‘Social Movement’ ปัญหาจักรวาล 30 วินาที ของ ‘มารีญา’

หลังจากที่ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ เข้ารอบ 6 คนสุดท้ายในการประกวดมิสยูนิเวิร์สเมื่อปีที่แล้ว ทำให้กองเชียร์นางงามไทยคึกคักเป็นอย่างมาก ในปีนี้ มารีญา พูลเลิศลาภ ลูกครึ่งไทย-สวีเดน ที่เป็นตัวแทนคนไทยไปประกวดในเวทีโลก ได้ทำให้แฟนนางงามใจเต้นอีกครั้งจากการเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ลึกสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ที่สุดแล้ว เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ สาวงามจากแอฟริกาใต้ก็ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 2017

แม้ไม่ได้คว้ามงกุฎ แต่มารีญาได้คว้าหัวใจคนไทยที่ร่วมกันส่งแรงเชียร์อย่างเหนียวแน่น พร้อมให้กำลังใจเมื่อไปไม่ถึงจุดหมาย

สิ่งหนึ่งที่เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือการตอบคำถามของมารีญาในรอบ 5 คนสุดท้าย

Advertisement

เมื่อ สตีฟ ฮาร์วีย์ ยื่นไมค์ให้มารีญาพร้อมคำถาม “What do you think has been the most important social movement of your generation, and why?”

แปลตรงตัวว่า คุณคิดว่าอะไรคือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญสุดในยุคของคุณ และทำไม

มารีญาใช้เวลาไม่เกิน 3 วินาที หายใจเข้าแล้วตอบ

Advertisement

“ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือ การที่เรามีสังคมสูงวัย แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดก็คือเยาวชน เยาวชนคืออนาคต คือสิ่งที่เราควรลงทุน เพราะว่าพวกเขาคือคนที่ต้องดูแลโลกที่เราอยู่”

จากนั้นคำว่า “Social Movement” ขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของผู้ใช้ในไทยเป็นอันดับ 1 โดยมีการพูดถึงมากกว่า 265,000 ครั้ง รวมถึงแฮชแท็ก #socialmovement ที่กลายเป็นกระแสในเฟซบุ๊ก

ส่วนใหญ่เป็นการตั้งคำถามว่า อะไรคือ Social Movement

Social Movement ขึ้นเป็นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 27พ.ย.

‘ครูเงาะ’ สอนนางงาม คำถามยากจะตอบให้ ‘ปัง’

ความเคลื่อนไหวแรกเริ่มที่ ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ ครูสอนการแสดงชื่อดัง ให้ความเห็นผ่านอินสตาแกรม ด้วยลีลาการตอบแบบสนุกสนานด้วยความมั่นใจว่าเป็นเซียนการตอบคำถามนางงาม การันตีตำแหน่งรองอันดับ 1 นางสงกรานต์ตำบลคูคต ปี 2539 โดยชี้ว่า คำถามของมารีญายากมากที่จะตอบให้ “ปัง” ในระยะเวลาอันสั้น

ครูเงาะคิดเล่นๆ เสนอไอเดียคำตอบต่อคำถามเดียวกันว่า Social Movement ที่สำคัญสุด คือ 1.การกลับมาพัฒนาทรัพยากรบุคคล 2.การหันกลับมาส่งเสริมหน่วยสังคมที่สำคัญสองหน่วย คือ ครอบครัวและการศึกษา 3.การใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียสร้างเทรนด์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

“ในฐานะนางงามรุ่นพี่ พี่จึงขอบอกว่าหนูทำดีที่สุดแล้วลูก”

ดราม่าตามมาทันที เพราะหลายคนชี้ให้เห็นว่า แม้ครูเงาะมีเวลาในการคิดคำตอบมากกว่ามารีญา แต่ก็ยังตอบคำถามคลาดเคลื่อนไปจากคำว่า “Social Movement”

ซึ่งครูเงาะก็ไม่ได้ละเลยคำท้วงติง แต่โพสต์ต่อว่า “#ครูเงาะขอล่ามค่ะ” โดยยอมรับว่าตนฟังแล้วเข้าใจผิด

“คิดดู นี่คือเราฟังเรายังเข้าใจผิดเลย นับประสาอะไรกับน้องที่ทั้งตื่นเต้น ทั้งไม่มีเวลาคิดจะไม่มีโอกาสตอบเท่าที่น้องเข้าใจ ขนาดนางงามรุ่นพี่อย่างเรายังรวน นี่ต้องคนเก่งภาษามากๆ ไม่ก็ต้องได้อ่านถึงจะเก็ท แต่ถึงอย่างไรก็ยังยืนยันว่าการจะตอบให้ปังในเวลาสั้นกับคำถามนี้ยากเหลือเกิน #รักน้องเหมือนเดิม #เพิ่มเติมคือพี่ขอไปเรียนภาษาแป๊บ”

‘Social Movement’ คืออะไร?

หลากความคิดเห็นพุ่งประเด็นไปว่า คำถามที่มารีญาได้รับนั้น “ยากเกินไป” เห็นได้จากโพสต์ของครูเงาะและความเห็นต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย

หลายคนมองว่าคำว่า Social Movement เป็น “เรื่องไกลตัว” เมื่อมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นก็จะถูกโต้ว่า “เป็นเรื่องวิชาการเกินไป”

ไม่ปล่อยให้สงสัยนาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ออกมาให้ความรู้ทันทีว่า Social Movement หรือ “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง LGBT โรคเอดส์ คนพิการ ฯลฯ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตมาพร้อมกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก โดยเชื่อว่าเมื่อประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาย่อมมีสิทธิออกมาแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ประท้วง และเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองได้

ในนิยามความหมายนี้ การตอบคำถามของมารีญาเลี่ยงไม่ได้ที่จะแตะเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นปกติที่เวทีมิสยูนิเวิร์สปีหลังๆ มานี้ มักมุ่งคำถามถึงประเด็นร้อนที่เป็นปัญหาระดับโลก เช่น ปีที่แล้วนางงามฝรั่งเศสถูกถามถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยว่าฝรั่งเศสจะเปิดพรมแดนรับหรือไม่

ส่วนคำถามของนางงามอีก 4 คนในรอบเดียวกับมารีญานี้ ได้แก่ โซเชียลมีเดียกับการตัดสินความงาม, ปัญหาแรงงานผู้หญิง, การล่วงละเมิดทางเพศ และการพูดเรื่องก่อการร้ายกับเด็ก

มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าเหตุที่มารีญาตอบคำถามคลาดเคลื่อนนั้นอาจเพราะตื่นเวทีจนประหม่า อีกทั้งยังมีเงื่อนไขเวลามากดดัน หรืออาจหลีกเลี่ยงการแตะประเด็นการเมือง โดยเลือกตอบในประเด็นที่ “ปลอดภัย” ที่สุด

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

สะท้อนโลกของคนรุ่นใหม่แบบไทยๆ?

อีกความเห็นหนึ่งที่โดนแฟนนางงามตามมาวิจารณ์ถล่มทลาย

เมื่อ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยออกตัวว่าไม่ได้สนใจประกวดนางงามโลก แต่เห็นมีการพูดถึงกันมากเรื่องคำถามรอบ 5 คนสุดท้าย และเมื่อฟังคำตอบแล้ว “ได้แต่ถอนใจเฮือกใหญ่ และยิ้มอ่อน”

“ขณะฟังคำถาม ดิฉันคิดถึงคนในรุ่นคุณมารีญาที่กำลังต่อสู้ในเรื่องต่างๆ อยู่ทั่วโลกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก น.ศ.มหาวิทยาลัยในสหรัฐที่ต่อต้านไม่เอาขวานิยมแบบทรัมป์ ขบวนการ Umbrella Movement ในฮ่องกง ที่มีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวในจีน ญี่ปุ่น กระทั่งเกาหลี การคัดง้างกับรัฐเผด็จการของกลุ่มคนหนุ่มสาวในไทย การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมทางเพศของ LGBT ในที่ต่างๆ ฯลฯ แต่สำหรับคุณมารีญา โลกของคนรุ่นใหม่แบบไทยๆ มีความหมายเพียงไว้เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย

“ความ Domestic ทางความคิด ที่ Apolitical และไม่ Engage ใดๆ กับโลก หรือแม้แต่ความเป็นไปในสังคมที่ตนเองอยู่ เป็นภาพสะท้อนวิธีคิดคนรุ่นใหม่ในไทยที่น่าสนใจและน่าเศร้าใจไปพร้อมๆ กัน ที่แม้แต่โรงเรียนนานาชาติ หรือความเป็นลูกครึ่ง ก็ช่วยอะไรไม่ได้

“คำถามที่น่าจะยากที่สุดในบรรดา 5 คน น่าจะเป็นเรื่องจะอธิบายการก่อการร้ายให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรของนางงามโคลอมเบีย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า เธอจัดการได้ดี โลกสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ควรเป็นโลกที่เต็มไปด้วยอาวุธ หากควรเป็นโลกที่สร้างขึ้นด้วยหนังสือ วัฒนธรรม และความรัก เธอน่าจะมาอยู่ไทย และพูดแบบนี้ให้ผู้นำทหารไทยฟังวันละ 3 เวลา”

ความคิดเห็นที่ตามมานั้น มีทั้งที่เห็นด้วยว่าผู้เข้ารอบตอบคำถามได้ดีกว่า และคำถามนั้นอาจยากเกินสำหรับคนไม่สนใจสังคม

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาวิจารณ์ว่า เป็นการตอบคำถามใต้ความกดดันในเวลาที่จำกัด ถือว่าทำได้ดีแล้ว

โดย อ.ปิ่นแก้วโพสต์เพิ่มเติมว่า น่าแปลกที่คนไทยส่วนใหญ่คิดว่า Social Movement เป็นเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ยิ่งน่าแปลกขึ้นไปอีก ที่คำถาม “วิชาการ” ดันกลายเป็นคำถามให้นางงามตอบในเวที Miss Universe ได้ โดยทั้ง 5 คำถามบนเวทีล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัย หากสนใจความเป็นไปของสังคมก็จะมีคำเหล่านี้ผุดขึ้นมา

อย่าคาดหวังเกินพอดี มารีญาตอบได้ ‘ไม่แย่’

ด้าน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คำว่า Social Movement แปลตรงตัวคือการขับเคลื่อนทางสังคม ซึ่งมีความหมายกว้างๆ เป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งเขาตอบได้ไม่แย่ จึงแปลกใจว่าทำไมเป็นเรื่องราวที่คนพูดถึง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสามารถที่จะตอบคำถามทางการเมืองได้

โดยย้ำว่า อย่าคาดหวังอะไรมากนักกับการตอบคำถามในเวลา 30 วินาที

“สำหรับผมคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นสำคัญทุกเรื่อง สิ่งที่เขาตอบนั้นไม่แย่ อย่าคาดหวังอะไรที่เกินพอดี สำหรับผมที่มีความเข้าใจพอประมาณอยู่บ้าง ผมเห็นว่าคำตอบนั้นพอรับได้ ด้วยความที่เขาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองหรือสังคม การตอบคำถามนี้ไม่ส่งผลร้ายอะไร” ดร.เอกพันธุ์กล่าว

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

จุดประเด็นให้คนฉุกคิด ในสังคมที่ยังไม่ตื่นตัว

ส่วนนักวิชาการผู้ติดตามเรื่องนางงามอย่างใกล้ชิด มองว่าการตอบคำถามของมารีญาอยู่ในบริบทระยะเวลาจำกัดเพียง 30 วินาที

ฐิติพงษ์ ด้วงคง อาจารย์ประจำสาขาวิชาสเปนและละตินอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนได้ยินจากคำตอบของมารีญา คือคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” (Ageing population) ซึ่งในความเห็นของเธอ โซเชียล มูฟเมนต์ที่สำคัญ คือ “เยาวชน” (Youth) เป็นการเข้าใจความหมายในบริบทที่มารีญาต้องคิดคำตอบภายในระยะเวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น จึงอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากนิยามที่มีการวิพากษ์กันในพื้นที่ทางวิชาการ พื้นที่สื่อ แม้กระทั่งพื้นที่ของนักเคลื่อนไหวทางสังคม

“โซเชียล มูฟเมนต์ แปลตรงๆ ก็คือ การเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรียกร้องเพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เขาอยากจะให้เป็น เช่น กลุ่ม LGBT พวกเขาออกมาเรียกร้องเพื่อให้มีสิทธิเพิ่มเติมจากเดิมที่เขาไม่เคยได้รับการเหลียวแลหรือที่ยังขาดอยู่ เช่น บริบททางกฎหมายที่ไปไม่ถึงไหน หรือที่คุณนก ยลดา ออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อแก่สาวประเภทสองจากนายเป็นนางสาว

“ตัวอย่างในโลกตะวันตกก็มีกรณี Ain”t Your Mama ของเจนนิเฟอร์ โลเปซ ที่ผู้หญิงออกมาเพื่อสิทธิสตรีว่า ฉันทำงานอยู่ในบ้าน ฉันไม่ใช่ทาสของผู้ชาย ฉันควรมีวันหยุดของฉันบ้าง อันนี้แหละคือนิยามของโซเชียลมูฟเมนต์”

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ อ.ฐิติพงษ์เห็นว่า มารีญาได้ทำให้สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมที่ไม่มีพื้นที่ฝึกการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ได้เกิดการฉุกคิดในประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น

“แม้ว่ามารีญาจะได้รับการศึกษาแบบตะวันตกมา แต่การตอบคำถามภายในระยะเวลาเพียง 30 วินาทีถือเป็นข้อจำกัด ถ้าคุณต้องอยู่ในสังคมไทยซึ่งไม่มีพื้นที่ฝึกการอภิปราย แล้วเข้าไปในรอบ 5 คนสุดท้าย ลดทอนความสำคัญของรูปร่าง ลดทอนความสำคัญของความงามที่เกิดจากการเสริมเติมแต่ง แต่มีการตอบคำถามเป็นไฮไลต์สำคัญ แล้ววัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นระดับโลกในปัจจุบัน มันก็เป็นเรื่องยากสำหรับมารีญา

“วันนี้เราจึงต้องให้เครดิตมารีญา เธอแบกรับความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศ อย่างน้อยเธอได้ใช้พื้นที่ในการประกวดสร้างความตระหนักแก่คนไทยให้ฉุกคิดว่า ประเด็นเหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่เรานำมาพูดกันในสังคมหรือเปล่า แต่มารีญากลับต้องไปใช้พื้นที่มิสยูนิเวิร์สซึ่งเป็นพื้นที่ข้างนอก เพื่อจะพูดเรื่องพวกนี้ นี่เป็นสิ่งที่เวทีมิสยูนิเวิร์สได้ให้ไว้แก่สังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่ยังไม่ตื่นตัว ไม่ส่งเสริมการอภิปราย ไม่เกิดวัฒนธรรมการถกเถียงเพราะกลัวความวุ่นวายแตกแยก” อ.ฐิติพงษ์กล่าว

ฐิติพงษ์ ด้วงคง

การบ้านต่อไป กับ ปัญหาความรู้

ความสนใจเรื่อง “Social Movement” เป็นปรากฏการณ์ที่เคลื่อนประเด็นมาจากคำตอบของนางงาม สู่เรื่อง “ความรู้” ของคนไทยต่อเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม

นักวิเคราะห์บางคนพุ่งเป้าไปถึงการศึกษาและสภาพสังคมวัฒนธรรมไทย ที่ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงประเด็นเชิงสังคมได้

อย่างไรก็ดี อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่ามารีญาเป็นผลผลิตของการศึกษาไทย เมื่อเธอย้ายไปอยู่เวียดนามตั้งแต่ยังเล็ก ก่อนจะย้ายกลับไทยมาตอน 7 ขวบ โดยจบปริญญาตรีจากเนเธอร์แลนด์ และปริญญาโทด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

ที่สุดแล้วเวลา 30 วินาทีไม่สามารถตัดสินใครได้ ภายใต้ความกดดันที่คนทั้งโลกจดจ้องอยู่ แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นโอกาสดี ที่ทำให้คนไทยได้ถกเถียงเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม จนถึงระบบการศึกษาและสภาพสังคมที่ทำให้คนไม่คุ้นชินกับคำนี้

และทำให้ได้รู้ว่ายังมีคนอีกมากมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image