เปิดโลกสตรีตอาร์ต รักกิจ ควรหาเวช “กำแพงหน้าต้องดีกว่านี้”

อีกหนึ่งศิลปินที่มีฝีไม้ลายเส้นเป็นที่จดจำ โดยเฉพาะงานกราฟิตี้สีสันจัดจ้าน เส้นคมหนักแน่น มาจากเทคนิคบล็อกสเตนซิลอันกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมลายเซ็นกำกับ “RUKKIT”

รักกิจ ควรหาเวช สตรีตอาร์ติสต์ สายกราฟิตี้ ที่ก้าวมายืนแถวหน้าในวงการอย่างเต็มตัว

เขาโตมาจากงานกราฟิกดีไซน์ โลดแล่นในวงการออกแบบจนเป็นที่รู้จัก เมื่อเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ออกแบบหน้าปกนิตยสาร Computer Art นิตยสารกราฟิกดีไซน์ชื่อดังจากอังกฤษถึง 2 ครั้ง และเคยสร้างกระแสงานกราฟิก เว็กเตอร์ ให้เป็นที่นิยมในวงการออกแบบไทย

ต่อมาไปตกปากรับคำกับ อนุทิน วงศ์สรรคกร นักออกแบบตัวอักษร ว่าจะช่วยทำงานออกแบบงานหนึ่ง รู้ตัวอีกทีก็ไปขึ้นเวทีบรรยายเรื่องฟอนต์ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญในวงการออกแบบตัวอักษร เขาจึงเลือกพูดสิ่งที่เขาถนัด คือ งานออกแบบ

Advertisement

เป็นการบรรยายที่สร้างชื่อเสียงอีกครั้ง เมื่อเขาคิด “One Block Stencil” บล็อกเดียวที่สามารถพ่นตัวอักษรสเตนซิลทั้งไทยและอังกฤษได้ ด้วยการจับจุดโครงสร้างตัวอักษรให้เหลือเส้นตรงกับเส้นโค้ง
เปิดโลกของรักกิจให้กว้างไปกว่าหน้าคอมพิวเตอร์ ตามมาด้วยคำเชื้อเชิญให้มาจับกระป๋องสเปรย์พ่นกำแพง จาก P7 (พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์) ศิลปินกราฟิตี้ชื่อดัง

โอกาสใหญ่มาถึงสำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับงานฟรีแฮนด์ (Free Hand) รักกิจจึงหยิบบล็อกสเตนซิลมาใช้ในงานออกแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาจนวันนี้

งานสเตนซิลสำหรับกราฟิตี้ คือ การพ่นสีผ่านแม่พิมพ์ฉลุลาย

Advertisement

น่าสังเกตว่าการใช้บล็อกสเตนซิลทำให้งานเขามีเอกลักษณ์เป็นรูปทรงเรขาคณิตประกอบกันเป็นภาพ

“งานผมมีความเป็น Geometric, Bitmap และ Lo-Res (Low Resolution) เพราะบล็อกมีโครงสร้างไม่กี่แบบเป็นข้อจำกัด จะทำงานรายละเอียดเยอะไม่ได้ แต่จะท้าทายเราว่าทำมากที่สุดได้แค่ไหน ทั้งคอนเซ็ปต์ อารมณ์ กิริยา และข้อจำกัดบนแต่ละกำแพง”

จากช่วงแรกที่ใช้บล็อกสเตนซิลกว่า 20 ชิ้นต่องานกราฟิตี้หนึ่งชิ้น ปัจจุบันมีบล็อกเพียง 2 ชิ้น คือ เส้นตรงกับเส้นโค้ง เขาก็ทำงานได้แล้ว

“บล็อกที่น้อยลงทำให้เราใช้จินตนาการได้เยอะขึ้น พอมีข้อจำกัดทำให้เราพยายามแก้ไขโจทย์ ใช้ความคิดเยอะกว่า เมื่อก่อนทุกอย่างเป็นบล็อกตัดมือหมด จนตอนหลังเริ่มมีฟรีแฮนด์มาผสมบ้าง” รักกิจเล่า

เหตุที่เดินมาจากสายงานกราฟิกดีไซน์ รักกิจจึงนำความรู้จากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานกราฟิตี้ ทั้งการใช้แบบตัวอักษร แพตเทิร์น และสีสดๆ

รักกิจ บอกว่า เวลาเลือกสีมาใช้มักเป็นคู่สีในคอมพิวเตอร์ และมีแรงบันดาลใจจากสีรถบรรทุกที่ใช้สีแรงและมัน สีสันเข้ากับสไตล์คนไทยที่รักสนุก

จุดเด่นงานของเขาอีกอย่างหนึ่ง คือ การนำรูปสัตว์มาใช้ในการออกแบบ เพราะคิดว่างานสตรีตอาร์ตที่เป็นรูปสัตว์บนกำแพงบวกกับสีสันจัดจ้านจะทำให้คนมองรู้สึกดี

เขาบอกว่า แรกเริ่มก็มองกราฟิตี้ว่าวิธีการเหมือนช่างกลที่พ่นสถาบันกระจายไปให้เยอะที่สุด แต่พอมีคนชวนมาทำ ก็เริ่มศึกษาวัฒนธรรมของกราฟิตี้กับสิ่งที่ตัวเองชอบ

แล้วพบว่า กราฟิตี้อาจเป็นเพียงการพ่นชื่อก็ได้ แต่สตรีตอาร์ต คือ ศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง รูปปั้น งานจัดวาง ซึ่งกราฟิตี้บางอย่างก็ไม่เข้ากับสตรีตอาร์ต

“สตรีตอาร์ตทำเสร็จก็เก็บอารมณ์ไว้ตรงนั้นเลย ใครจะมาบอมบ์ (สร้างงานทับ) ก็เหมือนต่อยอดให้งานเรา ขึ้นชื่อว่า “สตรีต” คือ ที่สาธารณะ เราไม่ใช่เจ้าของกำแพง ไม่มีใครมาจ้างเราไปเพ้นต์ตรงนั้น เพียงแต่เสร็จแล้วเราได้อะไรบ้าง เจอเทคนิคใหม่ บังเอิญเจอคู่สีแปลก ทำเสร็จช้าหรือเร็วกว่าเพื่อน วางแผนมาดีแค่ไหน แก้ปัญหายังไง ทุกอย่างมีความทรงจำ”

รักกิจเล่าต่อว่า “ช่วงหนึ่งที่คนมาปาสีใส่งาน ผมก็ประชดด้วยการทำอีกงานหนึ่ง เป็นเป้าปามีแต้มให้ เราประชดกันด้วยอะไรแบบนี้มากกว่า”

ถามเขาว่าเคยทำบนกำแพงที่ไม่ได้รับอนุญาตไหม

ชายหนุ่มยิ้มสนุก ก่อนตอบว่า “เคย”

“ตื่นเต้นดี ตอนนั้นมีน้องช่างภาพมาถ่ายวิดีโอ ผมก็บอกว่าถ่ายรายการอยู่ครับ (หัวเราะ) แต่วิธีการทำงานผมจะช้า ยิ่งลุ้นมาก แต่ส่วนใหญ่คนจะชอบมากกว่าเกลียด ร้านค้าละแวกใกล้เคียงเอาน้ำเอาเก้าอี้มาให้ เขาไม่ได้เกลียดคนทำศิลปะหรอก เขาเกลียดคนที่ไม่สร้างสรรค์มากกว่า ทำชุ่ยๆ ไม่ได้ให้คุณค่ากับใคร ก็เหมาะที่เขาจะเกลียด แต่เราไปทำงานศิลปะใครผ่านไปมาก็ยืนดูให้ความสนใจ เราไม่ได้ทำอะไรน่ากลัว คนไม่ได้เกลียดงานสตรีตอาร์ตหรอก”

ส่วนศิลปินสตรีตอาร์ตที่เป็นแรงบันดาลใจ คือ “P7” ที่คะยั้นคะยอให้เขามาทำงาน และคอยเตือนว่าอย่าทำงานซ้ำ ทำตัวนี้ได้แล้วก็ให้ลองทำตัวอื่น

หลักการของ P7 คือ ทำตัวไหนไปแล้วก็ฆ่าให้มันตาย

“พี่พีชอบชวนไปทำกำแพง เราก็ต้องคิดโจทย์ใหม่ตลอดเวลา กระตุ้นตัวเอง เป็นแรงบันดาลใจให้กล้าทำสายงานนี้เต็มตัว ทั้งคำแนะนำและโอกาสที่เขาหยิบยื่นให้”

ส่วนศิลปินต่างชาติรักกิจบอกว่า ชอบหลายคน แต่ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจ เพราะสไตล์ต่างกันชัดเจน

“เรามาต่างจากคนอื่นจนไม่รู้ว่าจะมีไอดอลทำไม ไม่ได้มองว่าอยากทำงานแบบใคร”

ศิลปินหนุ่มตอบคำถามถึงสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหลงานสตรีตอาร์ต เพราะสนุกกับ “ทุกอย่าง”

“ลุ้นตั้งแต่ออกแบบ เห็นกำแพงก็คิดว่าตัวอะไรจะอยู่บนนั้นดี เล่าเรื่องอะไร ทำไปแล้วคนแถวนั้นจะรู้สึกเหมือนเราไหม ทำคนเดียวสนุกอีกแบบ แต่หลายคนสนุกกว่า เหมือนออกไปเล่นกับเพื่อน พัฒนาศักยภาพตัวเอง เราสร้างงานได้ดีกว่าเก่าไหม ทำงานไม่ดีก็เฟล”

“คิดว่ากำแพงหน้าต้องดีกว่านี้” รักกิจกล่าว

พบกับผลงานล่าสุดของ “รักกิจ ควรหาเวช” กับการเนรมิตบู๊ธสำนักพิมพ์มติชนในสไตล์ของเขา พร้อมของพรีเมียม จัดให้เฉพาะแฟนหนังสือมติชน ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 วันที่ 29 มีนาคม ถึง 10 เมษายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image