“ประสบการณ์อารมณ์ในอดีตกับความสติแตกในปัจจุบัน”

เคยสังเกตตัวเองเวลาวิตกกังวลไหมคะ ความวิตกกังวลหมายถึงมีเรื่องไม่ดีบางเรื่องลอยวนเวียนอยู่ในหัวเกือบตลอดเวลา ว่า

เมื่อไรเป็นต้องคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด ถ้าลองย้อนนึกถึงตอนวิตกกังวลจะพบว่าการตัดสินใจขณะนั้นมักจะแย่ลงมาก ต่อให้มั่นใจว่าขณะนั้นคิดอ่านรอบคอบแล้วแต่พอเวลาผ่านกลับมาย้อนคิด หลายครั้งพบว่าการตัดสินใจตอนวิตกกังวลมักจะออกมาผิดพลาดหรือตัดสินใจทำในเรื่องที่ตอนสติดีๆ ไม่ทำแน่ อารมณ์แบบนี้บางทีก็เรียกสติแตกค่ะ

คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งมากับสามี เธอมีอาการวิตกกังวลแน่นอนเพราะเวลาคิดเรื่องเครียดจะปวดหัว หงุดหงิด และรู้สึกไม่สบายไปทั้งตัวโดยไม่มีสาเหตุอื่น เธอมีปัญหากับพ่อแม่ถึงขนาดไม่ยอมพูดจากันมาเป็นปี ความที่แฟนหวังดีจึงมักบอกบ่อยๆ ว่าเป็นลูกก็ควรจะต้องรักพ่อแม่แต่พอพูดทีไรเธอก็จะมีอาการเครียด ปวดหัว และหงุดหงิดมากขึ้นทุกครั้ง แฟนจึงอยากให้เธอพบจิตแพทย์เผื่อว่าจิตแพทย์จะช่วยให้เธอคืนดีกับพ่อแม่ได้

“คุณสามีมั่นใจได้อย่างไรคะว่าถ้าภรรยาคืนดีกับพ่อแม่แล้วจะหายเครียด”

Advertisement

“ก็ตัดเรื่องเครียดออกทุกเรื่องแล้วครับ เรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องเงิน ก็เหลือแต่เรื่องพ่อแม่เรื่องเดียว ถ้าจัดการให้คืนดีกับพ่อแม่ได้ก็น่าจะหายเครียด”

“เมื่อครู่คุณบอกว่าภรรยาไม่ได้คุยกับพ่อแม่มาระยะหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ได้คุยกันจะเครียดได้อย่างไรคะ”

“ก็ผมนี่ล่ะที่บอกให้เขารีบไปคืนดี พอผมพูดทีไรเขาก็หงุดหงิดตลอด”

Advertisement

โดยสรุปคือนอกจากพ่อแม่ภรรยาที่ทำให้เครียดแล้ว สามีนี่ล่ะค่ะที่กระตุ้นให้เครียดด้วย สามีใช้ประสบการณ์ในอดีตของตัวเองที่พูดดีกับพ่อแม่แล้วชีวิตดีมาตัดสินว่าถ้าภรรยาดีกับพ่อแม่เหมือนเขา ชีวิตก็จะดีเหมือนกัน ส่วนภรรยาก็คิดว่าทุกครั้งที่คุยกับพ่อแม่จะเครียดหนักเสมอจึงไม่ยอมคุยอีกเพราะถ้าคุยก็คงกลับไปเครียดเหมือนเดิม ความวิตกกังวลของทั้งสองท่านเกิดจากการนำประสบการณ์ในอดีตมาตัดสินสถานการณ์ปัจจุบันนั่นเองค่ะ และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชีวิตเราไม่สามารถเดินต่อได้ตรงทาง เป็นอันต้องเป๋ไปเป๋มาเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความเครียดหรือวิตกกังวลซึ่งจะเลือกทางได้เหมาะสมกว่า

Shouwa Genroku Rakugo Shinjuu หรือ “หัวใจของราคุโกะ” เป็นแอนิเมชั่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกัน ได้เข้าชิงรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมมังกะไทโชครั้งที่ 5 กล่าวถึง “ราคุโกะ” ซึ่งเป็นศิลปะการเล่าเรื่องเพื่อการบันเทิงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เทียบง่ายๆ ก็เหมือนเดี่ยวไมโครโฟนนี่ล่ะค่ะ

เรื่องนี้เล่าย้อนไปถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กชาย 2 คนมาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สอนราคุโกะ “สุเกะโรคุ” เป็นเด็กเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตแถวโรงละครราคุโกะบ่อยๆ จึงชอบและใฝ่ฝันอยากแสดงราคุโกะบ้าง อีกคนหนึ่ง “ยาคุโมะ” เป็นลูกคุณหนูที่เกิดจากเกอิชา ขาของเขาพิการทำให้ไม่สามารถเรียนศิลปะการรำของญี่ปุ่นได้ สุดท้ายจึงถูกทิ้งให้ไปอยู่เป็นศิษย์บ้านอาจารย์ราคุโกะ สุเกะโรคุกับยาคุโมะอาศัยอยู่ด้วยกันจนโตทั้งที่นิสัยตรงข้ามกันค่ะ

สุเกะโรคุเป็นหนุ่มขี้เมาที่แสดงราคุโกะแบบไม่สนใจขนมธรรมเนียมเท่าไรส่งผลให้เหล่ารุ่นพี่เหม็นขี้หน้า เขาใช้ชีวิตโดยไม่มีเงินเก็บ ไม่สนใจอาบน้ำหรือแต่งตัวดีๆ เรียกว่าไม่กังวลกับอะไรเลยในชีวิต การ์ตูนแสดงให้เราเห็นว่าสุเกะโรคุผู้ไร้ความกังวลมักจะคิดอ่านหรือตัดสินใจถูกต้องทุกครั้งทั้งที่ดูน่าจะใช้ชีวิตชุ่ยๆ เปรียบเทียบกับยาคุโมะซึ่งเป็นเด็กดีของอาจารย์เสมอ เขาไม่ได้รักชอบราคุโกะเลยแต่ต้องเล่นและทำเป็นชอบเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องถูกทิ้งอีกครั้ง ความวิตกจริตตลอดเวลาทำให้ยาคุโมะหาสไตล์ของตัวเองไม่เจอ พอตัดสินใจจะดำเนินชีวิตก็มักจะไม่มั่นใจจนผิดพลาดไปเสียหมด จนวันหนึ่งที่เขาแสดงตามแบบที่สุเกะโรคุแนะนำแล้วผลออกมาดีเกินคาด ความกังวลก็เหมือนถูกปัดเป่าออกไปหมด ชีวิตหลังจากนั้นก็ดูเข้ารูปเข้ารอยดีขึ้นมากค่ะ

การ์ตูนเรื่องนี้กล่าวถึงการค้นหาตัวเองของยาคุโมะผู้เก็บความวิตกจริตไว้ภายใต้บุคลิกใจเย็นและเป็นเด็กดีของอาจารย์ นำเสนอภาพชีวิตที่แสนเศร้าและเลวร้ายที่ยาคุโมะมองอย่างบิดเบี้ยวมาตลอดชีวิตซึ่งไม่น่าเชื่อว่าความวิตกจริตทำให้เราเห็นตัวเองแย่ขนาดนี้

เช่น เราไม่เก่ง ใครๆ ก็จะทิ้งเรา ฯลฯ มุมมองต่อตัวเองที่บิดเบือนนี้เกิดขึ้นจริงในคนที่มีความวิตกกังวลสูง กลไกนี้เกิดภายในสมองเป็นสาเหตุให้เรามักจะเหมารวมไปว่าเรื่องแย่ที่เจออยู่ตอนนี้มันจะต้องแย่มากๆ เหมือนที่เคยเกิดในอดีตแน่ๆ สุดท้ายจึงตัดสินใจผิดพลาด ที่แย่กว่านั้นคือเราควบคุมการเหมารวมแบบนี้ไม่ได้เสียด้วยถ้ายังสติแตกอยู่ค่ะ

คุณโรนี่ พาซ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ในอิสราเอลทดสอบการบิดเบือนของการตัดสินใจในยามวิตกกังวลรุนแรงด้วยการให้อาสาสมัครลองฟังเสียง 3 โทนแล้วเพิ่มรวม 15 โทนแล้วบอกว่าเหมือนหรือต่างกับ 3 โทนแรกที่ได้ยิน การตัดสินใจของอาสาสมัครมีทั้งแบบถูกแล้วได้เงิน ผิดแล้วเสียเงิน หรือแบบไม่เกี่ยวกับเงินเลย

ผลพบว่าเมื่อเกี่ยวข้องกับเงินจะทำให้อาสาสมัครมีอาการวิตกกังวลมากขึ้น และเมื่อวิตกกังวลแล้ว อาสาสมัครจะตอบผิดมากขึ้นซึ่งมักจะผิดแบบ “เหมารวมว่าเคยได้ยินมาแล้ว” ทั้งที่เป็นโทนเสียที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าในยามวิตกกังวลเรามักคิดว่าเรื่องที่เกิดตรงหน้าเป็นเรื่องที่เราเคยพบเจอมาแล้วทั้งที่เป็นคนละเรื่องกันค่ะ

หลักการง่ายๆ ในการช่วยเหลือคนสติแตกที่วิตกกังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับคือลดความเครียดและกังวลของตัวเองลงก่อนเป็นอย่างแรกค่ะ การไปจัดการคนนู้นคนนี้เพราะคิดว่าสิ่งรอบตัวทำให้เครียดเป็นเรื่องที่รอก่อนได้ หลายท่านที่หายกังวลแล้ว สถานการณ์จะดีขึ้นเองโดยไม่ต้องจัดการคนนู้นคนนี้เลยค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image