ย้อนรอย ‘คดีบ้านเชียง’ ลุ้นสหรัฐคืนมรดกไทยเกือบหมื่นชิ้น มีหวังหรือยังรางเลือน?

ภาพเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นพิพิธภัณฑ์โบเวอร์ส เมื่อวันที่ 24 มกราคม ปี 2008

ตามที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ว่า ท่านอุปทูตสหรัฐอเมริกาได้เข้าพบและเรียนว่าที่ไทยเราได้รับโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านเชียงและแหล่งอื่น ที่ทางอเมริกาส่งคืนให้ประเทศไทย 554 ชิ้นนั้น ทางสหรัฐอเมริกายังจะมีส่งคืนอีก แต่จะเป็นเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไรเราคงต้องคอย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ นั่นคือเล่าสู่กันถึงกระบวนการที่ทางหน่วยงานภาครัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินการที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ที่นำมาสู่การจับยึดครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2551 นำส่งผู้ถูกจับกุมและพิพิธภัณฑ์เข้าสู่ขบวนการทางศาลประการที่หนึ่ง ประการที่สองต้องการเชิดชูเพื่อเป็นเกียรติ และแนะนำให้คนไทยเราได้รู้จักกับนักโบราณคดีชาวอเมริกันที่อยู่เบื้องหลัง เป็นหลักทางวิชาการให้กับทีมกฎหมายและทีมสืบสวนสอบสวน และได้กล่าวคำให้การกับศาลที่มีเนื้อหารวมเกือบ 7 หน้ากระดาษที่สำคัญมากๆ และประการสุดท้ายคือไทยจะได้ของคืนอีกเกือบหมื่นชิ้น จริงหรือ?

 ลับ ลวง พราง ทลายรัง’ของโจร’

ในช่วงปี พ.ศ.2546 ทางการสหรัฐอเมริกาพบว่าได้มีการประพฤติฉ้อฉลในการแจ้งขอคืนหรือหักภาษีที่เกินจริงจากการบริจาคสิ่งของจำพวกโบราณวัตถุแก่พิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมาก โดยกฎหมายอเมริกากำหนดให้หักภาษีได้ 2 เท่าของมูลค่าที่ประเมินว่าเป็นราคาตลาดของของชิ้นนั้นๆ วัตถุเหล่านี้มีที่มาไม่ชัดเจน และเชื่อว่ามีของลักลอบขุดอย่างผิดกฎหมายจากแหล่งโบราณคดีทั่วโลก ที่ถูกส่งออกจากประเทศเจ้าของ และนำเข้าอเมริกาอย่างผิดกฎหมายหรือสำแดงเท็จมากมาย ของเหล่านี้ตามกฎหมายของอเมริกาถือว่าเป็น “ของโจร” (looted subjects)

ดังนั้น ทางอเมริกาจึงตั้งทีมทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดเรียกชื่อการดำเนินการนี้ว่า Operation Antiquities ทางภาครัฐโดยกระทรวงมาตุภูมิแห่งรัฐ ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนในทางลับนำโดยนายแบร็นตัน อิสเตอร์ นักสืบชำนาญการที่จับยึดโบราณวัตถุผิดกฎหมายมาหลายชิ้นหลายคดี อีกทั้งมีนักสืบของเอฟบีไอ ที่ชื่อนายทอดด์ สเวน ปลอมตัวเป็นนักไอทีที่ทำงานอยู่กับสำนักงานป่าไม้ ที่สนใจสะสมของเก่าและสนใจซื้อเพื่อบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์เพื่อการหักภาษี

Advertisement

นักสืบท็อดได้ไปตีสนิทกับ นายโรเบริ์ต โอลด์สัน จนสนิทสนมเป็นลูกค้าประจำ นายท็อดจึงวางกับดักซื้อของ และนายโอลด์สันก็เล่าให้ฟังว่าเขาคือขาใหญ่ของการนำเข้าของบ้านเชียงหรือแหล่งอื่นที่อยู่ในยุคใกล้เคียงกัน จนทราบว่าขบวนการของนายโอลด์สันลึกลงไปถึงระดับการมีพ่อค้าที่เมืองไทยชื่อนายเพ็ตตี้ โบน ทำหน้าที่ซื้อของลักลอบขุดตามแหล่งต่างๆ เมื่อได้ของ จะถ่ายรูปตีราคาส่งมาเสนอนายโอลด์สันตลอด หลายครั้งที่นายโอลด์สันนำรูปมาให้นายท็อดดู และเสนอขาย บางครั้งก็มอบรูปให้นายท็อดเลย เมื่อนายโอลด์สันตกลงซื้อ พ่อค้ารายดังกล่าวก็จะจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อการส่งออกที่สำแดงเท็จว่าเป็นของปลอมที่ทำเลียนแบบของเก่าและติดป้าย made in Thailand ไว้ที่ของด้วย ในการนำเข้าอเมริกาก็แจ้งสำแดงเท็จว่าเป็นของเลียนแบบ และแจ้งราคาของที่เป็นเท็จเพียง 1 ใน 4 ของต้นทุนที่นายโอลด์สันจ่ายจริง

รัฐบาลอเมริกาฟ้องศาล ขยี้ตัวการ ค้าโบราณวัตถุ

ต่อมา นายท็อดได้มีโอกาสไปดูของที่ส่งมาที่โกดังเก็บของของนายโอลด์สันด้วย อีกทั้งยังได้รู้จักและรับทราบการทำธุรกรรมที่เชื่อมโยงกันของนายโอลด์สันกับนายโจนาทาน มาร์แคล และภรรยา ที่ค้าของเก่าและเน้นของบ้านเชียงเช่นเดียวกัน ทั้งนายโอลด์สันและนายมาร์แคลได้จ้างภัณฑารักษ์เป็นคนกำหนดและออกใบรับรองราคา (ที่เกินจากราคาตลาดหรือราคาซื้อขายจริง) ของแต่ละชิ้นสำหรับให้ลูกค้านำไปแสดงแก่พิพิธภัณฑ์โดยนายโอลด์สันใช้บริการคนที่อเมริกา แต่นายมาร์แคลได้จ้างนางบราวน์ซึ่งเป็นอดีตภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์เอกชนที่มีชื่อในเรื่องเครื่องถ้วยในเมืองไทยเป็นผู้รับรอง

ขวานสำริดจาก “บ้านเชียง” จำนวนมหาศาล ที่ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

เช้าวันที่ 24 มกราคม 2551 วันดีเดย์ เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางประมาณ 500 คน พร้อมหมายค้น เข้าตรวจค้นสถานที่ 13 แห่ง มีพิพิธภัณฑ์ดังๆ เช่น ลอสเอนเลิส เคาน์ตี้ มิวเซียม ออฟ อาร์ต, แปซิฟิก เอเชีย มิวเซียม, เดอะ โบเวอร์ส มิวเซียม ออฟ คัลเจอรัล อาร์ต, เดอะ มิงเกอิ อินเตอร์เนชันแนล มิวเซียม บ้านเอกชนและโกดังอีกหลายแห่ง ได้ยึดจับของเป็นวัตถุโบราณโดยเฉพาะกลุ่มก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ

Advertisement

หลังการยึดจับ พิพิธภัณฑ์มิงเกอิและโบเวอร์สยอมจำนนไม่สู้คดีโดยขอแลกกับการยอมคืนโบราณวัตถุบ้านเชียง 68 และ 542 ชิ้น แก่เมืองไทย ส่วนนายมาร์แคลและภรรยา และนายโอลด์สันได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวจักรใหญ่ที่เริ่มและขยายเครือข่ายการค้าโบราณวัตถุบ้านเชียงอย่างผิดกฎหมายในอเมริกาพร้อมพ่อค้าส่งฟ้องศาลโดยรัฐบาลอเมริกาเป็นผู้ฟ้อง

ดร.จ๊อย ไวท์ ชี้’เสียหาย 175 เท่า’

สำหรับจำนวนของที่ยึดจับมานี้ กล่าวโดย ดร.จ๊อย ไวท์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์และหัวหน้าโครงการศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียงของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ว่า ที่ยึดจับมานั้นมีเป็นหมื่นชิ้น มากกว่าของที่ขุดได้จากโครงการขุดแต่งทางโบราณคดีที่บ้านเชียง ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียร่วมกับกรมศิลปากรในช่วงทศวรรษที่ 70 ที่ขุดได้ทั้งหมด ถึง 175 เท่า อีกทั้งของที่ยึดจับมานี้มีความสมบูรณ์กว่า และของหลายชิ้นเป็นของหายาก

ดร.จ๊อย ไวท์ หัวหน้าโครงการศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียง มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

เธอชี้ให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างถูกหลักวิชาการที่บ้านเชียง ความเสียหายที่เอากลับคืนมาไม่ได้คือความสูญเสียข้อมูลเชิงวัฒนธรรม สังคม การใช้ชีวิตของคนยุคนั้นที่ควรจะได้จากการขุดค้นที่ถูกต้อง และเมื่อเทียบในเชิงปริมาณต่อหน่วยพื้นที่ของโครงการยุค 70 ความสูญเสียได้สูงถึง 175 เท่า

ดร.จ๊อย ไวท์ ทำงานในโกดังเก็บโบราณวัตถุ “ของโจร”

ในการประชุมคณะกรรมการทวงคืนสมบัติชาติที่แต่งตั้งโดยท่านนายกรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีตผู้อำนวยการร่วมโครงการบ้านเชียงกับทางเพนซิลเวเนียได้กล่าวเสนอกับที่ประชุมว่ารัฐบาลไทยเราควรที่จะได้ขอบคุณและสดุดดี ดร.จ๊อย ไวท์ อย่างเป็นทางการที่ได้เป็นนักวิชาการโบราณคดีที่ช่วยงานกับทางรัฐบาลอเมริกาในการดำเนินการจนเราได้ของกลับคืนมาโดยเราไม่ได้ไปทวงคืนเลย

‘ขอโทษ’คนไทย เขียนจดหมายสำนึกผิด

ในคดีของนายและนางมาร์แคลที่ถูกนำขึ้นศาล ศาลได้ตัดสินเมื่อต้นเดือนเดือนธันวาคม 2015 โดยนายมาร์แคลได้ขอความเห็นใจจากศาลให้ลงโทษหนักที่ตัวเขา โดยขอให้ศาลลดหย่อนลงโทษภรรยาเขาในสถานเบา และได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงศาล เป็นการสำนึกผิดในการกระทำของเขาและเป็นต้นเหตุที่ดึงให้ภรรยาของเขาและครอบครัวเข้ามามีวิบากกรรมกับเขาอย่างไม่สมควร เขากล่าวในเอกสารว่า

“ความสำนึกผิดในการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ของข้าพเจ้า จะยังคงฝังอยู่ในตัว ตราบเท่าที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ด้วยการกระทำของข้าพเจ้าได้ทำให้เกิดความล่มจมแก่ครอบครัว ทั้งในความรู้สึก ทางสังคมและจิตใจ และทางการเงินในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา…….. ข้าพเจ้าขอโทษคนไทย ผู้คนที่สืบทอดวัฒนธรรมของบ้านเชียงที่ของส่วนใหญ่ที่ข้าพเจ้าขาย ได้ถูกลักลอบขุดมาจากแหล่งมรดกโลกนี้”

ลุ้นรับคืนมรดกบ้านเชียงเกือบหมื่นชื้น!

นายมาร์แคลได้ยินยอมที่จะส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงที่เขาครอบครองและถูกจับยึดเมื่อปี 2008 จำนวน 337 ชิ้นแก่ประเทศไทย เพื่อประกอบกับการขอความผ่อนปรนในการลงโทษภรรยาของเขา ทั้งนี้ ศาลได้ตัดสินลงโทษดังนี้ นายโจนาธาน มาร์แคล อายุ 70 ปี ถูกจำคุก 18 เดือน หลังพ้นโทษจำขังให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลความประพฤติอีก 1 ปี ในข้อหาแจ้งสำแดงเป็นเท็จในการลักลอบนำเข้าโบราณวัตถุจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั้งสองสามีภรรยาถูกลงโทษขั้นตักเตือนในข้อหาโกงภาษีโดยการแจ้งราคาของที่มอบให้พิพิธภัณฑ์ที่สูงเกินจริงเพื่อการนำไปลดหย่อนภาษี และให้ทั้งสองคนจ่ายเงินรวม 25,000 เหรียญ เป็นค่าขนส่งส่งของ 337 ชิ้นนี้คืนไทย (ส่วนนี้ยังไม่ได้คืนมา คาดว่ายังไม่จบขั้นตอน)

ตามที่ ดร.จ๊อยว่า ของที่ยึดมากว่าหมื่นชิ้น แล้วมันไปอยู่ที่ไหน? คำตอบคือเป็นของในคดีของนายเพ็ตตี้โบนและนายโอลด์สัน โดยของทั้งหมดเป็นของนายโอลด์สันที่ถูกยึดจากบ้านและโกดังเก็บของที่บรรจุของในลังไม้ขนาดใหญ่หลายใบวางเป็นชั้นบนพาเลตที่ยกด้วยรถบ็อบเคต คดีนายโอลด์สันนี้ถูกเลื่อนมาหลายนัด จนหลังสุดศาลสั่งให้เริ่มพิจารณาคดีในเดือนพฤษภาคมปี 2559

ทีมงาน Operation Antiquities
รางวัลเกียรติยศจากรัฐบาลสหรัฐมอบให้ ดร.จ๊อย ไวท์ จากการ่วมปฏิบัติการ Operation Antiquities

ทั้งนี้ หลังประชุมคณะกรรมการทวงคืนสมบัติชาติฯ ผู้เขียนได้สื่อสารโต้ตอบกับนายเจสัน เฟลซ์ เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของการประชุม และได้บอกเขาว่าที่เขาเสนอว่ายินดีช่วยกลุ่มสำนึก 300 องค์ที่ได้รณรงค์การทวงคืนสมบัติชาติมาปีเศษแล้ว โดยเฉพาะพระประติมากรรมสำริดปลายบัด 2 และยินดีช่วยรัฐบาลไทยในการประสานดำเนินการทางฝั่งอเมริกานั้น ได้แจ้งให้ท่านประธานคณะกรรมการคือท่าน รมต.วีระแล้ว ตบท้ายเจสันว่า รบกวนเรียนท่าน รมต.ด้วยว่า อีกไม่นานไทยคงจะได้รับแจ้งเรื่องการส่งคืนของบ้านเชียงล็อตใหญ่ เพราะนายโอลด์สันเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน จำนวนของบ้านเชียงที่จะได้คืนเป็นเลขสวยเสียด้วย เจสันว่า 8,148 ชิ้น

ภาพส่วนหนึ่งจาก iseaarchaeology.org

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image