โลกสองวัย : เกือบหมดปัญหาแล้ว

ทำอย่างไรให้การนับอายุของผู้ที่เกิดเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ของ พ.ศ.2484 จึงจะยอมรับการนับอายุไม่ใช่การหักลบอย่างธรรมดา เนื่องจาก พ.ศ.2484 เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2484 แต่ พ.ศ.2483 เริ่มต้นตั้งแต่ 1 เมษายน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม

เมื่อมาถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2483 มติคณะรัฐมนตรีขณะนั้น สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้เปลี่ยนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483 เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 คือให้เริ่มต้นวันปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามที่นานาประเทศใช้ ไม่ใช่วันที่ 1 เมษายนดังที่ใช้มานานนับสิบปี

ดังนั้นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม พ.ศ.2483 จึงไม่มี

ผู้ที่เกิดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2482 จะมีอายุครบ 1 ปีตามการนับเดือน พ.ศ.2484 เนื่องจากไม่มีเดือนมีนาคม 2483

Advertisement

เขียนเรื่องนี้หลายครั้งหลายหน เนื่องจาก “ผู้อ่านประจำ” มักเขียนจดหมายมาถึงข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ชี้แจงเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะคือเรื่องวันเดือนปีเกิดของอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ท่านเกิดวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 จัดเป็นคนไทยกลุ่มพิเศษคือเกิดในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ก่อน พ.ศ.2484 การนับอายุจะไม่ใช่การหักลบอย่างธรรมดา

“ผู้อ่านประจำ” บอกมาว่าอาจารย์ป๋วยอายุครบ 23 ปี วันที่ 9 มีนาคม 2482 แต่เมื่อเวลาผ่านไป 12 เดือน อาจารย์ป๋วยอายุครบ 24 ปี ในวันที่ 9 มีนาคม 2484 แทนที่จะเป็น 2483 เพราะ 2483 ไม่มีเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม

ด้วยเหตุผลนี้อาจารย์ป๋วยจะมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 9 มีนาคม 2560 แปลว่าเราจัดงานให้ท่านผิดไปปี “ผมเป็นห่วงมานานแล้ว”

Advertisement

“ผู้อ่านประจำ” ขึ้นต้นจดหมาย เล่นเอาคนอ่าน “โตะจายโหมะเลย” ว่า เฮี้ยน เฮี้ยน เฮี้ยน จริงๆ ถึง 2 บรรทัด แล้วต่อด้วยว่า

“ผมนึกถึงเพลงโฆษณาแฟลตปลาทอง (คุ้ม คุ้ม จริงๆ คุ้มที่แฟลตปลาทอง-น้องหนูได้ฟังทันไหม) ไม่ทราบว่าคุณจะจดจำเพลงโฆษณานี้ได้หรือเปล่า (เวลาล่วงเลยมาร่วม 30 ปีแล้ว)

ที่รู้สึกว่า”เฮี้ยน” ก็เนื่องมาจากเห็นข่าวมติชนบอกว่าจะมีสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยจะมีการจัดงาน 100 ชาตกาลอาจารย์ป๋วย เป็นงานที่บรรดาลูกศิษย์จัด ไม่ใช่รัฐบาลจัด

ผมเป็นห่วงมานานแล้ว เพราะอาจารย์ป๋วยเกิด 9 มี.ค.2459 จัดเป็นคนไทยกลุ่มพิเศษคือเกิดในเดือน ม.ค., – ก.พ., – มี.ค. ก่อนปี 2484 การนับอายุจะไม่ใช่การหักลบอย่างธรรมดา เพราะก่อน 2484 ศักราชของไทยเริ่ม 1 เม.ย. จบ 31 มี.ค. และใช้มาจนถึง ธ.ค. 2483 ไม่มีเดือน ม.ค., ก.พ., มี.ค. นั่นคือพอสิ้นวันที่ 31 ธ.ค. 2483 ก็ขึ้น 1 ม.ค. 2484 เลย…

ความเฮี้ยนของอาจารย์ป๋วยยังแรงขึ้นมาอีก เพราะเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเมื่อ 2 มี.ค.59 แต่เดชะบุญที่ไม่เกิดภัยพิบัติและสึนามิเลย และก็หวังว่าต่อจากนี้คงไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรขึ้นมาอีก

เผอิญมติชนฉบับวันศุกร์ 4 มี.ค.59 มีบทความของ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด หน้า 20 “ต้นทุนของสังคมผู้สูงวัย” เป็นบทความที่ดีมาก แต่ให้ความรู้สึกว่าผู้สูงอายุไทยนั้นจะสร้างปัญหาให้สังคมไทยมาก เพราะเราแก่ก่อนรวย ดังนั้นที่คุณเสนอให้เรียกผู้สูงอายุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิตขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 คงไม่ค่อยมีคนชอบใจสักเท่าใด เพราะผู้เชี่ยวชาญชีวิตของคุณนั้นดูจะเป็นภาระที่น่าหนักใจของสังคมโดยรวม

สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงคือ ต้องขอให้คนไทยทำงานนานขึ้น เพื่อจะได้สร้างผลผลิตเอาไว้ใช้ในยามที่ร่างกายไปไม่ไหวแล้ว”

นั่นซิ ทุกวันนี้วัยที่เรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” ยังแข็งแรงทำงานไหวสมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิตจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image