ปรัชญาการเมืองไม่ตาย เรื่องจริงในสังคมที่ไม่หยุดตั้ง ‘คำถาม’

ห้องประชุม ร 102 ของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ดูคับแคบลงไปทันที เมื่อต้องต้อนรับผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาฟังงานเสวนาอันเปรียบเสมือนแรร์ไอเทม (Rare item) ของปีนี้

มิใช่เพียงเพราะงานเสวนาครั้งนี้เป็นการรวมตัวของนักรัฐศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทยเท่านั้น หากแต่หัวข้อของการเสวนา “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว?” เป็นประเด็นที่ไม่ได้หยิบยกมาพูดคุยบ่อยนัก

เหตุผลไม่ใช่เรื่องเสี่ยงที่จะพูด แต่เพราะเสี่ยงว่าพูดแล้วจะไม่มีคนฟัง เพราะนอกเหนือจากแวดวงวิชาการ ก็ต้องยอมรับว่า ปรัชญาการเมือง ยังค่อนข้างห่างไกลจากความเข้าใจของสังคมไทย

ทว่าในงานเสวนาซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ openworlds เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาสามารถแผ่ “ตัวตน” และระบุ “ตำแหน่งแห่งที่” ของปรัชญาการเมืองในสังคมให้แก่ผู้เข้าฟังได้อย่างกระจ่างชัด

Advertisement

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ซึ่งเป็นผู้แปลหนังสือ “ปรัชญาการเมือง : ความรู้ฉบับพกพา” (Political Philosophy: A very short introduction) ที่นำมาเปิดตัวในงาน ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสังคมสังคมหนึ่ง มี “โครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางความคิดและวัฒนธรรม” ครอบอยู่เสมอ หน้าที่ของมันคือบอกว่าอย่าคิดเรื่องนั้น อย่าหมกมุ่นกับทางนั้น เพราะมันไม่พึงประสงค์ มันคอยบอกปัดกีดกันความเป็นได้ของทางเลือกความคิดอื่นๆ

“โดยมี ‘สมมุติฐาน’ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงรองรับโครงสร้างดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาการเมืองจึงเป็นสิ่งที่เสริมสมรรถนะแก่ผู้คนในการตั้งคำถามลงไปถึงฐานรากของสังคม เพื่อให้คำถามเหล่านั้นกระทบต่อ ‘โครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางความคิดและวัฒนธรรม’ และจะทำให้เราเห็นทางเลือกใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะปรัชญาการเมืองคือการฝึกคิดในสิ่งที่ตามปกติเราจะไม่คิด” ศ.ดร.เกษียรกล่าว ทำให้พอจะเห็นแล้วว่า องค์ประกอบสำคัญของปรัชญาการเมือง คือ คำถาม

Advertisement

ศ.ดร.เกษียรระบุอีกว่า วัฒนธรรมคือการประพฤติปฏิบัติไปโดยความความคุ้นชิน คิดและทำไปโดยอัตโนมัติ ราวกับถูกกด “ปุ่มกลางหลัง” ที่มองไม่เห็น แล้วเราก็ตอบสนอง ขณะที่สถาบันคือแบบแผนการประพฤติปฏิบัติที่ทำซ้ำมาอย่างตั้งมั่นยืนนาน สถาปนาเป็นธรรมเนียม เป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับความคุ้มครอง ขณะที่ปรัชญาตั้งคำถามที่ฐานรากของสังคมว่า “จริงหรือไม่ ทำไม เพื่ออะไร”

“ตราบใดที่สังคมนั้นยังถามถึงฐานคิดของตัวเองเป็น คิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น ปรัชญาการเมืองก็ยังไม่ตาย และสังคมนั้นก็ยังมีความหวังว่าจะค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางการเมือง”

“แต่ที่น่าเศร้าคือ สัญญาณที่บอกให้เรารู้แน่ว่าปรัชญาการเมืองยังไม่ตายและยังคงทำงานอยู่อย่างขะมักเขม้นคือ ‘การเสี่ยงภัยที่จะถูกโจมตี’ การทำงานของปรัชญาจึงเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด แต่ถ้าปรัชญาไม่ทำงาน สังคมก็จะถูกคุมขังหรือแช่แข็งกับฐานคิดที่เป็นอยู่ตราบชั่วกัลปาวสาน”

ศ.ดร.เกษียรยังแสดงความเห็นด้วยว่า ถ้านักปรัชญากรีกอย่างโสเครตีสยังมีชีวิตอยู่ เขาคงเป็นบุคคลแรกที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ!

พร้อมระบุอีกว่า แม้มีความพยายามจะขังเรื่องปรัชญาการเมืองไว้ในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น สังคมออนไลน์ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสังคมในมหาวิทยาลัยและสังคมภายนอกไม่ค่อยชัดเจน กลวิธีที่จะตั้งคำถามไปถึงฐานรากของสังคมอาจออกมาในรูปภาพยนตร์หรือนิยายก็ได้ และสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ ปรัชญาการเมืองเป็นวิถีชีวิต

“ไม่ควรสนใจว่าใครได้แขวนป้ายว่าเป็นนักปรัชญาการเมือง เพราะสิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจว่าปรัชญาการเมืองคือวิถีชีวิต และคุณได้ตั้งคำถามที่ลึกไปถึงฐานรากของสังคมหรือไม่ ในสังคมไทยมีคนจำนวนมากที่ทำสิ่งเหล่านี้มากกว่านักปรัชญาการเมืองด้วยซ้ำ แต่คุณไม่ฟังเขา ไม่เพียงเท่านั้นคุณยังไม่ต้องการให้เขาคิดและเมื่อคุณกดปราบเขา คุณก็กำลังกดปราบความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะพัฒนาตัวเอง คุณทำร้ายตัวคุณเองก่อนทำร้ายคนอื่นด้วยซ้ำ สุดท้ายสิ่งที่คุณเหลืออยู่ คือ คุณใช้ชีวิตด้วยความคิดที่แคบลง”

ส่วนคำถามที่ว่า “ปรัชญาการเมืองตายแล้วหรือไม่” ในมุมมองของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาไม่แน่ใจนักว่าคำตอบคืออะไร แต่หากพิจารณาจากเรื่องราวของนักปรัชญากรีกเช่นโสเครตีส ก็จะพบว่าชีวิตของปรัชญาการเมืองไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการตายของโสเครตีส หากแต่เติบโตต่อไปในอคาเดมี (Academy) ของเพลโต และไลเซียม (Lyceum) ของอริสโตเติล หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างการบรรจุแนวคิดทางการเมืองของสี จิ้นผิง ลงในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน 20 แห่ง ที่จัดตั้งสถาบันเพื่อศึกษาแนวคิดดังกล่าว สะท้อนได้ว่าปรัชญาการเมืองไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการตายของคนคนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ อ.ชัยวัฒน์จึงไม่สู้เห็นด้วยนักกับนักทฤษฎีการเมืองหลายคนที่กล่าวว่าปรัชญาการเมืองตายแล้ว พร้อมเสนอต่อไปว่า ปรัชญาการเมืองทำหน้าที่นำความไร้เดียงสากลับมา (Bring back innocence) และ ปรัชญาการเมืองจะตายก็ต่อเมื่อในวันที่ความรักไม่อยู่แล้วต่างหาก

“ความเดียงสาเป็นปัญหาของเรา มันทำให้เราไม่สามารถจะเห็นโลกด้วยดวงตาของเด็กซึ่งไม่ถูกเคลือบด้วยอคตินานาชนิดได้ เด็กตอนเล็กๆ เขาไม่รู้ว่าใครเป็นมุสลิม ใครเป็นคริสต์ ใครเป็นผิวขาวหรือผิวดำ คุณให้เขาเล่นกับใครเขาก็เล่นได้ แต่เมื่อพ่อแม่สอนเขา วัฒนธรรมสอนเขา เมื่อเขาเริ่มร้องเพลงชาติทุกวัน เขาก็เริ่มรู้ว่าต่อไปนี้มันจะไม่เป็นแบบนั้นอีกแล้ว”

“ปรัชญาการเมืองตายวันที่ความรักไม่อยู่แล้ว เพราะส่วนที่สำคัญที่สุดของความเป็นปรัชญาคือ ‘ความรักในปัญญา’ ในคำว่า Philosophy ภาษากรีกจะใช้คำว่า Philos หรือ Philia อันหมายถึงความรักชนิดหนึ่ง คือ ความรักฉันมิตร ตราบใดที่ความรักฉันมิตรยังอยู่ ปรัชญาก็ยังอยู่ เมื่อใดที่มิตรภาพตาย ปรัชญาก็ตาย และสิ่งที่เรากำลังเจอตอนนี้คือ มีปัจจัยมากมายที่ทำลายสายสัมพันธ์ฉันมิตร เช่น ความเชื่อใหม่ๆ บางอย่าง ความเกลียดชังบางอย่าง ดังนั้น ถ้าจะฆ่าปรัชญาการเมืองก็ต้องทำลายความรัก แต่ราคาของการทำลายความรักในสังคมการเมืองคืออะไร อันนี้ผมตอบไม่ได้” อ.ชัยวัฒน์ระบุ

เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องมี “ความเป็นอื่น” ต่อสถานที่ที่เราอยู่ เพื่อให้เราสามารถตั้งคำถามได้อย่างถึงฐานรากของสังคม อ.ชัยวัฒน์ ตอบว่า “ความเป็นอื่นไม่ได้ทำลายเราเท่ากับ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ เพราะในทุกๆ วันจะมีคนคอยตอบเราว่าชีวิตจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แม้แต่ประเทศก็มีคนมาวางยุทธศาสตร์กำหนดไว้ล่วงหน้าถึง 20 ปี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำลายความอยากรู้อยากเห็นที่เราเคยมีเมื่อตอนเป็นเด็ก โสเครตีสเองที่ไม่เคยออกไปจากเอเธนส์เลย เขาก็ยังสามารถตั้งคำถามได้อย่างถึงรากของเอเธนส์”

แล้วสังคมจำเป็นต้องมีเงื่อนไขพื้นฐานบางอย่าง เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ พหุนิยม ที่จะทำให้สังคมมีความอดทนต่อคำถามของนักปรัชญาและอนุญาตให้คำถามทางปรัชญามีพื้นที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่

อ.ชัยวัฒน์ให้ความเห็นว่า เอเธนส์ฆ่าโสเครตีส แต่กลับปล่อยให้เพลโตสอนที่อคาเดมี การจะมีพื้นที่หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรด้วย โสเครตีสทำงานปรัชญาการเมืองในตลาด ซึ่งจริงๆ อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะพื้นที่ของปรัชญาการเมืองควรอยู่ในปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ไม่ใช่อยู่แค่ในมหาวิทยาลัยแบบนี้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องพูดตามความเป็นจริงว่ามันสามารถทำได้ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ละคนก็ต้องเลือกว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร จะทำอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย หรือจะทำให้ถูกเรียกตัวก็ทำได้ สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับการเลือกของคนคนนั้น

อ.ชัยวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นตัวตนของ “ปรัชญาการเมือง” ไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็นตัวตนของ “อุดมการณ์ทางการเมือง” เพราะตัวตนของอุดมการณ์ทางการเมือง คือ คำตอบว่าสังคมควรจะเดินไปอย่างไร แต่ตัวตนของปรัชญาการเมือง คือ คำถาม ถ้าคำถามเปรียบเป็นหน้าต่างที่เปิดออกไปในที่ต่างๆ คำตอบก็เป็นถนนที่พาเราไปยังที่ที่หนึ่ง ความอันตรายที่เกิดขึ้นในโลกของเราทุกวันนี้ คือ เรามีคำตอบ แต่ไม่มีใครสงสัยในคำตอบเอาเสียเลย และเมื่อมีใครที่ถามไปถึงฐานรากของสังคม คุณก็โกรธก็เกลียดเขา ในที่สุด สังคมก็เดินไปต่อแบบหลงทาง แทนที่เราจะมองว่าการมีคนตั้งคำถามต่อสังคมมันเป็น “คุณ” แต่กลับมีคนจำนวนหนึ่งมองว่ามันเป็น “โทษ”

ในช่วงสุดท้ายของงานเสวนา ศ.ดร.เกษียรได้พูดถึงคำถามสุดคลาสสิกของการเรียนปรัชญาการเมืองที่ว่า “สังคมการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร” ซึ่งคำตอบของเขาสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าฟังเสวนาในวันนั้นได้เป็นอย่างดี

คำตอบที่ว่าคือ..

“โลกที่ประเสริฐสุด คือ โลกที่เปิดโอกาสให้คนในสังคมนั้นแสวงหาโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ สังคมไหนที่เปิดโอกาส สังคมนั้นประเสริฐสุด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image