นนทพร อยู่มั่งมี เปิดประวัติศาสตร์ ‘ธรรมเนียมพระบรมศพ’ จากความเชื่อในอดีต ถึงข้อเท็จจริงปัจจุบัน

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม เป็นพระราชพิธีสำคัญ ตามคติความเชื่อของชาวพุทธไทยแต่โบราณที่แสดงถึงความอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ประกอบด้วยขั้นตอนและธรรมเนียมต่างๆ ที่เป็นแบบแผนเด่นชัดสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่มีธรรมเนียมหลายประการที่เปลี่ยนแปลง แก้ไข ลดทอนขั้นตอนลงเพื่อความเหมาะสมของบ้านเมืองแต่ละยุคสมัย

ซึ่งในอดีตงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นเรื่องราวเฉพาะกลุ่มทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ทราบถึงขั้นตอนและข้อเท็จจริง จึงขาดความรู้ความเข้าใจและสิ่งที่ตามมาคือ ความเชื่ออย่างผิดๆ

ด้วยเหตุนี้เอง นนทพร อยู่มั่งมี จึงรวบรวมหลักฐานและความรู้จัดทำหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างครบถ้วน

Advertisement

สำหรับ นนทพร เป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2521 จบชั้นประถมจากโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน ก่อนจะศึกษาต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน

“เริ่มสนใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเด็กจากการท่องเที่ยว คือเปิดหนังสือดูรูปสถานที่ เช่น วัดร้าง วัดเก่าๆ ในอยุธยา แล้วรู้สึกว่าที่นี่สวย อยากไปดูจังเลย เริ่มต้นพ่อก็พาไปเที่ยว ไปอยู่หลายปีก็คิดว่าดูอย่างเดียวไม่พอแล้ว เลยเริ่มอ่าน เริ่มหานิตยสารมาอ่าน สะสมความรู้และประสบการณ์ไปเรื่อยๆ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนประวัติศาสตร์ ตั้งใจทางนี้มาแต่แรกเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองทำแล้วออกมาค่อนข้างดีที่สุดจากหลายสิ่งที่เคยทำ ตั้งแต่ปริญญาตรีเป็นต้นมาจึงเรียนด้านประวัติศาสตร์มาตลอด”

ด้วยความชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก นนทพร จึงเข้าศึกษาปริญญาตรีภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะเรียนปริญญาโท นนทพร มีโอกาสได้ติดตาม อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ เข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน โดยได้ฟังบรรยายและเข้าชมที่เก็บพระโกศ หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาเกิดความคิดว่าจะค้นคว้าต่อ

“แต่ยังไม่มีจังหวะที่จะรวบรวม จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ มีเพื่อนมาถามว่าเรามีเรื่องเกี่ยวกับโกศเจ้านายไหม ผมเลยเล่าต่อจากนั้นอีกว่าไม่ใช่โกศอย่างเดียวนะ เกี่ยวกับงานพระศพยังมีเรื่องอื่นด้วย เขาก็บอกให้ลองไปค้นมา จากนั้นได้ลงเป็นบทความในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ชิ้นนี้เป็นต้นฉบับแรกจากนั้นเพื่อนได้ชักชวนให้ขยายเพิ่มเติมส่วนขั้นตอนและรายละเอียดออกมาเป็นเล่ม”

เป็นที่มาของหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” สำนักพิมพ์มติชน หนังสือเล่มสำคัญที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพระเมรุมาศในทุกมิติ

– เริ่มศึกษาเรื่องพระเมรุมาศและธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านายอย่างไร?

จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราได้ยินตอนเป็นเด็ก แต่เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมามีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก จนกระทั่งเรียนปริญญาโทได้ติดตามอาจารย์จุลทัศน์เข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม อาจารย์ได้นำบรรยายและพาไปดูที่เก็บโกศรูปแบบต่างๆ เวลาที่มีข้าราชการผู้ใหญ่หรือผู้มีบรรดาศักดิ์เสียชีวิต จะมาเบิกโกศจากตรงนี้ไป และยังได้ความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวกับงานพระบรมศพเวลาสวรรคตและงานพระศพเวลาสิ้นพระชนม์จะทำอย่างไร

– การรวบรวมเนื้อหาในเล่ม?

ส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับพระศพเยอะมาก แต่มีจำนวนหนึ่งที่ต้องค้นจากข้างนอกเช่น ห้องสมุด หรือเพื่อนหามาให้หรือชี้แหล่งให้ก็มี

หลายเรื่องคนอาจจะยังไม่รู้รายละเอียด เช่น เรื่องการสุกำศพ หรือขั้นตอนเครื่องขาวแต่งศพ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าการมัดตราสัง เพื่อนำลงพระโกศมีขั้นตอนยังไง เรื่องนี้พอดีผมเจอเอกสารว่าเขาทำสุกำศพกันยังไง เป็นจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เขียนถึงรัชกาลที่ 2 เป็นเอกสารที่ผมมีอยู่แล้วแต่ไม่เคยเปิดดู ก็เอาเอกสารมาจำแนกแล้วค่อยๆ เรียบเรียงทีละเรื่อง

– ตัวอย่างธรรมเนียมที่ปรากฏในเล่ม?

การเผาหลอกและการเผาจริง เป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นปลายรัชกาลที่ 5 ตามหลักแล้วเป็นเรื่องของ “กลิ่น” เนื่องจากการทำพระศพในสมัยก่อนจะไม่มีการฉีดยา และเวลาถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงจะแยกระหว่างพระบุพโพ กับพระสรีระออกจากกัน โดยจะเผาพระบุพโพก่อนที่เมรุเล็กอาจจะเป็นวัดข้างเคียง แล้วเผาพระสรีระตามทีหลังที่ท้องสนามหลวง ตามฐานันดรของเจ้านายแต่ละองค์

จนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีธรรมเนียมการเผาหลอกเผาจริง โดยจะเผาพิธีก่อนเพื่อไม่ให้มีกลิ่นรบกวน แล้วรอให้บรรดาแขกเหรื่อกลับจึงเผาจริงตอนกลางคืนโดยจะเป็นพระราชพิธีภายในของเจ้านาย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่งานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นเรื่องของการภายใน เพราะเป็นไปตามธรรมเนียม ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีอยู่ในหนังสือ

– คาดหวังให้คนอ่านได้อะไรกลับไป?

อย่างน้อยคนที่อ่านหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” จะได้กลับไปคือ

1.ความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น เรื่องที่คนเข้าใจผิดว่ามีการ “เสียบ” เมื่อมีการอัญเชิญพระบรมศพและพระศพลงสู่พระโกศ เเต่ความจริงเเล้วไม่ใช่ เรามีหลักฐานมาแสดงแล้วว่าเป็นความเข้าใจผิดในเรื่องของอุปกรณ์บางอย่างที่อยู่ในพระโกศ ซึ่งความจริงเป็นไม้สำหรับค้ำคาง

2.เข้าใจลำดับขั้นตอนในงานพระราชพิธี

3.เข้าใจเรื่องของที่มาว่าประเพณีนี้มีที่มาอย่างไรและมีพัฒนาการอย่างไร เช่น ทำไมต้องเผาหลอกเผาจริง สมัยอยุธยาทำแบบไหน หรืออย่างพิธีลอยอังคาร สมัยโบราณจะเอาพระบรมอัฐิลงเรือไปลอยที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร แต่ปัจจุบันเก็บพระบรมอัฐิที่วัดสำคัญ

เป็นสิ่งที่เราอยากให้เห็นว่าแต่ละขั้นตอนมีที่มา มีพัฒนาการและมีความเปลี่ยนแปลงโดยเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจจะเกิดจากความพึงพอใจของเจ้านายพระองค์นั้น หรือเรื่องของภาวะบางอย่าง เช่น เรื่องของการเมือง เป็นต้น

– นอกจากหนังสือมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องจากงานพระเมรุมาศ?

กำลังจะมี “ทัวร์ ตามรอย ‘ทัองพระเมรุ’ กลางกรุงศรีอยุธยา” เป็นการตามรอยเรื่องของธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพในสมัยอยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของกรุงรัตนโกสินทร์ในเรื่องของการออกพระเมรุ

ทัวร์ครั้งนี้จะพาไปดูสถานที่ตามประวัติศาสตร์จริง พร้อมบรรยายว่าแต่เดิมเขาออกพระเมรุกันแบบไหน มีสนามกลางเหมือนสนามหลวงหรือไม่ แล้วก่อนหน้าการมีสนามกลางหรือพื้นที่การออกพระเมรุเฉพาะเขาทำกันอย่างไร และบริเวณใดที่ใช้ในการประกอบราชพิธี รวมถึงบริเวณที่มีพิธีต่อเนื่อง เช่น สถานที่เก็บพระบรมอัฐิ สถานที่ตั้งขบวนอัญเชิญพระบรมศพ และทางไปยังท่าน้ำเพื่อลอยอังคาร เป็นต้น

หลายแห่งพอมีร่องรอยให้เห็นอยู่ บางจุดจะเห็นค่อนข้างชัดเจน เช่น ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ บริเวณท้ายจระนำหรือท้ายพระวิหาร และทางเดินเข้าออกของฝ่ายในที่เชื่อมระหว่างวังกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ยังมีทางหรือร่องรอยเดิมอยู่ รวมถึงปราสาทที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐิเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ก็ยังอยู่ ซึ่งอาจจะชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลาบ้าง แต่ยังมีฐานมีบริเวณให้เห็น

นอกจากนี้ ยังมีวัดหลายแห่งที่ปรากฏในพงศาวดารว่าใช้ทำพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย บางวัดมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงพระเมรุมาศ โดยการจำลองจากระเมรุที่ทำด้วยไม้ มาเป็นพระเมรุก่ออิฐในรูปแบบพระเมรุสมัยอยุธยา เป็นต้น และมีเรื่องของเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่าจะทำให้เข้าใจและมองภาพพระเมรุและพระราชพิธีในสมัยอยุธยาได้ดีขึ้น

– ยังมีเรื่องไหนที่อยากศึกษาอีกไหม

ยังอยากจะศึกษาอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องของการเปลี่ยนธรรมเนียมในงานพระบรมศพ และเรื่องของประวัติศาสตร์เมือง

เพราะในเรื่องของการศึกษา ผมชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน อย่างตอนผมทำวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโท ผมสนใจเรื่องของชาวนา เรื่องของคดีความในเขตรังสิตเพราะเป็นพื้นที่ที่แปลก เป็นพื้นที่เปิดขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยแต่เก่าก่อน มีคนกลุ่มต่างๆ เข้าไปใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์กัน มีเรื่องของโจรผู้ร้าย เรื่องการแย่งชิงที่นา จุดนี้เห็นถึงปัญหาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างมาก เป็นเรื่องที่เราสนใจและอยากจะทำเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนเป็นวิทยานิพนธ์

ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ได้ทำเป็นวิทยานิพนธ์ ตอนเรียนปริญญาโท ผมอยากรู้ว่ามีองค์กรหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นพร้อมกับการสร้างระบบเมืองใหม่ หรือการเกิดกรุงเทพฯในแบบใหม่ ที่เปลี่ยนไปด้วยการตัดถนนมากขึ้น มีการพัฒนาการคมนาคมจากทางน้ำมาอยู่ทางบก นั่นคือการเกิดตำรวจ กับเรื่องบนท้องถนน เป็นปฏิสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านรู้สึกกับตำรวจและตำรวจมีต่อชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านรู้สึกว่าตำรวจจราจรจู้จี้กับชาวบ้าน แล้วถ้าเทียบกับสมัยรัชกาลที่ 5 ผลที่เกิดขึ้นไม่ต่างกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้เราจะเห็นรากบางอย่างในปัจจุบันที่มีมาจากอดีต

– ถ้าจะให้คำจำกัดความหรือคำนิยาม “ประวัติศาสตร์” จะอธิบายว่าอย่างไร?

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของการท่องจำแบบที่เข้าใจ แต่ประวัติศาสตร์คือเรื่องของกระบวนการคิดและการวิเคราะห์ บนพื้นฐานของการใช้เอกสารและหลักฐานมารองรับ เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องที่เลื่อนลอย ไม่ใช่เรื่องที่มาจากจินตนาการหรืออยากจะให้เกิดยังไงก็ได้ แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลบนหลักฐาน

– ครอบครัวสนับสนุนไหม ตอนเลือกเรียนด้านประวัติศาสตร์ เพราะยุคนั้นน่าจะหางานยาก?

จริงๆ แล้วภาควิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่หางานยากในทุกยุคนะครับ (หัวเราะ) แต่ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือที่บ้านเข้าใจ ไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องสาขาวิชาที่ลูกจะเรียน แค่ลูกเรียนแล้วมีความสุข และทำได้ดีในสิ่งที่เลือกก็ให้การสนับสนุน

ตลอดการเรียนก็เป็นไปตามขั้นตอน ผมเป็นคนชอบทำอะไรให้จบไปเป็นเรื่องๆ พอเรียนจบปริญญาตรี ก็เรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก แล้วก็มีเรียนภาษาเสริมบ้าง

– บุคคลใดที่มีผลต่อความสนใจในการศึกษางานประวัติศาสตร์?

ในแวดนักวิชาการคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์

ผมชอบงานเขียนของอาจารย์นิธิ เพราะเป็นงานเขียนที่เปิดโลกทรรศน์หลายเรื่อง ทำให้เราเห็นเรื่องการใช้หลักฐานที่หลากหลายมากขึ้นและมุมมองในเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ได้มองเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่แคบอย่างที่เขาบอกกัน แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่จะศึกษาต่างหาก

– การสร้างงานประวัติศาสตร์ ควรเป็นอย่างไร?

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เราต้องค้นคว้าและเขียนขึ้นมา เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจกับมัน ต้องเคารพการใช้เอกสาร ต้องมีวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่เข้มงวด ต้องไม่ตีความเกินเอกสาร หรือพยายามใช้อคติแทรกเข้าไปในงานมากจนเกินไป ซึ่งงานทุกชิ้นมันมีอคติทั้งนั้น เพียงแต่ว่าหากใช้เอกสารในทางที่ไม่เคารพ หรือไม่เข้าใจว่าเอกสารบอกอะไร ผมคิดว่าเป็นงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจะเกิดผลเสียตามมาได้ เช่น การเข้าใจผิด

– แบบไหนจึงถือว่าประสบความสำเร็จในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์?

ผมมองว่าปัจจุบันเราให้ค่ากับบางเรื่อง เช่น การทำวิจัย เรื่องของการจัดการตามระบบ ในลักษณะการจัดการอุดมศึกษาอย่างมาก แต่ผมมองว่าประวัติศาสตร์มันควรเริ่มต้นที่การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นที่การถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจ ดังนั้น การจะประสบความสำเร็จด้านนี้ ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่งานวิจัย จำนวนเปเปอร์ที่ทำ หรือรางวัลที่ได้ เพราะถ้าคุณอยู่ในสายงานที่ต้องสอนคนแต่คุณกลับสอนคนไม่ได้ แม้จะมีผลงานมากมายแค่ไหนก็ตาม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่

– หากไม่มีการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคมจะเป็นอย่างไร?

ก็คงเหมือนคนไร้ราก เหมือนเรารู้ว่าตัวเองชื่ออะไร แต่ไม่รู้จักปู่ ย่า ตา ยาย ของตัวเอง ผมมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีราก กว่าจะเป็นปัจจุบันมันมีความเป็นมา ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการทำให้เข้าใจถึงความเป็นมาของตัวเอง สังคม และวัฒนธรรมที่เรามี

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจโลกในปัจจุบันมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมุมมองทางความคิดและการมองสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ว่าทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วมันมีบริบทหรือมีเงื่อนไขใด ไม่ใช่เรื่องของอดีตอย่างเดียว

ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการเสริมสร้างกระบวนการทางความคิดของคน ทำให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงและไม่เชื่ออะไรอย่างง่ายๆ


สำหรับ “ทัวร์ ตามรอย ‘ทัองพระเมรุ’ กลางกรุงศรีอยุธยา” จัดเส้นทางทัวร์วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เป็นวิทยากร สนใจติดต่อมติชนอคาเดมี 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 หรือโทร 08-2993-9097, 08-2993-9105

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image