ทัพใหญ่ : คอลัมน์ประสานักดูนก

เหยี่ยวอพยพงวดเข้าปลายฤดูแล้ว

วันนี้ทัพใหญ่ของ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ หลายหมื่นตัวคงจะเดินทางผ่านภาคใต้ที่ เขาเรดาร์ เคยนับได้มากกว่า 80,000 ตัว ส่วนที่ เขาดินสอ ซึ่งสูงกว่าเขาเรดาร์ และตั้งอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทย ห่างออกมาเพียง 1 กม. ทางนักวิจัยที่นั่นเคยนับได้มากกว่า 1 แสนตัว!

ทำให้ปลายฤดูอพยพเช่นนี้เป็นช่วงน่าตื่นเต้นที่สุดของฤดูกาลก็ว่าได้ เพราะนอกจากความแน่นของจำนวนเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำในแต่ละฝูง ตั้งแต่ 200 ตัวขึ้นไปจนถึงเกือบพันตัว บางครั้งเนื่องจากแน่นมาก จะเห็นว่าเหยี่ยวชนกันเอง เพราะบินหลบกันไม่ทัน อีกทั้งจะเป็นช่วงที่พบเห็นสายธารเหยี่ยวอพยพ หรือ River of Raptors ได้ง่ายมากเช่นกัน

แต่ปีนี้ คนเขียนไม่มีโอกาสไปร่วมตื่นตาตื่นใจเหมือนที่เคยทำมาทุกๆ ปี เพราะต้องมานำเสนอผลงานวิจัยเรื่องราวของสารตะกั่วในเลือดของเหยี่ยวด่างดำขาวที่ประเทศฟิลิปปินส์ แล้วถือโอกาสขอลาพักผ่อนเกือบยาวๆ 10 วัน ตะลอนดูนกประเทศฟิลิปปินส์ บนเกาะมินดาเนา อันเป็นบ้านหลังเดียวของ นกอินทรีกินลิง หรือ Philippines Eagle นกนักล่าถิ่นเดียวของแดนตากาล็อก

Advertisement

หวังไว้ว่าจะมีวาสนาได้ชื่นชมพญาอินทรีแห่งป่าดงดิบ แล้วสามารถเก็บภาพมาฝากท่านผู้อ่าน เพราะประเทศฟิลิปปินส์เป็นเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีความหลากหลายของชนิดนกติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาค มีนกเฉพาะถิ่น 176 ชนิด เป็นรองแค่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

กลับมาที่ทัพใหญ่ในช่วงนี้ หากฟ้าฝนลมอากาศเป็นไปเหมือนปีก่อนๆ ช่วงนี้ลมหนาวหรือลมว่าวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือคงจะพัดโหมลงสู่ภาคใต้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นลมส่งท้ายให้เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำเดินทางอพยพทางไกลจากภาคใต้ของประเทศจีนผ่านประเทศไทยไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ถิ่นอาศัยของเหยี่ยวดำขาวหน้าตาน่ารักชนิดนี้ ยังดำมืดเป็นปริศนาว่าจริงๆ แล้ว เหยี่ยวกว่าแสนตัวนี้อพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศไหนในอาเซียนเป็นส่วนใหญ่กันแน่ เพราะว่าในประเทศมาเลเซียสำรวจพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำที่เข้าบ้านเขา ณ อช.ทะเลบัน เพียง 3-4 หมื่นตัวเท่านั้น

Advertisement

ส่วนรายงานในประเทศสิงคโปร์ก็พบเพียงไม่กี่ร้อยตัวตลอดฤดูกาลอพยพต้นหนาว มีอีกไม่กี่สิบตัวเคยมีรายงานนานๆ ครั้งที่เกาะสุมาตรา หากคิดเลขในใจหักลบกลบจำนวนที่นับได้ ณ เขาเรดาร์ และเขาดินสอ จะเห็นว่ายังมีเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอีกหลายหมื่นตัว เหมือนกับว่าหลบหายไปอยู่ที่ใด เพราะจำนวนไม่สอดคล้องกันระหว่างการสำรวจ 2 ประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันอย่างประเทศไทยและมาเลเซีย

นับเป็นโจทย์วิจัยสำคัญที่จะใช้เพียงการสำรวจเหยี่ยวอพยพ ณ จุดสำรวจสำคัญๆ ไม่ได้แล้ว ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การติดตามด้วยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม เพื่อจับพิกัดการเดินทางของเจ้ากะปอม นักเดินทางไกล ว่าจริงๆ แล้วพวกมันอีกหลายหมื่นแอบอาศัยอยู่ที่ป่าดิบภาคใต้ของเราหรือเปล่า

คงต้องรอวันที่ปัจจัยด้านงบประมาณวิจัยพร้อม เราคงได้คำตอบที่ยังคงเป็นปริศนานี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image