เก็บตกจาก ‘แดนมังกร’ สัมมนาสื่อ’ไทย-จีน’ อนาคต ความสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยน

ถือว่าเสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยกับงานสัมมนาสื่อมวลชนไทย-จีน เพื่อการพัฒนาต่อเนื่องประจำปี 2016 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-6 มีนาคมที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง และเมืองเซินเจิ้น

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กระทรวงวิเทศสัมพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CFPD) ร่วมด้วยสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน

ตลอดทั้ง 8 วัน บรรยากาศมีหลากหลายทั้ง วิชาการ-เคร่งเครียด ถกเถียง-แลกเปลี่ยน สนุกสนาน-ผ่อนคลาย

ซึ่งได้ขอรวบรวมเอาไว้ ณ ที่นี้

Advertisement

เริ่มต้นเดินทาง

เปิดงานสัมมนาวันแรก

หลังจากที่ทางคณะสื่อมวลชนทั้งรัฐและเอกชนกว่า 20 ชีวิต นำโดย ไพศาล พืชมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมไทย-จีน ในฐานะผู้ประสานงาน ได้ออกเดินทางในช่วง 01.00 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์

ในที่สุดก็เดินทางมาถึงกรุงปักกิ่ง ในช่วงเวลา 06.30 น.

จัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศ (อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส) รับประทานอาหารกลางวัน ทั้งคณะก็ได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง สถานที่เปิดงานสัมมนา

จากการที่ได้พูดคุยกับ หวู เหา อาจารย์ประจำ ที่ได้มาต้อนรับพบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาภาษาต่างประเทศของประเทศจีน มีหน้าที่ในการแนะนำประเทศจีนเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับนานาประเทศ มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย

ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตนักการทูตที่มีชื่อเสียงและมีบทบาททางการเมืองของประเทศจีนมาโดยตลอดอีกด้วย

ถึงเวลาเปิดงานสัมมนา ไพศาลได้ขึ้นกล่าวว่า การที่ไทยจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากจีนในอนาคตจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง เพราะตามปกติแล้วเรามักจะได้รับข่าวสารจากทางสื่อตะวันตกเพียงด้านเดียว แต่การได้รับข้อมูลทั้งสองทางจะเป็นการช่วยสร้างสมดุลทางข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

“ในอนาคตทางสมาคมขอสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันของทั้งสองประเทศ สร้างโครงข่ายสื่อ มีการเยี่ยมเยียนกันระหว่างสื่อของทั้งสองประเทศ เพื่อการพัฒนาสื่อไทยไปสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น”

จากซ้าย ไพศาล พืชมงคล, จี้ ผิง
จากซ้าย ไพศาล พืชมงคล, จี้ ผิง

ขณะที่ จี้ ผิง รองเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสันติภาพและการพัฒนา แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า การเชื่อมโยงระหว่างบุคลากรจะนำไปสู่ความเข้าใจกันและสามารถสื่อสารกันได้ดีขึ้น จนสามารถแลกเปลี่ยนในระดับที่ลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของทั้งสองฝ่าย

“ทางประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เองก็ได้เน้นย้ำในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยหลักการดังกล่าวจึงนำมาสู่คำเชิญเพื่อจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เพื่อให้สื่อมวลชนไทยได้มีโอกาสรู้จักประเทศจีนมากยิ่งขึ้น แต่เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศจีนจะได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนไทย”

“ส่วนตัวจึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศในอนาคต” จี้ ผิง ทิ้งท้าย

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคตจีน

หมุดหมาย’บรรลุฝัน ยุทธศาสตร์ 100 ปี’

วันที่สองอุณหภูมิที่กรุงปักกิ่งลดลงมากกว่าเดิมราว 1-2 องศา แต่กระนั้นการสัมมนายังคงเข้มข้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงวิเทศสัมพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมานานอย่าง อ้าย ผิง มาบรรยายถึง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของประเทศจีน

ทั้งนี้ อ้าย ผิง กล่าวว่า ประเทศจีนเข้มแข็งและยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบันได้เป็นเพราะมีประชากรที่ล้นหลาม มีแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่สำคัญคือมีการสืบทอดอารยธรรมต่างๆ ที่มีมานานกว่าห้าพันปี แม้ว่าประเทศจีนจะไม่ได้เป็นประเทศที่ทันสมัยที่สุดของโลก แต่เป็นประเทศที่สืบทอดอารยธรรมที่เก่าแก่เหล่านี้เอาไว้ได้

“ซึ่งพื้นฐานที่ดีทางประวัติศาสตร์ได้ส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศจีนในปัจจุบัน”

แต่อีกมุมหนึ่ง อ้าย ผิง ได้วิจารณ์ว่า ในอดีตจีนนั้นมีศูนย์รวมอยู่ที่จักรพรรดิและมีความคิดว่าตนคือที่หนึ่ง ไม่ได้มองโลกว่ามีการพัฒนาไปแค่ไหน จนนำมาสู่การพ่ายแพ้แก่ชาติตะวันตกและญี่ปุ่น

“จากบทเรียนที่แลกด้วยหยาดเลือดและไฟสงครามได้ทำให้จีนหันมามองตัวเอง เริ่มศึกษาผู้อื่น ส่งเสริมอุตสาหกรรม การศึกษา การทหาร ใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ ให้ผู้คนออกไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อเอาความรู้มาพัฒนาประเทศจีน”

ส่วนอนาคต อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีได้เล่าว่า อนาคตประเทศจีนกำลังจะเข้าสู่แผน “ยุทธศาสตร์ 100 ปี” โดยแผน 100 ปีแรก คือ การครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.2021 จีนจะต้องเป็นสังคมที่ปราศจากความยากจน อย่างน้อยที่สุดคือจะต้องมีกินมีอยู่ ขณะที่แผน 100 ปีที่สอง คือการครบรอบ 100 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ.2049 จะมีเป้าหมายคือเป็นสังคมที่อุดมสมบูรณ์มั่งคั่งและกลายเป็นประเทศที่พัฒนาไม่แพ้กับชาติตะวันตก

“เป้าหมาย 100 ปีแรกที่ใกล้จะถึง ได้มีผลการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งจีดีพีที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ต่อบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายขจัดความยากจนนี้ ไม่ได้เน้นเฉพาะเมืองใหญ่แต่จะครอบคลุมพื้นที่ของจีนทั้งหมด โดยหลังจากนี้จะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่เป้าหมายร้อยปีที่สองจะเห็นเป็นรูปธรรมหลังจากเป้าหมายแรกผ่านไปก่อน เราจะต้องพยายามทำให้ความฝันนี้บรรลุเป็นจริงให้ได้” อ้าย ผิง ทิ้งท้าย

แววตาและน้ำเสียงเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ

เล็กเชอร์กับนักวิชาการสื่อจีน

มุมมองเปรียบเทียบกับสื่อตะวันตก

‘ประวัติศาสตร์สื่อมวลชนประเทศจีน’

สัมมนาหัวข้อนี้ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากคณะสื่อไทยเป็นพิเศษ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้ยินความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านสื่อมวลชนประเทศจีน

จากซ้าย อ้าย ผิง, หวัง ผิง ,เหอ ฮุย
จากซ้าย อ้าย ผิง, หวัง ผิง ,เหอ ฮุย

เหอ ฮุย อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และการสื่อสารสากล มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งมหาวิทยาลัยได้เริ่มต้นบรรยายว่า ถึงประวัติของสื่อสารมวลชนประเทศจีน ที่ได้เริ่มต้นในปี ค.ศ.1949 ขณะที่สื่อโทรทัศน์ได้เริ่มต้นในปี 1958 ใช้ชื่อว่าสถานีโทรทัศน์ปักกิ่ง ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็นซีซีทีวี

เหอ ฮุย กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 1993-2004 สื่อทั้งหมดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารงานจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นแบบเอกชนมากขึ้น แต่ทุกอย่างยังคงขึ้นตรงอยู่กับรัฐ ขณะที่ระหว่างปี 2005 จนถึงปัจจุบันมีการเติบโตของสื่อออนไลน์เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันได้เริ่มมีสัญญาณถดถอยของสื่อหนังสือพิมพ์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ยอดปริมาณของคนที่ใช้เว็บไซต์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจาก 111 ล้านคน ในปี 2005 มาสู่ 648 ล้านคน ในปี 2015

จากนั้น เหอ ฮุย ได้กล่าวเปรียบเทียบระหว่างสื่อตะวันตกกับสื่อจีนว่า สื่อตะวันตกเปิดกว้างในการทำข่าว มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ยึดรูปแบบเสรีนิยม แต่อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักที่มาจากเสรีภาพคือการมุ่งเน้นหากำไร แม้จะมีเงื่อนไขทางจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบทางสังคมมาควบคุม แต่ก็ทำได้บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่สื่อจีน เหอ ฮุย บอกว่า ถือว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลและของประเทศ โดยมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทางรัฐ และจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจีนถือว่าสื่อมวลชนเป็นแนวรบส่วนหนึ่งของประเทศ

“แนวคิดของประธานเหมา สื่อมีหน้าที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องประโยชน์ของประเทศชาติและทิศทางของพรรค สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพรรคและรับผิดชอบผลประโยชน์ของประชาชนอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศต่างคิดว่าแนวคิดของตนเองถูกต้อง โดยตะวันตกมุ่งเน้นในเรื่องเสรีภาพ ขณะที่จีนมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม อันเป็นไปตามแนวคิดทางการเมืองการปกครองของแต่ละฝ่าย” เหอ ฮุย ทิ้งท้าย

การลงทุน 110,000 ล้านบาท

อนาคตสดใสความร่วมมือ

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ ปักกิ่ง ก็ได้เดินทางต่อไปยังเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง และได้มีโอกาสได้ทัศนศึกษาที่สมาคมการลงทุนนานาชาติ เซินเจิ้น (International Investment association) โดยมี หวัง ผิง นายกสมาคม ให้การต้อนรับ

ตกค่ำยามเย็นทางสมาคมก็ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งระหว่างบรรยากาศที่คึกคักสนุกสนาน หวัง ผิง ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้ทางองค์กรได้มีความสนใจและเตรียมที่จะเสนอแผนลงทุนในประเทศไทยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่งของไทย มูลค่าการลงทุนราว 110,000 ล้านบาท (20,000 ล้านหยวน)

โดยจะลงทุนในสามส่วนคือ 1.การผลิตอุตสาหกรรม 2.การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม และคอนโดมิเนียม และ 3.ด้านการเงิน

หวัง ผิง เชื่อว่า การลงทุนนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ โดยจะเพิ่มอัตราการจ้างงานมากกว่า 20,000 อัตรา และเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในประเทศไทยได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท

“ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ทางกลุ่มจะจัดคณะธุรกิจราว 30 คน เดินทางไปยังประเทศไทยเพื่อสำรวจพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ จากนั้นจะสรุปแผนทั้งหมดนำเสนอแก่ทางประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และทางรัฐบาลจีน

ซึ่งหากได้รับความสนใจคาดว่าจะถูกนำเสนอแก่รัฐบาลไทยต่อไปในอนาคต” หวัง ผิง ย้ำอย่างเชื่อมั่น

โดยมีประจักษ์พยานหลายท่านไม่ว่าจะเป็น ไพศาล พืชมงคล, โฆสิต สุวินิจจิต อุปนายก และพิเชียร อำนาจ วรประเสริฐ อนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ร่วมอยู่ด้วย

วันสุดท้ายของการสัมมนาได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของสื่อมวลชนไทยต่อเจ้าหน้าที่รัฐของจีนในหัวข้อ “ประเทศจีนในสายตาคนไทย” และ “ประเทศไทยที่คนจีนไม่รู้จัก”

8

ทั้งนี้ บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างจริงจัง และใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะปิดการสัมมนา

เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นหนักไปด้านการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมเพื่อความเข้าใจกันมากขึ้นในอนาคต

จี้ ผิง ได้ขึ้นกล่าวปิดท้ายว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนไทยที่ให้การตอบรับในการมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ และได้นำข้อเสนอ ความคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อประเทศจีน อย่างจริงใจและเปิดเผยซึ่งปัญหาทางด้านวัฒนธรรมที่เห็นได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น ขณะที่ทางรัฐบาลได้ทำการแก้ไขโดยจะให้มีการจัดอบรม และสั่งห้ามนักท่องเที่ยวที่มีปัญหาออกนอกประเทศ

“จากนี้ไปขอความสนับสนุนจากสื่อมวลชนไทยในการสร้างความเข้าใจในทางบวกแก่ทางประเทศจีน เสริมสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม และมิตรภาพของทั้งสองประเทศให้ยั่งยืนสืบไป” จี้ ผิง ทิ้งท้าย

การจากลาเป็นไปอย่างชื่นมื่น

เปี่ยมด้วยมิตรภาพและรอยยิ้ม ที่หมายถึงอนาคตอันงดงาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image