‘สจล.’ผนึกกำลัง’เอกชน’ สร้างบุคลากรคุณภาพ ก้าวสู่ผู้นำภูมิภาค’อาเซียน’

ลงนามความร่วมมือ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าวันนี้ โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ ได้พัฒนารุดหน้าอย่างไม่อาจคาดเดาได้

จนในบางครั้ง ตัวเราเองก็ตามไม่ทันและกลายเป็นคนตกยุคตกกระแสสังคมไป

จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวตลอดเวลา เพราะโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา แต่เราต่างหากที่เดินไปรอบๆ โลก ถ้าหยุดเดินทุกอย่างก็หยุดเช่นกัน

อาจเพราะเหตุนี้เอง ที่ทำให้เกิดการร่วมมือขึ้นระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กรเอกชน นั่นคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จับมือกับ บริษัท ทีม กรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

Advertisement

โดยทั้งสององค์กรมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันทางวิชาการและการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เสริมความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้นักศึกษาออกไปเป็นกำลังสำคัญในการทำงานทั้งในประเทศและนอกประเทศได้อย่างมีคุณภาพ

รวมถึงการพัฒนาด้านงานวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีจุดเด่นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ

ภายใต้แนวคิด “เจ้าแห่งนวัตกรรม: The Master of Innovation”

Advertisement

การลงนามในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมมือทางวิชาการกันพัฒนา 3 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.พัฒนาด้านบุคลากรโดยมีการรับนักศึกษา สจล. เข้าฝึกงานในโครงการสหกิจศึกษากับทีมกรุ๊ป โดยระยะแรกจะเน้นด้านการคมนาคมขนส่ง ทรัพยากรน้ำและการพัฒนาเมือง 2.งานวิจัยและพัฒนา โดยร่วมกันวิจัยเพื่อองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และนำมาใช้ได้จริง รวมไปถึงการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตนักศึกษาที่ตรงความต้องการของตลาดอาเซียน และ 3.การผนึกกำลังทางวิชาการ เพื่อร่วมกันสร้าง “ทีมไทยแลนด์” ที่มีความพร้อมในการแข่งขันตลาดอาเซียน

ผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กรมองความร่วมมือครั้งนี้อย่างไร?

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ เลิศลักษณา ยอดอาวุธ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ เลิศลักษณา ยอดอาวุธ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. บอกว่า ในส่วนที่เราร่วมมือกันนี้มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาประเทศไทย เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีวิกฤตหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยแล้ง เราจะมีความร่วมมือทางวิชาการ และทางด้านที่ปรึกษา 2 องค์กรจะทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ

“รวมถึงอนาคตทางด้านรางด้วย รถไฟความเร็วสูงจะไปถึงด้านไหน อุตสาหกรรมไฮเทคจะเป็นอย่างไร ความรู้ความสามารถของ 2 องค์กรจะชี้นำประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมทั้งการผลิตคนเพื่อรองรับความเติบโตของประเทศ” อธิการบดี สจล.กล่าวด้วยความมั่นใจ

ขณะที่ เลิศลักษณา ยอดอาวุธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานพัฒนาธุรกิจบริษัท ทีม กรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด กล่าวว่า เรามีโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา หากเราเปิดโอกาสหรือส่งเสริมการเรียนการสอนของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนในด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมให้เขาได้ลงมาปฏิบัติในพื้นที่เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การทำงานจริง ซึ่งในทางเดียวกันเราเองอาจได้บุคลากรดีๆ เข้ามาเสริมสร้างในทีมกรุ๊ปด้วยก็เป็นไปได้

“ในส่วนของการรับนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงาน 3 หัวข้อหลักที่จะมีการดำเนินการทันทีคือ ด้านสถาปัตยกรรม ภัยแล้ง และระบบราง ซึ่งความจริงตอนนี้เราเริ่มส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปบรรยายในเรื่องของระบบไฟฟ้าเครื่องกลระบบราง ถือเป็นการเริ่มต้นก้าวแรก” เลิศลักษณากล่าว

ด้าน ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีม กรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมี 2 แบบคือ ระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเรามีปัญหาการเกษตรเพราะใช้น้ำในการเพาะปลูกเยอะ อาทิ การปลูกข้าว ซึ่งคงต้องรณรงค์ให้หันไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น การปลูกถั่วเหลือง ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองปีหนึ่งกว่า 2 ล้านตัน เพราะเราเอาน้ำไปปลูกข้าวหมด หากเปลี่ยนมาปลูกถั่วเหลืองแทนเราจะลดปริมาณการใช้น้ำได้เพราะการปลูกถั่วใช้น้ำเพียง 1 ใน 3 ของการปลูกข้าว ในส่วนของพันธุ์ถั่วจะนำผลการศึกษางานวิจัยของ สจล.มาใช้ในการศึกษาการเพาะปลูก

“ส่วนระยะสั้น เป็นการขอความร่วมมือรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำตั้งแต่การเพาะปลูก เพื่อที่พืชจะได้ตายน้อยลงในช่วง 3 เดือนที่เหลือ และน้ำในส่วนของอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งต้องมาร่วมกันหาวิธีการในช่วง 3 เดือน ให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน” ชวลิตกล่าว

นิธิ แสงบุญ และชัยวัฒน์ สร้อยรอด
นิธิ แสงบุญ และชัยวัฒน์ สร้อยรอด

กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ หลังจากเกิดความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กรเกิดขึ้น แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ในการฝึกงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะได้เข้าร่วมฝึกงานในโครงการของทีมกรุ๊ป

นิธิ แสงบุญ และ ชัยวัฒน์ สร้อยรอด นักศึกษาปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สจล. บอกตรงกันว่า การมีโครงการนี้ขึ้นทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน และได้ลงมือทำจากสถานที่จริง เพราะส่วนใหญ่การเรียนจะเน้นไปในทางทฤษฎีและวิชาการ ส่วนในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจะมาจากความสมัครใจและดูจากเกรดเฉลี่ยที่ต้องเกิน 2.5 ขึ้นไป สุดท้ายจะมีการสอบสัมภาษณ์จากตัวแทนบริษัท ทีม กรุ๊ป

เชื่อว่าความร่วมมือของทั้งสององค์กรนี้จะเป็นการสร้างมิติใหม่ให้แวดวงวิชาการ รองรับความท้าทายที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านภัยแล้ง การสร้างบุคลากรรองรับการพัฒนาระบบราง ที่จะกลายเป็นระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศในอนาคตอันใกล้

รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จะเป็นการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image