ประสานักดูนก : March Madness!

นกจับแมลงตะโพกเหลือง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คนเขียนยืนอยู่ที่ท้องทุ่งรังสิตในยามเย็น เฝ้ารอดู “นกคุ่มอืดใหญ่” ซึ่งเป็นนกใหม่ ชนิดที่ 797 ของนกไทยที่พบเห็นในประเทศ

เสียง 2 จังหวะขณะบินหรือ flight call ของ “นกจาบคาหัวเขียว” แว่วเข้าหูมาแต่ไกล บ่งบอกว่าฝูงนกจาบคาอพยพ กำลังเดินทาง on the move อีกวาระหนึ่ง ครานี้เป็นสัญญาณของนกอพยพขึ้นเหนือ กลับถิ่นเกิดไปเขตอบอุ่น ในฤดูใบไม้ผลิ (แต่เป็นรอยต่อฤดูแล้งและฤดูร้อนในไทย) การอพยพเดินทางไกลนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เพื่อที่นกอพยพจะได้จับจองอาณาเขตหากิน และคัดเลือกคู่ตุนาหงันไว้เป็นคู่ชีวิตในฤดูรัก ส่งถ่ายพันธุกรรมของตนสู่รุ่นต่อไป

“เดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนแห่งการอพยพของนก เช่นเดียวกับเดือนตุลาคมของฤดูอพยพต้นหนาว (autumn)”

นกจับแมลง กว่า 10 ชนิดที่อพยพย้ายถิ่น เป็นตัวเอกของนกอพยพในช่วงนี้ เพราะนกวัยเด็กของปีกลายจะผลัดขนลำตัวส่วนใหญ่ จากชุดขนสีน้ำตาลหรือสีอื่นจืดชืด ได้ชุดขนตัวเต็มวัยสีสดใสจัดจ้าน หลังจากต้องบินข้ามทะเลอ่าวไทย บนเส้นทาง trans-Gulf route มาทั้งคืน ซึ่งนกอาจจะต้องใจกล้ายอมบินออกจากฝั่งจากประเทศมาเลเซียหรือภาคใต้ของไทย บินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

Advertisement

ยามอ่อนแรง ถ้าโชคดีพบเรือประมงหรือแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทยก็มีสถานที่ให้เกาะแวะพักผ่อน ก่อนจะต้องเดินทางต่อตามสัญชาตญาณ ตัวที่ไม่พร้อม เพราะสะสมไขมันไว้ใต้ผิวหนังน้อย ก็อาจจะหมดแรงก่อน เมื่อหาแหล่งพักพิงกลางทะเลไม่ได้ ก็จะหมดแรง ร่วงลงทะเล จมน้ำตายไปก็ไม่น้อย

แต่มีนกอพยพอีกกลุ่มที่อาจจะฉลาดกว่า เลือกเดินทางโดยบินเหนือแผ่นดินขึ้นมาตามด้ามขวานไทย เรียกเส้นทางอพยพนี้ว่า circum-Gulf route แม้จะถึงที่หมายช้ากว่าเพราะต้องอ้อม หรือ detour แต่เหนื่อยน้อยกว่า มีที่พัก หาแมลงกินได้ตลอดทาง เพราะมีพื้นที่สีเขียว ทั้งสวนยาง สวนปาล์ม และป่าดิบชื้น หรือแม้แต่สวนสาธารณะ ไม่ต้องเสี่ยงจมน้ำตาย เหมือนพรรคพวกที่ใจกล้า บินข้ามทะเล

ช่วงนี้กลางวันยาวขึ้น ฮอร์โมนเพศของนกก็ฉีดพุ่งสูงขึ้นตามวัยไว้รอรับฤดูผสมพันธุ์ ที่ยังต้องเดินทางอีกไกลไปถึงถิ่นไซบีเรียและประเทศจีน นกวัยเด็กจะผลัดขนสดใหม่สีสวยน่าดูน่าชมกว่าชุดขนวัยเด็กในฤดูอพยพต้นหนาว

Advertisement

นับจากนี้ ถ้าไปเฝ้ารอตามจุดอพยพผ่านของนกอพยพที่นกต้องแวะพักเพราะไม่มีแรงหลังจากรอดชีวิตจากการบินข้ามทะเล เช่น เกาะมันใน เกาะแสมสาร หรือเกาะแก่งต่างๆ ที่มีต้นไม้ แมลง และน้ำจืด ตามชายฝั่งภาคตะวันออก หรือสวนสาธารณะในเมือง ที่ใดก็ได้ที่มีน้ำและอาหาร จะทำหน้าที่เสมือนเป็น migration trap ที่นกอพยพต้องลงจอด แวะเติมพลังงาน จะได้เพิ่มโอกาสรอดชีวิตตลอดเส้นทางอีกยาวไกลหลายพันกิโลเมตรจากประเทศไทยไปถึงถิ่นผสมพันธุ์

ด้วยเหตุนี้ ณ จุดแวะพักของนกอพยพ โดยเฉพาะเกาะแก่งริมทะเล นกอพยพอาจจะรวมตัวกันจำนวนมาก เพราะมักจะเดินทางข้ามทะเลมาด้วยกันในคืนที่ลมส่งท้ายแรงๆ ฟ้าใสสว่าง มองเห็นดวงดาวไว้เป็นเข็มทิศ จะพบ “ปรากฏการณ์ “ฝนดาวตก” (fall out) ของนกอพยพ” ที่ 1 ปีมีรอบเดียวในช่วงนี้เท่านั้น เมื่อนกอพยพมากกว่า 10 ชนิด อาทิ นกจับแมลง นกแซวสวรรค์ นกเดินดง นกพง นกคัคคู นกเขน หลายร้อยตัว ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว บินไปมาอย่างไม่เกรงกลัวคน เพราะหิวโหย มัวแต่บินไล่จับแมลง หรือลงหาแหล่งน้ำเพื่อดับกระหาย ก่อนเดินทางต่อไป

“ถ้านักดูนกอยู่ถูกที่ถูกเวลา ฝนดาวตกของนกอพยพที่กล่าวมาจะปรากฏต่อสายตาของผู้โชคดี เป็นประสบการณ์น่าจดจำไปอีกนานครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image