คอลัมน์ โลกสองวัย : ครบ 100 ปีธงไตรรงค์

ขอเชิญน้องหนูชมนิทรรศการ “100 ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1” เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 เวลา 09.00-16.30 น. ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน

ผู้จัดคือ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยยังยึดมั่นในความเป็นกลาง ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นความเคลื่อนไหวของคู่สงครามอย่างใกล้ชิด เมื่อการสงครามรุนแรงขึ้น และทรงเห็นว่าฝ่ายเยอรมนีเป็นฝ่ายรุกราน จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 แล้วประกาศเรียกพลทหารอาสากองบินและกองยานยนต์ทหารบก เพื่อส่งไปช่วยสงครามยุโรป

เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม ประเทศไทยจึงมีโอกาสส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ณ พระราชวังแวร์ซาย ทำให้สัญญาที่ไทยทำไว้กับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี สิ้นสุดลง

Advertisement

ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ประการหนึ่ง คือประเทศสยามในขณะนั้น ได้นำธงไทยที่เปลี่ยนจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์ไปอวดโฉมเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งนั้นด้วย

นอกจากนั้น ยังมีอนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานบรรจุอัฐิทหารอาสาที่รับใช้ชาติสมัยรัชกาลที่ 6 ในสงครามโลกครั้งที่ 1 คืออนุสาวรีย์ทหารอาสา ตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ ด้านเหนือของสนามหลวง

อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 อีกแห่งหนึ่งคือวงเวียน 22 กรกฎา

Advertisement

ธงชาติมีมานานแล้ว จนถึง พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2460 เรียกว่า “ธงไตรรงค์” มี 3 สี ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดความหมายของสีไว้ว่า สีแดงหมายถึงชาติ คือประชาชน สีขาวหมายถึงศาสนา (แต่มิได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ) และสีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์

สมัยนั้นเป็นรูปสีเหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ส่วน แบ่งเป็น 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่ตรงกลาง มีแถบขาว 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ มีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละ 1 แถบ

พ.ศ.2479 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ โดยอธิบายลักษณะธงชาติว่า ธงชาติรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ต่อจากสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นสีขาว ต่อจากสีขาวทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง

ปัจจุบันลักษณะของธงชาติไทยปรากฏตามความในหมวด 1 มาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า

ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน

ปีนี้ พ.ศ.2560 เป็นปีครบรอบ 100 ปี ของธงชาติไทย หรือ “ธงไตรรงค์” เจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรให้ความสนใจในการนำธงชาติมาใช้ ชัก หรือแสดง ต้องมีสภาพดี เรียบร้อย ไม่ขาดวิ่น และสีไม่ซีดจนเกินไป

หากพบการใช้ธงชาติในลักษณะไม่เรียบร้อย ควรให้ผู้ชักธงชาติ ทั้งสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน รวมถึงบ้านเรือนประชาชนปรับเปลี่ยนธงชาติผืนนั้นให้อยู่ในสภาพที่ดี

อีกประการหนึ่งการแสดงธงชาติที่กระทำโดยเอกชนเพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์ กระทำได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ประเทศไทย หรือชาติไทย

น้องหนูอยากรู้เรื่องธง หาหนังสือคู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย มาศึกษาจะได้รู้เรื่องธงทุกประเภท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image