คอลัมน์ โลกสองวัย : ลูกเสือนอกโรงเรียน

วันนี้ การเป็น “ลูกเสือ” ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 มาตรา 4 “ลูกเสือ” หมายความว่า เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า “เนตรนารี”

นับแต่มีกิจกรรมลูกเสือและเนตรนารี เด็กและเยาวชนล้วนแต่เป็นลูกเสือและเนตรนารีในสถานศึกษา คือเด็กและเยาวชนทุกคนที่เข้าสู่ระบบโรงเรียนเมื่อก่อนมีวิชาลูกเสือ แม้วันนี้ วิชาลูกเสือจะไม่บังคับให้ต้องเรียน แต่ยังต้องมีการฝึกฝนเด็กและเยาวชนในโรงเรียนให้เรียนรู้เรื่องของลูกเสือ ตั้งแต่ลูกเสือสำรองถึงลูกเสือเอก ถึงลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

หลังจากพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 บังคับใช้ และระบุไว้ในมาตรา 4 กำหนดให้มี “ลูกเสือนอกสถานศึกษา” วันนี้จึงมีกิจกรรมลูกเสือของหลายหน่วยงาน อาทิ มีลูกเสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลายโรงเรียนเริ่มฝึกลูกเสือในสถานศึกษาเพื่อให้เรียนรู้เรื่องการเลือกตั้ง เมื่อมีการเลือกตั้งจะได้ร่วมกิจกรรมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งได้

เมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม 2560 สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนดจัดทำโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ปีนี้ งานชุมนุมลูกเสือพลังงานแสงอาทิตย์ ครั้งที่ 1 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ

Advertisement

ทั้งนี้ นอกจากให้คณะลูกเสือสำนึกในพระกรุณาธิคุณองค์อุปถัมภ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงด้านการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างตัวอย่างที่ดีของค่ายลูกเสือพลังงาน ด้วยคำขวัญ “ประหยัดพลังงานเพื่อโลกที่ดีขึ้น”

คำปฏิญาณของลูกเสือทั่วโลก ข้อสอง ความว่า “ข้าฯ จะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ”

องค์การลูกเสือโลกทำงานมานานเพื่อค้นหาเครื่องมือที่เหมาะสมในการสร้างความเป็นไปได้เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความสามารถพัฒนาชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างอาสาสมัครทำงานบริการชุมชน

Advertisement

องค์การลูกเสือโลกซึ่งมีทรัพยากรลูกเสือทั่วโลกกว่า 160 ประเทศ มีประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวนสมาชิกองค์การลูกเสือโลกเมื่อ พ.ศ.2454 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะดำเนินการช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อของลูกเสือ จึงมีการก่อตั้งมูลนิธิลูกเสือโลกขึ้น มีผู้ก่อตั้งมูลนิธิลูกเสือโลก 2 พระองค์ คือสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งซาอุดีอาระเบีย พระเจ้าอับดุลลา กับสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลกุสตาฟ ที่ 6 แห่งสวีเดน ร่วมกันบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งมูลนิธิลูกเสือโลก เพื่อให้คณะลูกเสือโลกนำไปดำเนินการในโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์

โครงการในองค์การลูกเสือโลก มี 3 โครงการ คือ

1.ผู้นำสันติภาพโลก (Messengers of Peace Initiative)

2.รางวัลลูกเสือโลก (The Scouts of The World Award)

3.โครงการลูกเสือกับสิ่งแวดล้อม (The World Scouts Environment Programme)

ต่อมาสำนักงานลูกเสือโลกประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตั้งในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ (APR.) ตระหนักถึงความยากจนของเด็กและเยาวชนในภูมิภาคนี้ จึงได้จัดทำโครงการ Ticket of Life (TTL) คือการเดินเข้าไปหาเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อซื้อตั๋วเดินทางชีวิตให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านี้

โครงการนี้นับเป็นโครงการที่ 4 ซึ่งวันนี้ประเทศไทยรับโครงการทั้ง 4 เข้ามาดำเนินการ ในระบบนอกสถานศึกษา ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551

วันนี้ประเทศไทยมีลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ซึ่งโครงการ Ticket of Life มีนายเสฏฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์ ได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ให้เป็นผู้ประสานงานและประธาน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดำเนินการจัดตั้งขึ้น 4 โครงการแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image