‘เกษตรกร’ ไม่ยากอย่างคิด ‘มหาลัยชีวิต’ พี่เลี้ยงอาสาพัฒนาชีวิต-ชุมชน

กระแสของสถาปนิกหนุ่มที่หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงตามครรลองของอาชีพไม่นานก็หันหลังให้เมืองฟ้าอมร กลับบ้านไปปลูกผักอินทรีย์ ทำโฮมสเตย์เล็กๆ ท่ามกลางบรรยากาศสดชื่นเงียบสงบ จุดประกายฝันให้กับคนกรุงหลายต่อหลายคน

แต่ความเชี่ยวชาญในตำรา หรือบนหน้ากระดาษนั้นเป็นคนละเรื่องกับชีวิตจริง

แน่นอนว่า ถ้าไม่เริ่มก้าวแรก ก้าวต่อไปก็ไม่เกิด…เป็นที่มาของมหาวิทยาลัยชีวิต หรือ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ที่ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นตัวจริง ผ่านการลองผิดลองถูกกระทั่งก้าวขึ้นมาอยู่ ณ จุดปัจจุบัน พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้กับทุกๆ คนที่ก้าวเข้ามา

ล่าสุด ในงาน “มหกรรมวิชาการอุดมศึกษาเพื่อชีวิตและชุมชน” ครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดขึ้นบริเวณที่ทำการสถาบันฯ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต 40 จังหวัด 200 ชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเสนอผลงานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มีผู้เข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก

Advertisement

cats2

มหาลัยชีวิต : การศึกษา “ทางเลือก”

รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน บอกว่า เดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเป็นสถาบัน แต่มีความตั้งใจจะสนับสนุนเสริมสร้างคนในชุมชนให้เป็นชุมชนเรียนรู้ เป็นชุมชนเข้มแข็ง ที่สามารถพัฒนาศักยภาพจนยืนอยู่บนลำแข้งตนเองได้ และนำความรู้ที่มีไปช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือชุมชนได้ โดยในส่วนของสถาบันฯ เริ่มจากการไปขอความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน จากผู้นำชุมชนเข้มแข็งเหล่านี้ แล้วมาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นเวลากว่า 30 ปี ในที่สุดได้ร่วมกับผู้นำชุมชน นักวิชาการ ทำการวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้จากชุมชนแล้วพัฒนาเป็นหลักสูตรทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งระดับอุดมศึกษา นำกลับไปให้ชุมชนทั่วประเทศได้เรียน

Advertisement

มหาวิทยาลัยชีวิตคือ “รูปแบบ” หนึ่งของการเรียนรู้ ซึ่งเอาชีวิตเป็นเนื้อหา มีการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ที่ไม่ใช่การไปสอนให้ท่องจำ หรือถ่ายทอดวิชาความรู้ แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนคิดเป็นและคิดเป็นระบบได้ สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ ความรู้ที่สร้างเองเช่นนี้มีประสิทธิภาพสูง มีพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“เราใช้ประสบการณ์ของคนในชุมชนเป็นหลักสูตร และเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เป็นเวลากว่า 3 ปีจึงได้รับการอนุมัติให้เป็นสถาบันการศึกษา ซึ่งต่างจากที่อื่นตรงที่เป็นสถาบันการศึกษา “ทางเลือก” ที่จัดการศึกษาควบคู่กับการพัฒนาชีวิตและชุมชน ภายใต้แนวคิดของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งให้ผู้เรียนสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ มีความสุข ช่วยตนเองได้และช่วยผู้อื่นได้ เป็นชุมชนเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง” รศ.ดร.เสรี บอก และว่า

เป้าหมายของสถาบันแห่งนี้คือ ต้องการให้ทุกคนได้เรียนรู้เพื่อจะได้ “ทำเป็น” รู้จักการวางแผนการจัดการที่ดินของตน และถ้าไม่มีที่ดินจะต้องทำอย่างไร เรามุ่งให้เรียนเพื่อนำไปทำไปปฏิบัติได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ โดยที่เอาชีวิตของเราเป็นตัวตั้ง

1

วันละ 2 หมื่น ถ้าลงมือทำจริง

“เพราะทุกวันนี้ข้อมูลเต็มไปหมดจนเราหายใจไม่ออก ถ้าเราไม่มีวิธีคิด ไม่มีวิธีเชื่อมโยง ไม่มีกรอบคิดหลักคิดที่ดีเราก็จะถูกเขาหลอก เพราะข้อมูลมันท่วมจนเราไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร”

อธิการบดีมหาวิทยาลัยชีวิตบอก พร้อมกับเล่าว่า ปัจจุบันในโลกออนไลน์คำที่มีคนค้นหามากที่สุดคำหนึ่งคือ “วันละ 20,000 บาท” คำนี้มีที่มาจาก ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของเกษตรกรสายชิล ที่จังหวัดสระแก้ว อีกแรงบันดาลใจในโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” กระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านตนเอง

ดร.เกริกล้มเหลวในชีวิตมาก่อน เคยสูญเงินไปถึง 80 ล้านบาท ความที่มีความรู้ด้านเกษตรมาก่อน (ดุษฎีบัณฑิต สาขาวนศาสตร์) ที่สุดตัดสินใจกลับบ้านไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยนำที่ดินของพี่ๆ น้องๆ 55 ไร่ ปลูกต้นไม้ ภายในระยะเวลา 7 ปีเป็นป่าวนเกษตร ซึ่งทุกวันนี้เปิดให้คนสนใจเข้าไปเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ที่ว่าไม่ใช่การเข้าไปฟังบรรยาย

ทุกคนที่เข้าไปเรียนรู้จะต้องไปกวาดใบไม้ เรียนวิธีทำปุ๋ยอินทรีย์ ตัดแต่งกิ่งไม้ เรียนการเผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้ เรียนการเพาะ การตอน การทาบกิ่ง ทำอย่างนี้ทุกวันจนมีความชำนาญในแต่ละงาน ใช้นานประมาณ 4 เดือน โดยทุกเย็นจะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับพี่เลี้ยง เรียนรู้จากความผิดพลาด เอาประสบการณ์ที่ได้ในแต่ละเย็นมาถกกัน ไม่เพียงมีอาหารมีที่พักให้ ทุกคนที่เข้ามาเรียนยังได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 200 บาท และเมื่อขายดินขายปุ๋ยขายถ่านขายพันธุ์ไม้แล้ว ก่อนกลับยังแบ่งเงินรายได้ให้อีกกึ่งหนึ่ง นี่คือที่มาของประโยคที่ว่า อยู่ที่นี่แล้วมีเงินเป็นแสนได้

ดร.เกริกบอกว่าคนที่มาหาเขา เริ่มต้นจากไม่มี และบอกว่าทำไมเราไม่เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดต้อง “ทำเพื่อเรียนรู้” ไม่ใช่ “เรียนรู้เพื่อทำ” คือเรียนรู้จากการปฏิบัติ และสรุปผลจากสิ่งที่ทำ

ดร.เกริก เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่บอกเราว่า ถึงคุณไม่มีอะไร คุณก็มีได้ถ้าคุณได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง

“คำว่าวันละ 2 หมื่นบาท เขาบอกว่าผมไม่ได้คิดถึงเงินหรอก คนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนทุกวันนี้ต้องพูดด้วยภาษาเงิน เขาจึงใช้ “เงินสองหมื่นบาท” เป็นสิ่งที่ทำให้คนอยากเข้าไปดูว่าเขาทำอย่างไร”

 

ยิ่งทำ ยิ่งรู้ ยิ่งได้

สำหรับหลักสูตรของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนนั้น เน้นที่กระบวนการเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์ โดยเอาปัญหาในชีวิตในชุมชนในสังคมเป็นตัวตั้ง เรียนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองเป็นสำคัญ

“มีนักศึกษาของเราคนหนึ่งเป็นคนที่แม่กลอง เขาทำโครงงานเรื่องมะพร้าวไฟ ซึ่งมันหายไปแล้ว นอกจากทำเป็นอาหารแล้วยังทำเป็นยาได้ พอขึ้นมาฟื้นมะพร้าวไฟขึ้นมาใหม่ได้ เขาสามารถขายได้ต้นละ 500 บาท เพราะสิ่งนี้มันหายไปแล้ว แต่มันกลับมาได้เพราะการเรียนรู้ของนักศึกษาคนหนึ่ง

เช่นเดียวกับนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่ทำเรื่อง นวดอย่างไรจะไม่เจ็บ โดยการประยุกต์กับท่าของฤาษีดัดตนกับโยคะบางอย่างทำให้สามารถนวดได้อย่างผ่อนคลาย ไม่ต้องเจ็บบวมช้ำ เรื่องเหล่านี้เกิดมาจากการเรียนรู้เพื่อจะสร้างความรู้ใหม่ ไม่ใช่ไปท่องหนังสือ ไปก๊อบปี้แล้วเอามาส่งอาจารย์ ฉะนั้นถ้าทำโครงงานให้ดี วางเป้าหมายไว้ต่อไปอีก 3 ปีว่าอยากจะได้ผลอะไรในชีวิตเรา อยากให้เกิดอะไรที่จะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น ครอบครัวเราดีขึ้น ชุมชนเราดีขึ้น” อธิการบดีมหาวิทยาลัยชีวิตบอก และว่า

การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงเห็ดก็เช่นกัน ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องไปเพาะเห็ดถั่งเช่าไปขายได้กิโลกรัมละแปดแสน แต่อยากจะให้เรียนรู้ว่าทำอย่างไร ซึ่งชุมชนเองก็สามารถทำเห็ดที่แพงที่สุดได้โดยลงทุนไม่เกิน 500 บาท นั่นคือทำอย่างไรคนจะเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้โดยการจัดการของสถาบันฯ

ภายในงาน “มหกรรมวิชาการอุดมศึกษาเพื่อชีวิตและชุมชน” ครั้งที่ 2 นอกจากจะได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชนในเครือสถาบันแล้ว ยังได้ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านหลายๆ คน อาทิ พระครูพิทักษ์นันทคุณ ผู้นำกลุ่มฮักเมืองน่าน ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปราชญ์จุลินทรีย์ นฤทธิ์ คำธิศรี คนดีศรีเมืองสกล ผู้ซึ่งทิ้งเงินเดือนนับแสนมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด นายจำนงค์ ประวิทย์ ผู้นำชุมชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำ ฯลฯ เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต พ.ศ.2558

ลุงทองเหมาะ ปราชญ์จุลินทรีย์ แม้ว่าจะอยู่ในวัย 72 ปี แต่ยังสุขภาพแข็งแรงเพราะสุขใจกับการทำงานในไร่ในนาที่ปลอดสารเคมี เล่าถึงเคล็ดลับการทำนาได้ผลผลิตไร่ละ 2 เกวียนว่า ในอดีตเคยใช้สารเคมีเพราะเชื่อว่าจะให้ผลผลิตงาม แต่ยิ่งทำยิ่งจน เพราะปุ๋ยราคาลูกละเป็นพัน ปัจจุบันจึงทำปุ๋ยอินทรีย์เอง โดยศึกษาจากมหาวิทยาลัยชีวิต ไปดูงานที่ต่างประเทศก็หลายแห่งจนได้สูตรจุลินทรีย์มาทดลอง ต่อยอด กระทั่งสามารถทำให้ดินที่เสื่อมโทรมกลับมาให้พืชผลได้งาม

“ผืนดินในเมืองไทยหลายๆ แห่งตายหมดแล้ว น้ำก็ตาย เพราะในน้ำในดินไม่มีจุลินทรีย์ ไม่มีชีววัตถุ มีคนบอกให้ทำนาอินทรีย์ แต่ไม่ได้ผลหรอกถ้าดินไม่มีจุลินทรีย์” ลุงทองเหมาะบอก

2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image