ลงนามความร่วมมือ มูลนิธิโครงการตำราฯ-มติชน มอบ’ปัญญา’ให้สังคม

(จากซ้ายไปขวา) ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ , ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ฐากูร บุนปาน, ปานบัว บุญปาน กับส่วนหนึ่งของหนังสือมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

เช้าวันศุกร์ที่บรรยากาศเปี่ยมสุขเหมือนคำพ้องเสียง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และคณะจากมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เดินทางมาถึงสำนักงานมติชนแต่เช้าตรู่ นั่งจิบกาแฟพูดคุยเรื่องเหตุบ้านการเมือง วาดฝันถึงอนาคตทางออกของสยามประเทศ (ไทย) จากปัญหาสารพัดที่รุมเร้า สักพักก็ถึงเวลางานเริ่ม

เช้านั้น อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนัดลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทในเครือมติชนกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในการที่จะให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องของการจัดทำหนังสือและกิจกรรมต่างๆ

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหารให้การต้อนรับอย่างเต็มที่

Advertisement

ไม่มีใครปฏิเสธถึงความรู้ทางวิชาการที่มูลนิธิโครงการตำราฯ สั่งสมมา

จึงไม่แปลกที่ ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ. มติชน จะบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่เครือมติชนได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิโครงการตำราฯ มอบหมายงานและร่วมงานกัน ทั้งการจัดทำหนังสือ และกิจกรรมต่างๆ

“ในนามของเครือมติชน เราจะพยายามทำงานและรักษาความร่วมมือนี้ไว้ด้วยความสามารถ ทำอย่างเต็มที่ เต็มใจ และหวังว่าความร่วมมือนี้จะผลิดอกออกผลทางปัญญาให้กับสังคมไทย ดังที่มูลนิธิโครงการตำราฯ ทำมาตลอด” ฐากูรกล่าว

Advertisement

เสียงปรบมือดังสนั่นห้องประชุม

แน่นอนว่า สิ่งที่กล่าวนั้นไม่เกินเลยไปจริงๆ เพราะหนังสือนับร้อยๆ เล่มที่มูลนิธิโครงการตำราฯ ผลิตออกมา กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นตลอด 50 ปีที่มีการก่อตั้งมูลนิธิ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้าง “ปัญญา” ให้กับสังคม สร้างคุณูปการมากมายให้กับประเทศชาติ

เสียงปรบมือดังกึกก้องอีกครั้ง เมื่อชาญวิทย์ก้าวออกมาพูดบ้าง

ในวัย 75 ปี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงแข็งแรง เดินเหินกระฉับกระเฉง

ยิ่งหากใครมีโอกาสได้ร่วมทัวร์ที่มูลนิธิโครงการตำราฯ จัดขึ้น จะรู้ว่าชาญวิทย์เป็นคนที่ทุ่มเท จริงจัง และถึงไหนถึงกันเป็นอย่างมาก

แต่สำคัญสุดสิ่งที่ขาดไม่ได้ได้ก็คือ “ความรู้” ที่จะเป็น “สติปัญญา” กลับมา

มูลนิธิโครงการตำรา

ชาญวิทย์กล่าวว่า ดีใจมากที่มีวันนี้ สำหรับมูลนิธิโครงการตำราฯ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2509 จนถึงวันนี้ก็ครบรอบ 50 ปีพอดี และปีนี้เป็นปีที่ครบ 100 ปีชาติกาล อ.ป๋วย ด้วย มูลนิธิฯ นั้นตั้งมาในความปรารถนาตามคำกล่าวที่ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี” การทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนจึงเป็นอีกความปรารถนาและเป้าหมายหนึ่งของมูลนิธิ

นอกจากเรื่องหน้าที่การงานแล้ว อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเครือมติชนอย่างเหนียวแน่น

ดังที่ชาญวิทย์เผยว่า ส่วนตัวก็รู้จักกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์และนักเขียนในเครือมติชน และอีกหลายคนเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งยังเคยไปนั่งอยู่แถวถนนราชดำเนินด้วยกัน ก็คิดว่าแนวทางการทำงานน่าจะไปด้วยกันได้ พบว่ามีหลายอย่างที่เห็นตรงกัน จึงดีใจมากที่ในวันนี้ ได้มีโอกาสลงนามกับบริษัทในเครือมติชน

เพราะจุดมุ่งหมายและงานในเครือมติชนนั้นก็ตรงกันกับของมูลนิธิ นั่นคือการสร้างปัญญาให้กับสังคม

“เราสามารถร่วมมือกันในส่วนที่เราเหมือนกันได้ และความปรารถนาส่วนตัวคืออยากทำอะไรเพื่อสาธารณชน โดยเฉพาะในยามที่สังคมไทยต้องการสติปัญญาอย่างมหาศาลเช่นนี้” ชาญวิทย์กล่าว

เสียงปรบมือดังก้องอีกแล้ว

จากนั้นก็เข้าสู่การลงนามความร่วมมือและถ่ายภาพร่วมกันอย่างเป็นทางการ

เสร็จแล้วร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งดูเหมือนกับว่าโต๊ะของเหล่าบรรดาผู้บริหารจะได้คุยกันสนุกสนานเป็นพิเศษ มีเสียงหัวเราะดังให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ และร่วมวงกันเนิ่นนานจนโต๊ะเด็กๆ ที่นั่งอยู่รายรอบบางคนถึงกับขอตัวลุกก่อน

ชาญวิทย์ร้องแซวพร้อมกับหัวเราะ “สงสัยเด็กๆ เขาไม่มีเรื่องอะไรจะคุยกัน”

มาเยือนสำนักงานมติชนทั้งที มีหรือจะปล่อยผ่านให้ผู้มากความรู้ หาตัวจับได้ยากคนนี้ผ่านไปโดยง่าย

ทันทีที่อิ่มหนำจากอาหารมื้อกลางวัน ทีมข่าวมติชนทีวีก็เรียนเชิญชาญวิทย์ให้สัมภาษณ์ที่สตูดิโอทันที คุยกันเนิ่นนาน ประเด็นบ้านเมืองโดยเฉพาะที่กำลังงวดอยู่ในขณะนี้อย่างเรื่องร่างรัฐธรรมนูญถูกหยิบยกขึ้นมา

และนี่คือเก็บตกบรรยากาศในการลงนามความร่วมมือ

เช้าวันศุกร์ที่ทุกคนเปี่ยมสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image