130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น รัก-ชัง-ชื่นชม-กังวล

เมื่อพูดถึงคำว่า “ความสัมพันธ์” ความหมายของมันสามารถเป็นได้ทั้งทางบวกและทางลบ

กล่าวคือ มนุษย์สามารถสร้างทั้งความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยความรักหรือความเกลียดชังก็ได้

และไม่จำเป็นว่าในแต่ละความสัมพันธ์จะต้องมีความรู้สึกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งกำกับอยู่ เพราะหลายๆครั้ง ระหว่างคนหรือกลุ่มคน เราก็อาจอยู่กันแบบ ทั้งรักทั้งเกลียด

ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” ก็เช่นกัน บางรัฐเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย บางรัฐระหองระแหงกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และบางรัฐก็เอาแน่เอานอนกับจุดยืนทางความสัมพันธ์ไม่ได้

Advertisement

จึงเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะค้นหาว่า ความรัก ความชัง หรือความขึ้นๆลงๆในแต่ละความสัมพันธ์นั้น มีที่มาที่ไปอะไรรองรับบ้าง

“เมื่อผมมองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะ 130 ปีหรือ 600 ปี เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศดู Same same, but very different”

เป็นประโยคแรกในปาฐกถานำหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต: สยาม/ประเทศไทย กับ ญี่ปุ่น และอาเซียน 2430-2560” ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกล่าวในงานสัมมนาวิชาการที่จัดโดยสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกับ โตโยต้า เนื่องในโอกาส ครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ณ ห้องประชุม 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

“ในช่วงยุคสมัยใหม่ที่ญี่ปุ่นและสยามเผชิญกับ ‘การทูตเรือปืน’ และ ‘การค้าเสรี’ จากเจ้าโลกทุนนิยมซึ่งบังคับให้ทั้งสองประเทศต้องเปิดประเทศพร้อมๆกันนั้น ที่เราพูดว่า Same same จึงหมายถึงการปฏิรูป เรารู้จักการปฏิรูปเมจิที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศสมัยใหม่ หรือ Nation State พัฒนาอุตสาหกรรมหนัก มีรัฐธรรมนูญ และมีลัทธิทหาร ในขณะเดียวกัน การปฏิรูปสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 นักวิชาการจำนวนมากไม่ว่าจะไทยและเทศต่างบอกว่า เราคล้ายกับญี่ปุ่น แต่ผมอยากเสนอว่า ไม่ใช่ ผมคิดว่ารัฐสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เรียกได้ว่าเป็น รัฐราชวงศ์ เป็น Traditional Dynastic State มีพัฒนาการทางด้านการเกษตร ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักเช่นญี่ปุ่น “ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ อธิบายต่อว่า ไทย-ญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ที่พิเศษต่อกัน อย่างไรก็ตาม บางยุคบางสมัยก็มีอึดอัดกันบ้าง

“หากดูให้ใกล้ตัวขึ้นจากรัชกาลที่5 มาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นกับเรามีสนธิสัญญาไมตรีกันก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะระเบิดขึ้นในปี 2483 แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า วันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่งไทยพร้อมกับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ น่าสนใจมาก รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลเดียวที่ได้รับการแจ้งก่อนว่า ‘จะบุกแล้ว’ อันนี้ถือเป็น Special Relationship “

“จากนั้นเราก็ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน ในเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาแล้ว ไทยก็ต้องเลยตามเลย เลยไปถึงขั้นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในปี 2485 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เราทราบดีว่าญี่ปุ่นแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 15 สิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นยอมจำนนและถูกยึดครองโดยสหรัฐฯ ถัดมาเพียงวันเดียว 16 สิงหาคม 2488 ฯพณฯท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็ประกาศว่า เราอยู่ฝ่ายญี่ปุ่นก็จริง แต่เราเจ๊า เราไม่ได้แพ้สงคราม ถ้าเราแพ้ เราต้องถูกสหราชอาณาจักรเข้ามายึดครอง”

ต่อมาในช่วงสงครามเย็น ไทย-ญี่ปุ่น ยังคงมีความสัมพันธ์ที่พิเศษต่อกันโดย ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ระบุว่า ไทยกับญี่ปุ่นกลายเป็นพาร์ตเนอร์ เป็นคู่ขาคู่ควงกันทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการพัฒนา นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นรูปแบบที่ไทยต้องการจะลอกเลียน

ความสัมพันธ์แบบนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็นความ “ทั้งรักทั้งชัง” ในเวลาเดียวกัน เพราะมีทั้งความชื่นชมและความวิตกกังวล

“ช่วง 14 ตุลาคม 2516 การลุกฮือของนิสิต นักศึกษา เยาวชน คนหนุ่มสาว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับญี่ปุ่นไม่ราบรื่นเท่าที่เคยเป็นมา หลายคนคงจำได้ว่า ขบวนการนิสิตนักศึกษาในตอนนั้นประนามภัยอยู่ 3 ภัย ‘ภัยเขียว’ คือลัทธิทหารของไทย ‘ภัยขาว’ คือสหรัฐฯ และ ‘ภัยเหลือง’ คือญี่ปุ่น ซึ่งในสมัยนั้นจะเรียกว่าเป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ อันนี้เป็นผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยเราที่ทำให้เงินและการลงทุนหลั่งไหลเข้ามาทั้งจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น เราก็รวยขึ้นมาจากสงครามในสมัยนั้น ในขณะเดียวกัน ก็เกิดคนรุ่นใหม่ๆขึ้นมาที่เป็นชนชั้นกลาง เป็นกระฎุมพี อยู่ในเมืองหลวง และอยู่ในเมืองใหญ่ๆตามภูมิภาค เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ความรู้สึกใหม่ๆของคนรุ่นใหม่เดือนตุลาที่เกิดความรู้สึกชาตินิยมแบบเอียงซ้าย เพราะฉะนั้น จะมีการต่อต้านอำนาจนิยม ทุนนิยม สหรัฐและญี่ปุ่นก็กลายเป็นเป้าในสมัยนั้น “

“ทศวรรษ 1970 เป็นหลักหมายบางอย่างในประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งการเมืองมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เเต่มันก็ยังเป็นการเมืองที่มีคนชั้นสูงเป็นผู้นำ จนหลังจากตุลา 2516 การเมืองก็เปลี่ยนจาก ชนชั้นนำ มาสู่มวลชน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เราก็อยู่บนหนทางประชาธิปไตยที่ยาวและยุ่งยาก ขรุขระ ยอกย้อน อาจเรียกได้ว่าเรามีวิกฤติทางการเมืองที่ยาวทีเดียว จนกระทั่งถึง เสื้อเหลือง เสื้อแดง เเละมาถึงการรัฐประหาร 2549 และ 2557”

สำหรับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในปัจจุบันนั้น ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ วิเคราะห์จากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่างชินโซ อาเบะว่า นโยบายที่ญี่ปุ่นย้ำคือ มิตรภาพต่ออาเซียนกับไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากความกังวลในการผงาดอย่างเต็มที่ของจีน ทำให้ความสัมพันธ์บางระดับที่ไทยเคยมีมากเป็นพิเศษกับญี่ปุ่นก็อาจจะลดน้อยลง ญี่ปุ่นจึงต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเองที่อยู่มากมายมหาศาลในประเทศไทย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องการขยายความสัมพันธ์มิให้เป็นเพียงทวิภาคี (Bi-lateral) แต่เป็น พหุภาคี (Multi-lateral)กับอาเซียน ญี่ปุ่นจึงยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับไทยอยู่ แต่มองไทยในแง่ยุทธศาสตร์น้อยลง

“ถ้าจะพูดโดยรวมๆ ผมมองว่าญี่ปุ่นค่อนข้างลังเล อึดอัดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทย ญี่ปุ่นกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ต้องเล่นเกม ในกรณีที่เชิญท่านประยุทธ์ไปเยือน เป็นหนึ่งเดียวในประเทศ G8 ที่เชิญไทยไปหลังการรัฐประหาร เพราะฉะนั้น รัฐบาลทหารไทยก็เล่นเกมกับญี่ปุ่น เพราะรู้ดีว่าญี่ปุ่นไม่กล้าเล่นเกมประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก เนื่องจากวิตกกังวลต่อบทบาทของจีน “ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับอาเซียน จึงต้องผลักดันนโยบายบางอย่าง เช่น กรณี East Asia Community ผลักดันความสัมพันธ์ ASEAN plus ด้วยการดึงประเทศต่างๆเข้ามา เช่น อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า East Asia Summit ดังนั้น โดยรวมความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนจึงยังดี แม้จะขึ้นๆลงๆเพราะอิทธิพลของจีนก็ตาม

ในช่วงท้ายของการปาฐกถา ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เปิดเผยด้วยว่า โดยส่วนตัวและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยต้องการเสนอแนะให้ญี่ปุ่น สร้างสมดุลระหว่าง การผลักดันประชาธิปไตยในประเทศไทย กับ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นควรมองไทยในฐานะเพื่อนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ไม่ใช่มองเพียงว่าต้องแข่งกับจีน ควรจะสนับสนุนประชาธิปไตยในไทย เพราะผลประโยชน์ระยะยาวของญี่ปุ่นจะมีมากกว่า และเพื่อประโยชน์ของญี่ปุ่น ควรใช้ยุทธวิธี “ไทย+1” เป็นกระดานกระโดดไปสู่ประเทศข้างเคียง อย่าง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สร้างแรงกดดันกับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในไทย

ส่วนข้อเสนอต่ออาเซียนโดยรวม ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ แนะว่าญี่ปุ่นควรหนักแน่นในความสัมพันธ์กับอาเซียน เช่น ควรผลักดันช่วยเหลือองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรทางการศึกษาและวัฒนธรรมให้มากขึ้น

“ผมอยากจะเชื่อว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องระยะยาว และควรต้องทำอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป ผมอยู่ในกลุ่มนักวิชาการที่พยายามผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน เช่นเดียวกับที่ยุโรปมีมหาวิทยาลัยแห่งสหภาพยุโรป ถึงขนาดไปดูที่ทางกันแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ถ้าเกิดการแข่งขันในการผลักดันช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้ มันน่าจะเป็นผลบวกที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจอื่นๆที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน ต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เป็นการช่วยสร้างเสริมอาเซียนซึ่งเป็นองค์กรที่ทราบกันดีว่า หลวม กระจัดกระจาย ขาดประสิทธิภาพ ถ้ามีแรงผลักดันจากภายนอกก็อาจจะทำให้เข็มแข็งและมีเอกภาพมากขึ้น” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ทิ้งท้าย

หากประมวลสาระทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้คือ เรื่องราวในความสัมพันธ์ไม่เคยหยุดนิ่ง

130 ปีที่ผ่านมากับ 130 ปีข้างหน้าอาจกลายเป็นหนังคนละม้วน

แต่ที่แน่ๆ นี่น่าจะเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนไทยได้ทบทวนอีกครั้งว่า สิ่งใดกันที่พาให้ 130 ปีของไทยกับของญี่ปุ่น จึงมีผลลัพธ์ที่ห่างชั้นกันขนาดนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image