ม.ร.ว.ศรีเฉลิม กาญจนภู เบื้องหลังความสำเร็จ ‘อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์’ ‘สิ่งที่เรียนรู้จากชุมชนคือ ไม่มีอะไรดีกว่าบ้าน’

เป็นที่ทราบกันดีว่า “มูลนิธิชัยพัฒนา” มีบทบาทอย่างยิ่งในการสนับสนุน ส่งเสริม ผลักดันและให้คำปรึกษากับชาวอัมพวา ภายใต้โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ กระทั่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและดำเนินไปในทิศทางที่ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งโดยไม่หลงลืมรากเหง้าและตัวตนของผู้คนท้องถิ่น

หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังของการวางแผนอย่างหลักแหลมจากประสบการณ์ด้านการวางนโยบายที่เป็น “งานถนัด” ตลอดชีวิตการทำงาน ก็คือ ม.ร.ว.ศรีเฉลิม กาญจนภู ที่ชาวบ้านและผู้ร่วมงานเรียกว่า คุณหญิง หรือ พี่หญิง

คุณหญิง เกิดเมื่อ พ.ศ.2510 เป็นธิดาของหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล และหม่อมบงกชปริยา ยุคล หรือนามเดิมคือ เบ็ตตี้ คอลค์สตีน ชาวอเมริกัน

เป็นพี่สาวของน้อง 2 คน ที่มีความใกล้ชิดผูกพันอย่างยิ่ง ได้แก่ ม.ร.ว.อุรรัตนา ยุคล และพระมงคลสุทธิวงศ์ (ม.ร.ว.นันทวัฒน์ ชยวฑฺฒโน)

Advertisement

สมรสกับนายวรุณ กาญจนภู

มีบุตรชาย 2 คน คือ นายศุภกิจ และนายณพัฒน์ กาญจนภู

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อัมพวาในวันนี้ ถูกจับตาในความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีคำวิจารณ์ด้วยความห่วงใยจากสังคมอยู่เป็นระลอกว่ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เหลือความเป็นชุมชนชาวสวน ปราศจากความจริงแท้ของตลาดน้ำในอดีต

Advertisement

ในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มงานแผนและติดตามประเมินผล สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา คุณหญิงมีคำตอบในประเด็นนี้อย่างไร

มาพูดคุยแนวคิดของคนทำงานตัวจริงที่มีมุมมองน่าสนใจไม่แพ้เรื่องราวชีวิตที่ดูเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องด้วยชาติกำเนิดที่ไม่ธรรมดา ทว่าในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นหรือไม่?

– งานหลักที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้

ดูแลโครงการในเขตพื้นที่ภาคกลาง หลักๆ เป็นพื้นที่เขต กทม. ปริมณฑล สมุทรสงคราม สมุทรสาคร โครงการหลักที่ทำอยู่ คือโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ แต่นอกจากจะรับผิดชอบเรื่องการอำนวยการ บริหารจัดการแล้ว ถ้ามีโครงการหรือกิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ละแวก กทม.และปริมณฑลก็จะต้องเข้าไปร่วมรับผิดชอบด้วย เช่นการรับมอบที่ดินใหม่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะรับสั่งให้สอบถามเรื่องแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน เราก็จะต้องไปสำรวจที่ดิน แล้วนำเสนอแนวทางที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการอื่นๆ ต่อไป

– อุปสรรคและความท้าทาย

สิ่งท้าทายมากคือทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เราคิดได้หลายอย่างมาก อยากจะทำนู่น ทำนี่ แต่สิ่งที่ทำจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านจริงหรือเปล่า นั่นเป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก คงต้องมีการลองผิดลองถูก ไม่ใช่ทุกโครงการที่จะประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนรู้ งานที่ทำอยู่ส่วนใหญ่ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ใช่งานที่มีหลักเกณฑ์กำหนดตายตัว ต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ลักษณะเศรษฐกิจสังคม ทุกๆ งานที่เราไปเริ่มต้นต้องได้เจอสิ่งใหม่ๆ อุปสรรคจึงมีตลอดเวลา อย่างที่ดินได้รับมาส่วนใหญ่ ไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ได้ทรงมองว่านั่นคือปัญหาของการพัฒนา พระองค์ท่านมองว่ายิ่งเป็นปัญหา ยิ่งน่าทำ ยิ่งเป็นตัวอย่างที่น่าจะหาทางแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ที่จะต้องทำให้สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ เราต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิมของการเป็นหน่วยของการใช้จ่าย ให้เป็นหน่วยที่สร้างมูลค่าให้โครงการด้วย

– เคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้ท้อแท้บ้างหรือไม่

เมื่อเกิดอุปสรรค ความโชคดีของเราคือ จะมีหน่วยงานต่างๆ คอยช่วยเหลือ ที่สำคัญที่สุดคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงแนะนำทางออกให้ได้ นับว่าเป็นบุญของคนทำงาน เราทำงานภายใต้พระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่งทรงให้โอกาสเราเสนอแนวคิด เมื่อเรามีปัญหา จะพระราชทานทางแก้ เวลามีอุปสรรคเราจะกราบบังคมทูล และจะทรงพระราชทานแนวทาง อย่างไรก็ตาม บทบาทของมูลนิธิชัยพัฒนา ไม่ได้เป็นคนไปแก้ปัญหาทุกสิ่ง แต่ทำตัวอย่างของการพัฒนา หลายๆ เรื่อง เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุม หรือไม่ได้อยู่ในขอบเขตงาน บางเรื่องและหลายเรื่อง ไม่ใช่บทบาทของเรา จึงไม่สามารถก้าวล่วงได้ แม้จะอยากช่วย เช่น ชาวบ้านไปรุกล้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเรื่องของเทศบาล สิ่งที่มูลนิธิชัยพัฒนาจะช่วยได้คือ จะหาโอกาสอย่างอื่นให้ เช่น คุณไม่ต้องไปรุกล้ำลำน้ำ แต่สามารถสร้างอาชีพในสวนเกษตรของตัวเอง มีทางเลือกในการประกอบอาชีพได้ นั่นคือขอบเขตที่สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถไปแก้ปัญหาอะไรที่เป็นเรื่องของริมคลอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ถ้าจะทำจริงๆ คือพูดคุย เปิดฟลอร์ของการสร้างความร่วมมือให้เทศบาลและชาวบ้าน โดยต้องระวังว่าจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง กับเรื่องที่เป็นของท้องถิ่น แต่หลายครั้งก็หลีกเลี่ยงไมได้ที่จะไปให้ความช่วยเหลือ อย่างเรื่องน้ำท่วมและภัยพิบัติ

– มองอย่างไรกับคำวิจารณ์ในทำนองว่า อัมพวา “เละ” แล้ว

อัมพวามีหลายพื้นที่ ในส่วนตลาดน้ำ ทางเทศบาลเป็นคนพัฒนาขึ้นมา แล้วเราเสริมต่อ สนับสนุน โดยพยายามกระจายโอกาส ความเจริญของตลาด เข้าไปสู่สวน ชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งมันมีส่วนที่เป็นตลาด แหล่งผลิต พื้นที่กรีนโซน บัฟเฟอร์โซน ตลาดก็จะมีการพัฒนาตัวของมันเอง จะมีร้านค้า สิ่งอำนวยความสะดวก มันก็เป็นกลไกของการตลาด สิ่งที่เราพยายามจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม คือทำอย่างไรคุณจะรักษาสวนตรงนี้ไว้ได้ เมื่อคุณเห็นความสำคัญของสวนว่าเป็นอาชีพที่จะสร้างรายได้ คุณค่าของมันก็ยังอยู่

ส่วนตลาดก็มีการปรับตัว เมื่อเสียหายมากจนส่งผลกระทบ เขาก็จะมีการพูดคุยรวมตัวกัน ข้อดีของอัมพวาอย่างหนึ่ง คือ คนในชุมชนเข้มแข็ง ถ้ามีปัญหาขึ้นมาเมื่อไหร่ คนอัมพวาจะรวมตัวกันเร็วมาก นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ช่วยให้อัมพวามีความยั่งยืน และเชื่อว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไป

สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบแน่นอนจากการที่คนเข้ามามากๆ แต่ในขณะเดียวกัน คนก็เริ่มตระหนักรู้ คนลดการใช้โฟม นักวิชาการมหาวิทยาลัยต่างๆ มาศึกษาวิจัยสิ่งที่จะมาทดแทนโฟม หน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจ ททท.เองก็ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว แทนที่จะเป็นแบบฉาบฉวย ก็จะเป็นท่องเที่ยวแบบลึกซึ้ง ท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยววันธรรมดา ภาพที่ออกไปทำให้การพัฒนาตรงนี้เป็นไปอย่างลงตัว

ถามว่าเละไหม ก็เละ แต่ทำให้เกิดโอกาส สิ่งที่เราพยายามสร้างความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ คือ ทำอย่างไรที่จะรักษาพื้นฐาน และอยู่กับการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องมีแน่นอน ถ้าแต่ละส่วนรู้บทบาทของตัวเองแล้วสามารถจะประสานประโยชน์กันได้ ก็คิดว่ามันไมได้เลวร้ายมากนัก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเรียนรู้

– สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชาวบ้าน

สิ่งที่เรียนรู้จากชุมชนคือ ไม่มีอะไรดีกว่าบ้าน เราจะทำอะไรให้ดีที่สุด ขอให้ทำจากบ้านของเรา

ตรงนี้เปลี่ยนความคิดของตัวเองซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ พอมีโอกาสมาสัมผัสกับคนในชุมชน เลยมองว่าชีวิตนี้ โลกนี้มันช่างเยอะแยะไปหมด แต่ละคน แต่ละที่ มีจุดเด่น ลักษณะเฉพาะ มีคุณค่าของตัวเอง อยู่ที่ว่าเราทำให้เห็นคุณค่าของตัวเขาแค่ไหน เมื่อก่อนไม่เคยรู้จักชุมชน พอรู้จักแล้ว เข้าใจเลยว่าชีวิตของทุกคนมีค่า มีความหมาย นี่คือบ้านของเขา เขาจะก้าวไปได้ ถ้าก้าวในบ้านของเขาเอง เราเป็นคนนอกเข้ามา ต้องศึกษาจากชาวบ้าน

ถ้าพยายามจะยัดเยียดสิ่งต่างๆ โดยคิดว่านั่นคือสิ่งที่ดี ทำไมคุณไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จหรอก เราพยายามหลายหนแล้วแต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเรียนรู้จากชาวบ้าน ดังเช่นที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านรับสั่งว่า ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

– ในการทำงาน รู้สึกกดดันกับคำนำหน้าว่า “หม่อมราชวงศ์” ซึ่งอาจถูกคาดหวังหรือไม่

ไม่กดดัน แต่เป็นสิ่งที่กำกับสติให้ทำดี คอยเตือนว่าการทำอะไรก็ตาม จะเกี่ยวพันไปถึงต้นตระกูล ถ้าทำไม่ดี เขาไม่ได้ตำหนิแต่คุณหญิงศรีเฉลิมคนเดียว เพราะฉะนั้นต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้คนดูถูก จริงๆแล้วสมัยนี้คนไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับคำว่า ม.ร.ว. แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดี เป็นเกียรติ เป็นคำนำหน้าที่มีค่ามาก และภาคภูมิใจที่เกิดในรัชกาลที่ 9

– ความภาคภูมิใจในการทำงาน

สมัยก่อนตอนรับราชการอยู่ที่สภาพัฒน์ ทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงการลงทุนภาครัฐ ก็มองว่าได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในหน่วยงานที่ทำเพื่อชาติ แต่ยิ่งพอมาอยู่มูลนิธิชัยพัฒนาก็ยิ่งภาคภูมิใจมากๆ เพราะได้ช่วยเหลือประชาชนจริงๆ โดยมีเป้าหมายของการทำงานชัดเจน ที่สำคัญคือได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิด แนวพระราชดำริ ของทุกพระองค์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงสอนผ่านการทำงาน ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ได้เข้ามารับใช้ ถวายงานพระองค์ท่าน

– งานที่สภาพัฒน์กับมูลนิธิชัยพัฒนา ดูมีหน้าที่คล้ายกันคือเป็นคนวางแผน อะไรคือความแตกต่าง

งานที่สภาพัฒน์ เกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงการลงทุนภาครัฐ พอมีหน่วยงานเสนอแผนงานลงทุน เราจะวิเคราะห์ความหมาะสม ข้อดีข้อเสีย โดยไม่ต้องเป็นคนลงมือทำ แต่เป็นคนให้ความคิดเห็น เสนอแนะ นึกอะไร คิดอะไร ก็บอกไปอย่างนั้น เป็นงานในภาพใหญ่ พอมาอยู่ชัยพัฒนาก็ยังต้องวางแผนอยู่ แต่ทำงานภาพย่อย และต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ถ้าผลไม่เกิด วางแผนให้เก่งอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ นี่เหมือนกรรมตามสนอง เคยคอมเมนต์เขาไว้เยอะ (หัวเราะ)

โชคดีที่มีทีมงานที่ดี เจ้านายที่ดี เพื่อนที่ดี ลูกน้องที่ดี ทำให้งานลุล่วงมาได้ ผิดก็มีเยอะ ทำได้ดีก็มีเยอะ ส่วนใหญ่ได้ดี เพราะคนอื่นทำไว้ดี เรามาเสริมเท่านั้นเอง

– ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้ตัวเองเท่าไหร่

6 (หัวเราะ) หัก 4 คะแนนตรงความย้ำคิดย้ำทำ วางแผนอยู่นั่นไม่ทำสักที (หัวเราะ)

– พอมาทำโครงการนี้ มุมมองที่มีต่อชุมชนและตลาดน้ำต่างไปจากเดิมไหม

มุมมองของการท่องเที่ยวเปลี่ยน ไม่ใช่เฉพาะตลาดน้ำ เดี๋ยวนี้พอไปที่ไหนแล้วจะชอบคิดว่า เอ…เขาน่าจะทำอย่างนี้เนอะ คือจะมองละเอียดขึ้น มองเห็นว่าแต่ละที่มีเสน่ห์ มองภาพที่เป็นชีวิตมากขึ้น นอกจากธรรมชาติจะให้ความสุขกับเราแล้ว การได้ไปพบผู้คนก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้การไปเที่ยวมีคุณค่า

– ได้ข่าวว่าไม่ใช่สายช้อปปิ้ง แล้ววันหยุดทำอะไร

อ่านนิยายทุกประเภท นิยายไทย นิยายแปล นิยายจีน อ่านหมด ชอบหลายแบบ นิยายรักก็ชอบ กุ๊กกิ๊ก กระชุ่มกระชวยดี (หัวเราะ) พอรู้สึกว่าฟุ้งไปแล้วก็จะต้องเอาแนวสารคดีมาเบรกบ้าง พอเหนื่อยก็กลับไปนิยายรัก แนวสืบสวนก็ชอบ ตอนนี้กำลังอ่าน รหัสลับหลังคาโลก แล้วก็ชอบดูหนังแนวแอ๊กชั่น ลึกลับ แฟนตาซี แต่พอมีลูก ลูกชอบแบบไหนก็ดูตามลูก (ยิ้ม)

– คำสอนที่สืบทอดมาในตระกูล อะไรที่เป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต

ท่านพ่อจะพูดตลอด คือ พรหมวิหารสี่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แม้ท่านจะเป็นหม่อมเจ้า แต่ก็ทำงานเป็นผู้จัดการธนาคาร ต้องไปหาลูกค้า ทำงานทุกอย่าง ท่านไม่ได้มองว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ไม่อิจฉาริษยา ใครได้มรดก ได้ดี ก็ยินดีกับเขา มีความสุขกับชีวิต เราก็ถูกสั่งสอนมาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของความไม่โลภ น้องสาวและน้องชายก็มีคาแร็กเตอร์ของชีวิตแบบนี้เหมือนกัน เลยคิดว่านี่คือสิ่งที่หล่อหลอมมา เรื่องนี้น่าจะสืบทอดมาจากเสด็จปู่ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเจ้า แต่สมัยหนุ่มๆ ไปจับโจรขโมยควาย ติดดินมาก ใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลือ นี่ก็เป็นหลักที่ตัวเองใช้สอนลูกด้วย

– ในมุมของความเป็นแม่ มีแนวทางเลี้ยงดูลูกๆ อย่างไร

เป็นสายเอ็นเตอร์เทนต์ ไม่ดุ เลี้ยงเหมือนเป็นเพื่อนกัน มีความใกล้ชิดกับลูกมาก ไปรับไปส่ง ส่วนสามีจะเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน เขาเป็นคนเก่ง หลักคิดชัดเจน เลยเหมือนมีลูก 3 คน คือ แม่และลูกชาย 2 คน (หัวเราะ) ความที่แม่ใจดี ก็จะตามใจ เวลาลูกมีอะไรก็จะมาปรึกษา แต่ถ้าชักจะออกนอกรอย เอาไม่อยู่ แม่ก็จะไปกระซิบให้พ่อมาช่วยคุย ลูกชายคนโต ตอนนี้อายุ 21 แล้ว เรียนอยู่ปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ เราก็ภูมิใจว่าเขาเป็นคนพากเพียร มีความคิด มีความรับผิดชอบ โตโดยไม่ต้องไปช่วยจัดการชีวิต พ่อทำงานสายธนาคาร แต่ก็ช่วยคอมเมนต์รูปภาพ เพราะชอบงานศิลปะ มีความเป็นศิลปินในตัว ส่วนคนเล็กอายุ 15 ย่าง 16 เรียนชั้น ม.4 สายศิลป์-ภาษาเยอรมัน ที่โรงเรียนจิตรลดา อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกำลังค้นหาตัวเองอยู่ เป็นคนร่าเริง คุยเก่งมาก โดยพื้นฐานเป็นคนดี เอื้ออาทร เข้ากับคนง่าย (ยิ้ม)

– ความสุขที่สุดในชีวิตของตัวเองในตอนนี้

จริงๆ แล้วชีวิตก็มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง แต่โดยรวมถือว่าเป็นชีวิตที่ดี มีความสุขกับงานที่ทำ สุขได้ดูแลลูกและครอบครัว แม้จะไม่ใช่แม่บ้านที่ดีเท่าไหร่ สุขภาพก็ดี ยังสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้

ส่วนที่มีความสุขที่สุด ลึกๆ แล้วก็คือการได้เกิดเป็นคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image