คอลัมน์อาศรมมิวสิก : ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ โดย สุกรี เจริญสุข

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญผู้เขียนไปพูดเรื่อง “ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ” เมื่อวันพุธที่ 10 มกราคม 2561 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ (โบ้เบ้) เพื่อให้ผู้ที่ดูแลและผู้ที่จัดการกับผู้สูงอายุฟัง โดยให้เวลา 45 นาที ผู้เขียนจึงได้เชิญวงขับร้องประสานเสียง (กรุงเทพฯแรกแย้ม/Bangkok Blossom) ผู้สูงอายุ 32 คน ไปร้องเพลง 5 เพลง ให้ฝ่ายพยาบาลได้ฟังกัน นักร้องส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 70 ปี วงนี้ได้รวมตัวกันมา 28 ปีแล้ว

ผู้เขียนไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูคนแก่แต่ประการใด เพียงผู้เขียนเองก็เป็นคนที่แก่แล้วด้วย โดยส่วนตัวก็เล่นดนตรี รักดนตรี ชอบดนตรี และทำงานรับใช้ดนตรี ใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับดนตรี ที่สำคัญก็คือ ดนตรีเป็นหุ้นส่วนสำคัญของชีวิต ใช้ดนตรีเพื่อความสุขส่วนตัว

ผู้สูงอายุเป็นใคร

ผู้สูงอายุเป็นใคร ที่เรียกกันว่า “คนแก่” ใครก็ตามที่รู้สึกตัวว่าแก่แล้ว เป็นผู้สูงวัย เป็นผู้อาวุโสเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ผู้ที่รู้สึกตัวเองว่าได้ทำงานมานานแล้ว เบื่องานแล้ว ทำหน้าที่มามากแล้ว รู้สึกตัวว่าพอแล้ว อยากหยุด อยากพัก และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแล้ว หรือช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องมีคนจูง ต้องมีคนช่วยดูแล ต้องมีคนจัดการ ร่างกายไม่สามารถที่จะตรากตรำทำงานอย่างเดิมได้อีก รู้สึกว่าเหนื่อยมาก

Advertisement

ในขณะเดียวกัน คนรุ่นหลัง ลูกหลาน ต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ให้ความอบอุ่นทั้งทางกายและทางใจ ขณะนี้สังคมไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12.6 ล้านคน เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นภาระในการเลี้ยงดู ทั้งครอบครัวและสังคม มีรายจ่ายของคนแก่มากกว่าที่คนแก่จะสร้างรายได้ หากจะคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้กับคนแก่ทั้งประเทศแล้ว ต่อหัวต่อคนต่อเดือนต่อปี ก็คงเป็นเงินมหาศาล

คนแก่ที่เป็นผู้ชาย วัดจากอาการดังนี้ “กินของขม ชมเด็กสาว เยี่ยวใส่เท้า เล่าความหลัง”

ส่วนคนแก่ผู้หญิงนั้น ผู้เขียนไม่รู้ และไม่สามารถรู้สึกได้ว่า เป็นอย่างไร

Advertisement

คนที่รู้สึกว่าแก่ เป็นผู้สูงอายุ ความรู้สึกถดถอย เพราะว่าช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยและพึ่งพาคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระให้กับคนอื่น ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป มีความหวังน้อยลง มีความหดหู่เพิ่มขึ้น รู้สึกว่าเบื่อตัวเอง หมดหวังและสิ้นหวัง คนแก่จะรู้สึกซึมเศร้า คิดว่าช่วยตัวเองไม่ได้ มีชีวิตที่เป็นภาระให้ลูกหลานและเป็นภาระของสังคม

ดนตรีจะช่วยคนแก่ได้อย่างไร

ดนตรีเป็นเสียง เสียงเป็นพลังงาน เมื่อได้ยินเสียง เสียงสามารถกระตุ้นจิตใจ เสียงดังทำให้ตกใจ เสียงที่ชอบทำให้รู้สึกตื่นเต้น เสียงที่คุ้นเคยทำให้รู้สึกเบิกบานใจ เสียงที่ไพเราะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด รู้สึกว่าเป็นปัจจุบัน นึกถึงอดีต (ความหลัง) และคิดถึงอนาคต คนแก่จะมีความสุขอยู่กับอดีต คนแก่อยู่ได้กับความหลัง คนแก่มีประสบการณ์และจดจำความหลังที่ยาวนาน แต่มีอนาคตที่สั้นลง ไม่มีอนาคต

เสียงเป็นพลังงานที่มีอานุภาพ พลังงานเสียงเข้าสู่ร่างกายผ่านรูขุมขน ทำให้ทุกอณูในร่างกายของทุกคนขยายตัวออก เสียงทำให้คนแก่ตื่นเต้นและตื่นตัวเมื่อได้ยินเสียง เสียงที่กระด้างทำให้รู้สึกหนวกหูและน่ารำคาญ เสียงที่ไพเราะก็จะสร้างความพึงพอใจ ชอบใจ ทำให้รู้สึกหัวใจพองโต ขนลุกเพราะพลังงานเสียงเข้าไปแทรกในทุกอณู เป็นความรู้สึกว่าอบอุ่น และเสียงที่มีความไพเราะจะมีพลังอำนาจมาก

เสียงเพลงของคนแก่ คือเพลงที่คนแก่ชอบ แต่ละคนจะชอบเพลงไม่เหมือนกัน เสียงเป็นร่องรอยของอดีต เป็นเพลงเก่าที่เป็นหุ้นส่วนของชีวิต เพลงดังในยุคของคนแก่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ชีวิตของคนแก่ ความจริงชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมไทยนั้น มีพื้นฐานการเล่นดนตรีน้อย มีประสบการณ์ในการร้องเพลงในชีวิตประจำวันก็น้อย ยกเว้นคนที่เคยเป็นนักร้องหรือนักดนตรีมาก่อน ซึ่งก็เป็นคนส่วนน้อย เพราะคนแก่ในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้ฟัง มีประสบการณ์ผ่านเสียงดนตรี ก็จะมีเพลงที่ชอบในดวงใจ มีไม่กี่เพลงที่ชอบ อาจจะฮัมเพลงได้ เล่นเพลงได้ ร้องเพลงได้ หรือชอบแค่ฟังเพลงอย่างเดียว ก็มีความสุขแล้ว

เมื่อคนแก่ได้ยินบทเพลงที่ชอบหรือทำนองเพลงที่คุ้นเคย ได้ยินเนื้อร้องที่เป็นเรื่องของความหลังในชีวิต ก็จะแสดงออกผ่านสีหน้า ผ่านความรู้สึกปลื้มปีติ แอบอมยิ้ม น้ำตาคลอ แก้มแดงระเรื่อ ฮัมตามเสียงเพลง ฯลฯ เพราะคนแก่จะจดจำและเห็นภาพของความหลัง ภาพแห่งความหลังของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน อาจจะร้องเพลงเดียวกันได้ แต่ภาพในดวงใจของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เพลงที่ชื่นชอบจะทำให้คนแก่มีความสุข แม้น้ำตาจะไหล เป็นความปีติ

แม้จะร้องไห้ แต่ก็เป็นความสุข

สุกรี เจริญสุข

เพลงของคนแก่ขึ้นอยู่กับอดีต

อดีตของคนแก่ ไม่ใช่ว่าดนตรีหรือบทเพลงชนิดใดชนิดหนึ่งจะเหมาะกับคนแก่ทุกคน ขณะเดียวกันก็ไม่มีสูตรสำเร็จว่า ดนตรีชนิดใดมีไว้สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะว่าผู้สูงอายุแต่ละคนมีจริตตามภพภูมิของแต่ละคนแตกต่างกัน ชาติปางก่อนมีชีวิตเป็นอย่างไร ก็จะชอบดนตรีเช่นนั้น ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุจะต้องค้นหาอดีตของคนแก่ หรือค้นหาชาติปางก่อนของคนแก่เหล่านั้นให้ได้ ง่ายที่สุดคือ การคุยกับคนแก่ เปิดใจ เปิดโอกาส ให้คนแก่ได้ “เล่าความหลัง เพื่อค้นหาอดีต”

ดนตรีของผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับบริบทของผู้สูงอายุตั้งแต่แรกเกิด เมื่อครั้งวัยเยาว์ผู้สูงอายุอยู่ในบริบทสังคมเป็นอย่างไร หากเกิดในชนบท (บ้านนอก) ก็จะได้ยินบทเพลง อาทิ เพลงแม่กล่อมลูก เพลงร้องเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว แหล่ หมอลำ ได้ยินคนแก่เป่าขลุ่ย สีซอ เล่นดนตรีในยามค่ำคืน หรืออย่างน้อยก็ได้ยินพระสวดที่วัดในวันพระ อยู่ใกล้วัดหน่อยก็จะได้ยินเสียงตะโพนกลองทัด พระสวดศพ สวดผี หากอยู่ใกล้สุเหร่าแขกก็จะได้ยินเสียงโต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู ท่องบทสวด 5 เวลาต่อวัน เสียงที่ได้ยินก็จะก้องกังวานอยู่ในหัวสมองของคนแก่อยู่ตลอดเวลา ไม่จางหายไปจากความจำ

หากผู้สูงอายุเป็นเด็กที่บ้านอยู่ในเมืองใหญ่ ก็จะได้ยินเสียงดนตรีแตกต่างไปจากผู้สูงอายุที่เกิดในชนบทแน่นอน พ่อแม่เปิดวิทยุฟังเสียงอะไร เพลงอะไร บทเพลงเหล่านั้นก็จะติดอยู่กับตัว เคยร้องเพลงอะไรได้ก็จะจดจำเพลงเหล่านั้นไปทั้งชีวิต “สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร คนก็จะเป็นอย่างนั้น คนเป็นอย่างไร ก็เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนั้น”

ผู้สูงอายุอาจมีประสบการณ์ผ่านการศึกษาดนตรีมาบ้าง อาทิ เรียนดนตรีหรือเล่นดนตรีในวัยเรียน เคยเล่นดนตรีกับวงโยธวาทิต มโหรีปี่พาทย์ การขับร้องประสานเสียง อาจจะเล่นดนตรีหรือขับร้องเพลงกับวงลูกทุ่ง วงลูกกรุง วงดนตรีสมัยนิยม หรือมีเพลงที่เคยฟัง เคยชื่นชอบในอดีต การร้องเพลงที่ชอบหรือเล่นเพลงที่ชอบ จึงเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกส่วนตัวออกมา ได้ระบายแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกสบายใจ มีความสุข

การเล่นดนตรี การร้องเพลง ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข การร้องเพลงที่ชอบ เป็นการระบายความทุกข์และสร้างความสุขเข้าไปแทนที่ในเวลาเดียวกัน การเล่นดนตรีต้องอาศัยความสามารถและทักษะในการเล่นเครื่องดนตรี กว่าจะเล่นดนตรีได้ไพเราะก็ต้องใช้เวลา ต้องฝึกฝน ความไพเราะมีความเป็นส่วนตัว เป็นการระบายให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับการร้องเพลงคาราโอเกะ คารา แปลว่า คนเดียว โอเกะ คือ ออเคสตรา (Orchestra) แปลว่า ดนตรีเปล่าเพื่อคอยเสียงร้อง ผู้ที่มาร้องคาราโอเกะ ก็เป็นการระบายความรู้สึกอีกชนิดหนึ่ง แม้จะเป็น “ทรมานบันเทิง” สำหรับคนอื่นก็ตาม แต่เจ้าตัวผู้ที่ร้องคาราโอเกะ ก็มีความสุขมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งไว้ว่า “ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน”

ดนตรีกับคนแก่

คนแก่ทำอะไรได้บ้างกับดนตรี

การฟังเพลงหรือเปิดเพลงฟัง อยากฟังเพลงที่ชอบก็เปิดฟังได้ โดยการเตรียมเครื่องมือ (มือถือ) บันทึกเพลงที่อยากฟัง หรือค้นหาจากยูทูบ (YouTube) ส่วนการฟังเพลงสดๆ ก็ต้องค้นหาว่ามีใครแสดงที่ไหนบ้าง สำหรับวงทีพีโอ (TPO) ผู้สูงอายุสามารถไปฟังที่อาคารมหิดลสิทธาคารได้ วันศุกร์/วันเสาร์ แสดงสด ซึ่งควรตรวจสอบรายการก่อนเดินทางไปดูการแสดงสดที่ศาลายา

การเล่นดนตรีและการร้องเพลง ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ในการเรียนดนตรีสำหรับผู้สูงอายุนั้น การฝึกใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การรื้อฟื้นทำได้ง่ายกว่า เล่นดนตรีหรือร้องเพลงเป็นเรื่องของการลงทุน ทุนที่เป็นเวลา ทุนที่เป็นความอดทน อดทนต่อความเบื่อหน่าย ทุนที่เป็นความพยายาม ทุนที่ต้องใช้เงินซื้อเครื่องดนตรี ทุนที่ต้องจ้างครูมาสอนให้เล่นดนตรี สอนให้ฝึกร้องเพลง ทุนที่ต้องเข้าร่วมในกิจกรรม แต่ทุนเหล่านี้ก็เพื่อความสุขของผู้สูงอายุ หากทำได้ก็คุ้มกับการลงทุน เพราะคนแก่มีเวลา ใช้เวลาได้คุ้ม โดยการร้องเพลงฝึกซ้อมเล่นดนตรี ผ่อนคลายความเหงาจากโรคซึมเศร้า

การร้องเพลงและการร่วมวงขับร้องประสานเสียงของวงผู้สูงอายุ เป็นความสุขอย่างมากของคนแก่ มากเพราะผู้สูงอายุได้ร้องเพลงที่ชอบ ได้ร้องเพลงกับเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน มีสังคมที่มีฐานะเดียวกัน ไม่มีผลประโยชน์อื่นใด ทำให้คนแก่มีอายุที่ยืนยาวขึ้น อย่างน้อยก็มีความสงบและมีความสุข ขณะที่เปล่งเสียงร้องออกไป ทำให้ความสุขวิ่งเข้าร่างกายทันที

การเล่นดนตรีในวัยสูงอายุ ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าการเรียนเล่นดนตรีในวัยเด็ก เพราะในวัยดึกนั้น กล้ามเนื้ออ่อนล้า ความจำกลายเป็นความลืม เรียนรู้ได้ช้าลง แต่เป็นความพยายามที่น่ายกย่องยิ่ง ตัวอย่าง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) ท่านเริ่มเรียนเปียโนเมื่อท่านอายุ 80 ปี ชอบเล่นเปียโน ชอบฟังคนเล่นเปียโน ขณะเดียวกันก็เริ่มเรียนแต่งเพลง ซึ่งได้แต่งเพลงไปแล้วกว่า 185 เพลง ทั้งนี้ ท่านก็ตั้งเป้าหมายว่าจะแต่งให้ครบ 200 เพลง โดยได้แต่งเพลงที่ 200 เสร็จแล้ว เหลืออีก 14 เพลง ที่จะแต่งให้บรรจบกันกับเพลงที่ 200

อย่าลืมว่า ท่านเองก็ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่วัยหนุ่ม (13 ปี) ซึ่งวันนี้ ท่านมีชีวิตยืนยาว (ปัจจุบันอายุ 97 ปี) ท่านมีความสุขเมื่อได้อยู่กับดนตรี ไม่ง่วงและไม่เบื่อ

ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีมีแต่ความจริงใจ ดนตรีมีสัจจะ ดนตรีมีความไพเราะ ดนตรีไม่ได้เป็นยารักษาหรือบำบัด แต่ดนตรีเป็นเพื่อนที่มอบความสุขให้กับคนแก่ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image