เรายอมรับความไม่ซื่อสัตย์ได้มากแค่ไหน

นักศึกษาสาวคนหนึ่งมาพบจิตแพทย์ด้วยเรื่องเครียดและนอนไม่หลับค่ะ สาเหตุคือเพื่อนทั้งคณะคว่ำบาตรไม่คุยและไม่มองหน้าเธอแถมยังต่อว่าเธออย่างรุนแรงลงในโซเชียลมีเดียของรุ่นด้วย เหตุการณ์เกิดจากเธอเขม่นกับเพื่อนสาวอีกคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อน มีครั้งหนึ่งเธอทำไม่ถูกใจเพื่อนจึงถูกเอาไปนินทาจนเพื่อนคนอื่นในคณะรังเกียจเธอ ความแค้นครั้งนั้นทำให้เธอคิดจะหาทางแก้เผ็ด อยู่มาวันหนึ่งเห็นใบสมัครฝึกงานของเพื่อนวางอยู่ปึกหนึ่งหน้าห้องอาจารย์ เธอหยิบมาดูและเห็นว่ามีใบหนึ่งสมัครไปที่เดียวกับเธอ เธอจึงหยิบใบนั้นออกมาเพราะคิดว่าไม่อยากไปฝึกงานที่เดียวกันแต่พอหยิบมาเธอก็รู้สึกไม่ดี แทนที่จะทิ้งก็เอาไปวางในโรงอาหารแทนเพราะคิดว่าถ้าคนมาเจอคงช่วยเอาไปคืนเจ้าของให้ได้ มีเพื่อนในรุ่นไปพบใบสมัครนี้วางอยู่จริงๆ ค่ะจึงถ่ายรูปลงโซเชียลว่าทำไมใบสมัครมาอยู่ในโรงอาหาร ฝ่ายเพื่อนก็เชื่อว่าต้องมีคนหยิบมาจากห้องอาจารย์แน่จึงบอกว่าใครขโมยให้สารภาพเสียแล้วจะให้อภัย เธอจึงสารภาพแต่กลายเป็นว่าทุกคนไม่ให้อภัยตามที่บอกค่ะ

“ตอนนี้หนูสำนึกผิดแล้ว ที่หนูไม่เอาไปทิ้งและสารภาพก็เพราะหนูสำนึกผิด หนูไม่เคยทำผิดมาก่อน แต่ไม่อยากถูกพักการเรียนเพราะพ่อแม่รู้แล้วพ่อแม่จะผิดหวัง หนูเพิ่งทำผิดครั้งแรก หนูขอโอกาสอีกครั้ง ถ้าหนูทำอีกจะไล่หนูออกเลยก็ได้”

เราจะให้อภัยกับความผิดครั้งแรกนี้ไหมคะ ประเด็นหนึ่งจากหลายประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นคือ “เราจะยอมรับการกระทำความผิดได้มากน้อยแค่ไหน” เหตุการณ์นี้สุดท้ายเพื่อนก็ส่งใบสมัครทัน ไม่มีคนได้รับผลกระทบ คนทำก็สารภาพและสำนึกผิดแล้ว เราจะหยวนๆ และให้อภัยได้มากน้อยแค่ไหน มาดูการ์ตูนที่คนทำผิดไม่ได้รับการหยวนๆ แต่อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าหยวนๆ ก็ได้ค่ะ

“Dimension W” เป็นแอนิเมชั่นที่ออกฉายทางทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กล่าวถึงการค้นพบแหล่งพลังงานมหาศาลแห่งใหม่นั่นคือพลังงานจากมิติที่สี่ พลังงานที่ถูกดึงมาจะเก็บอยู่ใน “คอยล์” ซึ่งหน้าตาคล้ายถ่านกระดุมใส่นาฬิกา ก้อนขนาดเท่ากำปั้นก็ให้พลังงานแก่เฮลิคอปเตอร์ได้ทั้งลำจนกระทั่งเครื่องพังไปแล้วพลังงานอาจจะยังไม่หมดเลยค่ะ ข้อควรระวังของคอยล์คือห้ามใช้คอยล์เถื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโดยเด็ดขาดเนื่องจากคอยล์เถื่อนอาจทำให้พลังงานจากมิติที่สี่รั่วออกมาจนเกิดผลเสียมากมาย เมืองทั้งเมืองอาจหลุดมิติหายไปได้เลยค่ะ

Advertisement

มีจุดเล็กๆ ที่แอนิเมชั่นสื่อให้เห็นคือรัฐลงทุนลงแรงมากสำหรับการเก็บคอยล์เถื่อนซึ่งบางครั้งก็อยู่ของมันดีๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียอะไร การไปเก็บคอยล์เถื่อนเสียอีกที่ทำให้เกิดการต่อสู้และมีคนตายมากมาย ดีไม่ดีระหว่างสู้กันคอยล์รั่วออกมาก็ตายกันเป็นสิบ ถ้าเป็นอย่างนี้การปล่อยให้ของเถื่อนล่องลอยอยู่ในตลาดโดยไม่ก่อผลเสียจะดีกว่ายึดถือความถูกต้องอย่างเคร่งครัด กำจัดคอยล์เถื่อนโดยไม่สนว่าใครจะตายบ้างถือเป็นเรื่องเหมาะสมหรือเปล่า

ลองมาดูงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนอตติงแฮมซึ่งตีพิมพ์ใน Nature ดีกว่าค่ะ เขาพบเรื่องน่าสนใจว่าคนเราซื่อสัตย์กว่าที่คิดทั้งที่แนวคิดหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าผู้บริโภคจะหาประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่ซื้อมาและผู้ผลิตจะหากำไรสูงสุดจากสิ่งที่ขายไป ดังนั้น สมมติฐานเบื้องต้นคือถ้าไม่มีใครเห็นและไม่ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรง เราน่าจะขี้โกงเพื่อประโยชน์ส่วนตน การทดลองนี้ทำใน 23 ประเทศจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,500 คน โดยการให้เข้าห้องที่ไม่มีใครเห็นแล้วทอยลูกเต๋า 2 ครั้ง เสร็จแล้วให้รายงานแต้มจากการทอยครั้งแรก หลังจากนั้นจะได้รับเงินตามแต้มแรกที่ทอยได้ ยิ่งแต้มมากก็ยิ่งได้เงินมาก ผลพบว่าคนส่วนใหญ่แม้รู้ว่าไม่มีใครทราบแต้มที่ทอยได้แต่ยังเลือกที่จะรายงานแต้มครั้งแรกและยอมรับเงินจำนวนตามแต้มแรกจริง ไม่โกหกแต้มมากๆ ขึ้นมาเองซึ่งไม่มีความแตกต่างกันทั้ง 23 ประเทศ

ทีนี้มาดูคนส่วนน้อยบ้าง พบว่าคนส่วนน้อยที่ไม่รายงานแต้มครั้งแรกตามความเป็นจริง ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้เลือกรายงานแต้มที่ทอยได้ครั้งที่สองซึ่งมากกว่าแทน นัยหนึ่งคือ “ขี้โกงเล็กๆ น้อยๆ” มีจำนวนน้อยมากเท่านั้นที่โกหกแต้มสูงๆ ทั้งที่ทอยไม่ได้แต้มนั้น จุดที่น่าสนใจคือมีความแตกต่างกันในบางประเทศค่ะ ประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมาก มีการยักยอกเงิน การคดโกงทางการเมือง ฯลฯ จะมีคน “ขี้โกงเล็กๆ น้อยๆ” มากกว่าประเทศที่มีค่านิยมไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นหรือความไม่ซื่อสัตย์ ผลการศึกษานี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าการยอมรับความไม่ซื่อสัตย์ของคนอื่นในสังคมมีผลต่อการยอมรับความไม่ซื่อสัตย์ (และเลือกที่จะไม่ซื่อสัตย์เล็กๆ น้อยๆ) ของเราด้วย

จากผลการศึกษานี้ หากรัฐบาลใน Dimension W ปล่อยให้คอยล์เถื่อนอยู่ไปเฉยๆ โดยไม่กวาดล้างด้วยเหตุผลว่าถ้าไม่ก่อความเดือดร้อนอะไรเราก็ยอมรับได้ก็จะส่งผลให้คนในสังคมยอมรับการใช้คอยล์เถื่อนได้มากขึ้น การกวาดล้างเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้แม้เป็นแค่ความไม่ซื่อสัตย์เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกิดผลเสียกับใครก็ถือว่ายอมรับไม่ได้ซึ่งอาจจะมีผลดีในระยะยาวมากกว่า

และถ้าเราเชื่อผลการศึกษานี้ นักศึกษาสาวก็ควรได้รับการลงโทษแม้ว่าไม่มีใครได้รับผลกระทบและเธอทำผิดครั้งแรกหรือสารภาพแล้วก็ตาม การแสดงให้เห็นว่าความ “ไม่ซื่อสัตย์เล็กๆ น้อยๆ” นี้ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับได้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนในสังคมนั้นๆ ทำเรื่องไม่ซื่อสัตย์เพียงเพราะคิดว่า “ใครๆ ก็ทำกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image