ธาดา เฮงทรัพย์กูล ศิลปินรุ่นใหม่ที่เข้าตา Forbes

ชื่อของเขาติด 1 ใน 5 คนไทยที่ปรากฏในการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes

“30 Under 30 2016 Asia” เป็นการจัดอันดับคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี โดยคัดเลือก 300 คนทั่วเอเชีย ซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในวงการต่างๆ อาทิ ศิลปะ โฆษณา การเงิน เทคโนโลยี รวม 10 หมวดหมู่ หมวดหมู่ละ 30 คน

สำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ในวงการศิลปะเอเชีย ปรากฏชื่อศิลปินไทยเพียงคนเดียว

ปาล์ม-ธาดา เฮงทรัพย์กูล

Advertisement

ศิลปินภาพถ่ายวัย 28 รักที่จะค้นหาเทคนิคใหม่ๆ มารับใช้เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะของเขา เขาเริ่มเส้นทางศิลปะด้วยการถ่ายภาพ แต่ก็ไม่ปฏิเสธสื่ออื่นอย่างงานวิดีโอ ศิลปะจัดวาง สื่อผสมต่างๆ

สนุกกับการทดลองสิ่งใหม่ๆ หากว่ามันจะทำให้งานของเขาสื่อสารออกมาได้ตรงตามมุ่งหมาย

ธาดาคือหนุ่มโคราชผู้ค้นพบโลกหลังเลนส์ตั้งแต่อายุ 15 จากการสั่งกล้องฟิล์มราคา 300-400 บาท จากซิลเวอร์แคตตาล็อกที่เพื่อนขาย เริ่มถ่ายสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ต้นไม้ เพื่อน แฟน เห็นโลกอีกมุมหนึ่งเข้าขั้นหลงใหลเริ่มใช้กล้องที่แถมจากแชมพู กล้องพรีเมียมของสินค้า จนมีกล้องจริงจังเอาเมื่อตอนอายุ 20

Advertisement

“ผมช่วยงานที่บ้านแลกเงิน เก็บเงินซื้อฟิล์ม ซื้อหนังมาดู ซื้อหนังสือมาอ่าน ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ แล้วเอารูปไปลงเว็บไซต์ Lomography ตอนอายุ 17 มีรูปได้ลงหนังสือของประเทศออสเตรีย เป็นหนังสือช่างภาพทั่วโลก ตอนนั้นยังไม่มีคอนเซ็ปต์อะไร ถ่ายชีวิตประจำวัน ถ่ายเอาสวยงาม ที่บ้านเห็นเลยคิดว่าน่าจะโอเคนะ”

จบปริญญาตรีจากเพาะช่าง โดยเริ่มมีงานแสดงเดี่ยวขณะที่ยังเรียนอยู่ และทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มีโอกาสแสดงงานศิลปะทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม จนมีโอกาสได้แสดงงานในต่างประเทศ และเริ่มมีคนติดตามซื้องานจนเป็นที่รู้จัก

โดยในปีนี้เขาจะมีงานแสดงแบบกลุ่มอีก 3 งาน และแบบเดี่ยว 1 งานในปีหน้าที่ไลลาแกลเลอรี เชียงใหม่

คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ฟอร์บส์เลือกเรา?

ไม่แน่ใจว่าเขารู้จักจากทางไหน น่าจะเคยดูงานที่ต่างประเทศ โดยเขาติดต่อผมผ่านคิวเรเตอร์ที่ทำงานกับผม คิดว่าคงเป็นเพราะมุมมองศิลปะที่แตกต่างจากคนอื่น คนอื่นพูดเรื่องความฝัน ความทรงจำวัยเด็ก แต่ผมมองในเชิงที่มีความสัมพันธ์กับสังคม สิ่งรอบข้าง ถ้าเป็นเรื่องความทรงจำก็เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่ เป็นเรื่องที่ไม่ได้มโนเอง มีข้อมูล เป็นการทำให้เห็นว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นและบางอย่างหายไป

ศิลปินภาพถ่ายในไทยมีหลายแนว สตรีทโฟโต้ คอนเทมโพรารี่ คอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต แนวสุนทรียศาสตร์ความงามต่างๆ แต่ของผมทำเพื่อรองรับข้อมูลชุดที่เราอยากสื่อให้คนเห็นแล้วเข้าใจ หรือความคิดส่วนตัวที่อยากอธิบายจากข้อมูลที่ได้มา ส่วนลักษณะสื่อแบบไหนก็แล้วแต่ว่าจะตีความเป็นภาพยังไง จะสื่อผ่านอะไรให้คนเห็น วิดีโอ โฟโต้ เพนต์ เหมือนกวีที่มีข้อมูลเข้ามาแล้วถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือผ่านคำที่ร้อยเรียง ส่งเมสเสจบอกคน ของผมก็เป็นภาพถ่าย

ยกตัวอย่างงาน?

อย่างงานใหม่ที่จะแสดงที่ไลลาแกลเลอรี่ เชียงใหม่ พูดเรื่องโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทยที่สัมพันธ์กับอเมริกา วิถีชีวิตที่อเมริกามาวางระบบโครงสร้างและวัฒนธรรมไว้ รวมถึงเรื่องการทหารด้วย แต่สื่อเป็นภาพเชิงนามธรรม ผ่านภาพถ่ายอุบัติเหตุรถยนต์บนถนนเส้น 304 ที่อเมริกาสร้างไว้ให้สมัยสงครามเวียดนาม พูดเรื่องการเมืองบ้านเราว่า ทำไมวนลูปไม่ไปไหน เหมือนจะเป็นอุบัติเหตุ แต่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ผ่านถนนเส้น 304 ที่บรรจบกับถนนมิตรภาพที่อเมริกาสร้างให้เพื่อขนระเบิดไปไว้ที่สนามบินโคราชเพื่อไปบอมบ์ประเทศเวียดนาม-ลาว มีเรื่องซับซ้อนมากในเชิงพื้นที่

ตอนนี้เราสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ที่ถูกซ่อนไว้ พอมองไม่เห็นแล้วคนก็ไม่สนใจ แต่การถูกซ่อนมีเหตุผลที่ไม่อยากให้คนรู้ เราอยากทำให้คนเห็นว่ามีสิ่งนี้อยู่ แต่เป็นเรื่องพื้นที่ที่เราอยู่และเห็น คนน่าจะผ่านระบบการเรียนรู้จากงานเราได้แล้วไปต่อยอดเองเพื่อเกิดความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ทำไมสนใจเรื่องสังคม?

ไม่สนใจไม่ได้ เราเป็นมนุษย์ที่ต้องอิงกับทุกสิ่งรอบด้าน เราไม่สามารถปิดตัวเองได้ เราต้องอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ทุกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าตัดออกไปเราจะเป็นพวกไม่เข้าใจอะไรเลยหรือใครยื่นอะไรมาให้เราก็รับ เราต้องสนใจว่าสิ่งที่เราได้รับมาโอเคหรือเปล่า

ปาล์ม ธาดา

ช่างภาพทำงานเชิงสังคมในไทยมีเยอะไหม?

มีกลุ่มสายสารคดีอยู่ ออกไปเอาความจริงในพื้นที่ออกมา เช่นถ่ายในม็อบ ถ่ายตอนปะทะ แต่ผมชอบทำแบบตัวเองมากกว่า เป็นเรื่องข้อมูลที่เราจะส่งให้คนเข้าใจ ความเป็นข่าวจะส่ง 1 ต่อ 1 แต่ศิลปะทำให้พูดได้กว้างกว่านั้น สะท้อนให้เห็นอีกด้านของอีกด้านและอีกด้านได้ ข่าวมีข้อจำกัดคือโดนเซ็นเซอร์บ้างเพราะความเป็นสาธารณะ แต่ศิลปะไม่โดนเซ็นเซอร์เท่าไหร่ นอกจากศิลปินเซ็นเซอร์ตัวเอง

ไม่กลัวงานขายไม่ได้เหรอ?

เคยลองว่างานนี้ขายได้แน่ๆ แต่งานที่ทำแบบไม่สนใจขายมักขายได้ตลอด แปลก ผมว่าคนซื้องานดูออก จะมีกลุ่มที่ตามซื้องานอยู่ เขาคงเข้าใจ ส่วนใหญ่คนซื้องานผมมาจากต่างประเทศ ในไทยมีแค่ 1-2 คน หรือคนในวงการซื้อกันเอง แต่ตอนนี้เริ่มมีเศรษฐีใหม่รุ่นเดียวกันไปอยู่เมืองนอกกลับมา เห็นงานศิลปะเยอะ ไม่ได้มองงานศิลปะเป็นแค่เรื่องดอกบัว หรือสัญลักษณ์ความเป็นชาติ ช้าง เทวดา ม้า เขาเริ่มเห็นความเป็นศิลปะว่าขอบเขตมันกว้างใหญ่มาก ไม่ได้พูดแค่เรื่องความดีงาม แต่เป็นอีกโลกที่อธิบายโลกที่เราอยู่ปัจจุบัน

เริ่มถ่ายงานแบบนี้ตั้งแต่แรกหรือเปล่า?

แต่ก่อนเริ่มถ่ายนู้ดตอนอายุ 15 ถ่ายแฟนคนแรก ตอนนี้ก็ถ่ายนู้ดอยู่บ้าง แต่เล่นประเด็นเดียวก็เบื่อ เราไม่อยากได้ชื่อแค่ว่าธาดาเป็นช่างภาพนู้ดอย่างเดียว นู้ดเป็นเรื่องสุนทรียศาสตร์ความงาม สะท้อนให้เห็นเรื่องเพศ เรื่องชีวิต ตอน ม.3 เก็บเงินซื้อกล้องจากซิลเวอร์แคตาล็อกที่เพื่อนขาย ซื้อกล้องฟิล์มงงๆ ตัวละ 3-4 ร้อยมาถ่ายเล่น ถ่ายไปถ่ายมาเราเริ่มเห็นเซนส์บางอย่างในรูป เห็นจุดเล็กๆ ที่มองข้ามในชีวิตประจำวัน ความทรงจำบางอย่างที่พลาดหาย มีอารมณ์อ่อนไหวมาก การถ่ายรูปสอนให้เราเห็นโลกอีกมุมหนึ่ง

ตอนนั้นถ่ายดูเล่น มโนว่าสวยจังเลย (หัวเราะ) เป็นความสนุกของการถ่ายรูป ชอบถ่ายสิ่งของ ถ่ายแฟน เป็นความงาม ผิวของผู้หญิงโดนแสงแดด สวย โรแมนติกดี ถ่ายมั่วไปหมด ไปไหนคนก็ถามว่าถ่ายทำไม เราก็ตอบว่าถ่ายไปงั้นแหละ ไม่รู้จะอธิบายยังไง

ที่บ้านสนับสนุนไหม?

พอมีรูปได้ลงหนังสือประเทศออสเตรีย ที่บ้านเห็นว่าโอเค ให้ไปเรียน ป.ตรี ที่เพาะช่าง เขาบอกว่าเป็นมหา’ลัยศิลปะที่ดี ภาควิชาที่เรียนชื่อ Art of Photography ปี 1 เทอมแรกมีวิชาถ่ายภาพพอร์เทรต เราคิดโปรเจ็กต์ อยากทำงานทดลอง ไปหารูปที่คนลืมไว้ตามร้านถ่ายรูป เอามาส่งอาจารย์ เขียนคอนเซ็ปต์ว่า “คนที่สูญหายถูกลืม” ก็โดนอาจารย์ด่าว่าทำอะไรมา ผมต้องการให้คุณถ่ายแบบนี้ “ภาพติดบัตร” วิชาพอร์เทรตคือการถ่ายภาพติดบัตร…เอาแล้วมาเรียนผิดที่แล้ว (หัวเราะ)

ผมก็เอาใหม่ เขามีมาตรฐานแบบนั้น เราก็ทำให้เขาแบบนั้น แล้วทำของตัวเองไว้ พออยู่ปี 2 ปี 3 ทำงานคอนเซ็ปต์เรื่องเคารพธงชาติได้ลงนิตยสาร ถ่ายรูปคนเคารพธงชาติตอน 8 โมงเช้า ทุกคนยืนตรงและนิ่งหมด เหมือนโดนสะกดจิต เหมือนถูกสาปให้อยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน แล้วมีนักเขียนคนหนึ่งอีเมล์มาว่าอยากให้ไปแสดงงานที่ภูเก็ต คือ หมอนิล (นพ.มารุต เหล็กเพชร หรือ นฆ ปักษนาวิน)

เป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรก?

ระหว่างเรียนตอนนั้นไปอยู่ที่ร้านหนัง (สือ) 2521 ของหมอนิล 1 เดือน ทำงานกับคนในพื้นที่ เอาตัวเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน กล้องเป็นแค่เครื่องมือเอาไปเพื่อถ่ายรูปคน จัดเปิดงานศิลปะ เชิญคนบนถนนมาเจอกัน ถนนเส้นนั้นมีปัญหาเรื่องการเอาสายไฟลงใต้ดิน เกิดความขัดแย้ง ผมแสดงภาพถ่ายสิ่งของ ประตูที่ผ่านคนแต่ละรุ่นบนถนนเส้นนั้น แขวนภาพถ่ายไว้ด้านหลังเป็นกระดาษสีขาว คนที่มางานช่วยกันพลิกภาพจึงจะเห็นภาพอีกด้าน จากคนที่ไม่เคยคุยกันมาหลายปีก็ได้คุยกัน ภาพถ่ายเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้คนเหล่านั้นได้มาคุยกัน

วิธีการทำงานเริ่มมาจากการเป็นอาสาสมัคร ActionAIDS เริ่มรู้วิธีการทำงาน ชอบการทำงานที่ไปอยู่กับคนในพื้นที่ ลองวิธีการนำเสนอหลายแบบ เพื่อคนจะได้สนุกมากขึ้น ไม่ใช่ยืนดูแล้วเบื่อ แต่ตอนนี้ผมเน้นการทำงานผ่านงานวิจัย เราไม่ได้มีเวลาและทุนพอที่จะไปลงพื้นที่ ใช้วิธีอ่านงานวิจัยที่มีคนวิจัยไว้แล้ว เอาข้อมูลมาตีความ สนใจพื้นที่ไหนก็ไปตรงนั้น

ทำงานคอมเมอเชียลไหม?

ทำหลายอย่างเลย เป็นดีเจ เป็นผู้กำกับโฆษณาบ้าง เป็นช่างภาพบ้าง ออร์แกไนซ์ปาร์ตี้บ้าง ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นดีเจ เป็นความฝันวัยเด็กแต่ไม่มีโอกาส พอมีเวลาเริ่มก็สนใจการเป็นดีเจ ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่อยากขีดตัวเองว่าต้องอยู่ในกรอบแค่นี้ เราคิดว่าความสามารถมนุษย์ทำได้หลายอย่างมาก แต่เราจำกัดตัวเองด้วยอีโก้ที่ทำให้เราแคบอยู่แค่นั้น มนุษย์มีอิสระทำอะไรได้มาก ไม่ใช่แค่สิ่งเดียว

งานแสดงเดี่ยวชุดอื่นๆ?

ชุดที่ 2 “Oxytosin” ที่โคราช พูดเรื่องความรักผ่านภาพถ่าย ชุดที่ 3 “No Superego” ที่ตูดยุงแกลเลอรี่ กรุงเทพฯ ปี 2554 พูดเรื่องการเมืองเชิงแรงปรารถนาที่ถูกปิดกั้น ใช้รูปนู้ดที่มีความเก็บกดทางเพศ ไม่ได้ถูกปลดปล่อย ไม่ต่างกับความเห็นทางการเมืองที่ไม่ถูกปลดปล่อย เมื่อเราอยากสื่อสาร แต่ถูกห้ามไม่ให้พูด ผมมองเรื่องการเมืองกับเรื่องเพศเป็นเรื่องเดียวกัน

งานหลังจากนั้น?

จากนั้นแสดงเดี่ยวชุด “Parade” ที่ H Gallery กรุงเทพฯ ปี 2556 เป็นงานภาพถ่ายจัดวาง ขบวนพาเหรดภาพถ่าย เล่าเรื่องเหตุการณ์ช่วงที่เฌอตาย (สมาพันธ์ ศรีเทพ เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2553) ในงานเข้ามาจะเจอรูปคนจรจัด ตอนนั้นอยากลงพื้นที่ใช้ชีวิตแบบคนจรจัด คุยกันถูกคอก็ไปอยู่กับเขา เขาเลอะเลือนจำบ้านตัวเองไม่ได้ จำได้ครั้งสุดท้ายคือโดนยิงที่หัวในม็อบ หัวมีรอยโดนยิง แขนเสียข้างหนึ่งเพราะนอนบนเตียงนาน ผมทำงานกับเขาว่าอยากอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง เขาเอากระดาษมาขยำ ฉี่รด เขาบอกว่าอยากฉี่ใส่ประมวลกฎหมายอาญา ผมก็ถ่ายรูปหนังสือประมวลกฎหมายที่ถูกฉี่เคลือบไว้ ทำให้เห็นคนที่ถูกกระทำโดยฝ่ายตรงข้าม มีรูปเด็กผู้ชายนอนตายอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่ลมพัดปลิว ก้อนเมฆเคลื่อนไหว แต่ทุกคนเดินผ่านไปไม่ตั้งคำถามว่าเด็กคนนี้ตายเพราะอะไร ใครยิงเขาตาย โดยมีบทกวีของเพื่อนผมพิมพ์ใส่กระดาษวางที่พื้นให้คนได้หยิบอ่าน

สุดท้ายเป็นรูปงูกำลังกินนกกระจอกอยู่บนดอกไม้สีเหลือง คนก็งงว่าถ่ายอะไร ผมบอกว่า ถ้าผมไม่ถ่ายรูปตอนที่งูกำลังกินนก ทุกคนก็จะไม่เห็นว่านกโดนงูกินไป ถ้าผมถ่ายช้ากว่านี้หรือไม่ถ่ายเลย คุณจะเห็นแค่งูนอนอยู่บนดอกไม้สีเหลือง

เหตุการณ์ปี 2553 มีจุดเปลี่ยนต่อการทำงานไหม?

เปลี่ยนมาก แต่ก่อนมองว่าไม่ค่อยรุนแรงมาก คิดเหมือนคนทั่วไป แต่พอเราเห็นเชิงประจักษ์แล้วว่าไม่โอเค ไม่กี่เดือนที่แล้วมีการบอกว่าปี 2553 ใช้กระสุนปลอม ผมไปถ่ายรูปรูกระสุนที่ถนนรางน้ำกับดินแดง นับได้ร้อยกว่ารู เป็นรอยกระสุนที่เจาะตามเหล็ก เสาไฟ สะพานลอย ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ถ้าคนอยากรู้ความจริงก็ไปเดินดูได้ มีทั้งถนนเลย ผมถ่ายเอาไว้แล้วเร็วๆ นี้จะจัดแสดง ผมถือกล้องถ่ายรูปรูกระสุนปืนบนเสาไฟซีเมนต์ในระยะตรงหัวเราพอดี ตอนถ่ายคิดภาพว่าถ้าลูกกระสุนวิ่งทะลุหัวเรา โหดมาก เห็นปีཱ แล้วรู้สึกว่าต้องพูดเรื่องนี้ เราทำงานศิลปะมีสิทธิบางอย่างที่สามารถบอกคนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ทำเฉพาะงานศิลปะ ไม่ยุ่งเรื่องการเมืองไม่ได้เหรอ?

อะไรคือศิลปะล่ะ ทุกวันนี้ผมอยู่บ้านฟังเพลงก็เป็นศิลปะ ไม่มีขอบเขตชายแดนของคำว่าศิลปะอีกแล้วสำหรับผม เพราะเป็นเรื่องความพึงพอใจสำหรับแต่ละคน อยู่ที่เราจะทำอะไร ผมทำเรื่องสังคมการเมืองเพราะรู้สึกว่าศิลปะควรให้คุณค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีใครบันทึกเรื่องราวพวกนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณไม่สามารถหลีกหนีการเมืองได้ ต่อให้พูดเรื่องท้องฟ้าก็มีการเมืองของมันอยู่ จะหนีได้ต้องไปอยู่คนเดียวในป่า ถ้าอยู่สองคนนี่เริ่มมีการเมืองแล้ว

อะไรเป็นเสน่ห์ของการถ่ายภาพ?

ความจริง ภาพถ่ายคือความจริง เป็นความจริงเชิงประจักษ์หรือความจริงเชิงนามธรรมซุกซ่อนอยู่ อย่างภาพวาดถูกสร้างขึ้นได้ แต่รูปถ่ายเป็นเครื่องมือของความจริง เราเซตขึ้นได้แต่เนื้อเรื่องเราก็ต้องพูดเรื่องความจริงอยู่ดี ในเชิงปรัชญาของภาพถ่ายคือความจริง

ความจริงจำเป็นต่อสังคมไทยมาก ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว แต่คนก็จะแย้งว่าอะไรคือความจริงความไม่จริง ความจริงของใคร แต่ความจริงควรมีหลายชุด ไม่ควรมีชุดเดียว

ดูหนัง อ่านหนังสือ แบบธาดา

ธาดาบอกว่าสำหรับตัวเขา การดูหนังอ่านหนังสือถือเป็นการทำงานรูปแบบหนึ่ง

“ผมคิดว่าการอ่านหนังสือก็คืองาน ฟังเพลงก็คืองาน ถ่ายรูปก็คืองาน ผมทำตลอดอยู่แล้ว การเสพสิ่งที่เราชอบ คือ ขั้นตอนการทำงาน กลั่นกรองออกมา ไม่ได้มองว่าเป็นงานหรือไม่ ทุกวันนี้ทำงานก็ไม่คิดว่าเป็นงาน ถ้านับเป็นกี่ชั่วโมงก็ตาย ดูหนังมากี่ขั่วโมงแล้ว”

เขาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

เมื่อขอให้ธาดาแนะนำหนังสักเรื่องหนึ่ง เขาคิดถึงเรื่อง They Live ที่กำกับโดย John Carpenter หนังยุค 80 เนื้อเรื่องเกี่ยวกับกรรมกรที่อยู่ๆ ไปเจอแว่นตาอันหนึ่งเมื่อสวมแล้วจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ เช่น มองป้ายโฆษณาแล้วเห็นคำว่า “ครอบงำ” เป็นตัวหนังสือบนป้าย

“แว่นตาถูกสร้างโดยคนกลุ่มหนึ่งนำไปวางไว้ให้คนใส่แล้วเห็นความจริงบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ แล้วจะมีกลุ่มคนพยายามจะกำจัดคนที่ใส่แว่นตานี้ เรื่องนี้เจ๋งดี เราคิดว่าคนทุกคนควรเปิดใจกว้าง ได้ลองใส่แว่นตาแบบนี้บ้าง ความจริงบางอย่างที่ทุกคนควรได้รู้”

ส่วนวรรณกรรมเขาชอบ ความฝันของคนวิกลจริต ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้

“อ่านตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนแนะนำให้อ่าน เป็นเรื่องการเข้าใจมนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่งผ่านจิตวิทยา โดยคนบ้าเล่าเรื่องความฝันของตัวเองให้ฟัง น่าสนใจว่าจริงๆ มนุษย์มีความซับซ้อนเยอะมากๆ นี่เป็นหนังสือที่สร้างจุดเปลี่ยนในการมองความเป็นมนุษย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image