‘มายเมตเนต’ วางเหรียญให้รถไฟทับ ทดลองสร้างสรรค์ หรือ สร้างดราม่าขายยอดวิว!

เพิ่งจะเคลียร์ประเด็นดราม่ากับกลุ่มคนรักสัตว์ไปหมาดๆ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา “เนท บาร์ทลิ้ง” หรือ มายเมตเนต (MyMateNate) ยูทูบเบอร์ชาวอเมริกัน ก็กลับมาสร้างประเด็นอีกครั้ง ด้วยการเผยแพร่คลิปทดลอง “วางเหรียญให้รถไฟทับ! เงินประเทศไหนจะทนกว่ากัน?!?”

แทบจะทันทีที่คลิปถูกเผยแพร่ผ่านชาแนลบนยูทูบที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มโซเชียลว่าเป็นการกระทำไร้ความคิด อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายถึงขั้นรถไฟตกรางได้

แม้ “เนต” จะออกมาขอโทษและยืนยันว่า ได้ทำการค้นหาข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรถไฟของเว็บไซต์ต่างประเทศ ยืนยันว่าไม่เป็นอันตราย เหรียญไม่สามารถทำให้รถไฟตกรางได้ก็ตาม

แต่เรื่องเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อกระแสสังคมแสดงจุดยืนชัดให้ดำเนินคดีถึงที่สุด ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยร่วมลงรายชื่อให้ขับไล่ยูทูบเบอร์รายนี้ออกจากประเทศ

Advertisement

แต่ประเด็นวางเหรียญให้รถไฟทับไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ “มายเมตเนต” ถูกคนไทยบางส่วนต่อต้าน ก่อนหน้านี้ถูกโจมตีเนื่องจากการเผยแพร่คลิปลักษณะแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นคลิปดราม่า “ฝรั่งทดสอบระบบการเรียนภาษาอังกฤษของไทย!” ที่ถูกโจมตีว่ามีการตัดต่อบิดเบือนเอาแต่ส่วนไม่ดีออกมานำเสนอให้เด็กไทยดูแย่ จากนั้นไม่นานคลิปดังกล่าวก็ถูกลบออกจากชาแนลของยูทูบ ตามมาด้วยคลิป “เมื่อฝรั่งนำเหรียญสตางค์ เกือบ 1,600 เหรียญไปซื้อของ” จนเป็นที่ฮือฮา เพราะพนักงานขายต้องมาเสียเวลานับเศษสตางค์ ซึ่งคลิปนี้ก็ถูกลบออกหลังถูกโจมตีเช่นกัน

ก่อนจะกลับมาสร้างกระแสอีกครั้ง คราวนี้ทำเอาคนรักสัตว์เดือดปุด จนต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีทันทีหลังเห็นคลิปจับแมวผูกกับลูกโป่งลอยฟ้า และคลิป “แมวต่อสู้กับแมงป่อง” พิสูจน์ว่า “ใครจะเป็นผู้ชนะ!!!” ซึ่ง “เนต” อ้างว่าเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์

Advertisement

ขณะที่ในมุมมองของ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า คลิปของ “เนต” ไม่ได้เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์เลย แต่เขามักจะเอาคำว่าวิทยาศาสตร์มาเป็นข้ออ้างมากกว่า

“เท่าที่ดูเขารู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำอะไรที่แปลก เป็นเรื่องอุตริทำขึ้นให้คนตื่นเต้นหรือขำ เพื่อตอบสนองคนที่ติดตามชาแนลของเขา ผมมองว่าเป็นการหารายได้ เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของการที่คนเข้ามาดูแล้วมีรายได้ไปด้วย”

ดร.เจษฎายังวิเคราะห์อีกว่า ภาพรวมของผลงานที่ออกมา มันไม่ใช่การทดลองวิทยาศาสตร์แน่นอน ถ้าจะใช้คำว่าวิทยาศาสตร์ต้องใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ ต้องมีขั้นตอน อย่างการจะทดลองเรื่องความแข็งแรงของเหรียญจะต้องมีทฤษฎี มีเครื่องมือที่เหมาะสม การออกไปภาคสนามแล้วทดลองกับของที่เป็นของสาธารณะอย่าง รถไฟ เป็นเรื่องที่ผิดหลักการและไม่ควรทำแต่แรกอยู่แล้ว

“ผมมองว่าวิธีการนี้มันเป็นวิธีอุตริเล่นกัน ในต่างประเทศเองก็มี ในยูทูบก็จะเห็นว่ามีคนที่ทำอะไรแปลกประหลาด เกินคาดแบบนี้เยอะเหมือนกัน แล้วแต่ละคนก็จะมีบทบาทการยอมรับได้ที่ต่างกัน เช่น บางคนเอาของเข้าไมโครเวฟให้มันระเบิดเล่น ซึ่งเขาทำในบ้านของเขาในพื้นที่ของเขา ก็ไม่มีคนว่า แต่การที่มาทำกับสิ่งสาธารณะไม่ว่าประเทศไหนก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างถ้าเป็นที่ประเทศจีนผิดกฎหมาย อาจต้องถูกเนรเทศออกจากประเทศในความผิดฐานทำลายของสาธารณะ”

สิ่งที่น่าหวาดหวั่นมากกว่านั้นคือผลกระทบที่อาจจะตามมาจากคลิป

ดร.เจษฎาให้ความเห็นว่า เรื่องน่ากังวลคือคลิปที่ทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ อาจจะทำให้เด็กที่คิดคล้ายกัน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ติดตามมาดูแล้วเอาไปทำตาม หรืออาจจะทำยิ่งกว่าก็จะยิ่งไปกันใหญ่ เช่น เด็กอาจจะเอาเหรียญมาวางบนรางรถไฟบ้างแล้วถูกรถไฟชน หรือเขาเห็นเนตเอาเหรียญมาวาง แล้วอยากลองเอาอะไรที่ใหญ่กว่านั้นมาวางบ้าง ก็จะเป็นเรื่องเป็นราวที่สร้างความเสียหายได้ เพราะฉะนั้นการใช้สื่อออนไลน์ของคนที่เป็นแบบนี้เป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่าที่คิด

“ภาพรวมแล้วผมมองว่าไม่น่าส่งเสริมครับ ไม่มีวิชาการอะไรมองเป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้” ดร.เจษฎาทิ้งท้าย

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

อีกมุมหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือเรื่อง “ชื่อเสียง”

ยิ่งในยุคที่คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายและรวดเร็ว ใครก็สามารถเผยเเพร่ข้อมูลข่าวสารได้ ทำให้เกิดคนดังโซเชียลรูปแบบใหม่มากมายทั้ง “เน็ตไอดอล” และ “ยูทูบเบอร์” แบบมายเมตเนตเป็นต้น

ผศ.ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ม.รังสิต ให้ความเห็นว่า คนทำคลิปในปัจจุบันมุ่งเป้าต้องการยอดไลค์ ต้องการมีชื่อเสียง ต้องการให้คนมาติดตาม บางทีก็ยอมทำอะไรที่หมิ่นเหม่ ที่ไม่ได้รับการยอมรับ แต่ “ดังเร็ว”

“ส่วนตัวผมมองว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อาจจะมีชื่อเสียง แต่ชื่อเสียงนั้นถ้าเป็นชื่อเสียงในด้านลบ ผมว่าไม่คุ้มกับการถูกประณาม”

“กรณีของ ‘เนต’ ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อความรู้สึก ซึ่งความจริงสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้เกียรติและยกย่องชาวตะวันตกค่อนข้างมาก อย่างชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเราจะให้การต้อนรับที่ดีมาก แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาบางครั้งเขาไม่รู้ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ก็อาจจะแสดงพฤติกรรมซึ่งอาจจะมาจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้คนไทยรับไม่ได้ แล้วการทำคลิปแบบนี้ถ้าสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือละเมิดกฎหมายใดก็ตามของประเทศหรือสังคมนั้น คนที่ทำคลิปจะต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่ชาวต่างชาติ หากคนไทยเองทำคลิปลักษณะแบบนี้ สังคมก็คงไม่ชอบใจเหมือนกัน” ผศ.ดร.ฉลองรัฐอธิบาย

และมองถึงปรากฏการณ์สังคมหลังจากคลิปถูกเผยแพร่ว่า เป็นสิ่งที่คนไทยมีสิทธิเรียกร้องให้เขาหยุดการกระทำนั้น หรืออย่างน้อยก็ให้ออกมาขอโทษ

“ผมคิดว่าถ้าเราเป็นเจ้าของสังคมแล้วไม่อยากทำให้คนในสังคมมีพฤติกรรมแบบนี้ ไม่อยากให้คนมาทำตามก็ควรจะหยุดยั้งเขาแต่ด้วยวิธีตามกฎหมายนะ ไม่ใช่วิธีนอกกฎหมาย เพราะคนที่ทำคลิปแบบนี้ถ้าทำแล้วไม่มีใครเบรก เขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องเหมาะสมแล้ว และจะทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ หรืออย่างน้อยเมื่อเราได้แสดงความไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับพฤติกรรมนั้นก็น่าจะช่วยป้องปรามคนที่ทำคลิปแปลกๆ ออกมาได้บ้าง แต่ผมไม่คิดว่าจะปรามได้นานนักน่าจะเป็นลักษณะชั่วครั้งชั่วคราว พอผ่านไปสักเดือน 2 เดือน อาจจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาอีก โดยคนที่ไม่สนใจเรื่องราวนี้”

ประเด็นหนึ่งที่ ผศ.ดร.ฉลองรัฐ ให้ความเห็นไว้อย่างน่าคิดคือหลังมีชื่อเสียง สิ่งที่ตามมาคือ “รายได้”

“ต้องยอมรับว่าเรื่องยอดวิว ที่จะนำมาสู่รายได้น่าจะเป็นผลโดยตรงให้เกิดการสร้างคลิปลักษณะนี้ คือโลกออนไลน์ตอนนี้มันเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากพอลงคลิปไปแล้วมีคนมาติดตาม ก็ทำให้เขารู้สึกว่ายิ่งทำคลิปที่แปลกที่ไม่เหมือนใคร ที่แหวกแนวจะยิ่งทำให้คนเข้ามากดไลค์ ติดตาม และกดดูคลิปของเขาเยอะๆ ซึ่งทำให้ตัวเขาได้ยอดโฆษณาจากคลิปต่างๆ เหล่านี้”

ผศ.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค

ผศ.ดร.ฉลองรัฐบอกอีกว่า เมื่อช่องทางของเว็บไซต์เป็นช่องทางทำธุรกิจเเบบหนึ่ง ในแต่ละประเทศก็มีวิธีการควบคุมที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่บางคนอาศัยช่องว่างตรงนี้มาทำคลิปแปลกๆ เพื่อให้ได้ยอดวิวมากๆ

“การจะควบคุมผมมองว่าสิ่งที่สังคมไทยทำอยู่ตอนนี้ คือประชาชนคุมกันเอง ด้วยการกดดันไม่ให้เขาทำเบบนี้เป็นการควบคุมในระดับประชาชน ส่วนการควบคุมของรัฐต้องยอมรับว่า ถ้ารัฐออกกฎหมายเพื่อมาควบคุมเว็บไซต์ออนไลน์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แล้วหากเกิดความควบคุมขึ้นมามันจะมีผลในแง่ของการควบคุมข่าวสารบางอย่างที่มันเป็นอิสระ หรือเป็นข้อมูลบางอย่างที่มีประโยชน์ก็ได้ ดังนั้นเรื่องการควบคุมเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับจริงๆ ไม่ว่าประเทศไหนก็ทำได้ยาก ยกเว้นประเทศนั้นค่อนข้างใช้อำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการประเทศเขาก็อาจจะทำได้ เช่น ประเทศจีน เป็นต้น” ผศ.ดร.ฉลองรัฐทิ้งท้าย

สอดคล้องกับ ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายอินเตอร์เน็ตและอาชญากรรมไซเบอร์ ที่มองว่า การกำกับเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องค่อนข้างยาก อย่างยูทูบเองเป็นช่องทางเผยแพร่เนื้อหาที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่ต่างประเทศ หน่วยงานไทยไม่มีอำนาจไปควบคุมขนาดนั้น

และแนะว่า ทางออกสุดท้ายมันจะต้องกลับไปที่เรื่องของการให้ความรู้กับเยาวชนในการที่จะเสพสื่อเหล่านี้ให้รู้ว่าการกระทำแบบนี้มันเป็นอันตรายและก่อให้เกิดผลกระทบกับคนอื่น

พฤติกรรมการเล่นแผลงๆ แบบกรณีของ “เนต” ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่

ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน

ดร.จอมพลให้ความเห็นว่า พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้มีมานานแล้ว แม้กระทั่งในสังคมไทยก็มีการเล่นอะไรแบบนี้มานานมาก แต่ที่มีผลกระทบในวงกว้างเพราะมันมีการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในการเผยแพร่ ทำให้คนใช้อินเตอร์เน็ตเข้าถึง แล้วยิ่งคนทำคลิปมีชื่อเสียง มีคนติดตามเยอะมากก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนเกิดความสนใจขึ้น ซึ่งในหลายกรณีเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกัน

“ผมเคยติดตามดูคลิปเหล่านี้ที่ทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ ในต่างประเทศ เช่น คลิปมีด 1,000 องศา เป็นการเอามีดไปลนไฟจนร้อนแล้วเอามาหั่นอะไรต่างๆ จนเป็นกระแสในต่างประเทศ ต่อมากลุ่มยูทูบเบอร์ในประเทศไทยก็เลียนแบบเยอะมากแต่สักพักกระแสหายมันก็จบไป แล้วก็เกิดกรณีใหม่ขึ้นมาแทนที่”

ดร.จอมพลอธิบาย และให้ความเห็นอีกว่า กรณีของ “เนต” เองน่าจะเอาแนวคิดแบบนี้มาจากต่างประเทศ เพราะจากสิ่งต่างๆ ที่เคยเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมและกิจกรรมในลักษณะแบบนี้ ส่วนใหญ่เอามาจากต่างประเทศทั้งนั้น โดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันตกชอบทำอะไรลักษณะนี้แล้วบันทึกเป็นคลิปมาเผยแพร่ ซึ่งมีแนวโน้มค่อนข้างมากที่ยูทูบเบอร์ในประเทศอื่นจะเลียนแบบตามและเผยแพร่ส่งต่อ

“ถามว่ามีผลกระทบไหม ผมว่ามีค่อนข้างพอสมควรในการที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นได้” ดร.จอมพลทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image