สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ฐากูร บุนปาน’ สู่ปีที่ 41 ‘มติชน’ บนความเปลี่ยนแปลง

ความจริงที่ชัดเจนของธุรกิจสื่อวันนี้คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อข้อมูลข่าวสารจากกระดาษย้ายตัวไปอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตตามความรวดเร็วของเทคโนโลยี

การพลิกบทบาทที่ตนเชี่ยวชาญไปเดินในรูปแบบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังจะเห็นที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งถอดใจโบกมือลาไปในรอบปีที่ผ่านมา

ความเปลี่ยนแปลงนี้เลี่ยงไม่ได้เช่นกันสำหรับ “มติชน” ที่ยืนอยู่ในธุรกิจสื่อมา 40 ปี ผ่านหลากเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสังคมไทย จนมาถึงวันที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง

สิ่งหนึ่งที่สื่อในเครือมติชนทำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในสื่อออนไลน์

Advertisement

ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เผยว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นที่รับรู้ดีจากทั้งคนในองค์กรและเพื่อนร่วมวิชาชีพในวงการ โดยมีตัวอย่างมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก

“ถ้าคนย้ายจากการอ่านกระดาษไปอยู่บนจอดิจิทัล หน้าที่ของเราในฐานะผู้ผลิตสื่อคือ คุณก็ต้องไปรออยู่ตรงนั้น แค่นั้นเอง”

แม้ไม่อาจพูดได้แน่ชัดว่าสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าในโลกดิจิทัลคือความเจิดจรัสเช่นยุครุ่งเรืองของหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อใดที่คนยังไม่หยุดรับข้อมูลข่าวสาร เมื่อนั้นมีหนทางของคนทำสื่อเสมอ สิ่งที่ต้องพยายามคือการหาที่ทางซึ่งถูกต้องลงตัวสำหรับตัวเอง

Advertisement

และสิ่งหนึ่งที่จะเห็นในปีที่ 41 ของมติชนคือ “ความชัดเจน” ในเส้นทางที่เหยียบย่าง

ภาพรวมวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ เม็ดเงินในงานโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง จากตัวเลขของสมาคมธุรกิจโฆษณา และตัวอย่างรูปธรรมคือการปิดตัวของนิตยสารทั้งหลาย ที่ส่วนใหญ่ปิดเพราะรายได้ลดลงหรือขาดทุน บางคนยังไม่ขาดทุนก็ปิดแล้ว บางคนขาดทุนติดต่อกันมาก็อยู่ไม่ไหว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นที่แรก แต่เกิดมาแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะในสังคมที่การอ่านเข้มแข็ง ในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นไปตามกฎของ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” ไม่ใช่ผู้แข็งแรงกว่าอยู่รอด แต่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวจะอยู่รอดได้

2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามของเพื่อนร่วมอาชีพปรับตัวด้วยวิธีการต่างๆ กัน เพราะแต่ละคนมีต้นทุน ที่มา ความถนัด และตลาดไม่เหมือนกัน การปรับตัวขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเป็นจริงของแต่ละที่ ปรับได้ก็อยู่รอด ถ้าปรับไม่ได้ก็ล้มหายตายจากกันไป และมีอย่างอื่นขึ้นมาทดแทน

คนอ่านไม่ได้หายไปไหน เขาเปลี่ยนที่อ่าน หนังสือพิมพ์จากเคยขายได้วันละ 2.2 ล้านเล่ม วันนี้เหลือ 1.1 ล้านเล่ม แต่คนอ่านในเว็บ เฉพาะเครือมติชนก็เกือบ 2 ล้านแล้ว คนอ่านยังอยู่ เพียงแต่คนทำสื่อต้องจับให้ได้ว่าคนอ่านอยู่ที่ไหน และตอบสนองเขาให้ถูกที่

วงการสื่อมุ่งสู่ออนไลน์มากขึ้นสร้างผลอย่างไร?

ด้านหนึ่งการแข่งขันทางธุรกิจก็เหมือนเดิม ที่น่าสนใจคือการแข่งขันทางคุณภาพหรือเนื้อหา การที่โลกดิจิทัลกว้างขวาง เข้าถึงทุกคนง่ายขึ้น ทำให้ผู้รับสื่อมีทางเลือก มีแหล่งข้อมูลมากขึ้น มีสำนักข่าวเล็ก สำนักข่าวน้อย หรือแม้แต่ตัวบุคคลที่กลายเป็นสำนักหรือศาสดาขึ้นมาได้ไม่ยาก ทำให้สำนักข่าวดั้งเดิมต้องพัฒนาตัวเองในแง่เนื้อหา ความลุ่มลึกกว้างขวาง ความถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว

ในฐานะคนทำข่าวมาก่อน ผมรู้สึกดี ยิ่งมีคู่เปรียบเทียบเยอะๆ จะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเรามีอะไร อะไรที่ยังขาดหรือควรเพิ่มเติม อะไรที่เป็นความถนัดของเรา อะไรที่ไม่ใช่ เห็นภาพชัดขึ้นแล้วเราจะพัฒนาไปได้ถูกทางยิ่งขึ้น

เมื่อข่าวออนไลน์เข้ามา ข่าวหนังสือพิมพ์มีความเปลี่ยนแปลงไหม?

สุดท้ายต้องปรับ ไม่มีใครไม่ปรับ ในต่างประเทศคนที่อยู่ได้คือคนที่ทำทั้งออนไลน์และปรับคุณภาพในสิ่งพิมพ์ไปพร้อมกัน มีรายงานเกี่ยวกับโยมิอูริชิมบุนในญี่ปุ่น บอกว่าตอนอินเตอร์เน็ตบุกญี่ปุ่น โยมิอูริที่เคยขายได้วันละ 16 ล้านฉบับ ลดลงเหลือ 10 ล้าน เขาก็ตั้งแผนกดิจิทัลขึ้นมา พร้อมกับปรับปรุงการนำเสนอคุณภาพข่าวและรายงานในหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องเข้มข้นขึ้น ตอนนี้โยมิอูริกลับมาขายได้ประมาณ 12 ล้านฉบับ นอกจากจะเป็นหนังสือพิมพ์อันดับหนึ่ง ยังเป็นสำนักข่าวดิจิทัลภาษาญี่ปุ่นอันดับ 1 ด้วย แต่ต้องหมายเหตุว่าสังคมญี่ปุ่นการอ่านแข็งแรงมาก

สุดท้าย แม้ปรับแล้วยอดไม่ขึ้น แต่เพื่อความพึงพอใจของผู้อ่าน ไม่ให้เนื้อหาซ้อนทับไปมา โดยหลักธุรกิจคุณมีสินค้า 2 ตัว แม้จะเป็นแบรนด์เดียวกัน แทนที่จะแข่งกันเอง ทำยังไงให้เกื้อกัน ซึ่งเป็นเรื่องของกองบรรณาธิการต้องคุยกันเองว่าจะวางโพซิชั่นดิจิทัลและสิ่งพิมพ์อย่างไร

จากการปรับตัวของสื่อเครือมติชนที่ผ่านมา มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

หวังว่าจะดีขึ้น เราตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยความยากลำบากใจ เราเลิกการพิมพ์และเลิกการจัดส่งเอง หันไปจ้างสยามสปอร์ตที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพทำแทน เหตุผลง่ายๆ ในประเทศนี้มีคนที่มีความสามารถในการพิมพ์หนังสือพิมพ์พร้อมจัดจำหน่ายทั่วประเทศอยู่ 4 แห่ง และพูดอย่างไม่เกรงใจ ทุกคนขาดทุนหมด ควรเหลือสัก 1 หรือ 2 ก็พอ ถ้าคนอื่นยังไม่เลิก เราคงไม่รอแล้ว ตัวเลขมันฟ้อง

ต้องเข้าใจว่ายอดที่ลดมาครึ่งหนึ่งไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่ง แต่เพิ่มเป็น 2-3 เท่า เพราะต้นทุนพื้นฐานหลายอย่างไม่ได้ลดไปด้วย เช่น ต้องส่ง 1 พันจุด แต่ของจาก 2 แสนชิ้น เหลือ 1 แสนชิ้น ก็ไม่ไหว เราจึงตัดสินใจไม่ทำการผลิตและจัดจำหน่ายเอง

แง่หนึ่งเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ ลดรายจ่าย จัดการประสิทธิภาพในการจัดการให้ดีที่สุด แต่อีกแง่หนึ่งเป็นการส่งสัญญาณกับเพื่อนร่วมงานว่ามาถึงจุดที่ถอยกลับไม่ได้แล้ว เราเลยยูเทิร์นไปแล้ว สิบปีที่ผ่านมา รายได้การขายหนังสือและโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงมาตลอด แต่มีเพิ่มขึ้น 2 ตัว คือ รายได้จากดิจิทัลและรายได้จากกิจกรรมพิเศษต่อยอดความรู้ที่เรามี เช่น จัดสัมมนา ทำออแกไนซ์งานสาระทั้งหลาย

โจทย์ที่ชัดเจนถูกกำหนดโดยข้อเท็จจริง เมื่อตัวหนึ่งลด แต่จำเป็นต้องรักษาประคับประคอง ขณะเดียวกันต้องเร่งหรือเพิ่มส่วนที่สร้างรายได้จริงๆ ที่คนให้ความสนใจจริงๆ ถ้าคนย้ายจากการอ่านกระดาษไปอยู่บนจอดิจิทัล หน้าที่ของเราในฐานะผู้ผลิตสื่อคือคุณก็ต้องไปรออยู่ตรงนั้น แค่นั้นเอง

แนวทางต่อไป?

หลักการของเราคือกระบวนการปรับตัวทั้งหมดจะต้องนำไปสู่ 1.การผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เช่น ข่าวสดเสนอข่าวอาชญากรรมอย่างไรจึงมีรสนิยม มีข่าวลึกข่าวเจาะ คุณภาพของแต่ละโปรดักต์ไม่เหมือนกัน ถ้ามีอยู่แล้วต้องเพิ่มเข้าไปอีก จะเท่าเดิมก็ไม่ได้ เพราะการแข่งขันตัวเปรียบเทียบเยอะขึ้น

2.ในทางธุรกิจต้องโฟกัสแม่นยำขึ้นว่าตลาดอยู่ตรงไหน น่าสนใจที่เป็นเทรนด์ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว นอกจากคนจะเปลี่ยนจากอ่านกระดาษมาเป็นอ่านจอแล้ว พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารคือ อ่านน้อย ดูเยอะ สัดส่วนในโลกที่เฟซบุ๊กบอกคือ 3 ต่อ 1 คนอ่านตัวหนังสือในเว็บ 1 ส่วน คนดูคลิป-ไลฟ์ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ในไทยเฉพาะเครือมติชน-ข่าวสด สัดส่วนคนดูมากขึ้น ตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ย. คนดูไลฟ์และคลิปทั้งเดือน 258 ล้านครั้ง เฉลี่ยวันละ 8 กว่าล้านครั้ง อาจมีส่วนที่เปิดผ่าน แต่ถ้าดูจริงจังสักครึ่งหนึ่ง วันละ 4 ล้านครั้งก็ยังเยอะ คำถามคือ 4 ล้านนี้เปลี่ยนเป็นผลทางธุรกิจได้อย่างไร หรือทำทั้ง 8 ล้านเลยได้ไหม ต้องโฟกัสให้ชัดเจน

โลกดิจิทัลมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ทำให้เรารู้จริงๆ ว่าใครคือลูกค้าของเรา รู้ว่าเขามีรสนิยมอย่างไร ชอบ-ไม่ชอบอะไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีมูลค่ามากในธุรกิจโฆษณา ก็ต้องลงทุนทำ Data Analysis หรือ Big Data ให้มากขึ้น

จะทำให้สามารถรักษาความเป็นที่ 1 ในสื่อออนไลน์ได้?

ไม่มีใครฉลาดหรือโง่กว่าใคร เผอิญเราทำได้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นทำไม่ได้ แต่ข้อดีของอันดับ 1 คือจะเห็นข้างหน้ากว้างมาก ถ้าคุณเป็นที่ 2-3 ข้างหน้าอาจกว้างจริง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะเห็นเสมอคือท้ายของคนหน้าที่บังเราอยู่ มีจุดที่มองไม่เห็น แต่ถ้าคนที่ 1 เก่งจริง ขยันจริง ไม่หยุดทำงานต่อเนื่อง มีโอกาสเห็นอะไรได้เยอะกว่า ก็ต้องใช้สถานะตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพื่อพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง หยุดอยู่เฉยสบายใจไม่ได้ ปลื้มปีติว่าได้เหรียญทองก็ไม่ได้ เพราะพรุ่งนี้เขาอาจยึดเหรียญคุณก็ได้

เทรนด์การบริโภคสื่อเป็นไปตามที่คาดหมายไว้?

ไม่ได้คาด แต่มันชัดเจน เพราะเกิดกับที่อื่นมาแล้ว ก็ดูจากที่อื่นว่าทำอะไรกัน หนีพ้นไหมเทรนด์นี้ ถ้าหนีไม่พ้นก็โดดใส่ก่อน และโชคดีที่เราโดดใส่ก่อน บางคนอาจยังลังเล เราก็ได้ประโยชน์ก่อน ถามว่าพอใจไหม ก็พอใจระดับหนึ่ง แล้วยังมีอะไรไม่พอใจไหม มีอีกเยอะ อย่างที่บอกคุณไว้วางใจอะไรในโลกดิจิทัลไม่ได้ วันนี้ที่หนึ่ง พรุ่งนี้เป็นที่เท่าไหร่ไม่รู้ ตลาดเปลี่ยนเร็วมาก คนอื่นวิ่งตลอด คุณก็ต้องวิ่ง ธุรกิจก็เป็นแบบนี้ ยืนเฉยๆ ก็เหมือนถอยหลัง

ภาพรวมธุรกิจสื่อมีผลกระทบจากเศรษฐกิจหรือการเมืองปีหน้าไหม?

พูดแล้วดูร้าย ปกติเวลาบ้านเมืองไม่ดีสื่อจะดี คนอ่านคนดูกันอุตลุด แต่โฆษณาจะรายได้ดีอุตลุดไหม…ก็ไม่แน่ แต่เชื่อว่าด้วยความแหลมคมของการเมืองจะทำให้จำนวนผู้ชม ผู้อ่าน ผู้อยากเข้ามามีส่วนร่วมเยอะขึ้น ทำให้ฐานของผู้ชมกว้างขึ้น อยู่ที่จะเปลี่ยนเป็นผลทางธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน

ที่เหนื่อยกว่าคือในโลกดิจิทัลรายได้หลักไหลไปอยู่ 2 ที่ คือ กูเกิลกับเฟซบุ๊ก ผมว่าไม่ใช่เฉพาะในไทย ในหลายที่จะมีการลุกขึ้นมาประกาศอิสรภาพจากสองที่นี้มากขึ้น ด้วยกลไกและวิทยาการที่ต่างกัน

รายได้โฆษณาดิจิทัลทั่วโลก 76-77 เปอร์เซ็นต์ ผ่านเฟซบุ๊ก กูเกิล และบริษัทยักษ์ไม่เกิน 5 บริษัท แต่ในเมืองไทยเฟซบุ๊กและกูเกิลได้ไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปีนี้เม็ดเงินโฆษณา 1 หมื่นล้าน แปลว่าเหลือถึง Publisher แค่ 2,000 ล้าน ก็แย่งกันเข้าไปสิ

โจทย์ใหม่ของหลายที่คือทำยังไงจะเข้าไปกินส่วนแบ่งคืนมา เพราะยิ่งนานเขาจะยิ่งใหญ่ขึ้น เมื่อกุมข้อมูลหลังบ้านไว้ทั้งหมด ซึ่งเวียดนามทำสำเร็จแล้ว โฆษณาดิจิทัลกว่าครึ่งผ่านระบบของเขาเอง ไม่ได้ผ่านเฟซบุ๊กหรือกูเกิล ไม่ต้องคิดไปเพิ่มอะไรแค่เปลี่ยนส่วนแบ่งนี้มา

มติชนเข้าสู่ปีที่ 41 สูงวัยหรือยัง?

ยังกระฉับกระเฉง เป็นหนุ่มสาวที่กระตือรือร้นจะเรียนรู้โลก ขณะเดียวกันก็สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากตัวเองและคนอื่นมาพอควร จิตใจเป็นหนุ่มสาว แต่สมองอาจเคี่ยวไปแล้ว แก่ไปแล้วบ้าง

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทำไม่ได้ ถ้าเพื่อนในองค์กรทั้งหมดไม่เข้าใจ หรือลุกขึ้นมาคัดค้าน วันที่เราจะเลิกการพิมพ์ เลิกจัดส่ง เราเดินไปพูดกับเพื่อนร่วมงานสองฝ่ายนี้ ไม่มีใครลุกขึ้นมาถามว่าทำไมทำอย่างนี้ แง่หนึ่งเราพยายามเต็มที่มีโครงการช่วยเหลือทั้งเรื่องเงินและการหาอาชีพใหม่ ยืนยันว่าถ้ามีแม้แต่คนเดียวยังไม่สามารถยืนด้วยตัวเองได้จะถือว่าโครงการนี้ไม่สำเร็จ เราจะตามไปดูแลจนกว่าทุกคนจะดูแลตัวเองได้

ที่น่าประหลาดใจคือ เพื่อนร่วมงานทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขนส่งพูดว่า “เข้าใจพี่ รออยู่ว่าเมื่อไหร่พี่จะพูด” แปลว่าคนในองค์กรเห็นเทรนด์นี้มานานแล้ว ถ้าพี่น้องส่วนนี้เข้าใจ ผมเชื่อว่าส่วนอื่นๆ ก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเรามาเป็นที่ 1 ในโลกดิจิทัลไม่ได้ เรามี 2 เว็บติด 10 อันดับเว็บในเมืองไทยไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือ และการทำงานหนักต่อเนื่อง

ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าองค์กรยังหนุ่มสาว มีไฟอยู่ แต่เนื่องจากโดนอะไรมาเยอะ ในแง่สมองก็เคี่ยวขึ้นมา แต่จิตใจยังสู้และพร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ

ผมไม่ได้เชื่อลอยๆ เราทำข่าวจะไปคิดเอาเองไม่ได้ ตัวเลขมันบอก ถ้าไม่ร่วมแรงร่วมใจกันมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้หรอก เวลาที่มืดที่สุดลำบากที่สุดยังผ่านกันมาได้แล้ว พอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วจะไม่เร่งไม่ร่วมมือร่วมใจกันเหรอ ผมไม่เชื่อ

ผมคิดว่าอันดับการเปลี่ยนแปลงของเราน่าจะเร็วกว่านี้อีก


การแข่งขันบนโลกออนไลน์ ‘ถ้าไม่ใช่ของจริงก็อยู่ไม่ได้’

ในวันที่ใครๆ ก็นำเสนอเรื่องราวได้เองทางโซเชียลมีเดีย สิ่งหนึ่งที่อาจตกหล่นไปในความรวดเร็วคือ “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่ง ฐากูร บุนปาน เห็นว่า สื่อดั้งเดิมแต่ละแห่งเติบโตมาได้เพราะมีคนเชื่อถือ แต่ทำอย่างไรที่จะรักษาความน่าเชื่อถือนี้ต่อไป ในวันที่มีคนพยายามสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาแข่งกันมากมาย

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ สำนักข่าวบางแห่งเลือกที่จะลอกข่าว หรือเว็บคลิกเบตสร้างข่าวปลอมขึ้นมาเรียกยอดเข้าชม ปัญหานี้ ฐากูรเห็นว่าควรจัดการด้วยการใช้ “กฎหมาย”

“เหมือนของใหม่ทั่วไปในโลก จะมีคนเรียนเร็วกับเรียนช้า แล้วคนเรียนเร็วพวกหนึ่งทำเพื่อประโยชน์ตนเองและส่วนรวมไปพร้อมกันอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา กับอีกพวกมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ก็จะเจอข่าวปลอมข่าวลอกทั้งหลาย”

เขาบอกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดเพราะดิจิทัล แต่โลกดิจิทัลทำให้เห็นคนกลุ่มนี้ชัดเจนขึ้น ซึ่งต้องให้กฎหมายจัดการ แต่สิ่งที่น่าจะได้ผลกว่าคือ “กระบวนการทางสังคม”

“เดี๋ยวนี้คุณอาจดังได้ด้วยวิธีแปลกๆ แต่ก็อาจดับได้ด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ ตื้นๆ ถ้าคุณไม่ใช่ของจริงวันหนึ่งก็อยู่ไม่ได้ หงุดหงิดได้แต่พวกนี้ไม่ใช่สาระ คนหนึ่งหายไปก็มีหน้าใหม่ขึ้นมา เพราะเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว

“ต้องแยกว่า ลอกและปลอมล้วนๆ หรือเขียนโดยอคติเพื่อหวังผลบางอย่าง ซึ่งการที่เขาสำเร็จได้ แง่หนึ่งบอกเราว่าสังคมมีที่ยืนให้คนเหล่านี้ หน้าที่ของเราคือใส่ในสิ่งที่เราเชื่อว่า ถูก-จริง-ดี ลงไป จนกว่าน้ำเน่าจะค่อยๆ ลดลง ไม่ได้โฆษณาว่าตัวเองเป็นน้ำดี แต่หลักเป็นอย่างนี้ และผมไม่เคยเชื่อว่าน้ำเน่าครองโลก”

ส่วนการตั้งองค์กรขึ้นมาจัดการเรื่องนี้ ฐากูรไม่เห็นด้วย

“ผมไม่ค่อยเชื่อองค์กรที่ไม่มีเจ้าของ ที่บอกว่าเป็นของกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย มันไม่เต็มร้อย ถ้าไม่ใช่เรื่องของเราจะสู้เต็มที่ไหม จะให้เขาทุ่มเทโดยไม่รู้ว่าตายเพื่ออะไรนั้นผมไม่เคยเจอ…อาจจะมี แต่ไม่เคยเห็นว่ามันเวิร์ก ผมเชื่อเรื่องการจับผิดโดยข้อเท็จจริงมากกว่า ยิ่งกระจายได้กว้างเท่าไหร่ ยิ่งจับผิดง่ายขึ้นเท่านั้น”

เขากล่าวปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม

“ระวังตัวเองให้ดี อย่าผลีผลามทำอะไรผิด ต้องเก็บไว้เตือนตัวเองมากกว่าเตือนคนอื่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image