“TPO” นำดนตรีลัดฟ้า ให้กำลังใจชาวยะลา ผูกสัมพันธ์ปีนัง

‘เสียงดนตรี’ เมื่อได้ฟังแล้วไม่เพียงสร้างความเพลิดเพลินแก่จิตใจ หากยิ่งได้สัมผัสลึกลงไป เสียงดนตรีสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สัมพันธภาพ ตลอดจนสันติภาพ

จึงเป็นที่มาของโครงการ TPO Asian Tour ประจำฤดูกาลที่ 12 ของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra: TPO) ซึ่งไปจัดการแสดงดนตรีที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา ก่อนเดินทางข้ามประเทศไปจัดแสดงต่อที่ เดวัน ศรี ปีนัง ฮอลล์ (Dewan Sri Pinang Hall) รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

รู้จักวง TPO

รศ.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้อำนวยการ TPO เล่าปูพื้นเพื่อทำความรู้จักวง TPO ก่อนว่า วง TPO ก่อตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจ 3 เรื่อง คือ 1.อยากทำเพลงไทย ทั้งในอดีตและที่จะประพันธ์ในอนาคต ให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก 2.อยากเป็นวงดนตรีฟีลฮาร์โมนิกของชาติ ที่ออกไปเผยแพร่วัฒนธรรม สร้างแรงบันดาลใจ สร้างมิตรภาพ ทั้งในประเทศและประเทศแถบอาเซียน และ 3.อยากสร้างวงดนตรีมืออาชีพ เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนดนตรี อาจารย์สอนดนตรี แสดงความสามารถและมีรายได้ประจำเลี้ยงชีพ

“ประเทศหรือเมืองที่เจริญแล้ว เขาจะมีวงดนตรีที่เป็นหน้าตาของเขา อย่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีให้เกลื่อน แต่ในเอเชียโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนยังไม่ค่อยมีวงแบบนี้ การมีวง TPO แล้วออกไปจัดแสดงดนตรี จึงเป็นการอวดว่าประเทศไทยเจริญแล้วนะ และทำให้คนในพื้นที่มีโอกาสเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จากที่ไม่เคยรู้จักเลย ซึ่ง 13 ปีที่ผ่านมา TPO ก็ไปจัดแสดงดนตรีในหลายจังหวัดและประเทศแถบอาเซียน อาทิ เชียงใหม่ พัทยา สปป.ลาว เมียนมา ส่วนที่ จ.ยะลากับรัฐปีนังถือว่ามาครั้งแรก ซึ่งก็จะเห็นว่าพวกเขาตื่นเต้นกันหมด สมัครมาดูกันเต็ม”

Advertisement

รศ.สุกรีเล่าอีกว่า กลับกันในการเล่นประจำที่อาคารมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม ซึ่งเราลงทุนมากมายมหาศาล ขายบัตรเข้าชม 500 บาท ส่วนใหญ่เป็นบัตรแจกด้วยซ้ำ ยังมีคนมาดูไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นความสูญเปล่าที่ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นความเจริญของประเทศ เป็นเครื่องมือที่จะบอกให้รู้ว่าดนตรีที่เป็นศิลปะอยู่ที่นี่ ตลอดจนเป็นเวทีระดับอาชีพให้นักศึกษา อาจารย์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดนตรีให้กำลังใจชาวยะลา

รศ.สุกรีเล่าอีกว่า ทั้งนี้ วง TPO จะออกไปจัดแสดงดนตรีปีละครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้เงินประมาณ 5 ล้านบาท จะไปเก็บค่าผ่านประตูกับคนดูก็ไม่ได้ คงไม่มีใครเข้าดู เราจึงต้องไปให้เขา เอาความรักความสวยงามไพเราะไปแบ่งปัน อย่างครั้งนี้ที่ จ.ยะลา หนึ่งในจังหวัดที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบมากที่สุดในประเทศไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 9,000 คน ยิ่งกว่าสงครามโลกด้วยซ้ำ เราจึงต้องมาให้กำลังใจเขา ทำเพลงท้องถิ่นในแบบฟีลฮาร์โมนิกที่ไม่มีใครทำ มาเล่นให้ฟังเพื่อให้เขารู้สึกเนื้อเต้นว่านี่เพลงเขาหนิ อย่างเพลงนกเขามะราปี ที่เป็นเพลงระบำประกอบละครเรื่องอิเหนา เพลงปูโจ๊ะปิซัง ที่เป็นเพลงความรักสดชื่นสดใสแบบหนุ่มสาว และเพลงรองเง็ง ที่เป็นเพลงพื้นเมืองชาวไทยมุสลิมภาคใต้ รวมถึงจัดแสดงเพลงพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ เพลงไร้เดือน The man I Love และชะตาชีวิต เพื่อให้ประชาชนที่คิดถึงในหลวง ร.9 ได้มีร่วมรำลึกในพระอัจฉริยภาพ

รศ.สุกรีเชื่อว่า ดนตรีอาจไม่ใช่แค่ผ่านเข้าหู แต่เข้าไปทางรูขุมขนของทุกคน ทำให้โมเลกุลของร่างกายเคลื่อนไหว ขยายออก ทำให้ขนลุก เริ่มรับรู้ถึงมิติที่เปลี่ยนไป เริ่มเห็นถึงการพัฒนา บางคนบอกว่าเห็นดวงดาวเหมือนการนั่งวิปัสนา เมื่อพัฒนาก็จะเกิดความเจริญ นี่คืออำนาจของดนตรี

Advertisement

“จะสังเกตว่าการปฏิวัติของโลกนี้ ใช้เสียงดนตรีหมด ที่ไหนมีอำนาจที่นั่นมีเสียง ที่ไหนมีเสียงที่นั่นมีอำนาจ ผู้มีอำนาจทุกคนใช้เสียงหมด ทำไมถึงวัดมีอำนาจทางจิตใจ ก็เพราะใช้เสียง ไม่ว่าจะระฆัง กลอง ตะโพน รวมถึงเพลงสวด ทำไมทุกศาสนาถึงมีการสวด เพราะการสวดเป็นการกำหนดจิตให้มารวมกัน”

 

รศ.สุกรี เจริญสุข, อาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง
หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา
การแสดงดนตรีที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา

โรงเรียนดนตรีแห่งแรกใน จ.ยะลา

นอกเหนือจากการนำวง TPO มาจัดแสดงดนตรีที่ จ.ยะลาแล้ว นี่ยังถือเป็นโอกาสติดตามการดำเนินงานของวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา ซึ่ง อ.สุกรีและวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอยู่ หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงปิดภาคการศึกษา จะรับเด็กในวงออร์เคสตร้ามาเข้าค่ายเรียนรู้ เพิ่มทักษะทางดนตรีกับอาจารย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตลอดจนรับเด็กที่มีความสามารถแต่ยากจนเข้าเรียนฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไข กระทั่งวันนี้ที่ อ.สุกรียอมรับว่า “ผมรู้สึกตกใจและดีใจมาก” ที่ทราบว่านายกเทศมนตรีนครยะลามีแผนจะสร้างโรงเรียนสอนดนตรีตั้งแต่ระดับประถมเป็นแห่งแรกใน จ.ยะลา

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เล่าว่า ช่วงปี 2547 เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงมาก ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดเป็นความรู้สึกแปลกแยก ระหว่างศาสนาพุทธและมุสลิม ตนซึ่งขณะนั้นเพิ่งมาเป็นนายกเทศมนตรี ก็คิดว่าจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตท่ามกลางความรุนแรงในระยะยาวคงไม่เป็นผลดี จนมาวันหนึ่งที่ได้ไปเปิดงานกีฬาในโรงเรียน ได้เห็นการแสดงดนตรีของเด็กนักเรียน ก็มาคิดว่าดนตรีน่าจะทำให้จิตใจคนอ่อนโยน จึงไปพูดคุยกับ อ.สุกรี เจริญสุข จนท่านตอบรับ และเป็นจุดเริ่มต้นการทำวงดนตรี จากช่วงแรกเน้นการให้เด็กได้อยู่ร่วมกัน ระยะต่อมาได้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศจนเป็นวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 9 ปี ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกเทศบาลที่เป็นสมาชิก 200 กว่าคน

“ดนตรีทำให้เด็กแต่ละศาสนามาอยู่ร่วมกัน ยิ่งพอเป็นวงออร์เคสตร้าที่เป็นวงใหญ่ด้วย เด็กทุกคนต้องหลอมใจเป็นหนึ่ง ตรงนี้ยังทำให้ผู้ปกครองของเด็กได้เปิดใจรู้จักคนต่างศาสนาและดูแลลูกๆ หลานในวง เวลาออกค่ายทำกิจกรรม ทั้งนี้ สำคัญเลยคือ เราให้เรียนฟรี จะมีหรือไม่มีทักษะทางดนตรีมาก่อนหรือไม่มีก็ตาม เรารับเรียนหมด”

นายพงษ์ศักดิ์เล่าอีกว่า ตอนนี้เหตุการณ์ความไม่สงบในอำเภอเมือง จ.ยะลาดีขึ้น ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อ.สุกรีที่ช่วยเหลือและสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ตนมีความคิดจะขยายผลโครงการต่อด้วยการสร้างออดิทอเรียม ซึ่งจะเป็นทั้งอาคารจัดแสดงดนตรี โรงเรียนสอนดนตรี พิพิธภัณฑ์ พื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน เบื้องต้นได้จัดซื้อที่ดิน 90 กว่าไร่ ริมแม่น้ำปัตตานีวิวสวยมาก และมีแบบร่างตัวอาคารออกมาแล้ว

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

 

เสียงปรบมือลั่นฮอลล์

ขณะที่การจัดแสดงดนตรีได้รับความสนใจจากชาวยะลาเป็นอย่างมาก ประชาชนทยอยเดินมาพร้อมลูกหลานจนเกือบเต็มหอประชุม พลันที่วง TPO ซึ่งควบคุมวงโดย เดลตา เดวิด ไกเออร์ วาทยกรชาวอเมริกันวาดไม้บาตอง ก็เป็นอันเริ่มแสดง โดยเริ่มต้นที่เพลงซิมโฟนี หมายเลข 5 ในบันไดเสียงดีไมเนอร์ผลงานลำดับที่ 47 ซึ่งบอกเล่าถึงชีวิตอันปราศจากเสรีภาพในทุกมิติของชาวรัสเซียในยุค Joseph Stalin ของศิลปินดมิทรี ชอสตาโควิช ก่อนพักครึ่งการแสดง แล้วเริ่มบรรเลงต่อในเพลง Phenomenon ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันลึกลับและยังหาคำตอบไม่ได้ โดยเฉพาะบั้งไฟพญานาค เล่าผ่านเสียงดนตรีในท่วงทำนองชวนพิศวงของศิลปิน ณรงค์ ปรางค์เจริญ ต่อเนื่องด้วยบทเพลงพื้นเมือง ที่เรียบเรียงเสียงประสานโดย อาจารย์ประทีป สุพรรณโรจน์ ก่อนปิดท้ายด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 ซึ่งได้ เชอร์ริล เฮย์ส นักร้องเพลงแจ๊ซระดับโลกชาวอเมริกัน ร่วมขับร้องด้วยน้ำเสียงอบอุ่นตรึงใจผู้ฟัง พร้อมไปกับการเป่าแซกโซโฟนของ อาจารย์กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ นักแซกโซโฟนแนวบีบ็อพระดับแถวหน้า ปิดท้ายอย่างสมบูรณ์แบบ จนผู้เข้าชมท้องถิ่นท้องพากันลุกขึ้นยืนตบมือเป็นเวลานาน เพื่อแสดงถึงความถูกใจในการรับชมครั้งนี้

นายธวัช แซ่ตั้ง อายุ 17 ปี นักดนตรีในวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า ดีใจที่ได้เข้ามาฟังวง TPO เล่น เพราะถือเป็นวงระดับโลกที่ไม่ได้มาเล่นง่ายๆ และยังได้รับแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรี ที่วันหนึ่งหวังว่าจะไปเป็นนักดนตรีมืออาชีพให้ได้ อย่างไรก็ดี รู้สึกดีใจแทนน้องๆ ที่ในอนาคต จ.ยะลาจะมีโรงเรียนสอนดนตรีแห่งแรก

“แม้เราจะอยู่ท่ามกลางความรุนแรง แต่จากที่ได้สัมผัสคิดว่าเสียงดนตรีช่วยให้เราสงบสติอารมณ์ขึ้นจริง ทำให้พวกเราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ก็ถือเป็นกิจกรรมที่ดี ที่สามารถผนึกนักเรียนและครูจากหลายศาสนาให้มาอยู่ร่วมกันได้”

เชื่อมสัมพันธ์มาเลเซีย

เช่นเดียวกับการแสดงดนตรีที่เดวัน ศรี ปีนัง ฮอลล์ (Dewan Sri Pinang Hall) รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดแสดงบทเพลงคล้ายๆ กัน เปลี่ยนเพียงบทเพลงพื้นเมืองที่ อ.ประทีปนำบทเพลงดังคุ้นหูมาเรียบเรียงใหม่ ได้แก่ เพลง Malayu medley, Getaran jiwa และ Hujan di tengah hari ซึ่งคุ้นหูชาวท้องถิ่นมีท่วงทำนองสนุกไพเราะไม่แพ้กัน ได้รับเสียงปรบมือจากคนทั้งฮอลล์

น.ส.เอกจิตร กรัยวิเชียร กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เล่าว่า การเดินทางมาจัดแสดงดนตรีในครั้งนี้เป็นผลดีอย่างมาก สังเกตได้จากคนปีนังที่ตื่นตัวสมัครเข้ามาฟังจนเต็ม พวกเขายังจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยดีขึ้น จากที่รู้จักบ้างแล้ว ได้รู้ศักยภาพความสามารถของเรา และรู้ว่าที่ จ.ยะลาก็มีวงออร์เคสตร้าเยาวชนที่มีความสามารถ เพื่อจะเปลี่ยนภาพความรุนแรงของ จ.ยะลา ว่าเป็นจังหวัดที่มีการจัดวงดนตรีเยาวชนที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือต่างในอนาคต โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่มีความร่วมมืออยู่แล้ว อาทิ การแลกเปลี่ยนทางการศึกษา

โอกาสนี้ วง TPO ยังมอบรายได้จากการประมูลภาพวาดโดย อาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินสีน้ำ ให้กับวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา 200,000 บาท และให้กับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งปีนัง จำนวน 20,000 ริงกิต เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพต่อไป

เดวัน ศรี ปีนัง ฮอลล์ (Dewan Sri Pinang Hall) รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
การแสดงที่เดวัน ศรี ปีนัง ฮอลล์ (Dewan Sri Pinang Hall) รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ณรงค์ ปรางค์เจริญ ผู้ประพันธ์เพลง Phenomenon

กิจกรรมประมูลภาพวาด
เอกจิตร กรัยวิเชียร

ภาพบางส่วนจากเพจเฟซบุ๊ก Thailand philharmonic orchestra, Yala City Municipality Youth Orchestra และเพจยะลาใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image