มองโลกในแง่ร้ายอย่างสร้างสรรค์ : คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน

เห็นด้วยไหมคะว่าปัจจุบันนี้มีแนวคิดว่าการมองโลกในแง่ร้ายเป็นเรื่องของคนอมทุกข์ ท้อแท้ สิ้นหวัง การมองโลกในแง่ดีเป็นที่ยอมรับมากกว่าในฐานะคนคิดบวก สร้างสรรค์ และมีความสุขในชีวิต มีครั้งหนึ่งที่นักศึกษาสาวซึ่งไม่สบายด้วยโรควิตกกังวลมาปรึกษาหลังเธอกลัวจนไม่กล้าไปสอบ เธอคิดล่วงหน้าในแง่ร้ายว่าถ้าสอบไม่ผ่านขึ้นมา ชีวิตหลังจากนั้นจะต้องลำบาก พ่อแม่ต้องผิดหวัง ตัวเองต้องซ้ำชั้น ต้องโดนเพื่อนในชั้นปีดูแคลน ต้องแยกจากเพื่อนสนิท มีความกลัวอีกหลายอย่างที่ฟังดูก็รู้ว่าเกินครึ่งเป็นจินตนาการของเธอเอง พ่อแม่บอกว่าเรียนไม่ไหวก็ไม่ว่าอะไรแต่เธอก็ยังจินตนาการไปว่าต่อให้พ่อแม่พูดแบบนี้ ที่จริงก็ต้องแอบร้องไห้ กระทั่งเรื่องเพื่อนดูแคลนแท้จริงไม่เคยมีเพื่อนคนไหนแสดงปฏิกิริยาดังกล่าวกับเธอเลยแต่เธอก็จินตนาการล่วงหน้าว่าเพื่อนคนแอบนินทาเธอลับหลังอย่ารังเกียจแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนก็ตาม ในวันที่เธอรักษาจนอาการดีขึ้น เรื่องที่น่าแปลกใจกลับเกิดขึ้นตามมาค่ะ

“ตอนนี้หนูไม่คิดมากเรื่องการเรียนแล้วค่ะ อ่านหนังสือได้ก็อ่าน พอเหนื่อยก็หยุดพัก ไปสอบก็ไม่คาดหวังอะไรมาก ไม่กลัวไปล่วงหน้าว่าพ่อแม่หรือเพื่อนจะตำหนิแล้วแต่กลายเป็นว่าผลการเรียนหนูแย่ลงค่ะ หนูสบายใจเกินไปและมองโลกในแง่ดีตลอดเวลาว่าการเรียนไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต การสอบตกก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตเหมือนกัน หนูเลยเรียนแบบสบายๆ จนคะแนนแย่ลงทั้งที่เมื่อก่อนตอนหนูเครียด หนูคะแนนดีกว่านี้มาก”

“แต่ถ้าหนูเครียดมากเหมือนเมื่อก่อน หนูก็จะไม่ไปสอบ คราวนี้ไม่ใช่แค่คะแนนแย่ลงแต่หนูจะต้องสอบซ่อมเลยนะคะ”

“งั้นหนูอยากเครียดขึ้นกว่าทุกวันนี้แต่ไม่มากเท่าเมื่อก่อนได้ไหมคะ”

Advertisement

ตอนฟังก็รู้สึกขบขันอยู่ในใจค่ะ เพิ่งเคยมีผู้ป่วยขอให้เครียดขึ้นอีกหน่อยเพราะรักษาแล้วมีความสุขและสบายใจมากเกินไป ถ้าลองพิจารณาตามที่เธอร้องขอแล้ว การมองโลกในแง่ร้ายและกังวลล่วงหน้าแบบพอประมาณเพื่อให้ตื่นตัวและมีแรงลุกขึ้นมาอ่านหนังสือไม่ให้คะแนนแย่ลงก็จัดเป็นการเดินทางสายกลางอยู่เหมือนกัน ดังนั้นการมองโลกในแง่ร้ายจึงมีข้อดี เพียงแต่มีหลักการเล็กน้อยสำหรับการมองโลกในแง่ร้ายอย่างสร้างสรรค์ค่ะ

มาดูการ์ตูนของหนุ่มที่ชีวิตจริงก็ทุกข์โดยไม่จำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้ายเลย “Undergroun’ Dogs” ลิขสิทธิ์ในไทยโดย DEX Press กล่าวถึง “ซาโกะ อากิระ” เด็กหนุ่มนักกีฬาที่ต้องทำงานหลังจบมัธยมต้นเพราะไม่มีเงินพอที่จะเรียนต่อ เขาทำงานเป็นช่างในโรงงานท่าเรือ เป็นชนชั้นล่างสุดที่ถูกรุ่นพี่กลั่นแกล้งอยู่เสมอ กติกาง่ายๆ ของน้องใหม่ในโรงงานนี้คือถ้ารุ่นพี่ใช้ให้ทำอะไรต้องยิ้มรับอย่างเต็มใจ ไม่ปฏิเสธ และหากโดนชกก็ต้องยอมให้ชกโดยไม่ปริปากบ่น ถ้ามีเรื่องกัน คนที่จะถูกไล่ออกจะไม่ใช่รุ่นพี่ซึ่งเป็นช่างที่มีประสบการณ์แน่ ซาโกะใช้ชีวิตอย่างไร้ความหวังจนกระทั่งได้พบกับ “จิคาเนะ” เด็กสาวอาชีพสตันต์แมนที่มาถ่ายทำฉากบู๊บริเวณนั้น เธอไม่ชอบใจที่ซาโกะยอมเป็นกระสอบทรายให้รุ่นพี่ซ้อมโดยไม่ตอบโต้แต่ซาโกะก็ไม่รู้จะสร้างความหวังให้ชีวิตอย่างไรในเมื่อต้องอดทนทำงานที่นั่นต่อไปเพื่อให้มีเงินมาดำรงชีวิต หลังจากดูหนังที่จิคาเนะเคยแสดงแทนเมื่อ 2 ปีก่อน ซาโกะก็พบว่าอดีตนักกีฬาจบแค่มัธยมต้นที่มีดีแค่หลบหลีกเก่งและร่างกายอึดอย่างเขาอาจจะสามารถเป็นสตันต์แมนได้ เมื่อนั้นโลกของเขาก็เปลี่ยนไปค่ะ การถูกกดขี่ในโรงงานที่เคยทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ก็ยังคงทำให้ทุกข์เหมือนเดิมเพียงแต่มันถูก “กั้นขอบเขต” ให้เฉพาะเจาะจงขึ้น จาก “ชีวิตอย่างทุกวันนี้ = ทุกข์” กลายเป็น “เวลาทำงาน = ทุกข์” และ “เวลาฝึกซ้อมเป็นสตันต์แมน = สนุก” และนี่คือกุญแจสำคัญของการแปรการมองโลกในแง่ร้ายให้สร้างสรรค์ขึ้นค่ะ คือทำมันให้ “เฉพาะเจาะจง” มากขึ้น

คุณจูลี โนเรม นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากเวลส์ลีย์คอลเลจในแมซซาชูเซตกล่าวว่ามีหลายงานวิจัยในอดีตที่พบว่าการมองโลกในแง่ร้ายอาจเป็นเครื่องมือในการรับมือกับปัญหาที่ดี มีชื่อเฉพาะว่า “defensive pessimism” ซึ่งมีหลักการสำคัญคือการพยายามจินตนาการถึงผลลัพธ์ที่ไม่ดีของเหตุการณ์นั้นเพื่อให้เรารู้สึกตื่นตัวและพยายามหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีนั้นขึ้น อย่างไรก็ตามจะต้องไม่ทำให้ผลลัพธ์โดยรวมแย่ลง เช่น จินตนาการว่าเราอาจสอบตกและอายเพื่อน เราอาจรู้สึกเครียดและกังวลแต่ก็ทำให้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเพื่อป้อกันการสอบตก อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่เครียดมากจนกระทั่งทำให้เรียนแย่ลงหรือกลัวจนกระทั่งไม่กล้าไปสอบ คุณโนเรมบอกว่าวิธีนี้ทำให้เราลดความคาดหวังลงมาอยู่ในระดับความเป็นจริงได้เพราะมีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่าการมองโลกในแง่ดีอาจไม่เป็นผลดีต่อตัวเรามากไปกว่าเพียงแค่ทำให้สบายใจไปวันๆ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การมองโลกในแง่ร้ายที่สร้างสรรค์ควร “เฉพาะเจาะจง” ยกตัวอย่างเช่นถ้าไม่อ่านหนังสือจะสอบตกก็ต้องเฉพาะเจาะจงว่าการสอบตกส่งผลต่อชีวิตอย่างไรบ้างอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ต้องเสียเวลาสอบใหม่ อดไปเที่ยว อาจซ้ำชั้นจนเรียนจบช้า การมองอย่างไม่เฉพาะเจาะจง เช่น สอบตกแล้วชีวิตจะแย่แต่แย่อย่างไรก็ไม่รู้ไม่ทำให้การมองโลกในแง่ร้ายเป็นผลดีค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image