สาวปมขัดแย้งวงการผ้าเหลือง จากอุณหภูมิร้อน ‘เงินทอนวัด’ สู่แถลงการณ์เมินงบสำนักพุทธฯ

อุณหภูมิความร้อนในพุทธจักรถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นที่จับตาของสังคมเรื่อยมา นับแต่กรณีฆาตกรรมสามเณรที่วัดวังตะวันตก เมืองนครศรีธรรมราช เปิดเผยรายรับมหาศาลอันนำมาซึ่งความขัดแย้งภายใน กระทั่งลุกลามดำดิ่งสู่โศกนาฏกรรมที่คาดไม่ถึง ตามมาติดๆ ด้วยปมทุจริตเงินทอนวัดที่สะท้านสะเทือนถึงวัดวาอารามทั่วประเทศ ตกเป็นข่าวในสื่อทุกแขนง สปอตไลต์ส่องแรงยังวงการผ้าเหลือง โดยอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้น

สถานการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย ตัดสินใจออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2560 เรื่องการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงวันที่ 20 มิถุนายน มีเนื้อหากล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อสร้างผลกระทบร้ายแรง โดยมองว่าจะทำให้พุทธศาสนิกชนและศาสนิกในศาสนาต่างๆ เข้าใจว่าพระสังฆาธิการ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทยเป็นผู้คอร์รัปชั่นเสียเอง

ในแถลงการณ์ยังชี้แจงถึงระบบการรับเงินอุดหนุนการพัฒนาวัดอย่างคร่าวๆ ก่อนปิดท้ายด้วยการประกาศว่านับแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป พระสังฆาธิการและวัดวาอารามทั้งในและต่างประเทศ จะไม่ขอรับเงินอุดหนุนใดๆ ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีจัดสรรให้ โดยขอให้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

นับเป็นประเด็นส่อแววเขยิบสู่ความโกลาหลไปอีกขั้น

Advertisement

พระเทพปฏิภาณวาที หรือ เจ้าคุณพิพิธ แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม อารามหลวงใจกลางพระนคร เปิดใจถึงปมร้อนว่า นาทีนี้พระสงฆ์ทั้งประเทศมีความอึดอัด อัดอั้น และบีบคั้นในความรู้สึกเป็นอย่างยิ่ง

พระเทพปฏิภาณวาที หรือ เจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศนเทพวราราม


แจงขั้นตอนยิบ’เงินอุดหนุน’ยัน’ไม่ใช่ความผิดพระ’

ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นคือขั้นตอนการรับมอบเงินเจ้าปัญหา เจ้าคุณอธิบายว่า งบประมาณที่สำนักพุทธฯอุดหนุนวัดมี 3 ลักษณะ ได้แก่

Advertisement

1.วัดเกิดความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงทำรายการนำเสนอ ผอ.สำนักพุทธศาสนาประจำจังหวัด ซึ่งจะส่งเรื่องเข้าสู่สำนักงานใหญ่ เมื่อพิจารณาแล้วจะอุดหนุนหรือไม่อุดหนุนก็ได้

2.เงินอุดหนุนที่สำนักพุทธฯจัดให้เอง โดยพิจารณาตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้

3.งบฉุกเฉินกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเป็นก้อนที่พระสงฆ์ไม่ได้ทำเรื่องร้องขอ แต่ ผอ.สำนักพุทธศาสนาประจำจังหวัดจะเป็นผู้ส่งรายงานไป

“เงินทอนไม่ใช่ความผิดของพระ แต่สำนักพุทธฯไปตั้งงบเอง เป็นการคุยกันเองระหว่างสำนักพุทธประจำจังหวัดกับสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยอาจไปตกลงกับวัดว่างบก้อนนี้ไม่ตรงนะ ถ้าอุดหนุนวัดใหญ่ๆ หรือพระอารามหลวง ขอให้ตีกลับมาที่สำนักพุทธฯ เข้าบัญชีชื่อนั้นชื่อนี้ นี่เป็นการตกลงกันด้วยวาจา พระก็เชื่อใจในความสุจริตของข้าราชการทั้งประจำจังหวัดและสำนักพุทธใหญ่ เมื่อได้รับเงินแล้ว จะโอนไปเข้าบัญชีชื่อใครก็ไม่รู้ นี่เป็นเรื่องที่ข้าราชการต้องตรวจสอบกันเอง” เจ้าคุณพิพิธกล่าว และย้ำว่า ภาครัฐต้องเช็กว่าสุดท้ายแล้วเงินก้อนถูกกระจายไปไหน หากปลายทางคือเจ้าอาวาสวัดเดิม ถือว่า พระผิด แต่ถ้ากระจายไปส่วนอื่นถือว่า ข้าราชการผิด ขอให้แยกกันเป็น 2 ระบบ

วัดเล็กอด วัดใหญ่ซดอื้อ?

อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ได้เพิ่งถูกตั้งคำถามในช่วงสถานการณ์นี้ แต่มักถูกสังคมเคลือบแคลงตลอดมาคือการที่วัดวาอารามใหญ่ๆ ได้งบประมาณมากมาย ในขณะที่วัดเล็กๆ ไม่ได้รับการอุดหนุนอย่างเท่าเทียม สร้างภาพลักษณ์ความเหลื่อมล้ำอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เจ้าคุณพิพิธชี้แจงว่า ‘ระเบียบกฎเกณฑ์มันมีอยู่’ กล่าวคือ พระอารามหลวง และวัดที่มีโบราณวัตถุ ถาวรวัตถุต้องทำนุบำรุง วัดจะได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักพุทธฯ

“เจ้าอาวาสทุกวัดส่วนใหญ่แต่ละปีทำไป 60-80 เปอร์เซ็นต์ สำนักพุทธอุดหนุนมาบ้างนิดหน่อย เช่น ปีนี้ควรอุดหนุนวัดนี้สัก 5 ล้าน ก็มีการเซ็นเช็คส่งมาถวาย 5 ล้านนี้ แต่ท่านใช้ของท่านไปแล้ว 95 ล้าน โดยวิธีการบอกบุญญาติโยม ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าการบริหารวัดใหญ่ โดยเฉพาะพระอารามหลวงแต่ละวัดในกรุงเทพฯจะไม่มีบุคคลที่เป็นชาวบ้านในถิ่นฐานย่านนั้นเลย เป็นคนอื่นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความสามารถในการจัดการดูแลวัดเป็นเรื่องยาก พระอารามเหล่านี้ก็มักจะเลี้ยงสังคม และมีโรงเรียนด้วย”

กลโกง ร.ร.พระปริยัติธรรม ทำไม่ได้ แต่กลายเป็นจำเลยสังคม?

เขยิบมาสู่กรณีเงินโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ลือกันให้แซดว่ามีการโกงกินเงิน เจ้าคุณพิพิธส่ายหน้า ยืนยันว่า พระไม่มีสิทธิ

“พระไม่มีสิทธิทำงบประมาณในส่วนนี้ได้เลย แต่สำนักพุทธประจำจังหวัดจะเป็นฝ่ายเข้าไปตรวจสอบว่ามีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ นักธรรมเท่าไหร่ บาลีเท่าไหร่ ปริยัติธรรมสามัญเท่าไหร่ หากเรียนทั้งนักธรรมและบาลีก็คิดเป็นรายหัว ใน 1 รูป อาจมี 3 รายหัว รวมปริยัติสามัญด้วย แต่จำนวนครูจะแบ่งตามชั่วโมงการสอน รูปนี้สอนนักธรรม รูปนี้สอนบาลี เมื่อคิดแล้วจำนวนเกือบเท่าเดิม แต่วิธีการสอนไม่เท่าเดิม มันเป็น 2-3 เท่า เรื่องที่ไปกล่าวอ้างว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรมโกงกินเงิน พระไม่มีสิทธิทำ แต่ก็เหมือนโรงเรียนทั่วไปคืออาจจะมีออกบ้าง สึกบ้าง เหลือหยิบมือเดียว ถ้าจะเอาเงินคืนก็เอาคืนไป แต่ถามว่าโรงเรียนฆราวาสเคยคืนหรือไม่ มันเป็นงบที่จ่ายขาด แต่เพราะเป็นพระจึงถูกสังคมมองอย่างหาเรื่อง นี่คือปัญหา”

เปิดใจปมอัดอั้น ที่มาแถลงการณ์เมินงบสำนักพุทธฯ

มาถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารแถลงการณ์ไม่รับเงินอุดหนุนจากสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าข้อความส่วนหนึ่งพาดพิงถึงการทำงานของผู้อำนวยการ ด้วยประโยคที่ว่า “ให้ข่าวเสมือนพระสังฆาธิการได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทุจริตเงินอุดหนุนดังกล่าว”

น้ำเสียงคล้ายสื่อถึงความไม่พอใจของฝ่ายสงฆ์

ประเด็นนี้ เจ้าคุณพิพิธเปิดใจยอมรับว่าจริง!

“มันเป็นความอึดอัดใจของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ พระคุยกันทั้งทางออนไลน์และเมื่อเจอกันว่านี่คือการส่งเสริมพุทธศาสนาหรือทำลายภาพลักษณ์กันแน่ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักพุทธ หน้าที่คือ ประโยชน์ ประสาน ประชาสัมพันธ์ และปะทะไม่ให้คนเข้ามาโจมตีพระสงฆ์ แต่ ณ ขณะนี้ดูเหมือนมาเป็นมือปราบ กรณี ผอ.อยากสอบสวนข้าราชการตัวเองว่ามีส่วนในการฉ้อฉลโกงกิน ต้องประสานงานเป็นภายใน ไม่ใช่แถลงข่าวโดยเปิดเผยข้อมูลให้คนมาโจมตีคณะสงฆ์อย่างสาดเสียเทเสีย”

ถามต่อว่า นี่คือประเด็นร้อนแรงที่สังคมจับตา เป็นเรื่องสาธารณะ เหตุใดคณะสงฆ์จึงมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรอัพเดตความคืบหน้าให้สาธารณะรับรู้

“สังคมสนใจเป็นธรรมดา แต่เป็นหน้าที่ ผอ.หรือไม่ที่จะนำมาเปิดเผย ถ้าสื่อถาม ควรบอกว่าเป็นเรื่องภายใน ผมกำลังตรวจสอบข้าราชการภายในของผม ถ้ามีส่วนกระทบกับพระบ้าง ผมก็จะไม่แถลงเพราะเป็นเรื่องลับ ปกปิด เรื่องยังไม่ถึงที่สุดถึงขนาดพักราชการ ขึ้นโรงขึ้นศาล ผมก็เปิดเผยไม่ได้” เจ้าคุณพิพิธแจง พร้อมแนะนำแนวทางการตอบสื่อแถมให้ด้วย ทั้งยังระบุว่า เรื่องนี้ ‘กัดกร่อนศรัทธา’ ผู้ที่นำมาเปิดเผยต้องรับผิดชอบ

 


วาทกรรมพระไม่โกง โปร่งใส แต่ไม่โชว์บัญชีวัด

มาถึงตรงนี้ ไม่ถามไม่ได้ว่า หากมั่นใจพระไม่โกง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าวัดทุกแห่งควรเปิดเผยรายรับรายจ่ายให้สาธารณชนรับทราบเพื่อยืนยันความโปร่งใส

เจ้าคุณพิพิธตอบทันทีว่า ไม่ได้ เนื่องจากวัดเป็นนิติบุคคล และขอถามกลับว่า หากมีคนขอดูเงินในบัญชีครอบครัวจะให้ไหม แต่ถ้าสงสัยว่าวัดใดมีการทุจริตก็ต้องไปทำเรื่องสอบสวนมา การถามวัดโดยตรง ไม่มีสิทธิ กรณีที่เงินก้อนนั้นเป็นของหลวง สามารถแจ้งหน่วยงานรัฐซึ่งอาจตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

“วัดเป็นนิติบุคคล มีอนุโมทนาบัตร มีคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นหูเป็นตา ไม่มีพระรูปไหนมาบวชเพื่อโกงกินเงินวัด มีแต่ทำความดี ดึงเงินเข้าวัด บูรณะวัด จัดการศึกษาฟรี ขนาดนิตยภัตที่รัฐบาลตั้งมาให้ พระยังสละรูปละ 1 เดือนไว้เป็นกองกลางในยามวัดมีภัย เรื่องรายรับจ่ายเป็นสิทธิของวัด ส่วนบุคคลที่รังเกียจวัด ยิ่งไม่มีสิทธิโวย เพราะไม่ได้ทำบุญกับวัดอยู่แล้ว การนำเงินในบัญชีวัดออกมาใช้ ก็มีคณะกรรมการ มีไวยาวัจกรการเบิกจ่าย มีรายการเอาไปบูรณะหรือใช้สอย อันนี้ต้องตรวจสอบกันภายใน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาตำหนิพระ การโจษพระด้วยข้อหาเรื่องเงิน เป็นการโจษอาบัติ ปาราชิก”

ถามต่อว่า วาทกรรมความเชื่อที่ว่าพระไม่โกงนั้น ในความเป็นจริงก็มีคดียักยอกเงินทำบุญ อมเงินสร้างโบสถ์และศาลาการเปรียญ ภิกษุบางรูปหนีคดีนานนับปี

เจ้าคุณพิพิธถามกลับว่า มีที่ไหนบ้างในโลกนี้ที่ไม่มีการโกง ราชการก็มีคนโกง วัดจึงต้องมีเจ้าอาวาสที่มีคุณภาพ ถ้าโกงเสียเองผู้ช่วยเจ้าอาวาสต้องจัดการ ทั้งยังมีคณะกรรมการที่พร้อมจะจัดการ เพราะเป็นเงินส่วนรวม ไม่ใช่เงินส่วนตัว

“เจ้าอาวาสรูปไหนโกง อยู่ไม่ได้สักองค์ เลขานุการวัดโกง ไวยาวัจกรอมเงิน อยู่ไม่ได้หรอก”

ถามต่ออีกว่า แล้วถ้าบุคคลทั้งหมดนี้ร่วมมือกันโกง จะทำอย่างไร?

“ชาวบ้านกับพระรูปอื่นๆ ในวัดก็ทำหนังสือร้องเรียนได้ จะมีการตรวจสอบกันตามลำดับ แต่ต้องสอบสวนลับ ไม่ให้บันทึกแม้กระทั่งภาพ คนบันทึกภาพและเสียงได้คือผู้สอบสวนเท่านั้น ห้ามนำความลับไปเปิดเผยจนกว่าเรื่องจะบรรลุ” เจ้าคุณพิพิธย้ำในประเด็นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลอีกครั้งว่าที่ถูกที่ควรคือปิดลับจนกว่ากระบวนการจะสิ้นสุด

มาถึงจุดนี้ ชวนให้สงสัยว่าสังคมไม่มีสิทธิวิจารณ์วงการผ้าเหลืองหรืออย่างไร หากพระสงฆ์ไม่พึงใจให้เปิดข้อมูลสาธารณะเช่นนี้?

เจ้าคุณพิพิธบอกว่า การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ นักข่าวจะวิจารณ์ก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งคุณตกเป็นจำเลยสังคม จะรู้ว่าเจ็บปวดที่สุด เจ้าคุณกล่าวพร้อมตบอกผาง 1 ที ก่อนกล่าวต่อว่า เรื่องสืบสวนเรื่องเงินทอง พระไม่ว่า แต่การเปิดเผย แถลงข่าว ชี้เป้าว่าตำรวจจะบุกที่นั่นที่นี่ในนั้นวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ

“สุดท้ายถ้ามหาเถรสมาคมไม่ประสงค์บุคคลที่นำความลับคณะสงฆ์เปิดเผยล่ะ รัฐจะว่าอย่างไร ตอนนี้เป็นเพียงรำพึง คุยกันภายใน หากพูดออกมา แปลว่า พุทธจักรและอาณาจักรสะเทือน ส่งผลลบในระยะยาว ข้อนี้ต้องคิดกันเยอะๆ ผอ.สำนักพุทธฯไม่มีสิทธิมาตัดสินพระ สิ่งที่อาตมาพูดคือเสียงสะท้อนของคณะสงฆ์ต่อรัฐบาล ห่วงจะเป็นไฟสุมขอน” เจ้าคุณพิพิธกล่าวปิดท้าย

ความร้อนแรงของปมทุจริตที่ภาครัฐกำลังสะสางที่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งเช่นนี้จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามต่อไปอย่างไม่กะพริบตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image