“เวลาในโลกในมือ (ถือ)” คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

การที่ผู้คนจดจ่ออยู่กับหน้าจอในมือตัวเอง มากกว่าเงยหน้าขึ้นมาสบตากัน กลายเป็นภาพชินตา ในร้านอาหาร บนรถไฟฟ้า แม้แต่คนที่อยู่ตรงหน้าหรือข้างๆ กันก็มักเป็นเช่นนี้

เราสนใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ในสมาร์ทโฟนคู่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ หลายกิจกรรมในชีวิตต้องพึ่งพิง “สมาร์ทโฟน” ทั้งพูดคุย (แชต), อ่าน-ค้นหาข่าวสารข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ช้อปปิ้ง หรือทำงาน

เหมือนกับว่า ทุกสิ่งอยู่ในมือเราเอง

ในบางวาระเราถึงกับต้องตั้งกฎร่วมกันในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อนว่า ทุกครั้งที่อยู่ด้วยกันจะต้องเก็บโทรศัพท์มือถือแล้วเงยหน้าขึ้นมาคุยกันเอง

Advertisement

ประชากรคนใช้โทรศัพท์มือถือมีมากกว่าประชากรในประเทศมาหลายปีแล้ว เพราะแต่ละคนมีมากกว่า 1 เบอร์ หรือ 1 เครื่อง

โทรศัพท์มือถือก้าวข้ามความเป็น “อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร” ไปสู่สิ่ง (ของ) จำเป็นในชีวิตเรามากขึ้น บ้างถึงกับเปรียบเป็น “อวัยวะ” สำคัญในร่างกายลำดับที่ 34 ด้วยซ้ำไป

ใครคงเคยคิดว่าลืมกระเป๋าสตางค์ไม่เป็นไร แต่ลืมโทรศัพท์

Advertisement

มือถือเมื่อไรเป็นต้องตะเกียกตะกายกลับบ้านไปเอามาให้ได้

ประชากรชนเผ่าสังคมก้มหน้าจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในไทย ระหว่าง ปี 2011-2016 ยอดขายโทรศัพท์มือถือเติบโตขึ้นรวดเร็วมาก จาก 2.1 ล้านเครื่องในปี 2011 เพิ่มเป็น 14.8 ล้านเครื่องในปี 2016 หรือมากถึง 7 เท่าตัว

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีคนใช้โทรศัพท์มือถือทะลุ 90 ล้านรายไปแล้ว และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีมากกว่า 100 ล้านราย ในขณะที่ประชากรคนใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกมีกว่า 7.6 พันล้านราย

ไม่เฉพาะการเพิ่มขึ้นของยอดขายโทรศัพท์มือถือ ปริมาณการใช้ “ดาต้า” ก็ก้าวกระโดดไม่แพ้กัน

ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมระดับโลก “อีริคสัน” เปิดเผยว่า ภายในไม่เกิน 5 ปีคนใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกจะมีมากกว่า 9 พันล้านคน และในทุกวัน มีผู้สมัครใช้บริการ “โมบายบรอดแบนด์” เพิ่มวันละ 1 ล้านรายทั่วโลก มีจำนวนซิมการ์ดเติบโต 4% โดยคาดการณ์อีกว่า ในอีก 5 ปีต่อจากนี้ คนใช้ “โมบายบรอดแบนด์” จะมีถึง 8.3 พันล้านคน

นั่นหมายความว่า เทคโนโลยี 3G และ 4G ที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้นจะมาแทนที่เทคโนโลยี 2G

ว่ากันว่า ในปี 2022 เทคโนโลยี 2G แทบจะหายไปจากโลกใบนี้เลยด้วยซ้ำ

ขณะที่ 4G จะมีสัดส่วนการใช้งานสูงเป็นอันดับ 1 ในโลก

ย่นระยะให้เข้ามาใกล้บ้านเราขึ้นมาอีกหน่อย

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทคโนโลยี 3G และ 4G จะมีส่วนแบ่งการตลาดเท่ากันที่ 48%

โดยในประเทศไทยเอง บริการ 4G เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เฉพาะปีที่แล้ว โตขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น ถึง 4 เท่า

จนถึงปี 2016 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการ 4G มีสูงถึงเกือบ 20 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด และ “อีริคสัน”ได้คาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2020 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60%

ในขณะที่การใช้ บริการ “โมบายบรอดแบนด์” ทั่วโลก ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 GB/เดือน และคาดว่า ในปี 2565 จะเติบโตเป็น 6 เท่า หรือมาอยู่ที่ 12GB/เดือน

ส่วนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าเฉลี่ยในการใช้งานที่ 1.8 GB/เดือน และจะเติบโตถึง 7 เท่า หรือมาอยู่ในระดับเดียวกับปริมาณการใช้งานทั่วโลก ที่ 12 GB/เดือน

และตัวขับเคลื่อนการใช้ “เดต้า” ที่สำคัญ คือ คอนเทนต์ ประเภท “วิดีโอ” ที่มีสัดส่วนมากถึง 50% ในปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มเป็น 75% ภายใน 5 ปี

โดย 60% เป็นการใช้งานผ่านแท็บเล็ต รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์พีซี และสมาร์ทโฟนตามลำดับ

ผลการศึกษาของ “อีริคสัน” ยังพบด้วยว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทย มีการใช้แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยคนไทย ประมาณ 18% เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ และเวียดนาม

การสร้างประสบการณ์ในการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ค่ายมือถือในบ้านเราต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อลดระยะเวลาในการรอคอยเพื่อดาวน์โหลดโน่นนี่นั่น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ มีนิสัย “ไม่ชอบรอ”

ใช่หรือไม่ว่า ความเคยชินกับความสะดวกรวดเร็วทำให้เราใจร้อนขึ้น ในอีกมุมเทคโนโลยีย่นย่อโลกให้เล็กลงทำให้เราติดต่อสื่อสารกับคนในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดายขึ้นมาก แต่กลับแยกเราออกจากคนใกล้

คนไทยใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยวันละเกือบ 4 ชั่วโมง (ข้อมูล ณ เดือน ก.ค.-ก.ย.2559) โดยช่วงที่มีการใช้

สมาร์ทโฟนมากที่สุดจะอยู่ระหว่างเวลา 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม (เฉลี่ย 10 นาทีต่อชั่วโมง) อาจดูไม่มากถ้าคิดว่าเวลาในแต่ละวันมี 24 ชั่วโมง แต่ถ้าหักเรื่องการเดินทางและพักผ่อนออกไป 4 ชั่วโมง สำหรับบางคนอาจเกินครึ่งของเวลาที่มี

แล้วคุณล่ะ เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ในแต่ละวันใช้เวลาก้มหน้าก้มตาอยู่กับโลกในมือ (ถือ) มากไปหรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image