ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | วจนา วรรลยางกูร |
เผยแพร่ |
ในเวทีรับฟังปัญหาสิทธิมนุษยชนภาคตะวันตกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เขายกมือร่ำระบายปัญหาเกี่ยวกับสถานะบุคคล บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ พร้อมกันกับตัวแทน เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา ที่มาด้วยกัน
ซัวฮิบ เจริญสุข หรือที่คนคุ้นเคยกันเรียกเขาว่า บ่าววี
เขาอธิบายว่า ตัวเองเป็น “คนไทยพลัดถิ่น” ไม่มีสัญชาติไทย ด้วยผลพวงจากการปักปันเขตแดน พ.ศ.2411 ในพื้นที่ตะนาวศรี มะริด และทวาย ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของพม่า โดยมีคนไทยพลัดถิ่น 156 หมู่บ้าน ทั้งพุทธและมุสลิม บางส่วนเลือกจะอยู่ที่เดิม และบางส่วนอพยพเข้าไทย หลังมีการกดดันจากเจ้าหน้าที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิต่างๆ เมื่ออาศัยอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อย
คนไทยพลัดถิ่นเขตตะนาวศรี (ราชการเรียกผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย) มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเช่นคนไทยในภาคใต้ อพยพเข้ามาอยู่ในระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา ซึ่งต้องเผชิญปัญหาสถานะบุคคลจากการไม่ได้สัญชาติไทย
คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มที่น่ากังวลที่สุดคือคนตกสำรวจที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนใดๆ ใน 4 จังหวัดมีอยู่ 190 คน (ตัวเลขจากเครือข่าย)
มีชีวิต แต่ไม่มีที่อยู่ (ในทะเบียน)
ซัวฮิบเล่าว่า เดิมเขาอยู่ที่หมู่บ้านปากคลอง อ.ปกเปี้ยน จ.มะริด พ่อ-แม่แยกไปมีครอบครัวใหม่จึงอยู่กับยายตั้งแต่เล็ก ต่อมาปี 2534 ขณะเขาอายุ 11 ปี ได้เดินทางเข้าประเทศไทยมาพร้อมญาติห่างๆ เมื่อทราบว่ามีน้องชายของยายอยู่ที่อำเภอทับสะแก ข้ามมาอยู่ฝั่งไทยตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งสมัยก่อนนั้นอาศัยทำเหมืองแร่อยู่ที่ทับสะแก
เขาพูดด้วยสำเนียงใต้บอกว่า ผู้ชายที่อยู่ฝั่งโน้น สมัยก่อนแบกหาบสัมภาระให้ทหารพม่า เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร เดิมวิถีชีวิตฝั่งโน้นเป็นแบบไทย และอพยพเข้ามาอยู่ในไทยรุ่นแรกอย่างน้อย 50 ปี แต่เมื่อไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านกฎหมายได้ จึงรวมตัวกันต่อสู้ด้วยประวัติศาสตร์
“ตอนเด็กเราไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ที่ฝั่งโน้นได้ไปโรงเรียนสอนศาสนา คล้ายเรียนอบรมจริยธรรม อาศัยในชุมชนมุสลิม มีมัสยิด ไม่มีปัญหาเรื่องศาสนา แต่มีปัญหาเรื่องเกณฑ์ทหาร สมัยพม่าปกครองด้วยระบอบเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิ กดขี่ข่มเหง เราเลี้ยงแพะ วัว ควาย เขาก็มาจับไปกินเฉยๆ โดยไม่ขออนุญาต มีการข่มขืนผู้หญิง เรากลัวก็อพยพเข้ามา ญาติทางโน้นก็ยังมีอยู่ ได้สถานะเป็นพลเมืองของพม่าที่เขาไม่ยอมรับ เหมือนเป็นชนกลุ่มน้อยของเขา”
มาทับสะแกตอนอายุ 11 ปี ซัวฮิบก็เริ่มทำงานเลยโดยไม่ได้เรียนหนังสือ รับจ้างทำไร่ทำสวนอยู่ตามสวนสับปะรด สวนกล้วย สวนพริก
ปัจจุบันเขาอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เข้าร่วมเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยที่รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2545 ทำงานทั้งในแง่ข้อมูลประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต รวมถึงต่อสู้ทางนโยบายและกฎหมาย โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในแต่ละชุมชน
“ทำให้สาธารณะได้รับรู้ว่าคนกลุ่มนี้มาจากไหน อยู่อย่างไร ประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร เดิมไม่มีกฎหมายให้สัญชาติไทยกับคนไทยพลัดถิ่น จนมี พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 5 พิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น (พ.ศ.2555) มีการขึ้นทะเบียนที่กรมการปกครองสำรวจไว้ราว 18,400 คน ทั่วประเทศรวมจังหวัดตราด ซึ่งปัจจุบันยังมีความล่าช้าในการคืนสัญชาติ
“ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง มีผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยกลุ่มหนึ่งขึ้นทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติ ครม.18 มกราคม 2548 ไว้ก่อนแล้ว การขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นต้องมีผังตระกูลเครือญาติที่เดิมมีสัญชาติไทยในกฎกระทรวง” ซัวฮิบกล่าว
สำหรับตัวซัวฮิบเอง ตอนนี้เขาถือบัตรเลขศูนย์ (บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) ที่ถูกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2552 เป็นบุคคลไม่มีสถานะ เขาบอกว่า ตั้งแต่จัดทำทะเบียนสำรวจประวัติปี 2550 เจ้าหน้าที่บันทึกฐานข้อมูลไว้ในกลุ่มอื่น ไม่ได้บันทึกว่ามีเชื้อสายไทย
ในบางสะพานก็มีคนถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนกว่าพันคน ทับสะแกราว 100-200 คน และยังมีพื้นที่อื่นๆ อีกทั่วประเทศ เหตุผลหนึ่งที่สถานะยังไม่กลับคืน เพราะเจ้าหน้าที่สอบบันทึกไม่เชื่อถือพยานที่ชาวบ้านส่งไป จึงติดขัดที่กรมการปกครอง
คุณค่าของคนที่กฎหมายไม่คุ้มครอง
“ปัญหาจากการเป็นคนไม่มีสถานะ เจอทุกอย่างตั้งแต่เกิดถึงตาย ไม่ได้รับสิทธิในการปกป้องและคุ้มครองทางกฎหมาย โดนละเมิดสิทธิ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นพลเมืองไทยได้”
หนักหนาที่สุดจากการไม่มีสถานะ ซัวฮิบเล่าว่า เขาขายของอยู่ที่บางสะพานแล้วเคยโดนปล้น ถูกแทงเข้าที่คอ เขาชี้ให้ดูรอยแผลเป็นบนลำคอยาวราว 10 ซม.
“ตอนนั้นผมไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอะไรได้ ไม่มีบัตรอะไรเลย ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ ไปแจ้งความก็โดนข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าประเทศผิดกฎหมาย แต่เขาก็พาส่งโรงพยาบาลให้เรารักษาก่อน เป็นแผลเป็นที่คอ เย็บข้างนอก 18 เข็ม ข้างใน 5 เข็ม ทุกวันนี้ยังชาอยู่เลย
“ตอนนั้นคิดว่าชีวิตคนเราเท่านี้เองเหรอ คุณค่าของคนแค่หายใจไปวันๆ แล้วตายไป กฎหมายไม่คุ้มครอง ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากหน่วยงานรัฐ”
ซัวฮิบเล่าต่อว่า เขาไม่ใช่พลเมืองไทยที่กฎหมายยอมรับ แต่สำนึกและวิถีชีวิตเป็นคนไทยด้วยสายเลือด
“เรารู้ว่ารากเหง้าตัวเองมาจากไหน เพราะเรามีวิถีชีวิตแบบนี้ ในแผ่นดินฝั่งโน้นยังมีคนพูดไทยอยู่ แต่คนรุ่นหลังก็เรียนรู้ภาษาพม่า เราเป็นคนไทยด้วยสำนึกและวิถีชีวิต คนอื่นจะบอกว่าหน้าตาไม่ใช่คนไทยก็เป็นสิทธิของเขา เรารู้ตัวเองว่ารากเหง้ามาจากไหน เราคือใคร”
เขาบอกว่า คนไทยพลัดถิ่นถูกคนพม่าเรียกว่า “คนสองน้ำ” หมายถึงคนที่ข้ามไปมาสองฝั่ง
“คนกลุ่มน้อยที่คุณว่านี่แหละเสียดินแดน เสียสัญชาติ บรรพบุรุษพวกเราเสียสละให้แผ่นดินสยามมีเอกราช แต่ด้วยผลพวงกฎหมายปักปันเขตแดนทำให้พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้กลับมา บางคนหวงแหนทรัพย์สินที่ดิน ถ้ามาเมืองไทยไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงก็ยังตกค้างอยู่ แต่คนที่เขาตัดสินใจกลับมาก็มี ทุกวันนี้คนที่กลับมาไทยก็ถูกมองว่าเป็นพม่า พม่าก็มองว่าเป็นคนไทย เราเป็นมุสลิม ตอนนี้กระแสโรฮีนจามา ก็ยัดเยียดว่าเราเป็นโรฮีนจาอีก เจ้าหน้าที่คิดว่าไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่นเพราะมองจากหน้าตา
“ความเป็นไทยวัดด้วยหน้าตาเหรอ” ซัวฮิบตั้งคำถามขึ้นมา และบอกว่า สยามมีผู้คน 50 กว่าชาติพันธุ์ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นไทยแลนด์ภายหลัง
“จะวัดกันด้วยหน้าตาก็เป็นความคิดของคุณ แต่กฎหมายกับความรู้สึกต้องแยกกัน ปัญหาจะแก้ได้ด้วยข้อเท็จจริง เรามีอัตลักษณ์หน้าตาบล็อกเดียวกัน แต่ไม่ได้ถือเป็นข้อสรุปที่ถูกต้อง เท่ากับปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ซัวฮิบเล่าว่า เคยโดนจับกุม แต่เขายืนยันว่าไม่มีที่อื่นให้ไปแล้ว
“เคยโดนจับ แต่เรามุ่งมั่นว่า ถ้าไปส่งชายแดนให้เอาเราไปยิงในผืนแผ่นดินไทยให้จบไป จะไปไหนล่ะ ไม่มีที่ไปแล้ว ฝั่งโน้นก็ไม่มีที่ไปแล้ว ไม่รู้จะทำอาชีพอะไรกิน”
เขาบอกว่า มีความน้อยใจ แต่ความน้อยใจไม่ทำให้ยืนได้อย่างสง่างามในสังคม ถ้าไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้
ปัญหาร้อน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว
ปัญหาเร่งด่วนของคนไม่มีสถานะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ซึ่งคล้ายกันกับปัญหาแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ แม้อยู่ในช่วงผ่อนผัน แต่สร้างความหวาดกลัวให้กับแรงงานและนายจ้างด้วยโทษปรับสูงลิบ
ส่วนคนไทยพลัดถิ่นที่ตกสำรวจนั้นยังไม่รู้ชะตากรรมว่าหมดช่วงผ่อนผันแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร
“พี่น้องในพื้นที่ที่มีการสำรวจแล้วไม่ได้รับการบันทึกของกรมการปกครอง ไม่มีบัตรใดๆ แม้แต่บัตรศูนย์ ไม่มีตัวตนทางข้อมูลของหน่วยงานรัฐ คนกลุ่มนี้เดือดร้อนมากสุด เจ้าของบ้านที่ให้เช่าก็กลัว โทษทั้งจำและปรับรุนแรงมาก เลยไม่กล้าให้เช่า ก่อนนี้ทำงานได้เงินวันละ 100-200 บาท มีกฎหมายแรงงานนายจ้างก็ไม่กล้าจ้างแล้ว แม่ไม่ทำงาน ลูกจะกินอะไร วันนี้สาหัส เป็นเรื่องปากท้อง เงิน 100-200 ก็ปิดกั้นกันแล้ว จะอยู่ยังไง”
ระหว่างนี้ก็โน้มน้าวกันไป แต่เมื่อถึงเส้นตายเดือนธันวาคมก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เครือข่ายพูดคุยกันอยู่
“ยิ่งรอคอยนานยิ่งบอบช้ำ เรื่องของเราเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่นิทาน แตะต้องได้ มันปวดร้าว จะให้เรามีชีวิตทิ้งลมหายใจไปวันๆ ไม่มีคุณค่าทั้งในสังคมและทางกฎหมายเลยเหรอ”
ช่วงเวลา 3 เดือนนี้ทางเครือข่ายจะเก็บข้อมูลให้อัพเดตสมบูรณ์ จากเดิมที่มีการทำข้อมูลสถานะคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อนำข้อมูลไปพูดคุยกับภาครัฐ
เขายืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่ภาครัฐนำไปใช้ได้ แต่ขอไปแล้วต้องช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่ขอไปเพื่อใช้เป็นความคืบหน้าอย่างเดียว
ความช่วยเหลือเบื้องต้นที่ต้องการ ซัวฮิบเผยว่า คือการปลดล็อกจากการถูกจำหน่ายชื่อและบุคคลตกสำรวจที่ยังไม่ได้บันทึกทะเบียนก็ขอให้เปิดบันทึก
“ขอเป็นบัตรเลขศูนย์ก่อนในเบื้องต้น จากนั้นค่อยขยับไป มีกฎหมายนโยบายตรงไหนติดขัดก็ต้องผลักดันต่อสู้ต่อไป ผมห่วงพี่น้องที่ต่อสู้มานานจะบั่นทอน ต้องมีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันให้เขาถือก่อน เพื่อยืนยันกับหน่วยงานรัฐที่จะจัดการกับ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว อย่างน้อยออกพื้นที่ไปไหนมาไหนได้ มีหลักฐานยืนยันทำงานได้
“ทำยังไงให้พี่น้องได้รับการแก้ไขก่อน ส่วนในเคสผม มีคนประเภทนี้จำนวนมากที่ชื่อโดนจำหน่าย เราต้องมีสิทธิความเป็นพลเมือง ความต้องการสุดท้ายคือบัตรประจำตัวประชาชน”