การจองจำและความรุนแรง ค่าตอบแทนของ ‘นักสิทธิมนุษยชน’

ความเคลื่อนไหวของโลกช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างสั่นคลอนนักเคลื่อนไหวฝ่ายเสรีนิยม เมื่อกระแสฝ่ายขวาถูกโหมขึ้นหลายที่ทั่วโลก ประกอบกับการขึ้นมาของผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมในหลายประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมสั่นเทือนประเด็นสิทธิมนุษยชน เมื่อมีการออกนโยบายที่เข้ามารองรับและสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิต่างๆ โดยยึดถือเอาคุณค่าด้านอื่นไว้เหนือกว่า

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือนักสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มจะต้องเจอกับงานที่ยากลำบากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมางานการเรียกร้องสิทธินั้นไม่เคยง่าย

ตามรายงานของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า ช่วงปี 2015-2016 รัฐบาลทั่วโลกต่างล้มเหลวในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในปี 2016 นักปกป้องสิทธิถูกฆ่าไปอย่างน้อย 281 คนทั่วโลก เพิ่มจากปีก่อนหน้ากว่าเท่าตัว

Advertisement

ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งเป็นนักสิทธิด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม ที่เหลือเป็นผู้ทำงานสิทธิด้านต่างๆ เช่น สตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการทางเพศ สหภาพแรงงาน ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ทนายความ นักข่าว จนถึงชาวบ้านในพื้นที่ความขัดแย้ง

การข่มขู่คุกคาม จับกุม บังคับสูญหาย ยังถูกใช้กับคนทำงานสิทธิมนุษยชนเรื่อยมา ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ฝ่ายที่ใช้อำนาจจัดการกับผู้คัดค้านก็คือรัฐ

เพราะการพูดถึงปัญหานำมาสู่เรื่องยุ่งยาก วิธีทำให้ปัญหาหายไปคือการทำให้เสียงนั้นเงียบลง

Advertisement

คนทำงานปกป้องสิทธิจำนวนมากกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เมื่อสิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการเหมือนกันคือ “ความเป็นธรรม” ที่หาได้ยากเย็นในหลายสังคม เรื่องราวของนักรณรงค์เหล่านี้อยู่ในแคมเปญของแอมเนสตี้ฯที่ต้องการเปิดเผยให้คนรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขียนจดหมายเรียกร้องต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละกรณี

เพื่อให้เสียงของพวกเขาจะต้องไม่ถูกทำให้เงียบต่อไป

ฮานัน บาดอร์ เอล-ดิน

1.ฮานัน ติดคุกเพราะตามหาสามี

ฝันร้ายของ ฮานัน บาดอร์ เอล-ดิน เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2013 สามีของเธอเข้าร่วมการชุมนุมในประเทศอียิปต์ หลังเห็นข่าวว่าสามีของเธอได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นเธอก็ไม่พบเขาอีกเลย

ฮานันออกตามหาตัวสามี เธอไปทุกที่เท่าที่จะนึกออก ทั้งเรือนจำ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ กระทั่งห้องเก็บศพ แต่ก็ไม่พบข่าวคราวใด

คาลิด สามีของเธอเป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากที่หายตัวไปภายใต้การควบคุมของกองกำลังรักษาความปลอดภัยอียิปต์ ฮานันจึงร่วมก่อตั้งกลุ่มครอบครัวผู้สูญหาย เพื่อค้นหาความจริงและเรียกร้องความยุติธรรม

ระหว่างการเข้าไปขอข้อมูลเกี่ยวกับสามีที่เรือนจำแห่งหนึ่ง เธอกลับถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและถูกจับกุมในเวลาต่อมา ด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มต้องห้าม

ปัจจุบันเธอยังคงถูกควบคุมตัวในฐานะนักโทษ อันเป็นผลจากการค้นหาความจริงของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย

ชากีเลีย แจ๊กสัน

2.ชากีเลีย สู้เพราะเหตุยิงผิดตัว

น้องชายวัย 19 ปี ของ ชากีเลีย แจ๊กสัน ถูกตำรวจในประเทศจาเมกายิงเสียชีวิต เหตุเกิดขึ้นขณะชายหนุ่มกำลังทำมื้อกลางวันอยู่ในร้านอาหารเล็กๆ แล้วตำรวจพุ่งตัวเข้ามาติดตามตัวผู้ต้องสงสัยที่มีผมทรงเดรดล็อก เหมือนกันกับน้องชายของเธอ

เจ้าหน้าที่ยิงชายหนุ่ม ลากร่างของเขาไปในรถตำรวจแล้วขับออกไป ชากีเลียเข้ามาที่ร้านหลังจากนั้นไม่นาน และพบเพียงกองเลือดบนพื้น

เธอตัดสินใจปิดล็อกห้องที่เกิดเหตุเพื่อรักษาหลักฐานและตามหาความจริง แต่ความยุติธรรมที่มองหานั้นต้องแลกมาด้วยราคาแพง

เจ้าหน้าที่พยายามสกัดกั้นความตั้งใจของเธอ ในวันเดียวกับที่คดีนี้ขึ้นสู่ศาล พยานในคดีถูกข่มขู่และมีการบุกเข้าไปในชุมชนของเธอ

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้ ชากีเลียรวบรวมครอบครัวผู้สูญเสียจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นมาร่วมต่อสู้ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีชาวจาเมกาถูกตำรวจสังหารไปกว่า 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มจากชุมชนยากจน

นับแต่ต้นปี 2017 ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายกรณีเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ชากีเลียไม่ได้โดดเดี่ยวในการหาความยุติธรรม เธอได้รับกำลังใจท่วมท้นจากผู้คนในหลายประเทศ เพราะการต่อสู้ของเธออาจไม่ได้หมายถึงการตามหาความยุติธรรมให้น้องชายเธอเพียงคนเดียว

ดังที่เธอกล่าวไว้ว่า “ฉันสู้เพื่อตัวเอง เพื่อน้องชาย และเพื่อผู้คนรอบๆ ตัว ทั้งในจาเมกาและที่อื่นๆ”

โกลวิส ราซาฟิมาลาลา

3.โกลวิส เมื่อกฎหมายถูกใช้ปิดปากนักเคลื่อนไหว

ครอบครัวของ โกลวิส ราซาฟิมาลาลา ที่มีภรรยาและลูกสาวสองคนอาศัยอยู่ในดินแดนมาดากัสการ์อันรุ่มรวยด้วยความงามของธรรมชาติ

กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์เฉพาะถิ่นบนเกาะไม่สามารถหาได้ในพื้นที่อื่นของโลก พันธุ์พืชหายาก กล้วยไม้กว่าพันชนิด ความน่าตื่นตาของสิ่งมีชีวิตและพรรณไม้ดึงดูดทั้งผู้ที่หลงใหลชื่นชมความงามและผู้ที่อยากครอบครองของหายาก

โกลวิสเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ซึ่งแวดล้อมด้วยการลักลอบค้าของป่า เมื่อตลาดมืดกำลังเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นในมาดากัสการ์ ต้นไม้จากป่าถูกโค่นลำเลียงลงเรือส่งไปต่างประเทศใช้ทำสินค้าหรูหรา

อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์ สิ่งที่มาพร้อมกับเงินคืออำนาจที่พยายามเข้าคุกคามเพื่อปิดปากคนที่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ในปี 2016 โกลวิสถูกกล่าวหาฐานสนับสนุนผู้ประท้วงที่เข้าทำลายทรัพย์สินและเอกสารราชการ แม้จะมีพยานจำนวนมากยืนยันว่าโกลวิสไม่ได้อยู่ในการประท้วงด้วยซ้ำ แต่คำให้การเหล่านั้นถูกมองข้าม โกลวิสถูกตัดสินโทษจำคุก แม้ปัจจุบันสถานการณ์ของเขาจะอยู่ในความเสี่ยง แต่โกลวิสยังยืนยันต่อสู้โดยตีแผ่สิ่งที่เกิดขึ้นให้ผู้คนทั่วโลกรับรู้

นาร์เกส โมฮัมมาดี – อาราช ซาเดกฮี

4.นาร์เกสและอาราช สิทธิมนุษยชนคือศัตรู

พื้นที่การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอิหร่านลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อหน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่นักรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย และนักเคลื่อนไหวอีกมากในอิหร่านยังคงเลือกที่จะทำงานต่อท่ามกลางความเสี่ยง เมื่อสื่อของรัฐตีตราเหล่านักเคลื่อนไหวด้วยคำว่า “ศัตรูแห่งรัฐ” หรือ “คนทรยศ”

นาร์เกส โมฮัมมาดี เป็นนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน เธอเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ในการรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตและปกป้องสิทธิของผู้หญิง นาร์เกสถูกจำคุกมาแล้ว 6 ปี และกำลังจะถูกตัดสินให้จำคุกเพิ่มอีก 16 ปี นาร์เกสได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมากจากการจองจำ และต้องการความดูแลทางการแพทย์เป็นพิเศษที่ไม่มีในเรือนจำ

อาราช ซาเดกฮี นักสิทธิมนุษยชนแบบสันติวิธี ถูกตัดสินจำคุก 19 ปี เรือนจำปฏิบัติต่ออาราชอย่างเลวร้าย เขาถูกทรมาน ถูกทุบตีและถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนป่วยหนัก และต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน

กรณีของนาร์เกสและอาราซเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คนอิหร่านจำนวนมากกำลังถูกคุกคาม บางส่วนถูกทรมานและถูกจำคุก เพียงเพราะพวกเขาแสดงออกในการต่อต้านความอยุติธรรม

อิสซา อัมโร – ฟาริด อัลอะทราช

5.อิสซาและฟาริด สันติวิธีในพื้นที่สีแดง

ในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติได้ ทั้งการเดินทางไปทำงานหรือไปโรงเรียน เป็นผลจากข้อบังคับของกองทัพอิสราเอล ซึ่งห้ามไปถึงการปลูกพืชผลในที่ดินตัวเอง การชุมนุม และการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้าหรือน้ำสะอาด

อิสซา อัมโร และ ฟาริด อัลอะทราช ยืนหยัดการต่อสู้แบบสันติวิธีต่อข้อบังคับของกองทัพอิสราเอล โดยเรียกร้องให้ยุติการยึดครองเมืองฮีบรอนและในพื้นที่เวสต์แบงก์ เป็นเหตุให้ถูกลงโทษทางอาญา

ชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา ต้องพบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบมากว่า 50 ปี ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล การหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนแสดงออกเมื่อถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ทำให้โลกภายนอกไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ เช่นเดียวกับการหยุดยั้งนักสิทธิมนุษยชนอย่างอิสซาและฟาริดด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมาย

หนี หยู่หลาน

6.หนี หยู่หลาน โอลิมปิกพรากบ้านจากผู้คน

หนี หยู่หลาน อดีตทนายความที่กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย เมื่อครอบครัวของเธอต้องเฝ้าดูบ้านตัวเองถูกรื้อถอนเพื่อสร้างสถานที่จัดแข่งโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2008 แน่นอนว่าเธอไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเงียบๆ เธอให้ความรู้เรื่องสิทธิต่างๆ แก่เพื่อนบ้านคนอื่นๆ จนถึงให้การช่วยเหลือและสนับสนุนผู้คนที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเธอ โดยร่วมกันพยายามเรียกร้องค่าชดเชย

กิจกรรมใดที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลไม่อาจรอดเร้นสายตาของเจ้าหน้าที่ ไม่นานนักเธอถูกจับ พร้อมถอนใบอนุญาตทนายความและนำตัวเข้าเรือนจำ ของฝากที่ได้จากคุกทำให้เธอต้องใช้วีลแชร์ตลอดชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกาย

หลังโอลิมปิกปักกิ่งจบลง เธอถูกจับเข้าเรือนจำอีกครั้ง เมื่อถูกปล่อยตัวก็ต้องมาอาศัยเต็นท์เป็นบ้าน

หนี หยู่หลาน ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรนานาชาติและยังคงยืนหยัดในการปกป้องสิทธิพลเมืองเรื่อยมา

ซาคริส คูพีล่า

7.ซาคริส คนข้ามเพศ=เป็นโรคจิตเวช?

ซาคริส คูพีล่า เริ่มค้นพบตัวเองในช่วงวัยรุ่น เมื่อเขาแน่ชัดว่า เพศที่ติดตัวมาแต่เกิดไม่ใช่ตัวตนที่เขาเป็นการตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นทำให้ชีวิตเขาต้องเจอกับความท้าทายต่อมา ปัญหาก็คือการจะเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนเพศทางกฎหมายในประเทศฟินแลนด์ได้นั้น เขาต้องถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวชและถูกทำหมันเสียก่อน

ซึ่งนั่นคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหนือร่างกาย

ซาคริสเป็นนักศึกษาแพทย์และเป็นคนข้ามเพศที่สู้เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลฟินแลนด์แก้กฎหมายเพื่อรับรองให้คนข้ามเพศได้การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายโดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ซูลฮัซ มานนัน

8.ซูลฮัซ ความตายจากการเป็นเกย์

เมื่อการเป็นเกย์ในบังกลาเทศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การทำงานปกป้องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศจึงกลายเป็นงานที่อันตรายไปด้วย

ซูลฮัซ มานนัน เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ จากการเป็นผู้ก่อตั้ง “Roopban” นิตยสาร LGBTIQ ฉบับแรกและฉบับเดียวในบังกลาเทศ แต่ซูลฮัซและเพื่อนกลับถูกกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาฆ่าอย่างโหดร้ายในอพาร์ตเมนต์ของเขาเอง โดยฆาตกรไม่ถูกดำเนินคดี

หลังการตายของนักสิทธิมนุษยชน เกิดการเรียกร้องให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ไม่กี่ปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้ถูกฆ่าเพราะความเชื่อเพิ่มสูงขึ้นในบังกลาเทศ การปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล เท่ากับสนับสนุนให้ชีวิตประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง อันมีผลมาจากความแตกต่างทางความเชื่อ

เทพ วันนี

9.เทพ วันนี สู้เพื่อสิทธิที่ดินในกัมพูชา

เทพ วันนี กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวอย่างสันติในกัมพูชา ซึ่งถูกคุมขังจากการปกป้องสิทธิของผู้อื่น

เทพเป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่ดิน กว่าสิบปีที่เธอต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวกัมพูชากว่า 3,500 ครอบครัวที่ถูกขับไล่ออกจากทะเลสาบบึงกักเพื่อนำที่ดินไปทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เธอและเพื่อนนักกิจกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่ ทั้งการข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย และการจับกุมคุมขัง

เมื่อเดือน ก.พ.2017 ศาลพิพากษาให้จำคุกเทพ 2 ปีครึ่ง ในข้อหายั่วยุให้เกิดความรุนแรง ต่อมาเดือน ส.ค.ศาลอุทธรณ์สั่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

การดำเนินคดีนักกิจกรรมเป็นความพยายามทำให้เสียงเรียกร้องไม่ได้ยิน และทำให้นักกิจกรรมคนอื่นรับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากยังฝืนต่อสู้แบบเทพ

 

นักกิจกรรมเหล่านี้บางคนอยู่ในคุก ทุพพลภาพ หรือไร้ลมหายใจแล้ว และผลจากการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งยังสร้างความหวาดหวั่นให้คนที่ออกมาพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมเดียวกัน

การถูกคุกคาม ทรมาน หรือความตายแบบผิดปกติของใครคนหนึ่ง ไม่ควรถูกปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไร้การตั้งคำถามและหาผู้รับผิดชอบ เพราะนั่นอาจหมายถึงการยินยอมให้เกิดความรุนแรงต่อไปไม่รู้จบ ไม่ว่าจะในสังคมใดก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image