โลกสองวัย : มติชนกับโครงการตำรา

กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ บรรดานิสิตนักศึกษาและปัญญาชนสยามต่างยินดีปรีดาที่จะได้อ่านหนังสือดีทางวิชาการจากหน่วยงานหนึ่งที่เพิ่งเกิด คือ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ส่วนหนึ่งคือหนังสือแนวทางปรัชญาตะวันตก และตะวันออก

จำได้ว่า กาลครั้งนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เพิ่งกลับจากประเทศอังกฤษ เป็นคนหนุ่มที่มีชื่อเสียงทางการวิพากษ์วิจารณ์สังคม เป็นขณะที่ปัญญาชนสยามอีกหลายคนเดินทางกลับจากต่างประเทศก่อนเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” หนึ่งในจำนวนนั้นคือ อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นขณะเดียวกับ คุณพี่ขรรค์ชัย บุนปาน กับ คุณพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ

เมื่อมีมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เกิดขึ้น นิสิตนักศึกษาและปัญญาชนสยามยุคนั้นจึงมีโอกาสได้อ่านหนังสือดีหลายเล่ม (วันหลังจะขอให้บรรณาธิการหน้าประชาชื่นไปเสาะหาความรู้เรื่องมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ให้ได้ทราบความเป็นมาถึงทุกวันนี้)

เมื่อวันก่อน สองหนุ่มใหญ่แห่งมูลนิธิโครงการตำรา อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ กับ คุณพี่ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เดินทางมาที่สำนักงานมติชน ย่านถนนประชาชื่น เพื่อร่วมลงมือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทในเครือมติชนกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อจัดพิมพ์หนังสือของมูลนิธิและกิจกรรมหลากหลายที่ทั้งสองฝ่ายจัดให้มีขึ้น

Advertisement

วันที่ลงนามความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย คุณพี่ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือมติชน บอกกับคณะอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์และกลุ่มมติชนว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างมากที่เครือมติชนได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่มอบหมายงานและร่วมงานทั้งการจัดพิมพ์หนังสือและกิจกรรม

“ในนามเครือมติชน เราพยายามจะทำงานและรักษาความร่วมมือนี้ไว้อย่างเต็มความสามารถ เต็มที่ ด้วยความเต็มใจ หวังว่าความร่วมมือนี้จะผลิดอกออกผลทางปัญญาให้กับสังคมไทยดังที่มูลนิธิโครงการตำราฯปฏิบัติมาโดยตลอด” กรรมการผู้จัดการเครือมติชนยืนยัน

เมื่อ อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ขยับแสดงความในใจ ด้วยวัย 75 ปี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง กล่าวว่า ดีใจมากที่มีวันนี้ มูลนิธิโครงการตำราฯนี้ ผู้ก่อตั้งคือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2509 ถึงวันนี้ครบ 50 ปีพอดี

Advertisement

ขณะที่ปีนี้ครบ 100 ปีชาตกาลของอาจารย์ท่านด้วย วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมูลนิธิโครงการตำราฯ คือ “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี” รวมถึงการทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนเป็นความปรารถนาและเป้าหมายหนึ่งของมูลนิธิ

ว่าไปแล้ว อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อครั้งกลับจากต่างประเทศมาประเทศไทย เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวในยุคแห่งการต่อสู้เผด็จการเพื่อประชาธิปไตย มีโอกาสพบกับคุณพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่สหรัฐอเมริกาทันทีที่กลับมากรุงเทพฯ จึงมีโอกาสร่วมงานการเขียนหนังสือ และร่วมงานเขียนบทความ การแสดงความคิดเห็นมานาน กระทั่งทุกวันนี้

ในส่วนสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือหลากหลายประเภท โดยเฉพาะหนังสือในวงวรรณกรรม หนังสือตำรับตำราประเภทประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม หนังสือวิเคราะห์ทางการเมือง เศรษฐกิจบัดนี้ เมื่อมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ให้สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์หนังสือของโครงการเท่าที่โครงการฯจัดพิมพ์ไปแล้ว หากเนิ่นนานและหนังสือไม่มีในตลาดหนังสือ

ดังนั้น เมื่อสำนักพิมพ์มติชนในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ด้วยความร่วมมือกับโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ นำหนังสือของโครงการมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เชื่อได้ว่า หนังสือเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางการอ้างอิงของนักวิจัย เป็นหนังสือที่นิสิตนักศึกษาต้องอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจสังคมไทยและสังคมโลก และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการเมืองการปกครองของประเทศไทยวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image