นัดแล้วห้ามเปลี่ยนแปลง! ‘สถานการณ์เชิญตัว’ สะท้อนอะไรในบ้านเมือง

อาจจะพูดยากสักหน่อยว่าการถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปพูดคุยนั้นเป็นบรรยากาศที่ชวนให้อบอุ่นหัวใจ

แต่คงพอถูๆ ไถๆ พูดได้แค่ว่าคงไม่เหงาเพราะถึงอย่างไร ถูกเชิญไปคงต้องมีเรื่องให้พูดคุยแน่-เผลอๆ อาจไม่ต้องเหงากันข้ามวันข้ามคืน

จนถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลาสองปีกว่าแล้วที่บรรยากาศเหล่านี้ปกคลุมอยู่ในประเทศ หลายต่อหลายคนถูกเชิญตัวไปพูดคุยหรือปรับทัศนคติ นับตั้งแต่รายใหญ่ๆ จนถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่อาจแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองได้ไม่ถูกใจผู้นำนัก จนต้องนำตัวไปเพื่อทำความเข้าใจในความแตกต่างทางความคิดของประชาชน

กระทั่ง วลีที่ว่า “ไปปรับทัศนคติ” กลายเป็นคำพูดใช้หยอกเอิญหรือเย้าแหย่กันของหลายๆ คน ไม่เกินไปนักหากจะบอกว่า นั่นเป็นการกระเซ้าที่หม่นเศร้า เพราะความในจริงแล้ว การถูกบังคับหรือถูกเชิญไปโดยไม่มีอำนาจในการปฏิเสธ ย่อมไม่เรียกว่าเป็นการพูดคุยที่ดีหรือมีความสุขได้

Advertisement

แต่รูปแบบการเชิญไปพูดคุยเช่นนี้ก็ยังดำเนินเรื่อยมา ท่ามกลางการทำงานอย่างแข็งขันของเจ้าหน้าที่ ที่ดูคล้ายจะมีหลายเรื่องราวอยากแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตน โดยเฉพาะในห้วงยามนี้ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำลังรอลุ้นประชามติ

และล่าสุด ชื่อของ วัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด อดีตรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สราวุธ บำรุงกิตติคุณ เจ้าของเพจเปิดประเด็น ก็เป็นอีกชื่อที่ทางรัฐบาลให้ความสนใจอยากเชิญไปพูดคุยด้วย-และเป็นอีกครั้งที่สังคมเฝ้าจับตามองการเรียกตัวในครั้งนี้ด้วยความสนใจ ไม่ว่าจะในแง่สวัสดิภาพของผู้ที่ถูกเรียกตัว ไปกระทั่งนัยยะของรัฐบาลเอง

ใช่หรือไม่ว่าผู้คนเหล่านั้น มากน้อยแม้จะข้องเกี่ยวกับวงการการเมือง แต่ก็เป็นรายชื่อที่ออกจะ “ห่างไกล” กับความเป็นผู้นำมวลชน

พูดอีกอย่าง การเรียกไปพบปะครั้งนี้ของ คสช. นั้น คือการเอื้อมมือมาคว้าไหล่ของเหล่า “คนอื่น” หรือคนตัวเล็กตัวน้อย

และใช่แล้ว-คนตัวเล็กตัวน้อยที่อาจเป็นใครก็ได้สักคนในสังคมที่พูดหรือคิดต่างไปจากรัฐบาล

02
ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น

นัดได้ด้วยอำนาจ
เมื่อรัฐบาลอยากคุยกับเจ้าของเสียงวิจารณ์

“ถ้าใช้กรอบมองแบบการเมืองชนชั้นนำ ในระยะนี้จะพบว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเรื่องการต่อประชามติร่างรัฐธรรมนูญพอดี ไม่แปลกที่รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ” ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักวิชาการอิสระให้ความเห็น ทั้งยังเสนอว่า ที่ผ่านมา คสช. เองใช้วิธีเจรจา ประนีประนอม พร้อมๆ กับแสดงอำนาจในเวลาเดียวกัน

“อย่างคุณวัฒนา เมืองสุขก็เป็นคนจากพรรคเพื่อไทย การที่เขาถูกเชิญตัวก็เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะประนีประนอมหรือมีการปะทะคารมทางการเมืองอย่างไร สุดท้ายทหารก็เลือกจะแสดงอำนาจของพวกเขาเองผ่านการจับกุมผู้คนเหล่านี้เหมือนเดิม”

ประเด็นสำคัญที่ภาคิไนย์ให้ความสนใจมากกว่าใครจะถูกจับ คือการที่ คสช. เชิญคนไปพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติอย่างมีนัยยะหลังถูกวิจารณ์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ

ยิ่งเฉพาะช่วงนี้-ช่วงที่ คสช. เองอยากดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผ่าน แต่ก็คล้ายว่าจะยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเขา

“ดูจากปรากฏการณ์ต่างๆ ก็จะพบว่า ฝ่ายการเมืองแทบทุกฝ่ายรุมวิพากษ์วิจารณ์ คสช. จนแทบเป็นเสียงเดียวกัน และล่าสุด พลเอกประยุทธ์ก็ออกมาบอกว่าจะร่างใหม่ก็ได้ถ้าร่างฯ ฉบับนี้ไม่ผ่าน”

“ฉะนั้น ผมคิดว่าการที่ คสช. เรียกเชิญผู้คนไปคุยด้วยนั้น เป็นเรื่องของแสดงอำนาจของ คสช. และเป็นการพยายามประนีประนอมไปในเวลาเดียวกัน มันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ฉันมีอำนาจเหนือคุณ ฉันจึงเรียกคุณมาได้”

เหล่านี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเองก็ลำบากใจและมากน้อย ย่อมเหน็ดเหนื่อยที่จะยืนอยู่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่เชี่ยวกรากของประชาชนในประเทศต่อร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่ร่างฯ ที่ “น่ารัก” ต่อวิถีชีวิตประชาชนเท่าใดนัก

“เขายืนอยู่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่หนักมาก จากนี้คิดว่า รัฐบาลคงจะเรียกตัวผู้คนมาพูดคุยด้วยมากขึ้นเพราะอยากให้ประชาชนหุบปากเสียที” เป็นคำลงท้ายที่คล้ายจะย้อนแย้งต่อการกระทำของ คสช. เองของภาคิไนย์

 

03
สมชาย ปรีชาศิลปกุล

เชือดไก่ให้ลิงดู
เมื่อการวิจารณ์ขยายวงกว้างในหมู่ประชาชน

ใช่ว่าการถูกวิจารณ์นั้นเป็นความกดดันอย่างใหญ่หลวงที่ คสช. ต้องเผชิญในเวลานี้ แต่ถึงอย่างไร คงต้องยอมรับว่า หนึ่งในสาเหตุนั้นย่อมมาจากการที่ คสช. เองตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่สามารถสื่อสารกับคนในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา

หรือหนักหนากว่านั้น-นี่อาจเป็นการคุยกันคนละภาษากับคนในสังคมเสียด้วยซ้ำ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่ของรัฐบาล คสช.

“หมายความว่า คสช. คิดว่าการแสดงความเห็นของประชาชนคือปัญหา แต่เดิม ก่อนหน้านี้ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาจจะแคบ คืออาจอยู่ในกลุ่มคนที่สนใจการรัฐประหารของ คสช. แต่ตอนนี้ กลุ่มคนเหล่านั้นขยายวงกว้างมากขึ้น เราเองจะเห็นว่าประเด็นที่กลุ่มวิจารณ์การใช้อำนาจของคณะ คสช. เริ่มครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น”

“คือไม่ใช่วิจารณ์การเมืองแต่เพียงประเด็นเดียวแล้ว แต่ยังวิจารณ์ถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามขึ้นมาด้วย”

เหล่านี้ล้วนเป็นข้อบ่งชี้ว่า รัฐบาลไม่อาจตั้งฐานอยู่บนการนึกคิดไปเองฝ่ายเดียวได้แล้วว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องเสมอไป แต่ต้องผ่านการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงจากฝ่ายต่างๆ ในสังคมอย่างเสมอภาค และที่ชัดที่สุด สองปีที่ผ่านมาย่อมเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากพอว่าการเรียกคนมาปรับทัศนคตินั้น ไม่ช่วยให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

“ช่วงแรกๆ คสช. พยายามปรามคนที่อาจดูเป็นแกนนำหรือผู้มีอิทธิพล แต่ระยะหลัง หลายคนที่วิจารณ์หรือออกความเห็นต่อการกระทำของ คสช. ก็เริ่้มกระจายไปในวงกว้าง การเรียกคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ไปปรับทัศนคติจึงเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะเขาคงไม่มีความสามารถพอจะเรียกคนที่วิจารณ์เขาทุกคนมานั่งพูดคุยได้ จึงต้องเรียกบางคนมาเท่านั้น”

“แต่ส่วนตัวผมคิดว่า การที่รัฐบาลทำอย่างนี้ นอกจากคนจะไม่เชื่อแล้วยังต่อต้านกลับอีกด้วย” สมชายสรุป

 

04
ชำนาญ จันทร์เรือง

 

เราจะยกเลิกนัดไหน กับใครก็ได้
แต่เรายกเลิกนัดที่ไปปรับทัศนคติกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้!
และอีกประเด็นที่อยู่ในความสงสัยของหลายคน-ใช่หรือไม่ว่า การเรียกตัวของ คสช. นั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยตรง

เพราะไม่ไปก็ไม่ได้ ถึงอย่างไรคงต้องไป ‘คุย’ กับเจ้าหน้าที่จนได้

“อันที่จริงก็ปฏิเสธได้นะ” ประโยคนี้ของ ชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สร้างความหวังขึ้นมาวูบเล็กๆ ในการจะ ‘ปัด’ คำเชิญตัวของเจ้าหน้าที่ แต่เขาก็ดับความหวังนั้นด้วยประโยคต่อมา “แต่ทางรัฐบาลเขาคงอ้างมาตรา 44 จนได้ว่ามีอำนาจในการควบคุมตัว 7 วัน ซึ่งถ้าปฏิเสธอีก เขาคงแจ้งข้อหาและควบคุมตัว ใช้กำลัง ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่เห็นด้วย”

สุดท้ายแล้วหนทางปฏิเสธนัดครั้งนี้จึงเท่ากับศูนย์ไปโดยปริยายตามความหมายของชำนาญ

และใช่แล้ว-ว่านี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์

“จริงๆ รัฐทำไม่ได้ ถ้าจะเชิญตัวคนก็ต้องเป็นสถานการณ์พิเศษจริงๆ คือภาวะสงคราม, การจลาจล หรือเกิดภัยพิบัติร้ายแรง เพราะมีกฎหมายความมั่นคงที่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ในชั่วครั้งคราว ไม่ใช่เชิญตัวยาวนานเป็นการถาวรเช่นนี้”

“ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ฉลาด เพราะเรียกประชาชนไปทั่วเลย แล้วผลที่ออกมาก็ไม่ดีด้วยเพราะสุดท้าย คนที่อยู่กลางๆ แรกๆ เขาอาจจะชอบใจที่บ้านเมืองสงบพอควร แต่พอมันเริ่มเป็นการคุกคาม พวกเขาก็เริ่มเห็นอันตรายที่มาถึงตัว”

“เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าญาติพี่น้องจะโดนเมื่อไหร่”

 

ใช่แล้วว่าอาจจะพูดยากสักหน่อยว่าการถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปพูดคุยนั้นเป็นบรรยากาศที่ชวนให้อบอุ่นหัวใจ แต่ถึงอย่างไร สำหรับบางคน บรรยากาศภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดนี้ก็ย่อมสงบเงียบ ไร้ซุ่มเสียงการทะเลาะเบาะแว้งทางการเมือง

แต่การทำเป็นเมิน ไม่รู้ไม่เห็นว่าภายใต้พรมของความสงบเรียบร้อยนั้น ซุกซ่อนด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เห็นต่างต่อการกระทำของรัฐบาล ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ “โหดร้าย” อยู่ไม่น้อย

เพราะเมื่ออำนาจคุกคามมาถึงคนอื่นคนไกลที่อยู่นอกเหนือจากแวดวงการเมือง นั่นไม่เพียงสะท้อนต่อความเปราะบางของรัฐเอง

แต่มันยังสะท้อนมาถึงความปลอดภัยอันเบาบางของประชาชน ภายใต้รัฐที่ชอบชวนเราไปพูดคุยกันในที่ลับตาแห่งนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image