คอลัมน์ โลกสองวัย : พระเมรุมาศคือความเป็นไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อเวลา 07.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560

ผู้ที่มีโอกาสเข้าชมพระเมรุมาศและอาคารประกอบรวมถึงนิทรรศการที่จัดแสดงครั้งนี้ ควรหาหนังสือที่เกี่ยวกับพระเมรุมาศและพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมาอ่าน ดังที่คุณก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนัก

สถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ แนะนำไว้เพื่อทำความเข้าใจให้มาก โดยเฉพาะรายละเอียด เพราะองค์พระเมรุมาศคือการส่งผ่านวัฒนธรรม รูปแบบ หรือประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม “การจะรังสรรค์เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย หลายเรื่องอาจไปอ่านที่มา ศึกษาเรื่องจิตรกรรม ประติมากรรม หรืองานต่างๆ ก่อนมาดูพระเมรุ”

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) มีโอกาสเข้าชมพระเมรุมาศด้วยความเอื้อเฟื้อจากกระทรวงวัฒนธรรมกับคณะหนึ่ง ร่วมกับคณะต่างๆ อีกหลายคณะ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ก่อนเปิดอย่างเป็นทางการ 1 วัน

Advertisement

มีโอกาสเข้าไปชมแม้จะเป็นการเดินชมประเภท “ขี่ม้าชมดอกไม้” (ภาษิตจีน) พบว่า ณ พระเมรุมาศองค์นี้ มีความสวยงามอย่างยิ่ง ชนิดว่าเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด แต่ละจุดแต่ละมุมมีความละเอียดอ่อนประณีตทั้งจากวัสดุต่างกันที่สอดประสานเป็นเนื้อเดียว ลวดลายทั้งองค์พระเมรุมาศวิจิตรบรรจงทุกฝีมือทุกอณู

นับแต่รอบพระเมรุมาศที่ประดับไว้ด้วยสัตว์ในจินตนาการจากเขาพระสุเมรุ ผสานกลมกลืนกับงานในโครงการพระราชดำริ ตั้งแต่กังหันชัยพัฒนา รวงข้าว และอีกมากที่มองเห็นได้ไม่ทั่ว

บนศาลาที่จัดแสดงนิทรรศการมีรายละเอียดให้ศึกษาตั้งแต่การยกร่างกระทั่งถึงงานที่สำเร็จแล้ว เช่นงานประติมากรรมเทวดา และเทพทั้งหลาย รวมถึงสิงสาราสัตว์ ช้าง ม้า และแบบพิมพ์เขียวบนกระดาษกว่าจะมาเป็นอาคารและลวดลายบนอาคารนั้น

Advertisement

เห็นว่า ในอาคารจัดนิทรรศการ นายช่างสถาปนิกก่อเกียรติมาคอยดูแลและตอบคำถามผู้เข้าชมในวันนั้น น่าจะรวมถึงอีกหลายวันช่วงที่เปิดให้เข้าชมนิทรรศการถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

เน้น ณ ตรงนี้อีกครั้งว่า ก่อนจะไปเข้าแถวเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการ น้องหนูทั้งหลายโดยเฉพาะผู้ที่ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ การจัดสวน การจัดภูมิสถาปัตย์ รวมไปถึงการประสานงานทั้งหลายที่เรียกว่า “ออร์แกไนเซอร์” ควรจะหาหนังสือที่เกี่ยวกับพระเมรุมาศมาอ่านทำความเข้าใจก่อน

หนังสือของสำนักพิมพ์มติชนเพื่อการนี้มี ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย โดย นนทพร อยู่มั่งมี (ราคา 350 บาท) สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ ของกองบรรณาธิการมติชนและสำนักพิมพ์มติชน รวบรวมผลงานและรายละเอียดกับแนวความคิดของผู้รังสรรค์งานครั้งนี้ (ราคา 499 บาท) งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ บรรณาธิการ (ราคา 390 บาท)

หาซื้อมาได้แล้ว ไม่ต้องอ่านให้หมดทั้ง 3 เล่ม ลองพลิกหาเรื่องและภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพระเมรุมาศ และเรื่องที่เกี่ยวเนื่องก่อน สักไม่ต้องมากพอให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วไปเข้าแถวเข้าชมหลังจากอ่านและศึกษาพอสมควร ก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน รับรองว่าจะเข้าใจและลึกซึ้งกับเรื่องราวสิ่งที่พบเห็น จนต้องร้อง “อ้อ” เป็นอย่างนี้เอง ร้อง “อือ” มาอย่างนี้นี่เอง “โอ้โฮ” ทั้งสวยทั้งประณีตอย่างนี้นี่เอง คือศิลปกรรมไทยที่สืบทอดและวิวัฒนาการ พัฒนาการมาหลายร้อยปีแล้ว

ไปเข้าแถวเข้าชมครั้งเดียวยังไม่เห็นอะไรนัก ลองไปสักสองสามครั้ง แล้วจะพบว่า ความเป็นไทยอยู่ตรงนี้นี่เอง (คุณพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าไหม)

อนึ่ง ในการเข้าแถวเข้าชมพระเมรุมาศ น้องหนูและผู้เข้าชมจะได้รับแจกแผ่นพับความรู้เรื่องนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ มีทั้งภาพพระราชประวัติ พระบรมฉายาลักษณ์ และคำอธิบายรายละเอียดถึงสถานที่ในพระราชพิธีครั้งนี้ พร้อมมีน้ำดื่มแถมให้ด้วย 1 ขวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image