คอลัมน์ โลกสองวัย : ต้องให้เด็กเป็นเด็ก

การเรียนรู้เรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ของพ่อแม่พี่น้องเมื่อก่อนเกิดขึ้นในบ้านและหมู่บ้าน แต่เมื่อครอบครัวขยายกลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว เด็กจำนวนหนึ่งจึงไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องครอบครัว เห็นได้จากทุกวันนี้เด็กไม่เคยเล่นเรื่องครอบครัวสมมุติ ผิดกับเด็กเมื่อก่อน การละเล่นอย่างหนึ่งคือเล่นสมมุติพ่อแม่ลูก

การมีโอกาสเป็นวัยเด็กระหว่างอยู่บ้านของเด็กไทยนับวันจะน้อยลงไปทุกที โดยเฉพาะเด็กในเมืองหลวงและเด็กในเมืองทุกจังหวัด เนื่องจากเมื่อเด็กเติบโตได้เพียงสองสามขวบต้องเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก แล้วต่อด้วยอนุบาลอีก 3 ปี ตามด้วยประถมศึกษาอีก 6 ปี ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเมื่อเป็นเด็ก หรือมีน้อยมาก

ยิ่งเมื่อไปโรงเรียน จากเด็กเล็กถึงประถมศึกษาตอนต้น แม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้ “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” กระนั้น ครูจำนวนไม่น้อยยังใช้วิธี “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียน” โดยใช้เวลา “เพิ่มเวลารู้” มาให้นักเรียนเรียนมากกว่าจะเรียนรู้

ทั้งนี้ ทฤษฎีรากฐานของการศึกษาฟินแลนด์ที่ว่า เด็กควรต้องรักษาความเป็นเด็กไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไม่จำเป็นต้องรีบโตขึ้นเป็นนักท่องจำหรือนักทำข้อสอบ

Advertisement

แนวคิดเรื่องให้เด็กมีเวลาเล่นในระหว่างวันได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่าเด็กได้พักเล่นระหว่างเรียน จะมีความประพฤติและผลการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่มีเวลาเล่น

ไม่ทราบว่าคุณพ่อคุณแม่และท่านผู้ปกครองจะรู้หรือไม่ว่า เวลาที่เด็กเล่น แม้เพียงคนดียว คือการสร้างจินตนาการของตัวเด็ก ซึ่งไอสไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” นั้นจริงแท้แน่นอน

สำหรับผู้ชาย ก่อนมีลูกต้องมีภรรยา สำหรับผู้หญิง ก่อนตั้งครรภ์ต้องมีสามี หมายความว่า ทั้งสองต้องมีสัมพันธ์ในลักษณะที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม คือมีครอบครัวอันเกิดจากการสมรส

Advertisement

ขณะที่ก่อนจะมีครอบครัว ทั้งหญิงและชายควรเรียนรู้ครอบครัว ทั้งประสบการณ์ตรงจากพ่อแม่ตัวเอง และประสบการณ์จากสถาบันการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษาของไทยไม่เคยมีวิชาว่าด้วยครอบครัว มีแต่สอนเรื่องเพศศึกษา และมีทั้งข้อห้ามเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ แทนที่จะให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง

เพราะการเรียนรู้เรื่องครอบครัว ย่อมหมายถึงการเรียนรู้การมีลูก การเลี้ยงดูลูก ว่าลูกจะเกิดมาสภาพอย่างไร ซึ่งหากเกิดมาสมบูรณ์ ย่อมเป็นไปตามหลักการเลี้ยงลูกปกติ แต่หากเกิดมาผิดปกติ จะได้เรียนรู้ถึงการเลี้ยงลูกตามสภาพนั้น

ประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังพิจารณาและมีการเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อวันก่อนประเด็นแรกคือการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งแบ่งเด็กปฐมวัยออกเป็น 3 กลุ่ม 4 ช่วง คือ

กลุ่มเด็กทั่วไป เด็กกลุ่มเสี่ยง และเด็กพิการ ทั้ง 3 กลุ่มแบ่งเป็นช่วง คือช่วงแรกก่อนตั้งครรภ์ ถึงคลอด ช่วงที่สอง ตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปีบริบูรณ์ย่างเข้าปีที่ 3 ซึ่งหมายถึง “เด็กเล็ก” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 545 วรรค 2 ช่วงที่สาม ตั้งแต่ 3 ปี ถึง 5 ปีบริบูรณ์ย่างเข้าปีที่ 6 และช่วงที่สี่ ตั้งแต่ 6 ปี ถึง 7 ปี ย่างเข้าปีที่ 8

ดังกล่าวแล้ว ทุกกลุ่มย่อมมีวัยระหว่างช่วงแรกถึงช่วงที่สี่ ขณะที่แต่ละช่วงย่อมมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน มีการเจริญเติบโตของร่างกาย สมอง จิตใจ และอารมณ์ เป็นไปตามช่วงอายุ

หากผู้เป็นพ่อเป็นแม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องครอบครัว เรียนรู้เรื่องเด็ก ย่อมมีทักษะและประสบการณ์เพื่อการเลี้ยงดูบุตรในแต่ละช่วงได้ดียิ่งขึ้น

ในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายถึงอุดมศึกษา ควรบรรจุวิชาครอบครัวให้เด็กได้เรียนรู้ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาครู ยิ่งมีความจำเป็นต้องบรรจุวิชาครอบครัวให้ผู้เรียนวิชานี้ได้มีความรู้เรื่องครอบครัวติดตัวไปสอนเด็กในแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เล็ก

ปัญหาสังคมวันนี้ เกิดจากครอบครัวเป็นอันดับแรก เกิดจากโรงเรียนเป็นอันดับต่อมา โปรดพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image