ค้นหาสุดยอดคนรุ่นใหม่! ดีไซน์ ‘โฟมยางพารา’ เป็นผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต

เพื่อค้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุโฟมยางพารา รับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราของไทย จึงเปิดรับผลงานประกวด “RUBBERLAND DESIGN CONTEST FUTURE LIVING ปั้นยางให้เป็นงาน” ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา

จนได้ผลงานจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น 277 ชิ้น

ภายใต้คอนเซ็ปต์ Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต โดยกำหนดให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น

อุทยานการเรียนรู้เรื่องยางพารา

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ บอกว่า ภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้ามาทั้งหมด 277 ชิ้น ถือว่าเหนือความคาดหมาย ไม่คิดว่าจะมีทีมส่งเข้ามามากมายขนาดนี้

Advertisement

“ผลงานที่ส่งเข้ามามีความหลากหลายในเรื่องของการออกแบบและได้เห็นถึงความคิดของน้องๆ นักออกแบบที่มองผู้บริโภคแห่งอนาคตผ่านผลงานออกแบบในมุมมองต่างๆ ถือว่าทำการบ้านมาค่อนข้างดีทุกทีม ในส่วนความเข้าใจเรื่องวิถีชีวิตแห่งอนาคต ผมว่าเด็กๆ มีความเข้าใจค่อนข้างดีนะ ในแง่การใช้ชีวิตของคนหลายวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชราที่มีแนวโน้มจะถูกตีกรอบด้วยปัจจัยด้านเวลา พื้นที่ และสิ่งแวดล้อม น้องๆ มีความคิดที่สร้างสรรค์และบางทีมก็เสนอสิ่งที่เรียกว่าไม่คาดคิดก็มี”

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

ฐวัฒน์บอกอีกว่า ส่วนตัวค่อนข้างพอใจมากกับจำนวนผลงานและคุณภาพของชิ้นงานออกแบบ รู้สึกเลยว่าน้องๆ มีการทำการบ้านค่อนข้างดี และคณาจารย์ของแต่ละสถาบันการศึกษาก็ให้ความสนับสนุนกับโครงการนี้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายก็ว่าได้

เป็นความเห็นของคณะกรรมการที่ดูเหมือนจะเริ่มหนักใจเพราะผลงานทุกชิ้นล้วนแต่มีความน่าสนใจ

Advertisement

“แต่การประเมินผลงานที่จะผ่านเข้ารอบนั้นเราไม่ได้ตัดสินด้วยมุมมองของคนเพียงคนเดียว แต่เราส่งผลงานไปยังหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันประเมิน อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงพาณิชย์ และ TCDC นักวิจัยด้านยางพารา นักออกแบบ นักการตลาด ผู้จัดการฝ่ายผลิต แล้วจึงสรุปคะแนนรวมตามเกณฑ์ที่เรากำหนด” ฐวัฒน์กล่าว

อุทยานการเรียนรู้เรื่องยางพารา

สำหรับผลงานที่ผ่านเข้ารอบจะต้องมีคะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดคือ 1.ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ 30% 2.การคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสามารถผลิตได้จริง 30% 3.การใช้วัสดุจากโฟมยางพารามากกว่า 60% ของชิ้นงาน 20% 4.ความสามารถต่อยอดทางการตลาดและสร้างแบรนด์ได้ 20%

และในที่สุดผลงานกว่าสองร้อยชิ้นได้ถูกคัดสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในวงการออกแบบมาร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ม.ล.ภาสกร อาภากร หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนานักออกแบบเพื่อการค้า สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการยาง ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ MTEC, ภูเบศ วิทยาสุข เจ้าหน้าที่พัฒนานวัตกรรมอาวุโส ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับกรรมการจากรับเบอร์แลนด์ อีก 2 ท่าน คือ ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ และธนัช ศาลาจันทร์ ผู้จัดการโรงงานรับเบอร์แลนด์

เยาวชนผู้เข้ารอบ เยี่ยมชมและศึกษาเรื่องยางพารา

เหลือเพียง 10 ชิ้นสุดท้าย จากผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ได้แก่ ทีม BassBas จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทีม DEP’ON สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีม fifty thousand สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีม Group มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทีม kids-dd สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีม MOTTE มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทีม SIR.PAO มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทีม sum studio สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, Team Idealiving สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และทีม ปริปริสตูดิโอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเตรียมนำเสนอผลงานพร้อมแบบโมเดลต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและสื่อมวลชน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ก่อนจะถึงวันตัดสินใจมีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมการคนสำคัญ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

น้องๆ ถามคำถามหลังจบบรรยายช่วงสุดท้าย

รศ.ดร.สิงห์ได้ประเมินผลงานในโครงการประกวดครั้งนี้ว่า ผลงานส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามามีหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะมองโฟมยางแล้วคิดว่าจะต้องเป็นของที่มีความสุข น่ารัก สดใส สดชื่น ยังไม่มีอะไรที่ออกมาในแนวเศร้า หรือเครียดเลย

“แต่ผมรู้สึกว่ามันมีบางชิ้นที่เห็นแล้วตื่นเต้น อยากจะเห็นต้นแบบจริง” รศ.ดร.สิงห์ระบุ

พร้อมอธิบายถึงเกณฑ์การให้คะแนนของตัวเองว่า จะประเมินจากการมองว่าเขากำลังพยายามพัฒนาเทคนิคที่น่าสนใจและน่าจะมีโอกาส ที่จะยืนในโลกของการออกแบบที่มีคู่แข่งสูงมาก นั่นคือการมีเทสต์ (Test) ที่ดี เพราะดีไซเนอร์ที่อยู่ได้ ไม่ใช่แค่มีเทคนิคดีอย่างเดียว แต่จะต้องมีเทสต์ที่ดี สามารถตัดสินใจได้ว่าของที่ออกมาจะมีรูปทรง ขนาด สัดส่วนเท่าไหร่ มีสีสันอย่างไร ทำให้รู้สึกว่าเขาสามารถยืนอยู่ได้ด้วยสายตาของเขาเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะสอน

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต

“ผมจะประเมินจากตรงนี้ ว่าเขาน่าจะพัฒนาเรื่องรสนิยมแล้วต่อยอดด้วยเทคนิคที่ดี มาประกอบกับโครงการนี้เข้ามาเสริมด้วยกระบวนการผลิต ก็น่าจะครบถ้วนที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งก้าวไปจุดที่สูงกว่าได้

“อีกส่วนสำคัญคือ คอนเซ็ปต์ หรือแนวคิด ว่าเขามอง Future Living อย่างไร แล้วนำเสนอว่าตอบโจทย์ได้เจ๋งแค่ไหน ผมคิดว่าคอนเซ็ปต์ เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะถ้ามีแนวคิดที่ดี มันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีกเยอะมาก และสามารถมองในระยะยาวว่าเขาสามารถเป็นนักออกแบบที่ยืนบนขาตัวเองได้ แล้วมันเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากที่รับเบอร์แลนด์ ยอมแบ่งกำไรให้กับเด็กทุกชิ้น ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ผมช่วยเต็มที่เลย”

รศ.ดร.สิงห์บอกอีกว่า ส่วนรอบตัดสินสิ่งที่อยากเห็น คิดว่าผลงานน่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้อีก อยากเห็นการพัฒนาเทคนิคอื่นๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นหลังร่วมกิจกรรมการอบรมผู้เข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายใน

การ workshop ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเยี่ยมชมโรงงานที่พัทยา

“ส่วนความคาดหวังในผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานของทั้ง 10 ทีม วันนี้คงตอบยากเพราะยังเป็นรอบแรก ซึ่งเขาได้มาเห็นกระบวนการผลิตแล้วไม่แน่ใจว่าผลงานรอบตัดสินจะฉีกแนวไปได้สักแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าการที่เขาได้มาเห็นสิ่งที่ผมเล่าไปแล้วก็น่าจะมีแนวทางเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องการมัดการผูกในงานโฟมยางก็ยังไม่ได้เห็น รวมถึงการยิงตุ๊ดตู่ลงในยางเพื่อต่อชิ้นเข้าด้วยกันเรายังไม่เห็นเทคนิคเหล่านี้ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เขาควรจะพัฒนาต่อไปให้ได้”

ส่วนผลงานที่เข้ารอบเป็นอย่างไรบ้างนั้น รศ.ดร.สิงห์เผยว่า ยังตอบไม่ได้ว่ามีประเภทไหนบ้าง

“เนื่องจากผมเป็น 1 ในคณะกรรมการ ผมให้คะแนนในส่วนของผม ท่านอื่นก็ให้คะแนนอีกส่วน แล้วคะแนนจะไปรวมกันโดยหน่วยงานที่จะไม่รายงานกรรมการว่าใครได้คะแนนเท่าไหร่ เลยไม่รู้ว่าผลงานที่เข้ารอบทั้งหมดมีอะไรบ้าง ต้องลุ้นพร้อมกันในวันตัดสิน

“ส่วนผลงานจากรอบคัดเลือกมาจะมีช่วงเวลาที่ให้ปรับจากต้นแบบ สำหรับผมน้องๆ สามารถเปลี่ยนแปลงจากต้นแบบได้เลย ส่วนกรรมการท่านอื่นอาจจะไม่อยากให้เปลี่ยนก็ได้นะ (หัวเราะ)

แต่ในสายตาของผมมองว่าถ้าเด็กเขาเปลี่ยนแล้วมัน ว้าว มันเจ๋งสุดสุด กรรมการทุกคนก็ยอม แต่ถ้าปรับมาแล้วแย่กว่าเดิม หรือเอาจุดเด่นข้อดีของตัวเองออกก็ตกรอบครับ ถามว่าเสียดายไหมก็คงเสียดาย

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคาดหวังจากโครงการประกวดครั้งนี้ ผมอยากให้ได้ 10 ทีม นักออกแบบรุ่นใหม่ที่เจ๋งมาก แล้วอยากให้เขารู้สึกว่าเขาได้ใช้ทรัพยากรไทยแล้วนำไปสู่รางวัลระดับนานาชาติได้” รศ.ดร.สิงห์ทิ้งท้าย

เยาวชนผู้เข้ารอบ เยี่ยมชมและศึกษาเรื่องยางพารา
เยาวชนผู้เข้ารอบ เยี่ยมชมและศึกษาเรื่องยางพารา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image