ธ สถิตเหนือเรือใบไทยนิรันดร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เสื้อ "จิตรลดา-ราชนาวี" (ภาพจากสโมสรราชวรุณฯ)

“การแล่นเรือสอนให้คนคิดเองทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปแล่นเรือแล้ว เรือไม่วิ่งจะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเองทำเองว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งลงสักครู่ให้ลมมา

“ถ้าเราแล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้ แล้วนำมาใช้ชีวิต นำมาใช้ในกิจกรรมได้ ไม่มีขาดทุนเพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต”

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่แสดงถึงพระราชปณิธานของพระองค์ในการเผยแพร่กีฬาเรือใบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งจะเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืน

กีฬาเรือใบซึ่งเป็นกีฬาทรงโปรดจึงแฝงไว้ด้วยปรัชญาของการใช้ชีวิตซึ่งพระองค์ทรงแสดงเป็นแบบอย่างให้เป็นที่ประจักษ์จากเหตุการณ์ทรงเรือใบข้ามอ่าวไทยด้วยพระองค์เองเพียงลำพังเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509

Advertisement
ทรงแย้มพระสรวลอย่างสำราญพระราชฤทัย ณ หาดหน้าวังไกลวังวล

ในครั้งนั้นทรงนำเรือใบประเภทโอเคชื่อ “เวคา” ที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองออกจากวังไกลกังวลหัวหินไปยังอ่าวนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ เป็นระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล โดยใช้เวลากว่า 17 ชั่วโมง

นั่นคือตัวอย่างอันชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความวิริยะอุตสาหะมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมที่เผชิญจะเป็นอย่างไร เพราะท้องทะเลมีสภาพแปรปรวนไม่แน่นอน บางครั้งคลื่นลมสงบบางคราวคลื่นลมรุนแรง นักแล่นใบจึงต้องรู้จักบังคับควบคุมเรือให้สอดคล้องกับสถานการณ์นำเรือแล่นต่อไปให้ได้

เช่นเดียวกับการดำเนินชีวิตของคนเราที่ต้องพบกับความไม่แน่นอนเป็นสัจธรรม แต่ไม่ว่าจะเผชิญกับเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ชีวิตก็จะต้องดำเนินต่อไปทุกคนจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้เหมือนกับการนำเรือใบไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

ในฐานะนักกีฬาเรือใบ พระองค์ทรงเป็นผู้ชนะเลิศในกีฬาแหลมทองหรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน โดยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 จนเป็นที่มาของวันกีฬาแห่งชาติจวบจนปัจจุบัน

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งเป็นเพียงนักกีฬาเรือใบไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสแล่นใบร่วมกับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และถวายงานการต่อเรือใบให้พระองค์อย่างใกล้ชิด เล่าถึงพระอัจฉริยภาพไว้ว่า

เนื่องจากทรงมีฝีพระหัตถ์ในงานช่างไม้อยู่แล้ว และไม่โปรดซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง จึงทรงเริ่มต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง โดยมีอู่ต่อเรือ และสระทดลองแล่นเรือในสวนจิตรลดา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงสนับเพลาที่เปื้อนกาวหรือสีซึ่งซักไม่ออกองค์เดิม ทรงมีเครื่องมือช่างไม้ เช่น โต๊ะทำงานแบบฝรั่ง ที่มีส่วนที่เลื่อนเข้าเลื่อนออกให้ยึดไม้ให้เลื่อย ตัด ไส ได้สะดวก ทรงต่อเรือใบได้อย่างถูกต้องตามหลักสากล โดยทรงศึกษาแบบแปลนข้อบังคับของเรือแต่ละประเภทจากตำราต่างๆ ทั่วโลก จนรู้จริงและทรงประดิษฐ์ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนชนิดที่เรียกว่าวัดเป็นมิลลิเมตร เรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงต่อขึ้นจึงเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบ จนกระทั่งเรือใบลำแรกที่ทรงต่อแล้วเสร็จและได้รับพระราชทานชื่อว่า “ราชปะแตน” อันหมายความว่า แบบของพระราชาเหมือนอย่างเสื้อราชปะแตน

ขณะทำหน้าที่นายเรือโดยมี ม.จ.ภีศเดช รัชนี เป็นลูกเรือ เมื่อครั้งทรงเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (ภาพจากสโมสรราชวรุณฯ)

ในปี 2508 เมื่อทรงนำเรือ “ราชปะแตน” ไปลงทะเลได้ 2-3 ครั้ง เจ้าชายฟิลิป ดยุค แห่งเอดินบะระ พระสวามีสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จฯ มาเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทรงทราบว่าเจ้าชายฟิลิปโปรดทรงเรือใบ จึงทรงตั้งหมวดเรือใบหลวงจิตรลดาขึ้น เพื่อจัดการแข่งขันเรือใบขึ้น การแข่งขันครั้งนั้นนับเป็นการแข่งขันครั้งแรก โดยเริ่มต้นจากหาดพัทยาไปที่อ่าวด้านเหนือของเกาะล้าน และเชิญสมาชิกของสโมสรเรือใบราชวรุณเข้าร่วมแข่งขันด้วย มีเรือใบร่วมเข้าแข่งขันถึง 34 ลำ นับว่ามากเป็นประวัติการณ์ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกัปตันเรือราชปะแตนและมีหม่อมเจ้าภีศเดช เป็นลูกเรือ

หลังจากทรงเรือเอ็นเตอร์ไพรส์ไปได้สักระยะหนึ่ง ต่อมาในปี 2508 พระองค์เปลี่ยนพระราชหฤทัยมาแล่นเรือใบประเภทโอเค ซึ่งเป็นเรือใบที่ใช้ผู้เล่นคนเดียว หม่อมเจ้าภีศเดชเล่าถึงสาเหตุที่ทรงเปลี่ยนเพราะหาลูกเรือยาก

“…ผมเป็นลูกเรือถวายท่าน จะเป็นลูกเรือตลอดกาลก็ไม่ไหว ท่านทรงสงสาร…”

ขณะทรงเตรียมการนำเรือราชปะแตนซึ่งต่อด้วยพระองค์เองลงน้ำ

ทรงต่อเรือใบประเภทโอเคที่แล่นคนเดียว ลำไม่ใหญ่เกินไปที่คนเล่นน้ำหนักขนาดคนไทยไม่เสียเปรียบ จึงทรงเป็นทั้งกัปตันและลูกเรือพร้อมกันไป เรือโอเค ลำแรกที่ทรงต่อ พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” หมายเลข TH 9 อยู่บนใบสีแดง

แต่เรือใบของพระองค์ คนไทยรู้จักมากที่สุดก็คือเรือใบตระกูล “มด” หรือ Moth Class ซึ่งทรงออกแบบและจดสิทธิบัตรไว้ที่ประเทศอังกฤษ เรือชั้นนี้ทรงออกแบบไว้ 3 รุ่น ได้แก่ เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด

แต่เรื่องราวหนึ่งที่แทบไม่มีใครรู้เลยก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแบบร่างเรือใบซูเปอร์มดจากฝีพระหัตถ์ของพระองค์ให้กรมอู่ทหารเรือ เพื่อนำมาจัดทำแบบมาตรฐาน และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้กรมอู่ทหารเรือต่อเรือใบซูเปอร์มดเพื่อเป็นการเผยแพร่กีฬาเรือใบให้กว้างขวางออกไปสู่สาธารณชน ซึ่งกรมอู่ทหารเรือก็ได้น้อมปฏิบัติและดำเนินตามรอยพระราชดำริ นับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2510 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นาวาเอกสมพงษ์ คงไทย อดีตนายทหารเรือผู้ถวายงานต่อเรือแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังเป็นผู้รับแบบพระราชทานเรือใบซูเปอร์มดด้วยตนเอง เมื่อครั้งมียศ “จ่าเอก” เล่าว่า…

“ในช่วงปี พ.ศ.2510 ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าทำงานในโรงต่อเรือสวนจิตรลดา ถวายงานช่างแด่พระองค์ท่าน เริ่มจากการต่อเรือใบมด ที่พระองค์ทรงออกแบบและต่อเอง ซึ่งผมเป็นลูกศิษย์พระองค์ท่านในการต่อครั้งนั้นด้วย…”

“โรงต่อเรือในสวนจิตรลดานั้นมีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ ชั้นเดียว อยู่ข้างล่างสถานีวิทยุ อส. ในช่วงบ่ายๆ พระองค์จะเสด็จลงมาตัดกระดาษ วัด ขัดเรือ ทาสี ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง และยังทรงดูด้วยว่าที่พวกเราทำนั้นถูกต้องหรือไม่ บางทีทำไม่ถูกใช้กระดาษทรายไม่เหมาะกับงาน ก็ทรงเลือกมาให้ใหม่และยังทรงขัดแต่งลบเหลี่ยมมุมให้เราดูด้วยซึ่งผมได้เรียนรู้ และได้ศึกษาแบบต่อเรือจากพระองค์ท่านเป็นอย่างดีทั้งเรือใบมด เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด”

“สำหรับเรือใบซูเปอร์มด พระองค์ทรงออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ คือ ใช้ไม้ยมหอมซึ่งมีคุณสมบัติเบา และเหนียว มีพระราชดำริให้ใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศ โดยพระราชทานแบบที่ทรงวาดและตัดเป็นกระดาษมาอย่างประณีต มีรับสั่งให้ผม และกรมอู่ทหารเรือนำมาดำเนินการต่อ”

ที่พระองค์ทรงเน้นให้ทำเองก็เพราะการต่อเรือเองนั้นจะทำให้คนเล่นมั่นใจ รู้นิสัยเรือ รักเรือ และจะทะนุถนอมบำรุงรักษาเรือเป็นอย่างดี

ไม่เพียงแต่จะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแบบเรือใบซูเปอร์มดให้แก่กองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือเท่านั้น พระองค์ยังทรงโปรดให้มีการแข่งขันเรือใบประเพณี “จิตรลดา-ราชนาวี” เป็นประจำทุกปีในช่วงที่ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน โดยพระองค์ทรงทำหน้าที่หัวหน้าทีมจิตรลดา และจัดทำเสื้อที่ระลึก “จิตรลดา-ราชนาวี” พระราชทานแก่นักกีฬาทุกคนอีกด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลจากการแข่งขันเรือใบจิตรดา-ราชนาวี

ในช่วงปลายรัชสมัยขณะที่ทรงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ทรงมีรับสั่งให้กองทัพเรือและสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ ซ่อมทำเรือใบที่ทรงต่อขึ้นจากฝีพระหัตถ์ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 11 ลำ ซึ่งงานดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558 และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่กองทัพเรือและสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

จากวันแรกที่ทรงริเริ่มเผยแพร่กีฬาเรือใบในประเทศไทยจวบจนวันนี้ นักแล่นใบชาวไทยต่างซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อวงการเรือใบของไทย

โดยทรงรับสโมสรเรือใบราชวรุณและสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทั้งสององค์กรที่กล่าวมาได้ตั้งปณิธานร่วมกันในอันที่จะสืบสานและส่งเสริมกีฬาเรือใบให้ดำรงคงอยู่ ยึดมั่นแนวทางการเป็นพระมหากษัตริย์นักแล่นใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นหลักชัย ในการปลูกฝังนักแล่นใบจากรุ่นสู่รุ่นให้มีสปิริต ซื่อตรง มีจิตใจเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง มีความเพียร มุ่งมั่นโดยไม่ย่อท้อ

ดังเช่นตัวอย่างครั้งหนึ่งที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นในการแข่งขันที่สัตหีบ เรือใบของพระองค์กำลังแล่นนำหน้าเรือใบลำอื่นๆ แต่แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อที่ร้อยใบเรือเกิดหลุดกะทันหัน ทำให้ใบไม่กินลมจนต้องทำการแก้ไขเรือจึงเสียความเร็วถูกเรือลำอื่นๆ แซงหน้า

เรือของพระองค์จึงหล่นไปอยู่ในกลุ่มหลังกลายเป็นลำที่สามจากลำท้ายสุดจนกระทั่งจบการแข่งขันแต่พระองค์รับสั่งว่า

“แพ้หรือชนะไม่ประหลาด ความพยายามที่จะเอาชนะต่างหากที่สำคัญ”

แล้วความพยายามที่กล่าวมาของพระองค์ทำให้เรือใบโอเคที่ทรงต่อและพระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ถูกบันทึกไว้ว่า ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบชิงแชมป์ประเทศไทยประเภทโอเคถึง 3 สมัยติดต่อกัน นอกเหนือจากการที่พระองค์ทรงชนะเลิศเรือใบโอเคในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 พร้อมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 จนเป็นที่มาของวันกีฬาแห่งชาติตราบถึงวันนี้

สิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนของการสืบสานกีฬาเรือใบในประเทศไทยของสโมสรราชวรุณฯ และสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ ได้แก่ การจัดแข่งขันเรือใบรายการ “หัวหินรีกัตต้า” ณ ชายหาดหัวหินในเดือนเมษายน ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 18 และการจัดแข่งขัน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ในเดือนธันวาคม ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 30

ทรงพระเกษมสำราญพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลังทรงเรือใบ

โดยเรือใบรายการหัวหินรีกัตต้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานหางเสือเรือใบ “เวคา” ที่ทรงใช้แล่นข้ามอ่าวไทยเป็นรางวัลนิรันดร์แก่ผู้ชนะเลิศ และพระราชทานถ้วยรางวัลนิรันดร์แก่ผู้ชนะเลิศรายการ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่วงการเรือใบของไทยซึ่งสนองพระมหากรุณาธิคุณนั้นด้วย “รีกัตต้าแห่งความจงรักภักดี” ในนามพสกนิกรชาวไทยดังที่กล่าวมา

ในวันนี้แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะเสด็จสู่สวรรคาลัยสถิตอยู่เหนือพื้นพสุธาและแผ่นฟ้าแล้วก็ตาม

แต่ทั่วผืนน้ำอันกว้างไกลในยามที่เรือใบของไทยโลดแล่นเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าคนไทยก็มีความสามารถในกีฬาเรือใบไม่แพ้ชาติใดนั้น…

ธ จะทรงสถิตอยู่เหนือเกล้าฯ นักแล่นใบชาวไทยทุกคนที่ยึดมั่นในหลักปรัชญาและคำสอนของพระองค์อย่างแน่วแน่เพื่อให้สมกับที่โลกแซ่ซ้องว่า…

แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินเดียวในโลกที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรือและการแล่นใบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image