็คิดแล้วว่ากว่าคนจีนจะเดินทางมาจนถึงนครศรีธรรมราชคงใช้เวลานานมาก

สมัยเป็น น.ศ.รามคำแหง เคยเป็นเลขาธิการพรรคสานแสงทอง พอมาทำงาน กทม. ได้นำประสบการณ์ในช่วงนั้นมาใช้ปรับหรือไม่?

ปรับใช้เยอะมาก กิจกรรมนักศึกษาสร้างโอกาส และประสบการณ์ชีวิตโดยตรงให้เรา ตอนนั้นได้สัมผัสกับพี่น้องในภาคอีสานเยอะมาก เพราะมีการเคลื่อนไหวของสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ผมก็ลงไปเคลื่อนไหวกับผู้ได้รับผลกระทบ ในโครงการที่มีเรื่องของการอนุรักษ์เขื่อนต่างๆ อย่าง เขื่อนปากมูล เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นกระแสที่แรงพอสมควรในยุคผม เติบโตคู่กันกับกระบวนการประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว

พี่เอก-ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผม พี่ตู่- จตุพร พรหมพันธุ์ อุสมาน ลูกหยี ร่วมกันขับเคลื่อนในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ก็เป็นโชคชะตาที่ในวันนี้มาสนิทสนมกับอีกฝ่ายหนึ่งทั้งที่ 20 ปีก่อนอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน  ชีวิตมันเป็นแบบนี้แหละ

ยืนยันว่าไม่ใช่มือใหม่ที่ทำงานภาคประชาสังคม?

ไม่ได้บอกว่า มือใหม่หรือไม่ใหม่จะเป็นการการันตีว่าคนนั้นมีจุดยืนหรือแนวคิดเพื่อประชาชนหรืออะไรนะ ผมอธิบายแทนคนอื่นไม่ได้ และไม่อยากจะบอกว่าเพราะผมมีประวัติอย่างนี้จึงทำงานนี้ได้ คงต้องดูไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปหรือมาตัดสินว่าผมเป็นอดีตเลขาธิการพรรค เคยทำงานเพื่อประชาชน อีก 10 ปีข้างหน้าผมจะยังมีอุดมการณ์ พอถึงตอนนั้นอาจจะเพี้ยนก็ได้ เพียงแต่ค่อนข้างโชคดีว่าบนวิถีทางของการทำงานของผม ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่และเพื่อนร่วมงานที่ยอมรับในศักยภาพ เลยมีความสุข จึงเลือกงานที่มีความสุขมากกว่างานแบบอื่น

โกรธไหม เวลาถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์?

ไม่โกรธอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะมีความรู้สึกบ้าง เมื่อก่อนผมเป็นผู้ชายที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่างได้ตลอดเวลา ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว ใจเย็นขึ้นเยอะ เพราะรู้ว่าไม่มีประโยชน์

มองตัวเองเป็นฝ่ายบุ๋น หรือบู๊?

คุณคิดว่าผมเป็นฝ่ายไหนล่ะ? ส่วนใหญ่คนว่าผมอยู่สายบู๊ สายฮาร์ดคอร์หน่อย จริงๆ ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป ผมไม่ได้มองผู้ค้าเป็นอาชญากร ไม่ได้มองคนในชุมชนป้อมฯ เป็นคนอีกแบบหนึ่ง แต่บางที่อย่างคลองโอ่งอ่าง คลองถม ยึดถนน ปิดถนน อันนี้คนละอย่าง หรือแม้แต่สยามก็มีบางส่วนที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ผู้ค้าที่บริสุทธิ์ มีการเก็บค่าแผง ใส่ไฟ ส่งของบางอย่าง ปล่อยเงินกู้ อย่างนี้ไม่ขอบุ๋น แต่ถ้าเป็นผู้ค้าที่มีปัญหา ต้องมาคุยกัน ถึงเวลาแล้วที่ต้องดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาดูแลผู้ค้าอย่างจริงจัง

ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจ กระอักกระอ่วนไหมในความสัมพันธ์กับชาวบ้านที่อย่างน้อยก็คุ้นเคยกันจากการทำงาน?

ครั้งหนึ่งมีกระบวนการที่ต้องคืนพื้นที่บางจุด โดยตกลงกันว่าเจ้าของบ้านต้องยินยอมให้ กทม.เข้าไปดำเนินการ พอจะเข้าไปปรากฏว่ามีการปะทะกัน บังเอิญผมเข้าไปสังเกตการณ์ มันอดไม่ได้ที่จะต้องไม่อยากให้เกิดความรุนแรง เลยขอเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ ตอนท่านอัศวินยังเป็นรองผู้ว่าฯ ผมบอกกับท่านว่าเรื่องป้อม ผมมีข้อจำกัด เพราะเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ หรือแม้แต่เอ็นจีโอที่เข้ามาก็รู้จักหมด ตอนนั้นเลยไม่ขอเข้าไปในกระบวนการทำงานด้านนี้ ขอให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ

ย้อนกลับมาช่วงนี้ว่าผมทำอะไรบ้าง ในกรณีป้อมมหากาฬ ถึงหลายคนในที่ประชุมจะเรียกว่าท่านประธานก็ตาม แต่ผมพยายามบอกว่าผมเป็นผู้ดำเนินรายการ การเป็นประธานคือการรับฟัง การเปิดโอกาสให้คนอื่นพูด บางครั้งผมพูดมากกว่าผู้รับฟังด้วยซ้ำ ถือว่าเรามีปาร์ตี้กัน 3 ปาร์ตี้ ผมเป็นส่วนหนึ่งในปาร์ตี้นั้น ในรายงานการประชุมผมไม่เคยให้เจ้าหน้าที่ใส่ว่าเป็นประธาน นี่ไม่ใช่แทคติคอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ยังมีผู้อาวุโสอีกมากมายที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าผม

มองภาพป้อมมหากาฬในอนาคตอย่างไร?

คิดว่ามันอาจไม่เหมือนฝัน ทุกคนอาจไม่ได้เหมือนฝัน ไม่มีใครได้ร้อย ไม่มีใครเสียร้อย อย่างน้อยมีสวนสาธารณะ บ้านไม้โบราณ ประวัติศาสตร์ ชุมชน เรื่องราว ที่สำคัญ มีประชาชนที่เข้าไปใช้ นี่คือสิ่งที่ กทม.อยากเห็นและพยายามทำมาตลอด อยากเห็นหลังจากที่ตกลงกันได้ จับมือกันพัฒนาพื้นที่ร่วมกันไม่ว่าชาวบ้าน ผม ผู้ว่าฯ ได้มีโอกาสในวันเปิดใช้พื้นที่ร่วมกันให้ชาวกรุงเทพมหานคร ผมอยากเห็นป้อมมหากาฬที่มีทุกมิติในความต้องการของทุกคน

สุดท้ายชาวบ้านจะยังได้อยู่อาศัยหรือไม่?

มาถามผมตอนนี้ ถ้าเหลือบ้าน 4 หลังจะอยู่เหรอ ถ้าเหลือ 2 จะอยู่อย่างไร ถ้าเหลือ 20 อาจจะได้อยู่ แล้วแต่สเกลพื้นที่ คนที่จะตอบคือคนที่มีความรู้ ต้องอธิบายได้ ว่าหากอยู่อาศัย การดูแลรักษา ใครรับผิดชอบ ในวันนั้นไม่ใช่หน้าที่ผมแล้วที่ต้องตอบ คนที่จะมารับช่วงต่อไม้สองจากผม ในการบริหารจัดการพื้นที่ ต้องตอบคำถามเหล่านี้

มหากาพย์ป้อมมหากาฬจบในยุคนี้แน่นอน?

ผู้ว่าฯบอกว่ามันต้องจบในยุคเรา อย่าไปสร้างภาระต่อให้รัฐบาลชุดอื่น ควรจบในยุคผู้ว่าฯชื่ออัศวิน ขวัญเมือง ผมก็โชคดีที่ได้เป็นเลขาฯท่าน เพียงแต่สิ่งที่เป็นบาดแผลอยู่ กว่าที่จะสมาน ทำให้เข้าใจกันได้ ก็ใช้เวลาหน่อย

อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่ได้มองเขาเป็นศัตรู แม้แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็อยากให้เก็บไว้ในประวัติศาสตร์ป้อมมหากาฬด้วย เพื่อให้เรียนรู้ว่ามันคืออะไร

—————————————————————————————————————-

มุมอ่อนไหวของผู้ชาย “สุขนิยม”

นอกเหนือจากบุคลิกเฉียบขาดขึงขัง ท่าทางการพูดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “คอสตูม” ก็เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของเลขานุการผู้ว่าฯคนนี้ที่ไม่ว่าอุณหภูมิจะสูงเพียงใด ก็ต้องสวมใส่เสื้อนอก ไม่เช่นนั้นก็เป็นเสื้อกั๊กเนื้อดีสักตัว แม้แต่ในวันลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬทุกครั้ง

ยุทธพันธุ์หัวเราะเบาๆ เมื่อถูกถามประเด็นนี้ พร้อมเล่าด้วยท่าทีผ่อนคลายว่าเป็นเหตุผลด้านสุขภาพ เนื่องจากต้องการรักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้มีความแตกต่างมากนัก ไม่เช่นนั้นอาจน็อกได้ สำหรับการไว้หนวดเครา เป็นความชอบส่วนตัวเช่นเดียวกับทรงผมที่ตั้งใจไว้ทรงนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นคนชอบแต่งตัว โดยได้รับอิทธิพลจาก ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่เจ้าตัวผูกพันโดยเคยทำหน้าที่เลขาฯส่วนตัว และเอ่ยว่าเป็นผู้มีบุญคุณกับตนมากที่สุด

ผนังห้องทำงานยังแขวนภาพถ่ายไว้ดูยามระลึกถึง

“ถ้าให้นิยามตัวเอง ผมเป็นพวกสุขนิยม แบบเดียวกับพี่โต้ง คือ มีความสุขกับการใช้ชีวิต อะไรที่ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เช่น ต้องไปพบใคร ไปไหว้ ไปกราบ โดยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีประโยชน์อะไรกับเขา แบบนี้ ไม่ชอบ”

ย้อนมาที่เรื่องไลฟ์สไตล์ ยุทธพันธุ์บอกว่า ชอบงานดีไซน์ ชอบฟังเพลงดีๆ ในขณะเดียวกัน ก็ชอบเครื่องรางของขลังด้วย ในห้องทำงานจึงมีทั้งแผ่นเสียง ลำโพง นิตยสารหัวนอก รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย

ถามว่าในชีวิตนี้กลัวอะไร?

คำตอบที่ได้คือ “กลัวลูกสาวไม่รัก” เพราะทำงานเยอะจนแทบไม่มีเวลา

เป็นมุมอ่อนไหวของผู้ชายชื่อ ยุทธพันธุ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image