นอกลู่ในทาง : ปรากฏการณ์’วิ่ง’

สําหรับคนชอบวิ่งและชอบการเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการวิ่ง จังหวะนี้น่าจะถือเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ในแง่ที่ว่ามีงานวิ่งให้เลือกลงเยอะมาก

มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะถ้าใครเริ่มวิ่งมาก่อนหน้านี้สัก 2-3 ปีหรือนานกว่านั้นจะยิ่งเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน จากที่มีรายการวิ่งให้เลือกปีละแค่ไม่กี่งาน ตอนนี้มีแทบทุกเดือน ชนิดเลือกกันไม่ถูกหรือเลือกกันไม่ทันเลยทีเดียว

ที่เลือกกันไม่ทันก็เนื่องมาจากว่า หลายรายการ ทันทีที่เปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงต้องประกาศปิดรับสมัคร บางรายการ นักวิ่งแห่สมัครกันจนเว็บไซต์ล่มก็มี

ใครที่สมัครไม่ทันต้องมารอรอบสอง ลุ้นว่าผู้จัดงานจะเปิดรับสมัครเพิ่มอีกหรือเปล่า ลุ้นให้มีคนสละสิทธิ์หรือประกาศขาย BIb (เลขประจำตัวของนักวิ่งที่จะใช้แยกแยะว่าอยู่ทีมไหน ลงสมัครในรุ่นอายุเท่าไร และวิ่งระยะเท่าไร)

Advertisement

บางงานวิ่งไม่ได้รับน้อยๆ แค่หลักไม่กี่ร้อยคน แต่รับสมัครมากถึง 3,000-5,000 คน แต่ก็ยังเต็มภายในเวลาชั่วโมงเดียวก็มี

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เพิ่งเจอมากับตนเอง แม้ว่าจะสามารถเป็น 1 ใน 5,000 คน ที่สมัครทันในงานนั้น

แต่ปรากฏว่าเพื่อนๆ ที่ชวนไปสมัครด้วยกัน สมัครไม่ทัน พอสมัครได้แค่คนเดียวจึงดีใจไม่ถนัดนัก แม้พยายามคิดในแง่ดีว่าไปวิ่งคนเดียวก็ดี จะได้มีโอกาสเจอเพื่อนใหม่ๆ ที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เหมือนตอนลองไปเที่ยวคนเดียว นอกจากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วยังทำให้ต้องพูด (กับคนอื่น) มากขึ้น และยิ้มมากขึ้นด้วย

จะ “วิ่ง” เพื่อสุขภาพแล้ว หรือลุกขึ้นมาวิ่ง เพื่อ….อะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ โดยพาตนเองไปร่วมในงานวิ่งทำให้การวิ่งมีสีสัน และมีแรงผลักดันมากขึ้น เพราะกิจกรรมเกี่ยวกับการวิ่งส่วนใหญ่จัดขึ้นเพื่อการกุศล

จึงได้ทำดีด้วย ได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไปด้วย

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลุกออกมาวิ่งเพื่ออะไร ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สมควรส่งเสริมสนับสนุน แม้ว่าไม่ใช่ทุกงานจะจัดได้ดี

โดยส่วนตัวแล้ว ในช่วงปีสองปีแรก ไม่เคยคิดว่าจะไปร่วมกิจกรรมในงานวิ่งที่ไหน เพราะลำพังแค่บังคับตัวเองให้วิ่งอย่างสม่ำเสมอให้ได้อาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน ก็ไม่ง่ายแล้ว แต่เมื่อวิ่งไปสักพักก็เริ่มคิดอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง คิดได้ดังนั้นจึงเริ่มเลือกลงสมัครรายการวิ่งกับเขาบ้าง

เริ่มจากเลือกว่าจะร่วมวิ่งในรายการไหน มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานอย่างไร เช่น สมทบทุนเพื่อเด็กด้อยโอกาส, ช่วยสัตว์พิการ, สร้างโรงเรียน, โรงพยาบาล เป็นต้น (บางครั้งเสื้อวิ่งสวยหรือเหรียญรางวัลสวยก็เป็นแรงจูงใจได้เป็นอย่างดี)

เมื่อเลือกรายการได้แล้วก็ต้องเลือกต่ออีกว่าจะลงวิ่งระยะทางเท่าไร ณ จุดนี้ถือเป็นการท้าทายตนเอง (อย่างมาก) โดยเริ่มต้นที่ “FunRun 3-5 กิโลเมตร”

ยังจำได้แม่นว่าในครั้งแรกที่ลงวิ่งในระยะทาง 5 กิโลเมตร หลังจากผ่านกิโลเมตรที่สองไปแล้ว ต้องมโนในใจไปตลอดทางเพื่อให้กำลังใจตนเอง…ดูคุณป้าคนโน้นซิ ดูคุณลุงที่วิ่งอยู่ข้างหน้าเราซิ…เห็นไหมเขายังวิ่งต่อได้เลย แล้วทำไมเราจะวิ่งไม่ได้ล่ะ…เรียกว่า ทั้งขู่ทั้งปลอบตนเองในใจ เพื่อให้วิ่งต่อไปจนจบ

จากระยะ FunRun 5 กิโลเมตร ขยับมาที่ ระยะ “มินิมาราธอน 10 กิโลเมตร” อย่างกล้าๆ กลัวๆ และคิดว่าคงจะหยุดอยู่ที่ระยะนี้ไปก่อน ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งลงวิ่งในระยะนี้ไม่กี่ครั้ง และครั้งหลังสุดยังจำความรู้สึกช่วงกิโลเมตรสุดท้ายได้ดีว่ายากเย็นแค่ไหนกว่าจะประคองตัวเองไปให้ถึงเส้นชัยได้

แม้ความรู้สึกในตอนย่างเท้าเข้าสู่เส้นชัยจะสุดยอดมากๆ แต่ก็ยังไม่กล้าคิดว่าเป้าหมายต่อไปควรป็น “ฮาล์ฟมาราธอน” (21กิโลเมตร) ฉะนั้น จึงไม่ต้องคิดถึงระยะ “มาราธอน 42.195 กิโลเมตร”

แม้จะนึกถึงคำกล่าวของ “เอมิล ซาโตเปก” (Emil Zatopek) สุดยอดนักวิ่งระยะไกลในตำนาน เจ้าของฉายา “เจ้าหัวรถจักร” นักวิ่งคนแรกที่ทำเวลาวิ่ง 10 กิโลเมตรได้ต่ำกว่า 29 นาที และ 20 กิโลเมตรได้ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ที่บอกว่า “ถ้าอยากวิ่ง วิ่งแค่ไมล์เดียวก็พอ แต่ถ้าอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิต ให้ลองวิ่งมาราธอน”

ใครเคยวิ่งจะรู้ดีว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่คุณลุงข้างหน้าหรือคุณป้าที่วิ่งตามมาข้างหลังหรอกที่เรากำลังพยายามเอาชนะ หากแต่เป็น “หัวใจ” ของเราเองต่างหาก

นักวิ่งทุกระยะ ต่างกลัวคำว่า “DNF” (ย่อมาจาก Did not Finish) หรือวิ่งไม่จบ เช่น ลงวิ่งมาราธอนแต่วิ่งไปได้ครึ่งทาง เกิดอาการบาดเจ็บวิ่งต่อไม่ได้ หรือเพราะอะไรก็ตาม ไม่มีใครอยาก DNF

และสำหรับคนที่ยังไม่เคยวิ่ง แต่นึกอยากลองลุกขึ้นมาวิ่งบ้าง ไม่ต้องคิดไกลถึงว่าจะเปลี่ยนชีวิตก็ได้ ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ลองทำตามคำแนะนำนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กล่าวไว้ แต่เสื้อกีฬาแบรนด์ดังหยิบมาสกรีนไว้บนเสื้อวิ่งว่า “Shut up and run”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image