‘ล้ง 1919’ (LHONG 1919) ท่าเรือย้อนเวลาสู่ประวัติศาสตร์ไทย-จีน

เรื่องราวในอดีตอาจมีทั้งความทุกข์ ความสุข ความรุ่งเรือง ความตกต่ำแร้นแค้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น การไต่เส้นสายที่โยงใยขึ้นไปทำความรู้จักกับเครือญาติบรรพบุรุษจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

โครงการ “ล้ง 1919” กำลังทำหน้าที่นั้นเพื่อลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล

“วันเวลาที่หลับใหลมายาวนานบนสายสัมพันธ์ไทย-จีนที่ยาวทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่จะพลิกฟื้นดินแดนแห่งนี้ให้มีชีวิตอีกครั้ง “ล้ง 1919” ไม่ใช่แค่มรดกตกทอดให้เรารำลึกถึงบรรพบุรุษตระกูลหวั่งหลี แต่ยังรวมไปถึงการรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวจีนโพ้นทะเลทุกคนและบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของผืนแผ่นดินไทย”

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ทายาทตระกูลหวั่งหลี ผู้ปลุกปั้นโครงการ “ล้ง 1919” กล่าว ในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

Advertisement

คับคั่งด้วยแขกรับเชิญระดับวีไอพี อาทิ คุณสิริกิติยา เจนเซ่น นวลพรรณ ล่ำซำ ฐาปน สิริวัฒนภักดี วรรณพร พรประภา ละออ ตั้งคารวคุณ ณัฐปรี-สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ปาลาวี บุนนาค อลิสา พันธุศักดิ์ บุญฤทธิ์ บุนนาค ชฎาทิพย์ จูตระกูล ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมภักดี พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ฯลฯ โดยมีกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็นประธานเปิดโครงการ

อลังการด้วยการแสดงงิ้วจากคณะ อาเม้ง ป.ปลา การแสดงออเคสตราผสานกับกู่เจิง และโชว์ดนตรีคลาสสิกจากศิลปินวง วี ทรีโอ ปิดท้ายด้วยแสงสีจากพลุงดงามตระการตาเหนือฝั่งน้ำเจ้าพระยา

ต้อนรับคุณสิริกิติยา เจนเซน วันเปิดงาน
การแสดงของวง วี ทรีโอ
ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สุจินต์ หวั่งหลี, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, รุจิราภรณ์ หวั่งหลี, สุกิจ หวั่งหลี, สุภีร์ หวั่งหลี, ธรรมนูญ หวั่งหลี

ฟื้นอดีตท่าการค้าริมน้ำสำคัญ

นาทีนี้สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ริมเจ้าพระยา ที่ถือว่าฮอตฮิต ต้อนรับไม่เพียงนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างประเทศ ยังรวมไปถึงผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่หลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมในแต่ละวันชนิดที่หัวกระไดไม่แห้ง ต้องยกให้ “ล้ง 1919” บนพื้นที่กว่า 6 ไร่ ปลายสุดถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

ย้อนกลับไปเมื่อ 167 ปีที่แล้ว ที่นี่คือท่าเรือกลไฟ “ฮวย จุ่ง ล้ง” จุดเทียบท่าหลักสำหรับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือโดยสารที่ใช้ถ่านหรือฟืนเป็นเชื้อเพลิงในสมัยก่อน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ชาวจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยมีบรรพบุรุษเดินทางจากเมืองจีนมาตั้งรกรากทำการค้าอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

นอกจากนี้ ตัวอาคารบริเวณท่าเรือยังถือว่าเป็นแหล่งธุรกิจที่ถูกจัดให้เป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ อีกด้วย

อาคารที่จัดเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในยุคท่าเรือแห่งนี้รุ่งเรือง

หลังจากท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ถูกลดทอนบทบาทลง เนื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ตระกูล “หวั่งหลี” โดยนาย ตัน ลิบ บ๊วย หนึ่งในชาวจีนผู้อพยพขึ้นฝั่งที่ท่าเรือแห่งนี้ จึงได้เข้ารับช่วงกิจการต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับเปลี่ยนอาคารเป็นสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าในนามของตระกูลหวั่งหลี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) เป็นต้นมา

จุดเด่นของที่นี่คือ คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ที่เล่าขานผ่านรอยขอบปูนที่แตกร้าว หลังคาเครื่องไม้เก่ามุงด้วยกระเบื้อง ก่อร่างสร้างเป็นอาคารตามรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ “ซาน เหอ หยวน” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่หลงเหลือเพียงไม่กี่หลัง มีรูปแบบเป็นอาคารหมู่ 3 หลัง เชื่อมเข้าด้วยกัน 3 ด้าน เป็นลักษณะตัวยู (U) โดยมีพื้นที่ว่างตรงกลางเป็นลานกว้าง

ยังมีงานจิตรกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวจีนโบราณที่เพิ่งถูกค้นพบโดยการใช้น้ำยาลอกผนัง หลังถูกทาสีทับไว้หลายชั้นจากการบูรณะผนังปูนที่ล่อนหลุดเพราะความชื้นที่ก่อตัวริมแม่น้ำ

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี

“ล้ง 1919” เริ่มต้นขึ้น โดยมี รุจิราภรณ์ หวั่งหลี เป็นหัวเรือใหญ่ ด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่ของตระกูลที่ต้องการดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์โดยคำนึงถึงการรบกวนร่องรอยที่เกิดขึ้นจากกาลเวลาให้น้อยที่สุด เพื่อคงสภาพไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

อาทิ ผนังอิฐที่แตกล่อนก็จะคงสภาพไว้ เพียงแต่จะใช้ปูนโบราณจากธรรมชาติมายาที่รอยแยกเพื่อไม่ให้เกิดการล่อนมากไปกว่าเดิม โครงสร้างไม้สักหากชำรุดเสียหายก็จะนำไม้จากส่วนอื่นของตัวอาคารมาบูรณะต่อเติม ในส่วนของงานจิตรกรรมตามฝาผนังที่พร่าเลือนไปบ้างตามกาลเวลา ก็จะใช้สีจากธรรมชาติที่ตรงกับของเดิมเพื่อมาแต่งแต้มคืนสีสัน เพราะหัวใจสำคัญคือการต้องรักษาของเดิมไว้ให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ในอาคารประธานที่วางตัวนอนขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นที่ประดิษฐาน “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว” ซึ่งเป็นศาลที่มีความสำคัญต่อจิตใจชาวจีนโพ้นทะเลเป็นอย่างมาก

จิตรกรรมที่ค้นพบใต้แผ่นสีที่หลุดล่อน

‘ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว’ ไม่ใช่เจ้าแม่ทับทิม

ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วเป็นศาลที่ชาวจีนเคารพบูชาอย่างมาก โดยเฉพาะชาวเรือและคนเดินทะเล โดยเจ้าแม่หม่าโจ้วถือเป็นเทพอุปถัมภ์ของคนเดินทะเลชาวแต้จิ๋วและชาวฮกเกี้ยน ที่จะกราบไหว้ขอความคุ้มครองและความสำเร็จในการเดินทาง รวมทั้งนายตัน ฉื่อฮ้วง ต้นตระกูลหวั่งหลี ที่คราใดที่ต้องออกเรือก็จะนำของบูชามาถวาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคนส่วนมากมักเข้าใจว่า เจ้าแม่หม่าโจ้วคือเจ้าแม่ทับทิม พรชัย ตระกูลวรานนท์ ซึ่งศึกษาค้นคว้าเรื่องเทพอุปถัมภ์ของคนจีนในประเทศไทย ได้เคยอธิบายถึงความเข้าใจผิดนี้ว่า เป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะที่จริงเจ้าแม่ทับทิมเป็นฉายาของเจ้าแม่ “จุ้ยบ๋วยเนี้ย” เทพอุปถัมภ์ของคนเรือชาวไหหลำ แต่เจ้าแม่หม่าโจ้ว มีนามว่า “เทียนโหวเซี่ยบ่อ” หรือ “หม่าโจ้ว” เป็นเทพอุปถัมภ์ของชาวแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ที่สำคัญคือประวัติเรื่องราวของเจ้าแม่ทั้งสององค์นี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

“ในสมัยแรกๆ ที่คนจีนเดินเรือสำเภามาค้าขายกับไทยนั้น ชาวไหหลำจะเป็นกลุ่มแรกที่มาถึงก่อนในแต่ละปี เพราะที่ตั้งของเกาะไหหลำอยู่ใกล้กว่าเกาะกวางตุ้งและฮกเกี้ยนมาก เมื่อชาวไหหลำถึงเมืองไทยราวเดือนมกราคมก็ได้อัญเชิญและตั้งศาลเจ้า “จุ้ยบ๋วยเนี้ย” โดยตั้งฉายาภาษาไทยว่า “เจ้าแม่ทับทิม” เพราะเครื่องประดับประจำพระองค์เป็นพลอยสีแดง ในขณะที่เรือของชาวแต้จิ๋วและชาวฮกเกี้ยนจะมาถึงราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม เมื่อชาวแต้จิ๋วมาถึงก็ได้อัญเชิญเทพ “เทียนโหวเซี่ยบ้อ” หรือ “หม่าโจ้ว” ที่เป็นที่เคารพของตนมาตั้งศาลประดิษฐานเช่นเดียวกัน”

อาจารย์พรชัย จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานเข้าอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการเรียกชื่อ “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” เป็น “เจ้าแม่ทับทิม” ตามภาษาไทยที่ชาวไหหลำตั้งไว้ ซึ่งปัจจุบันเครื่องทรงของเจ้าแม่ทั้งสองก็คล้ายคลึงกันจนแทบแยกไม่ออก เนื่องจากถูกทำขึ้นด้วยฝีมือช่างที่เกิดในเมืองไทย

เจ้าแม่หม่าโจ้ว

แลนด์มาร์กใหม่ริมเจ้าพระยา

ด้วยเล็งเห็นศักยภาพของท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่โดดเด่นด้วยงานศิลปะ สถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ไม่เพียงกับครอบครัวหวั่งหลี เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าว่าด้วยความสัมพันธ์ไทยจีนที่มีมาอย่างยาวนาน “ล้ง 1919” จึงเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่อเที่ยวและผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย-จีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้ประสบการณ์นี้ ฟรี!

ขณะเดียวกันก็เปิดเป็นพื้นที่ร่วมสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัย ทั้งลานกิจกรรมกลางแจ้ง ตึกกิจกรรมสังสรรค์ Co-Working Space พื้นที่สำหรับนั่งทำงานและค้นหาแรงบันดาลใจ ร้านอาหารและเครื่องดื่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานออกแบบและงานฝีมือจากศิลปินรุ่นใหม่โดยไม่จำกัดไอเดีย

ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดรับความหลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยวหลากรุ่น หลากความต้องการได้มาพบเจอกันอย่างกลมกลืน และนอกจากทุกคนจะได้มาพักผ่อนหย่อนใจดื่มด่ำบรรยากาศแล้ว หลายคนอาจได้รับเกร็ดประวัติศาสตร์ความรู้เป็นของแถมจากงานสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลกลับบ้านไปด้วย

“ล้ง 1919” ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.

ท่าเรือหวั่งหลี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image