‘รอยฝันในกาแฟของพ่อ’ คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน

จากซ้าน "อาโซ ยาแปงกุ่" , "เก๋" ภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์

คนคนหนึ่งคือ “อาโซ ยาแปงกุ่” ชาวเขาเผ่าอาข่า อาศัยอยู่บนดอยปางขอน หมู่บ้านห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย ที่ตลอดชีวิตผ่านมา เขาทำมาหากินอยู่บนภูเขาสูง ด้วยการปลูกไร่กาแฟดำรงชีวิต เลี้ยงครอบครัว และลูก

ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นของเขา

โดยไม่คิดว่าจะไปประกอบอาชีพใดๆ ได้ เพราะทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำเขาอยู่แต่ในไร่กาแฟ เฝ้าดูผลผลิตเจริญงอกงามแต่ละต้นด้วยความภาคภูมิใจ

ปีไหนอากาศหนาวเกินไป ผลผลิตไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จะรู้สึกเสียใจ แต่ถ้าปีไหนผลผลิตออกมาดี ขายได้ราคา ครอบครัวยาแปงกุ่ที่มีแม่ ภรรยา และลูกสาวสองคนจะพลอยดีใจไปกับเม็ดเงินที่หามาได้อย่างสุจริต

Advertisement

ทั้งๆ ที่อดีต สมัยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน บริเวณดอยปางขอน และดอยอื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่บางส่วนต่างคลาคล่ำไปด้วยไร่ฝิ่น

ครอบครัวของเขาก็เคยปลูกฝิ่นมาก่อน

แต่วันหนึ่งเมื่อพ่อหลวง (ในหลวง) เสด็จฯมายังแผ่นดินที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาสูง พร้อมกับทรงนำพันธุ์กาแฟอาราบิก้าพระราชทานเข้ามาเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวเขาเผ่าต่างๆ

Advertisement

เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น

เทือกภูเขาสูงหลายลูกที่สลับเรียงรายก็เริ่มแปรเปลี่ยนจากดอกฝิ่นสีสวยกลายมาเป็นสีเขียวของไร่กาแฟ

ไร่ฝิ่นของครอบครัวยาแปงกุ่ก็เช่นกัน

เพราะต่อจากนั้นพ่อและแม่ของเขาก็หันมาปลูกกาแฟอย่างจริงจัง แม้กระทั่งทุกวันนี้ ต้นกาแฟของพ่อต้นนี้ก็ยังยืนต้นอวดทรงอย่างสง่างามในไร่ของเขาจนทุกวันนี้

ทุกวันที่ต้นกาแฟของพ่อถูกขยายพันธุ์กระจายออกไปในแต่ละไร่ รวมๆ แล้วมีมากกว่า 200 ไร่ที่ปกคลุมพื้นที่ของครอบครัวยาแปงกุ่

“อาโซ” ภูมิใจกับกาแฟของพ่อต้นนี้มาก

เพราะนอกจากจะพลิกชีวิตให้ครอบครัวของเขาลืมตาอ้าปากจนทุกวันนี้ ยังทำให้เขามีโอกาสเจอกับกัลยาณมิตรต่างวัยที่บังเอิญเดินทางขึ้นมาท่องเที่ยว เพื่อชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่งในช่วงฤดูหนาวบนดอยปางขอน

ตอนนั้น “อาโซ” เปิดธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ เพื่อดักนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นมาชมดอกซากุระเมืองไทย เขาไม่รู้หรอกว่าลูกค้าคนนี้คือใคร รู้แต่เพียงว่าเขาคงเป็นแค่นักท่องเที่ยวคนหนึ่ง

กอปรกับตอนนั้นเป็นช่วงเที่ยงวันพอดี “อาโซ” จึงนำข้าวปลาอาหารมาให้ทาน เพื่อหวังจะให้เขารองท้องก่อนที่จะขับรถขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาวบนเทือกเขาสูง

น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้นี่เองที่ทำให้ชายคนนี้รู้สึกประทับใจ

ทั้งในส่วนของรสชาติกาแฟ และน้ำใจที่เขามอบให้อย่างมิตรไมตรี

จากนั้นทั้งสองคนก็แยกจากกันไปตามวิถีของแต่ละคน

ซึ่งไม่น่าจะกลับมาบรรจบพบกันอีก

แต่ทว่า “เก๋” ภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ กลับติดใจในรสชาติกาแฟของ “อาโซ” เนื่องเพราะเขาพลิกชีวิตจากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักการเมืองในมหานครกรุงเทพฯมาใช้ชีวิตอย่างสงบที่ไร่คานารี่ รีสอร์ต อ.เมือง จ.เชียงราย

เขาแบ่งพื้นที่ของไร่คานารี่ รีสอร์ต ออกเป็น 3 ส่วน พื้นที่ชั้นล่างปลูกข้าว ทำนา และไม้ผล ตรงกลางออกแบบเป็นสวนประดิษฐ์ ส่วนด้านหลังสุดปลูกไม้ใหญ่ และป่าจริง

ทั้งเขายังตั้งเป้าหมายที่จะให้ไร่คานารี่ รีสอร์ตแห่งนี้เป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร และที่พักไปในตัว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นมาเที่ยวในจังหวัดเชียงราย

แต่ใครล่ะจะทำร้านกาแฟให้เขา?

เขาจึงนึกถึง “อาโซ” ทันที และวันหนึ่งเมื่อเขาเจอกันอีกครั้ง ทุกสิ่งที่ยังไม่เคยเปิดเผยตัวตนก็ปรากฏออกมา “เก๋” ยอมรับว่า “อาโซ” เป็นเด็กหนุ่มฉลาด มีความคิด มีความรักและหลงใหลในกาแฟ

ทั้งยังมีความตั้งใจที่จะพัฒนาไร่กาแฟให้มีคุณภาพ

สำคัญไปกว่านั้น เขาตั้งใจจริงที่จะให้ญาติๆ ที่ไปรับจ้างทำงานในต่างประเทศกลับมาอยู่ด้วยกัน เพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก เพื่อทุกคนจะได้ช่วยกันพัฒนากาแฟของพ่อหลวงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก

ขณะเดียวกัน “เก๋” ก็สัมผัสได้ว่า “อาโซ” ยังไม่มีความไว้วางใจเขาเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะคนเมืองในอดีตเคยหลอกลวงเขา หรืออาจเป็นเพราะคำสอนของบรรพบุรุษที่บอกว่าอย่าไว้ใจคนเมือง

“เก๋” จึงต้องใช้เวลาคบหากับ “อาโซ” อยู่นาน

จนวันหนึ่ง “อาโซ” เข้ามาหาที่ไร่แล้วพูดขึ้นว่า…ผมขอยืมเงินคุณ 1 ล้านบาท เพื่อไปมัดจำกาแฟจากชุมชน เพื่อไม่ให้นายทุนมากว้านซื้อไป

“เก๋” ตัดสินใจช่วยเหลือในแบบของเขา ด้วยการให้ “อาโซ” มาปลูกกาแฟที่รีสอร์ต พร้อมๆ กับเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุน และช่วยพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการปลูกกาแฟ

รวมถึงบนดอยปางขอนด้วย

จนทำให้ความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่ในฐานะกัลยาณมิตรต่างวัยเริ่มงอกงาม งอกเงย จนวันหนึ่งสิ่งที่ “อาโซ” มุ่งหวังก็ค่อยๆ เป็นจริง

เขาได้พัฒนาไร่กาแฟจนมีคุณภาพ

ญาติพี่น้องของเขาที่ไปทำงานรับจ้างในต่างประเทศเริ่มกลับมาช่วยปลูกกาแฟ สำคัญไปกว่านั้นเขาได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ บนดอยปางขอน พร้อมกับเชิญชวนเกษตรกรชาวเขาที่ปลูกกาแฟในบริเวณใกล้เคียงมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองกับนายทุน

ขณะเดียวกัน “เก๋” เองก็ช่วยเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งในส่วนขององค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงกลวิธีทางการตลาด จนทำให้กาแฟของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของ “อาโซ” เริ่มแข็งแรง

เริ่มเป็นที่สนใจของตลาด

เพราะลูกค้ารู้แล้วว่ากาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่ “อาโซ” และกลุ่มของพวกเขาเป็นคนปลูก เก็บผลผลิต และคั่ว เป็นสินค้าระดับพรีเมียม

แต่ “เก๋” และ “อาโซ” กลับไม่หยุดแค่นั้น เพราะเขาทั้งคู่มองเห็นโอกาสในตลาด และรู้ว่าหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพวกเขาได้คือต้องสร้างแบรนด์

ที่สุดพวกเขาจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์อาโซ คอฟฟี่ ดอยปางขอน (ASO COFFEE DOI PANG KHON) ขึ้นมา โดยใช้รูปแม่ของ “อาโซ” ชื่อ “บูเปาะ ยาแปงกุ่” เป็นเครื่องหมายการค้า

เนื่องจากเป็นบุคคลที่ “อาโซ” เคารพรักมากที่สุด

ทั้งยังเป็นบุคคลคนแรกของครอบครัวที่นำต้นกาแฟของพ่อหลวงมาปลูก และขยายพันธุ์บนดอยปางขอน จนทำให้ “อาโซ” มีโอกาสทำมาหากินจนทุกวันนี้

ทุกวันที่ “อาโซ” และ “เก๋” ตั้งใจว่าวันหนึ่งแบรนด์อาโซ คอฟฟี่ ดอยปางขอนจะต้องไปอวดโฉมในตลาดต่างประเทศ

พวกเขาหวังเช่นนั้นจริงๆ

และเชื่อว่าวันหนึ่งฝันของพวกเขาจะเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image