สืบค้นรากเหง้า’สยาม-ไทย’ ตามรอย’จิตร ภูมิศักดิ์’สู่ดินแดน’ขอม-เขมร’

ชายป่าบ้านหนองกุง จ.สกลนคร วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 เสียงปืนที่ดังขึ้นกลางป่าวันนั้น จบชีวิตของชายผู้ได้ชื่อว่าเป็น “นัก” อะไรต่อมิอะไรมากมายจนยากจะจำกัดความได้

จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของนักวิชาการไทยร่วมสมัย

เขาเสียชีวิตในวันนั้น หลังจากเดินทางเข้าป่าทางภาคอีสานแล้วถูกล้อมยิง ซึ่งในปีนี้จะครบรอบการจากไป 50 ปีของจิตร งานเขียนที่สร้างสรรค์ขึ้นมากมายก็จะกลายเป็นสาธารณะ สามารถที่จะเผยแพร่ได้ใน วงกว้าง เข้าถึงสิ่งที่จิตรค้นคว้าไว้อย่างไพศาล

สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณูปการของจิตร และคิดว่าสำคัญมากๆ สำหรับสยาม-ไทย, และขอม-เขมร นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรเขมรโบราณที่ยิ่งใหญ่ อันมีภาพของปราสาทนครวัด-นครธม ผุดขึ้นมาทุกครั้ง ที่นึกถึง

Advertisement

พร้อมกับประโยคของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ว่า “See Angkor Wat and Die” อะไรคือสิ่งที่จิตรทิ้งไว้ให้กับนักวิชาการรุ่นหลัง? และทำไมเขาถึงพุ่งเป้าไปที่เขมร?
คำถามนี้ได้รับการอธิบายจาก 2 นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ

7

ความรู้ของ’จิตร’
ยิ่งกว่าปริญญาเอก 3 ใบ

วันที่มีโอกาสได้พบกัน และร่วมวงอาหารกลางวันอันแสนอบอุ่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว

ชาญวิทย์เล่าให้ฟังว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักอักษรศาสตร์ที่เก่งมากๆ สำหรับภาษาเขมร ซึ่งเมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมานั้น ถือว่ายอดเยี่ยมมาก เพราะด้านหนึ่งจิตรเรียนรู้ด้วยตัวเอง และอีกด้านหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อ จิตรมากๆ คือ ดร.วิลเลียม เจ. เก็ตนีย์ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก ที่จิตรเคยอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ความรู้ที่จิตรมีไม่ว่าจะเป็นในแง่ภาษาศาสตร์ ทั้งในแง่ที่เป็นศิลปะ และในแง่เป็นศาสตร์สมัยใหม่ทำให้เขามีเครื่องมือทางวิชาการวิเคราะห์สังคมไทยได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับการที่จิตรมีโอกาสตามบิดาไปอยู่เมืองพระตะบอง สมัยท ไทยยึดไว้ 5 ปี ทำให้ความรู้ภาษาเขมรของเขามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เหล่านี้ทำให้จิตรมีความรู้อย่างลุ่มลึกทั้งด้านภาษาศาสตร์และด้านเขมร ทำให้สามารถขุดค้นรากเหง้า หรืออดีตของสยาม-ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จิตรมีความสามารถและโดดเด่นเหนือนักอักษรศาสตร์ นักประวัติ ศาสตร์ของไทยทั้งหมดเท่าที่เคยมีมา เชื่อว่าอีกแห่งหนึ่งที่จิตรน่าจะได้ความรู้กลับมาเยอะ นั่นคือมหาวิทยาลัยบางขวาง จิตรน่าจะเรียนรู้อะไรเยอะจากที่นี่ ผมอยากเดาว่าจิตรได้เรียนภาษาจีนในตอนนั้นด้วย

“นี่คือความโดดเด่นทางวิชาการ ทำให้งานเขียนไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี ประวัติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ลุ่มลึก อย่างน่าอัศจรรย์มาก ยิ่งกว่าปริญญาเอก 3 ใบเสียด้วยซ้ำ” ชาญวิทย์กล่าว และบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้คนสยามไทย รู้จักขอม-เขมร ในลักษณะที่ว่าต่ำต้อยด้อยกว่าตน ไม่ได้มองอดีตว่าเป็นมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาก

กล่าวได้ว่าอาจมองเห็นแค่เพียงปราสาทหิน แต่เรื่องภาษา ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่จะส่งอิทธิพลต่อสยามไทย กลับไม่เคยสนใจ และไม่เคยมีการศึกษาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ชาญวิทย์บอกว่าประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 6 หรือสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นเริ่มให้

ความสนใจกับเรื่องของกัมพูชาโบราณแล้ว ขนาดที่มีการแปลราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา แปลโดยพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์ บิดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ซึ่งเป็นคนพระตะบอง และไม่แน่ว่าอาจจะเป็นคนเขมรด้วยซ้ำไป เพราะการที่สามารถอ่านและแปลภาษาเขมรได้ไม่ใช่เรียนจนเก่งได้ คนแปลพงศาวดารได้ต้องสุดยอดมากๆ ต้องรู้ภาษาเขมรดีมากๆ

“ในยุคนั้นก็มีความสนใจเกี่ยวกับกัมพูชา เพียงแต่เนื่องจากเป็นยุคสร้างชาติให้สมัยใหม่ เพราะฉะนั้น ความสนใจมันจึงกลับไปสู่อดีตมากๆ ไปเรื่องไกลตัวมาก ไม่เป็นเรื่องร่วมสมัยแบบที่จิตรทำ

“จิตรนำเราไปเข้าใจขอมเขมรอีกมุมหนึ่ง ซึ่งความรู้ภาษาเขมรนี่แหละที่ทำให้เขาขุดรากเหง้าไปดูจารึกสุโขทัย จารึกต้นอยุธยา อ่านออกได้สบายๆ จิตรเป็นคนที่มีทั้งประสบการณ์และข้อมูล ผมคิดว่านักวิชาการไทยจำนวนมากไม่มีประสบการณ์ คนจำนวนมากเขียนถึงเขมรโดยไม่เคยไปด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ ผมคิดว่าอังกอร์ได้ทิ้งมรดกให้ทั้งไทยและกัมพูชา ที่ทำให้จิตรได้ศึกษาค้นคว้าจนกลายเป็นความรู้ที่มีคุณค่ามหาศาล” ชาญวิทย์กล่าว

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

50 ปีการจากไปกับผลงานที่ไม่มี’ลิขสิทธิ์’

ปี พ.ศ.2559 ครบรอบการจากไป 50 ปีของ จิตร ภูมิศักดิ์ตามกฎหมายแล้ว ผลงานการค้นคว้าของเขาที่มีอยู่อย่างมากมายจะไม่มีลิขสิทธิ์
เหลียวไปมองหนังสือเหล่านั้น หวังว่าจะมีการเข้าถึงอย่างแพร่หลาย อาทิ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โฉมหน้าศักดินาไทย, ภาษาและนิรุกติศาสตร์, ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย, โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ตำนานแห่งนครวัด รวมทั้งบทเพลงและบทกวีต่างๆ อีกมากมาย

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า เมื่องานไม่มีลิขสิทธิ์ในโลกตะวันตกที่เขานิยม ซึ่งทุกสำนักพิมพ์จะสามารถจัดพิมพ์ได้ ก็ทำให้หนังสือราคาถูกลง คนสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการนำเอาความรู้เหล่านี้ไปสร้างสรรค์เชิงอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน สารคดีต่างๆ กรณีของจิตร ผมคิดว่าที่ผ่านมาหนังสือของเขาเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนยังเข้าถึงน้อยมาก ต่อไปเมื่อไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว ก็อยากจะเห็นการแพร่หลายมากขึ้น ทำให้จิตรยังคงดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่

ถามธำรงศักดิ์ถึงเรื่องคุณูปการและการทำงานของจิตร? ได้รับคำอธิบายว่า ยุคที่จิตรทำงานนั้นเป็นช่วงที่สังคมไทยยังพูดถึงเรื่องขอมใช่เขมรหรือไม่, เรื่องจารึกสุโขทัย ฯลฯ ซึ่งจิตรเองก็พยายามที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้’

“ผมคิดว่าอาณาจักรใหญ่ 2 อาณาจักร ก่อนที่จะเกิดรัฐต่างๆ ในที่ราบลุ่มภาคกลาง คือ ยโศธรปุระกับพุกาม กรณีของพุกามนั้นไม่น่าจะมีอิทธิพลต่อการเกิดรัฐต่างๆ ที่ต่อมาจะเป็นประเทศไทยเท่ากับยโศธรปุระ ซึ่งน่าจะเป็นปราการด่านแรกๆ ทำให้เราเข้าใจการเกิดรัฐสุโขทัย รัฐสุพรรณบุรี รัฐเชียงใหม่ ฯลฯ ปราสาทหินที่มีเต็มไปหมดในประเทศไทย กลายเป็นรากคำถาม แม้แต่ใครไปเที่ยววัดพระแก้วเห็นโมเดลนครวัดจำลองก็ทำให้เกิดคำถามตามมา

“จิตรในฐานะนักอักษรศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ ทำให้เขาเริ่มค้นหารากศัพท์ดั้งเดิม และก็ได้พบว่าคำราชาศัพท์ในสยาม-ไทย เป็นคำเขมรพื้นฐาน และการที่จิตรเติบโตในเขมร มีประสบการณ์ ได้ภาษาหลากหลายช่วยสั่งสมความรู้มากมายมหาศาล อย่างหนังสือตำนานแห่งนครวัด สำคัญมากเพราะใช้แนวทางปรัชญาประวัติศาสตร์ คือเป็นการคุยกันระหว่างปัจจุบันกับอดีตที่ไม่สิ้นสุด จิตรทำให้ชุดความรู้สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่นคลอนด้วยโลกความรู้สมัยใหม่ งานของเขาขยายพรมแดนความรู้เกี่ยวกับขอม-เขมรอย่างกว้างขวาง” ธำรงศักดิ์กล่าวตำนานแห่งนครวัด เสมือนคู่มือการเดินทางสู่ขอมเขมรครั้งสำคัญ

แม้แต่ชนชั้นนำไทยที่ก่อนหน้านี้มักปฏิเสธว่าตนเองไม่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลขอม-เขมร ก็ถูกข้อมูลและการศึกษาอย่างเข้มข้นของจิตรโต้แย้งกลับมา ด้วยคำอธิบายที่ว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐซึ่งเคยยิ่งใหญ่จะไม่มีอิทธิพลรัฐเพิ่งเกิด

ดังนั้น จะเข้าใจรากเหง้าคนไทย อยากเข้าใจกรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ ต้องเข้าใจรากเหง้าขอม-เขมรด้วย

ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ข่าวดี สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ และความรู้เรื่องขอม-เขมร ที่เป็นรากเหง้าของ สยาม-ไทย
วันที่ 5-9 พฤษภาคมนี้ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ จัดกิจกรรม ตามรอย: จิตร ภูมิศักดิ์ จากบ้านหนองกุง สกลนคร สยามประเทศไทย สู่อังกอร์-นครวัด-นครธม ยโศธรปุระ กัมพุชเทศ

โดยวิทยากรประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, สมฤทธิ์ ลือชัย และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ และวิทยากรรับเชิญ เครก เจ. เรย์โนด์ส เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับที่บ้านหนองกุง ธำรงศักดิ์ได้บอกไว้ว่า “เราพยายามทำให้ผีของจิตรอยู่กับชาวบ้านให้ได้ เมื่อก่อนชาวบ้านหนองกุงหรือชาวสกลนครไม่รู้จัก จิตรเป็นผีไม่มีหัวนอนปลายเท้า แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เราจัดกิจกรรมให้ทุนเด็ก พามาเที่ยวกรุงเทพฯ ฯลฯ นี่คือสิ่งที่เราต้องการทำที่บ้านหนองกุง เพื่อให้จิตรสามารถอยู่กับชาวบ้านได้ ซึ่งปัจจุบันจิตรเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านหนองกุงและ จ.สกลนครแล้ว”

สนใจร่วมเดินทาง ติดต่อคุณกิตสุนี โทร 0-2424-5768, 0-2433-8713, 09-8257-6867 e-mail: [email protected]
ร่วมรู้จักลูกผู้ชายชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image