ยิ่งใหญ่ด้วยก้าวเล็กๆ

จริงๆ แล้วในหนังสือ “Slow Success ยิ่งใหญ่ด้วยก้าวเล็กๆ” ที่มี “เกตุวดี และวสุ Marumura” เป็นผู้เขียน มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าแค่เป็นหนังสือแห่งแรงบันดาลใจ

เพราะทุกคนที่ถูกรวบรวมทั้งหมด 30 คน แบ่งแยกเป็นชาย-หญิงชาวญี่ปุ่น ต่างมีเรื่องราวเป็นของตนเอง

บางคนไม่เอาถ่านแต่วัยเด็ก แต่พอโตขึ้นกลับกลายเป็นต้นแบบแรงดันดาลใจให้กับหนุ่ม-สาวชาวอาทิตย์อุทัยจนต้องหันมาศึกษาปูมหลังชีวิตของพวกเขา

หรือบางคนถูกปรามาสว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จใจในอาชีพ เพราะต้นทุนต่ำ มีฐานะยากจน ทั้งยังเรียนหนังสือไม่สูง

Advertisement

แต่สุดท้ายประชากรในประเทศ รวมถึงอีกหลายประเทศในโลก ต่างนิยมใช้สินค้าของเขา จนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ที่ไม่เฉพาะแต่คนที่เคยปรามาสต้องถ่มน้ำลายตัวเองหันมาบริโภค

ยังแนะนำคนอื่นๆ ให้ใช้สินค้าของเขาด้วย

ซึ่งเหมือนกับคนสองคนในสามสิบคนที่ผมยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง คนแรกเป็นผู้ก่อตั้ง และเจ้าของร้านหนังสือตามใจฉันที่มีชื่อว่า “คิคูชิ เคอิชิ”

Advertisement

พื้นเพเขาเป็นเด็กชนบทมาจากเมืองชินโตคุโจ จังหวัดฮอกไกโด เขาไม่ชอบอ่านตำราเรียน แต่กลับชอบนั่งรถไฟมาซื้อหนังสืออ่านเล่นในตัวเมือง

วันหนึ่งเขาต้องมาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Aoyama Gakuin เขาก็ยังไม่สนใจเรียน แต่กลับใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการหางานพิเศษทำ บางครั้งก็เล่นไพ่นกกระจอก และที่ขาดไม่ได้คือการเดินเข้าร้านหนังสือมือสองเพื่ออ่านฟรี

“คิคูชิ เคอิชิ” ใช้ชีวิตอย่างนี้ถึง 7 ปี จนจบปริญญาตรี แต่เป็น 7 ปีที่ทำให้เขาพบว่าโลกของการอ่านหนังสือมันช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน

แต่เขาไม่มีโอกาสทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบและรัก แม้ช่วงเวลาสั้นๆ เขาจะไปทำงานบริษัทแห่งหนึ่ง แต่เขาทำงานเพียง 3 เดือน ก็ลาออก เพราะไม่ใช่ตัวตนของเขา

จนวันหนึ่งมีโอกาสทำงานที่สำนักพิมพ์ Nippon Jitsugyo เขายอมรับว่าที่นี่ให้โอกาสเรียนรู้งานในวงการหนังสือค่อนข้างมาก ยิ่งเมื่อตอนติดตามรุ่นพี่ออกมาเปิดร้านหนังสือของตัวเอง

เขาช่วยรุ่นพี่คนนี้อยู่พักใหญ่

ก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้จัดการร้าน จนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลการบริหารจัดการคน การจัดซื้อ การส่งคืนของ การบริหารร้าน และอะไรต่างๆ มากมาย

รวมถึงผลกำไรเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจาการขายหนังสือด้วย

“คิคูชิ เคอิชิ” ถามตัวเองบ่อยครั้งว่าทำอย่างไรถึงจะให้ร้านหนังสือมีกำไรมากกว่านี้ แต่เขาไม่พบทางออก กระทั่งเขาทดลองนำนิตยสาร และการ์ตูนเก่าๆ ที่เขาชอบมาวางขาย พร้อมกับลุ้นทุกวันว่าจะขายได้ไหม

ปรากฏว่าขายได้

เขาจึงเริ่มมีความเชื่อว่าถ้าเรานำสินค้าที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเองมาวางขาย นอกจากจะทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ยังทำให้รู้สึกภูมิใจด้วยว่าเราเดาลูกค้าออกว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

ตรงนี้จึงกลายเป็นปฐมบทของการสร้างร้านหนังสือตามใจฉัน หรือ Village Vangaurd ในชื่อที่คนญี่ปุ่นรู้จัก ที่ไม่ได้ขายเฉพาะแต่หนังสือที่เขาชอบเพียงอย่างเดียว หากยังขายสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย

จนทำให้ร้านหนังสือตามใจฉันขยายสาขามากกว่า 396 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น และฮ่องกงอีก 4 สาขา ทั้งยังต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย

คำถามคือกุญแจความสำเร็จเกิดขึ้นจากอะไร?

คำตอบคือ…คุณจะรู้สึกสนุกเมื่อมายังร้านของผม

ส่วนอีกคนหนึ่งเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก หรือไม่ก็ คงเคยอ่านหนังสือของเธอมาบ้าง โดยเฉพาะหนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ที่มี “คุโรยานาจิ เท็ตสุโกะ” เป็นผู้เขียน

เธอเกิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความฝันว่าวันหนึ่งเธอจะเป็นสายลับ แต่เพื่อนของเธอกลับบอกว่า…ไม่มีทางเป็นได้หรอก เพราะเธอพูดเก่ง สายลับต้องรู้จักปิดปาก

เธอจึงละทิ้งความฝัน แล้วหันไปประกอบอาชีพใดก็ได้ที่ทำให้เธอได้พูดมากๆ วันหนึ่งเธอจึงเลือกเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อห้องของเท็ตสุโกะ

แต่กว่าจะมาเป็น “คุโรยานาจิ เท็ตสุโกะ” ในวันนี้ เธอต้องผ่านอุปสรรคขวางกั้นหลายด่าน สาเหตุเพราะเธอเป็นเด็กไม่อยู่นิ่ง เหมือนอย่างครั้งหนึ่งโรงเรียนนำโต๊ะมีฝาเข้ามาไว้ห้องเรียน เธอเปิด-ปิดฝาโต๊ะเรียนเล่นตลอดเวลา พร้อมกับคอยมองว่าเมื่อไหร่คุณลุงที่ตีกลองแจกใบปลิวโฆษณาจะผ่านมาเสียที

เพราะเธอนั่งอยู่ริมหน้าต่าง

แต่ครูกลับมองเธอเป็นเด็กมีปัญหา

ที่สุดจึงเชิญให้ออก

โชคดีที่ “แม่” ของเธอเข้าใจ ไม่ดุด่าว่ากล่าวอะไรสักคำ จากนั้นเธอจึงย้ายไปอยู่โรงเรียน “โทโมะ” ที่มีปรัชญาความเชื่อว่า…เด็กทุกคนเป็นคนดี มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ที่สำคัญ ครูจะต้องทำหน้าที่พัฒนาจุดเด่นของเด็กๆ ไม่ใช่ยัดเยียดแต่ความรู้

“คุโรยานาจิ เท็ตสุโกะ” ยอมรับว่าที่นี่ทำให้เธอมีความสุขมาก ทั้งเธอยังจำได้ว่าวันแรกของการไปโรงเรียน ครูใหญ่ถามเธอว่า…หนูมีอะไรอยากเล่าให้ครูฟังไหม?

เธอจึงเล่าเรื่องโรงเรียนเก่าให้ฟัง เรื่องหมาที่เลี้ยง เรื่องครอบครัว และอื่นๆ อีกมากมาย รวมแล้วกว่า 4 ชั่วโมงที่เธอเล่าให้ครูใหญ่ฟัง จนไม่รู้จะเล่าอะไรอีกต่อไปแล้ว

เธอรู้สึกแปลกใจที่ “ครูใหญ่” นั่งฟังอย่างมีความสุข ทั้งยังบอกเธออีกด้วยว่า…หนูนี่เป็นเด็กดีจริงๆ นะ

“คุโรยานาจิ เท็ตสุโกะ” บอกว่าเธอรู้สึกศรัทธาครูใหญ่คนนี้มากๆ เพราะโรงเรียนแห่งนี้แม้จะรับเด็กทุพพลภาพ แต่เขากลับสอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และสามารถเลือกเรียนได้อย่างอิสระ จนทำให้นักเรียนเกิดจินตนาการ

ดังนั้น ถ้าถามว่าแรงบันดาลใจจากการเขียนหนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” มาจากไหน? เธอจึงตอบว่า…มาจากความประทับใจต่างๆ ของโรงเรียนแห่งนี้

จนกลายมาเป็นหนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ที่ไม่เพียงจะจุดประกายให้กับวงการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น หากยังเป็นหนังสือแห่งแรงบันดาลใจ จนถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 35 ภาษาทั่วโลก

รวมทั้งภาษาไทยด้วย

ก็ล้วนเกิดขึ้นจากความไม่เอาถ่าน และคำปรามาสของผู้ใหญ่ในช่วงวัยหนึ่งเท่านั้นเอง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image